หลักสำคัญ 4 ข้อในการถ่ายภาพทิวทัศน์ก่อนฟ้าสาง
การถ่ายภาพก่อนฟ้าสางเป็นการถ่ายภาพโทนสีน้ำเงินที่สงบและเยือกเย็นในช่วงเวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หรือที่เรียกกันว่าช่วงเวลาสีน้ำเงิน (Blue hour) ซึ่งภาพที่ออกมานั้นจะเป็นภาพถ่ายวิวทิวทัศน์ที่สวยงามน่าดึงดูดใจ ในบทความนี้ เราจะพาไปรู้จักกับปัจจัยหลัก 4 ข้อเพื่อให้ได้ภายถ่ายดังกล่าว อันได้แก่ เวลาที่ถ่ายภาพ การจัดแสง ฟังก์ชันการถ่ายภาพ และการปรับแต่งภาพ (เรื่องโดย: GOTO AKI)
EOS 5D Mark III/ EF17-40mm f/4L USM/ FL: 17 มม./ Aperture-Priority AE mode (f/22, 25 วินาที, EV±0)/ ISO:100/ WB: แสงแดด/ รูปแบบภาพ: ภาพทิวทัศน์
ตัวอย่างที่ดี
ทะเลสาบโทยะ ฮอกไกโดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พื้นผิวของทะเลสาบถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างเรียบเนียนด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ราวกับว่าโลกอาบไล้ไปด้วยแสงสีน้ำเงินและแผ่ปกคลุมลงมาถึงพื้นผิวของทะเลสาบด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้องการให้ภาพอยู่ในแนวนอน ผมจึงตัดสินใจใช้ การจัดองค์ประกอบภาพแบบสมมาตร
จุดสำคัญที่ 1: เวลาที่ถ่ายภาพ - 30 นาทีก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
อุณหภูมิสีที่สูงในยามก่อนพระอาทิตย์ขึ้นทำให้คุณสามารถถ่ายภาพโลกที่อาบด้วยแสงสีน้ำเงินได้ ภาพนี้ถ่ายในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ทะเลสาบโทยะในเมืองฮอกไกโด ซึ่งพระอาทิตย์ขึ้นที่เวลาประมาณ 4.10 น. เนื่องจากอยู่ในพื้นที่สูง ในเวลา 3.40 น. ผมลงมือถ่ายภาพโลกสีน้ำเงินที่เปลี่ยนแปลงในทุกช่วงเวลา
ตัวอย่างที่ไม่ดี
โทนสีน้ำเงินดูอ่อนลงเมื่อเราถ่ายภาพหลังจากพระอาทิตย์ขึ้นไปแล้ว
จุดสำคัญที่ 2: การจัดแสง - ตั้งค่าสมดุลแสงขาวไปที่ "แสงแดด" เพื่อให้ได้โทนสีที่สมจริง
ช่วงเวลาก่อนฟ้าสางก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้นในทุกๆ เช้ายังเป็นช่วงเวลาที่ท้องฟ้าเรืองรองไปด้วยแสงสีน้ำเงินด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ โดยทั่วไปจึงนิยมเรียกช่วงเวลานี้ว่า "ช่วงเวลาสีน้ำเงิน (Blue hour)" หากคุณตั้งค่าสมดุลแสงขาวไปที่แสงแดด แสงสีน้ำเงินจะถูกถ่ายทอดออกมาอย่างงดงามเหมือนเห็นด้วยตาเปล่า อีกทั้งแฝงด้วยบรรยากาศที่สงบเยือกเย็นในยามเช้า อย่างไรก็ดี เมื่อเราใช้สมดุลแสงขาวอัตโนมัติ โทนสีของภาพจะถูกปรับแก้ใหม่ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง AWB และแสงแดด
จุดสำคัญที่ 3: ฟังก์ชันการถ่ายภาพ - ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เพื่อให้ได้พื้นผิวของน้ำที่เรียบเนียน
เมื่อผมสังเกตดูก็พบว่าพื้นผิวของทะเลสาบดูนิ่งมาก ซึ่งเมื่อคุณใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เช่น 25 วินาที พื้นผิวของทะเลสาบจะออกมาดูเรียบเนียนเหมือนกระจก และสีของท้องฟ้ายังสะท้อนลงมาบนผิวน้ำ ภาพทิวทัศน์ที่ได้จึงไม่เพียงดูกว้างใหญ่ไพศาลเท่านั้น แต่ยังมีโทนสีน้ำเงินที่เยือกเย็นและโปร่งแสงอีกด้วย
ตัวอย่างที่ไม่ดี
พื้นผิวของคลื่นสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อถ่ายภาพโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/30 วินาที
จุดสำคัญที่ 4: การปรับแต่งภาพ - ใช้รูปแบบภาพเพื่อสร้างโทนสีน้ำเงินที่มีชีวิตชีวา
ผมตั้งค่ารูปแบบภาพเป็นภาพทิวทัศน์เพื่อเน้นโทนสีน้ำเงินให้โดดเด่น เนื่องจากโหมดนี้จะช่วยเพิ่มความอิ่มตัวของสี ซึ่งเมื่อเทียบกับโหมดมาตรฐานแล้ว โทนสีน้ำเงินของท้องฟ้าของโหมดภาพทิวทัศน์จะดูมีชีวิตชีวามากกว่า และยังถ่ายทอดออกมาได้อย่างชัดเจนและหนักแน่นเมื่อสะท้อนลงมาบนผิวน้ำ
ตัวอย่างที่ไม่ดี
หากภาพนี้ถ่ายโดยตั้งค่ารูปแบบภาพไปที่มาตรฐาน ความอิ่มตัวของสีจะไม่เพียงพอ
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1972 ที่จังหวัดคานากาวะ จบการศึกษาจาก Sophia University และ Tokyo College of Photography Goto เผยแพร่ผลงานคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า "LAND ESCAPES" และยังมีส่วนร่วมในผลงานอื่นๆ อีก อาทิ "water silence" การแสดงผลงานศิลปะที่ผสานภาพถ่ายกับวิดีโอเข้าไว้ด้วยกัน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation