เหตุผล 5 ข้อว่าทำไม EOS 5D Mark IV คือกล้องที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์
หากมองแบบผิวเผิน EOS 5D Mark IV อาจไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเท่าใดนัก แต่หากพิจารณาในรายละเอียดคุณจะเห็นการพัฒนาต่างๆ มากมาย เช่น มือจับที่มั่นคงและถนัดมือยิ่งขึ้น รวมถึงชัตเตอร์ที่เบาขึ้น ซึ่งตอบสนองความต้องการของเหล่าช่างภาพได้เป็นอย่างดี ในบทความนี้ มาเรียนรู้ว่าเพราะเหตุใด EOS 5D Mark IV จึงเป็นกล้องที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ โดยเราจะนำผลงานบางชิ้นของช่างภาพที่ถ่ายด้วยกล้องรุ่นนี้มาให้ได้ชมกัน (เรื่องโดย GOTO AKI)
เหตุผลข้อที่ 1: ฟังก์ชัน Bokeh Shift ใน DPRAW ให้คุณจัดตำแหน่งโบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์ที่รบกวนตัวแบบของคุณได้ใหม่
ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ แม้ว่าคุณเจอกับป้าย "ห้ามเข้า" ที่รั้วตามสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมก็ตาม แต่ใครบ้างที่ไม่รู้สึกว่าคุณน่าจะได้ภาพที่สมบูรณ์แบบได้ไม่ยากนักหากคุณขยับเข้าไปใกล้ขึ้นอีกนิด Bokeh Shift คือฟังก์ชันหนึ่งของ DPRAW ที่มีประโยชน์มากเมื่อคุณพบว่าตนเองกำลังจนมุม
คุณสามารถปล่อยโบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์ที่ไม่ต้องการไว้ในภาพพร้อมกับถ่ายภาพตัวแบบตามที่ตั้งใจไว้ แล้วจึงค่อยใช้ Digital Photo Professional (DPP) เพื่อจัดตำแหน่งโบเก้ใหม่ในระหว่างกระบวนการปรับแต่งภาพ และถ่ายทอดตัวแบบของคุณให้คมชัดยิ่งขึ้น
ฟังก์ชัน Bokeh Shift ช่วยให้ช่างภาพสามารถเก็บภาพฉากต่างๆ ที่พวกเขาอาจเคยถอดใจไปก่อนหน้านี้ได้ การตั้งค่าความไวแสง ISO ไม่เกิน 1600 ทางยาวโฟกัสอย่างน้อย 50 มม. และรูรับแสงอย่างน้อย f/5.6 เป็นแนวทางซึ่งน่าจะทำให้เราเห็นถึงประสิทธิภาพของฟังก์ชันนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
EOS 5D Mark IV/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 400 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/800 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ระหว่างการถ่ายภาพ สีเหลืองของโบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์รบกวนสีสันของดอกไม้ แต่เมื่อผมปรับแต่งภาพโดยใช้ Bokeh Shift ใน DPRAW ผมสามารถถ่ายทอดดอกไม้และสีสันได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ เรายังสามารถปรับตำแหน่งของโบเก้โดยการปรับค่าพารามิเตอร์ด้วย DPP (Digital Photo Professional) ได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี เนื่องจากขนาดของไฟล์จะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเราถ่ายภาพในรูปแบบ DPRAW ดังนั้น ควรแน่ใจว่าใช้งานฟังก์ชันนี้ตามที่จำเป็นเท่านั้น
