คุณเคยรู้สึกไหมว่าบางทีภาพทิวทัศน์ที่คุณถ่ายนั้นยังขาดพลังในการถ่ายทอดความรู้สึก ในบทความนี้ เราจะแนะนำเทคนิคในการสร้างสรรค์ภาพทิวทัศน์ที่น่าประทับใจด้วยการใช้เลนส์และองค์ประกอบภาพ (เรื่องโดย: Hidehiko Mizuno, Shirou Hagihara)
ทำเลนส์ให้เป็นฝ้าเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์น่าตื่นตาตื่นใจ
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL:24mm/ Manual exposure (1/15 วินาที, f/11)/ ISO 400/ WB: 4,800K
แสงจากอาทิตย์ยามเช้าส่องลอดผ่านหมู่แมกไม้บนภูเขา เพื่อขับเน้นบรรยากาศที่เกิดขึ้นจากหมอกยามเช้า ผมเป่าลมหายใจลงที่หน้าเลนส์เบาๆ เพื่อให้เกิดเป็นฝ้าขึ้น วิธีนี้เป็นการกระจายแสงที่ย้อนจากด้านหลังเพื่อให้ภาพดูนุ่มนวล
ถ้าคุณรู้สึกว่า บางทีภาพถ่ายยังดูขาดพลังในการถ่ายทอดอารมณ์ไป ลองใช้ลมหายใจของคุณสร้างไอฝ้าบนเลนส์ดูบ้าง คุณสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ที่น่าสนใจอย่างมากได้ โดยการปรับตำแหน่งและปริมาณของไอฝ้าตามความเหมาะสมกับองค์ประกอบภาพและตัวแบบ เอฟเฟ็กต์นี้สร้างได้ง่ายเวลาที่เกิดหมอกในอุณหภูมิต่ำ เช่น ในเวลาเช้าหรือพลบค่ำ แต่อย่าลืมว่าเลนส์กล้องอาจไม่เกิดฝ้าได้ง่ายนักหากมีลมพัดเข้ามา เมื่อเลนส์ขึ้นไอฝ้าแล้วคุณต้องรีบถ่ายภาพทันที และจะสมบูรณ์แบบมากเมื่อพื้นที่ทั้งหมดปกคลุมด้วยชั้นหมอกบางๆ ภาพถ่ายอาจดูไม่เป็นธรรมชาติ หากเลนส์มีไอฝ้าเพียงบางส่วนหรือแห้งเพียงบางส่วน ซึ่งจะทำให้เอฟเฟ็กต์ภาพที่ได้ไม่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณต้องการขับตัวแบบบางอย่างให้โดดเด่นขึ้น เช่น ดอกไม้ที่เป็นตัวแบบหลัก คุณก็สามารถปรับเอฟเฟ็กต์ให้มีชั้นฝ้าที่เบาบางลง
เทคนิค
เอฟเฟ็กต์เปลี่ยนไปตามระดับไอฝ้าบนกระจกหน้าเลนส์
ภาพดูขาดพลังเมื่อไม่ได้ใช้ไอฝ้าบนหน้าเลนส์
เมื่อภาพมีความชัดเจนตามความเป็นจริง อาจมองดูเหมือนภาพทั่วๆ ไปไม่มีความพิเศษ ในภาพนี้ เราเห็นเงาทอดยาวของหมู่ไม้ แต่รัศมีของแสงยามเช้าไม่แรงพอที่จะเกิดเอฟเฟ็กต์ของหมอก
เป่าลมหายใจรดหน้าเลนส์เบาๆ และเช็คผลที่ได้รับ
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นทันที่ที่เป่าลมบนหน้าเลนส์ สิ่งนี้อาจอยู่เพียงระยะสั้นๆ หรือยาว ขึ้นอยู่กับความแรงและทิศทางของลม ดังนั้น ผมขอแนะนำให้คุณตรวจดูเอฟเฟ็กต์ด้วยความรอบคอบขณะถ่ายภาพ
การรวมเส้นขอบฟ้าในองค์ประกอบภาพเพื่อให้ภาพทิวทัศน์ดูน่าประทับใจยิ่งขึ้น
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL:24mm/ Aperture-priority AE (5 วินาที, f/11, -0.7EV)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ผมถ่ายภาพนี้หลังจากแสงของอาทิตย์ตกจางไปแล้วและเริ่มมองไม่เห็นอะไรน่าสนใจในท้องฟ้า เมื่อคลุมส่วนด้านบนของท้องฟ้าไว้โดยใช้ใบไม้เพื่อขจัดพื้นที่ว่างที่มีเหลือเฟือออก ผมจึงสามารถสร้างบรรยากาศของทิวทัศน์ที่มีอะไรบางอย่างในภาพได้
ในภาพทิวทัศน์ทะเลสาบ ตามปกติมักมีดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้นหรือตกรวมอยู่ในภาพ อย่างไรก็ตาม หนึ่งในปัจจัยที่ท้าทายอยู่ที่วิธีที่เราถ่ายภาพท้องฟ้า หากเมฆก่อตัวกันเป็นรูปทรงสวยๆ ที่เพิ่มลีลาให้กับท้องฟ้า คุณก็สามารถสร้างการถ่ายทอดภาพที่ทรงพลังได้ แม้ว่าเมฆจะกินพื้นที่ส่วนใหญ่ขององค์ประกอบภาพทั้งหมด ในทางกลับกัน อาจยากที่จะแสดงอารมณ์สักอย่างหนึ่งด้วยการใช้เพียงท้องฟ้าที่ปกคลุมด้วยสีน้ำเงินและเทาเป็นส่วนมาก หรือไม่มีแสงจากอาทิตย์ขึ้นหรืออาทิตย์ตกเพื่อสร้างชีวิตชีวาเลย เพื่อแก้ปัญหานี้ ให้คุณหาพื้นที่ใต้ต้นไม้ข้างทะเลสาบนั้นและเติมแต่งส่วนบนของภาพด้วยกิ่งก้านและใบไม้ การทำอย่างนี้ช่วยเติมพื้นที่ของท้องฟ้าที่ดูไม่น่าสนใจ ทำให้องค์ประกอบภาพดูไม่ราบเรียบ ทั้งนี้ คุณต้องให้ความสำคัญในการเลือกรูปทรงของกิ่งไม้และใบไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปทรงของกิ่งไม้จะต้องสวย และต้องไม่มีพื้นที่ว่างเว้นสีขาวมากเกินไประหว่างใบ นอกจากนี้ ดูให้แน่ใจว่ายังสามารถมองเห็นรายละเอียดแบ็คกราวด์ได้ชัดระดับหนึ่ง มิฉะนั้น องค์ประกอบภาพอาจดูแออัดและกลายเป็นรกตา ตัวเลือกเลนส์ที่ดีที่สุดสำหรับองค์ประกอบภาพแบบนี้น่าจะเป็นเลนส์ซูมมุมกว้าง คุณบอกได้ทันทีว่าการใช้มุมรับภาพที่ 16 มม. หรือ 24 มม. ช่วยขับเน้นการจัดเรียงกิ่งไม้และใบไม้ที่ปกคลุมท้องฟ้าให้ลดหลั่นกันอย่างสวยงาม พร้อมทั้งทำให้พื้นที่ของวิวทิวทัศน์โดดเด่นขึ้น และเนื่องจากทะเลสาบเป็นตัวแบบ จึงอาจดูแปลกหากเส้นขอบฟ้าเอียง ดังนั้น จะต้องระมัดระวังเรื่องของระดับเส้นขอบฟ้าด้วย
เทคนิค
การปกคลุมพื้นที่ว่างเหนือเส้นขอบฟ้าด้วยต้นไม้เพื่อให้องค์ประกอบภาพไม่ดูราบเรียบ
องค์ประกอบภาพเต็มไปด้วยกิ่งไม้ที่บังวิวทิวเขาในแบ็คกราวด์
รูปทรงที่ไม่สม่ำเสมอกันของกิ่งไม้ทำให้บรรยากาศดูระเกะระกะ ส่งผลให้ภาพขาดความสมดุล ไม่เพียงเท่านั้น องค์ประกอบภาพยังดูแน่นเกินไปหากกิ่งก้านของต้นไม้บดบังทิวเขาที่แบ็คกราวด์เสียหมด ภาพนี้อาจนับว่ามีองค์ประกอบภาพดีหากต้องการเน้นกิ่งก้านของต้นไม้เป็นตัวแบบหลัก แต่หากมองว่าทะเลสาบเป็นตัวแบบของคุณล่ะก็ ถือว่าไม่ใช่องค์ประกอบภาพที่ดีเลย
เกิดปี 1968 ในเกียวโต ผลงานที่เขาเผยแพร่เน้นทิวทัศน์ที่สวยงาม รวมถึงศาลเจ้าและวัดวาอารามในเกียวโต
เกิดในปี 1959 ที่เมืองยามานาชิ หลังจากจบการศึกษาจาก Nihon University Hagihara มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นนิตยสารถ่ายภาพ “fukei shashin” ที่เขาทำงานเป็นบรรณาธิการและผู้ตีพิมพ์ ต่อมาเขาลาออกและผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ ปัจจุบัน Hagihara ทำงานอยู่ในวงการถ่ายภาพและเขียนผลงานที่เน้นการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ เขาเป็นสมาชิกของ Society of Scientific Photography (SSP)