หากไม่มีฟังก์ชัน Bokeh Shift โบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์จะบดบังพื้นที่ส่วนใหญ่ของตัวแบบและสีสันของดอกไม้จะสูญหายไปได้
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Bokeh Shift และฟังก์ชันใหม่อื่นๆ ของ DPP ได้ที่:
เคล็ดลับการใช้งานกล้อง EOS 5D Mark IV: 3 คุณสมบัติใหม่ของ DPP ที่มีประโยชน์สำหรับแก้ไขภาพถ่าย DPRAW
เหตุผลข้อที่ 2: ปุ่มการเลือกพื้นที่ AF ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ช่วยให้คุณถ่ายภาพวินาทีสำคัญที่แสงแดดส่องกระทบก้อนเมฆได้อย่างแม่นยำ
ทิวทัศน์มักดูแตกต่างออกไปเมื่ออยู่ในสภาพแสงและลมที่แตกต่างกัน ก่อนหน้านี้ หากต้องการเปลี่ยนโหมดการเลือกพื้นที่ AF เมื่อใช้โฟกัสอัตโนมัติ (AF) ในระหว่างการถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือ คุณต้องกดปุ่มการเลือกจุด AF ด้วยนิ้วหัวแม่มือก่อนที่จะกดปุ่มมัลติฟังก์ชั่นด้วยนิ้วชี้ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก แต่ใน EOS 5D Mark IV หลังจากกดปุ่มการเลือกจุด AF ด้วยนิ้วหัวแม่มือแล้ว คุณเพียงแค่ใช้นิ้วหัวแม่มือกดปุ่มการเลือกพื้นที่ AF ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่เพื่อเลือกพื้นที่ AF เท่านั้น การที่เราสามารถเปลี่ยนพื้นที่ AF ได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เพียงแค่นิ้วหัวแม่มือขวาทำให้คุณสามารถเลือกตำแหน่งจุด AF ได้ง่ายและราบรื่นยิ่งขึ้น และด้วยการใช้งานปุ่มที่แสนง่ายดายนี้ ตอนนี้คุณจึงสามารถเปลี่ยนโหมดการเลือกพื้นที่ AF และกำหนดตำแหน่งจุด AF ได้ในชั่วพริบตาขณะมองผ่านช่องมองภาพ ช่วยให้คุณสามารถถ่ายภาพภายใต้สภาพแสงและลมที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงเสี้ยวนาทีได้
EOS 5D Mark IV/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 200 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/800 วินาที, EV-0.3)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ในภาพนี้ ผมใช้ปุ่มการเลือกพื้นที่ AF และปุ่ม Multi-Controller เพื่อจับโฟกัสอย่างรวดเร็วในเสี้ยวนาทีที่แสงแดดส่องทะลุผ่านหมู่เมฆราวกับแสงสปอตไลท์ คุณจึงรู้สึกถึงการพัฒนาในด้านการใช้งานสำหรับการถ่ายภาพแบบถือด้วยมืออย่างแท้จริง
ภาพทิวทัศน์ที่ต้องพึ่งพาสภาพแสงและลมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อคุณพลาดวินาทีสำคัญไปคุณอาจไม่มีโอกาสแก้ตัวอีก ในภาพด้านบน เอฟเฟ็กต์แบบสปอตไลท์หายไป และหมู่เมฆในส่วนโฟร์กราวด์กลืนไปกับแบ็คกราวด์ ดังนั้น ภาพจึงขาดความมีชีวิตชีวา
การเลือก AF ที่รวดเร็วด้วยปุ่มการเลือกพื้นที่ AF
ปุ่มการเลือกพื้นที่ AF ถูกจัดวางไว้ในบริเวณที่นิ้วหัวแม่มือขวาของคุณเอื้อมถึงได้ง่ายขณะมองผ่านช่องมองภาพ การกำหนดฟังก์ชันนี้ให้กับปุ่มด้วยคุณสมบัติการควบคุมด้วยตนเองจะช่วยให้คุณสามารถเลือกพื้นที่ AF ได้รวดเร็ว และกำหนดตำแหน่ง AF ในฉากที่ต้องอาศัยการตอบสนองที่ฉับไว
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบ AF ในกล้อง EOS 5D Mark IV และกระบวนการพัฒนาระบบได้ที่:
บทสัมภาษณ์นักพัฒนากล้อง EOS 5D Mark IV (ตอนที่ 4): ระบบ AF ใน Live View และช่องมองภาพ
เหตุผลข้อที่ 3: จุดรบกวนต่ำเมื่อใช้ความไวแสง ISO สูงช่วยให้ใช้ประโยชน์จากเงาได้ง่ายขึ้น
มีฉากมากมายที่สามารถใช้ประโยชน์จากความไวแสง ISO สูงในกล้องเพื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ได้ รวมถึงตัวแบบที่มีเงาเข้ม เช่น น้ำตก และฉากที่มีแสงน้อย เช่น ป่าที่มืดทึบในช่วงเย็นย่ำหรือใต้ท้องฟ้าที่มีเมฆครึ้ม ความไวแสง ISO สูงสุดระดับปกติของ EOS 5D Mark IV คือ ISO 32000 และไม่เพียงจุดรบกวนดิจิตอลสีเขียวและสีแดงในบริเวณเงาจะลดลงเท่านั้น กล้องยังพัฒนาความสามารถในการแสดงสีและรายละเอียดอีกด้วย
เนื่องจากขณะนี้มีการใช้ความไวแสง ISO สูง เพื่อถ่ายภาพจริงมากขึ้น คุณจึงเพลิดเพลินกับการถ่ายฉากต่างๆ ที่เต็มไปด้วยเงา และสัมผัสได้ถึงความโล่งกว้าง มิติความลึก และความกว้างใหญ่ของทิวทัศน์แม้ในฉากที่มืดซึ่งทำได้ยากก่อนหน้านี้
EOS 5D Mark IV/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 200 มม./ Aperture-priority AE (f/5, 1/50 วินาที, EV-1.0)/ ISO 3200/ WB: แสงแดด
ภาพนี้แสดงเงาทึบของต้นไม้ที่สะท้อนบนผิวน้ำในบ่อน้ำสีฟ้า ภาพที่ได้ดูสวยงามแม้จะใช้ความไวแสง ISO ระยะกลางที่ ISO 3200 ในกล้อง EOS 5D Mark IV ซึ่งผมลังเลที่จะใช้ก่อนหน้านี้ คุณจะสัมผัสได้ถึงสีสันที่จัดจ้านและความโล่งกว้างท่ามกลางเงาต่างๆ
อ่านเรื่องราวการพัฒนาประสิทธิภาพความไวแสง ISO สูงครั้งสำคัญในกล้อง EOS 5D Mark IV ได้ที่:
บทสัมภาษณ์นักพัฒนากล้อง EOS 5D Mark IV (ตอนที่ 2): DIGIC 6+ และความละเอียด 30.4 ล้านพิกเซล
เหตุผลข้อที่ 4: ช่องต่อรีโมทคอนโทรลย้ายไปที่บริเวณด้านหน้ากล้อง ช่วยให้ถ่ายภาพในแนวตั้งด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำได้ง่าย
ในกล้องรุ่นก่อนหน้านี้จนถึงรุ่น EOS 5D Mark III ช่องต่อรีโมทคอนโทรลถูกวางไว้ที่บริเวณด้านข้างกล้องคู่กับช่องต่ออื่นๆ ดังนั้น สายเชื่อมต่อจะร่วงหล่นลงมาได้ง่ายเมื่อถ่ายภาพในแนวตั้ง นอกจากนี้ ผมยังต้องระวังไม่ให้หยดน้ำเข้าไปในกล้องในวันที่ฝนตกอีกด้วย
เมื่อช่องต่อรีโมทคอนโทรลย้ายไปที่บริเวณด้านหน้ากล้อง EOS 5D Mark IV แล้ว รีโมทคอนโทรลจึงติดเข้ากับกล้องอย่างมั่นคงแม้ขณะที่ถ่ายภาพในแนวตั้ง ทำให้ผมรู้สึกคลายกังวลและมุ่งความสนใจไปที่การถ่ายภาพได้
EOS 5D Mark IV/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 30 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ผมใช้สายลั่นชัตเตอร์พร้อมกับตั้งความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เพื่อถ่ายทอดผิวของผืนน้ำทะเลที่เรียบเนียนตัดกับพื้นผิวของก้ิอนหิน ช่องต่อรีโมทคอนโทรลมีฝายางป้องกันเพื่อให้ถ่ายภาพริมน้ำได้อย่างไร้กังวล
สายไม่ร่วงหล่นลงมาเมื่อถ่ายภาพในแนวตั้ง
ผมติดตั้งสายลั่นชัตเตอร์ไว้ที่ช่องต่อรีโมทคอนโทรลที่ด้านหน้ากล้อง และถ่ายภาพในแนวตั้ง เมื่อลั่นชัตเตอร์ที่ความเร็วต่ำ ผมต้องคอยสังเกตปัจจัยต่างๆ เช่น ลม รวมถึงความสั่นไหว ดังนั้น การไม่ต้องกังวลว่าสายชัตเตอร์จะร่วงหล่นระหว่างการถ่ายภาพจึงมีประโยชน์อย่างยิ่ง
เหตุผลข้อที่ 5: คุณสามารถถ่ายภาพจากระยะไกลด้วยสมาร์ทโฟน ทำให้สามารถถ่ายภาพมุมสูงของผิวน้ำได้
การถ่ายภาพจากระยะไกลมีประโยชน์ในฉากที่ต้องถ่ายภาพโดยการมองผ่านช่องมองภาพ เช่น เมื่ออยู่เหนือผืนน้ำ เมื่อเชื่อมต่อกล้องกับสมาร์ทโฟนของคุณผ่าน Wi-Fi และใช้แอพพลิเคชั่นฟรีอย่าง Camera Connect คุณจะสามารถใช้สมาร์ทโฟนเป็นช่องมองภาพระยะไกลได้
เมื่อใดก็ตามที่คุณติดตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องแบบขาเดียวและยกขึ้นไปกลางอากาศ คุณจะรู้สึกราวกับว่ากำลังถ่ายภาพโลกอีกใบหนึ่ง แม้ว่ากล้องอาจอยู่ห่างจากตรงหน้าคุณไปเพียง 1 ม. เท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อเราใช้การถ่ายภาพระยะไกล แบตเตอรี่จะหมดเร็วขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ดังนั้น ผมจึงแนะนำให้พกพาแบตเตอรี่สำรองไปด้วยหากคุณวางแผนที่จะใช้ฟังก์ชันนี้บ่อยๆ
EOS 5D Mark IV/ EF24-70mm f/4L IS USM/ FL: 62 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/40 วินาที, EV-0.7)/ ISO 1600/ WB: แสงแดด
ผมถ่ายภาพผิวน้ำนี้ที่กลางป่า โดยเชื่อมต่อกล้องกับสมาร์ทโฟนผ่าน Wi-Fi ก่อนติดตั้งกล้องเข้ากับขาตั้งกล้องและยื่นออกไปเหนือผืนน้ำเพื่อทำให้ทั้งภาพเต็มไปด้วยผืนน้ำและสะท้อนสีสันต่างๆ วิธีนี้ช่วยให้ผมสามารถถ่ายภาพจากระดับความสูงที่การถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือไม่อาจทำได้
ถ่ายภาพจากทุกตำแหน่งได้โดยอิสระ
ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป เช่น ตามสถานที่ท่องเที่ยวและจุดชมวิว คุณสามารถเพลิดเพลินไปกับการถ่ายภาพจากมุมสูงได้โดยการติดตั้งกล้องเข้ากับขาตั้งกล้องสามขาหรือขาตั้งกล้องขาเดียวแล้วยื่นขาตั้งออกไป คุณอาจพบว่าสามารถถ่ายภาพจากพื้นที่ห้ามเข้าได้เพียงใช้ฟังก์ชันระยะไกลของกล้องและไม่จำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดย ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
EOS 5D Mark IV
EF16-35mm f/4L IS USM
EF24-70mm f/4L IS USM
EF70-200mm f/4L IS USM
EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM
เกิดเมื่อปี 1972 ที่จังหวัดคานากาวะ จบการศึกษาจาก Sophia University และ Tokyo College of Photography Goto เผยแพร่ผลงานคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า "Land Escapes" และยังมีส่วนร่วมในผลงานอื่นๆ อีก อาทิ "Water Silence" การแสดงผลงานศิลปะที่ผสานภาพถ่ายกับวิดีโอเข้าไว้ด้วยกัน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation