คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #11: ควรใช้การตั้งค่าสมดุลแสงขาว (WB) แบบใด อัตโนมัติหรือแสงแดด
เคยสงสัยหรือไม่ว่าคุณควรตั้งค่าสมดุลแสงขาว (WB) อย่างไรขณะถ่ายภาพ ในบทความนี้ ผมจะอธิบายวิธีการใช้สมดุลแสงขาวโดยการเปรียบเทียบภาพที่ถ่ายด้วยการตั้งค่า WB เป็นอัตโนมัติและแสงแดด (ภาพและเรื่องโดย: Kazuo Nakahara)
ตั้่งค่าสมดุลแสงขาวตามโทนสีที่ต้องการแทนการตั้งค่าตามสภาพภูมิอากาศ
หากคุณต้องการได้ภาพที่ให้โทนสีสมจริงเหมือนมองเห็นด้วยตาตนเอง คุณจำเป็นต้องตั้งค่าสมดุลแสงขาว (WB) ให้เข้ากับสีของแสงสว่างโดยรอบ สีของแสงอาทิตย์จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อช่วงเวลาผ่านไป เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแสงจะเป็นโทนสีฟ้า แต่ดูอบอุ่นในตอนรุ่งเช้าหรือพลบค่ำ นอกจากนี้ เมื่อถ่ายภาพในที่ร่มโดยไม่เปิดรับแสงแดดโดยตรง แสงสีฟ้าที่กระจายไปในท้องฟ้าที่เป็นสีฟ้ายังสาดส่องลงมายังตัวแบบ จึงทำให้สีของตัวแบบดูเย็นขึ้น
ด้วยเหตุนี้ เมื่อถ่ายภาพในโหมดแสงแดด สีที่ได้อาจไม่ตรงตามต้องการหากคุณถ่ายภาพในช่วงเช้า เย็น หรือในที่ร่ม แม้ว่าดูคร่าวๆ แล้วสีสันที่ออกมาจะเหมือนกับสีที่มองเห็นในดวงอาทิตย์ในเวลากลางวันก็ตาม ดังนั้น เมื่อถ่ายภาพโดยการกำหนดค่า WB ล่วงหน้า คุณควรทราบว่าแสงส่องลงมาที่ตัวแบบอย่างไร แทนที่จะพิจารณาถึงสภาพภูมิอากาศ
ในขณะเดียวกัน สมดุลแสงขาวอัตโนมัติ (AWB) ยังให้ความแม่นยำและแน่นอนกว่าโหมดแสงแดด โดยบ่อยครั้งจะแสดงสีที่มีความสมจริงมากกว่า อย่างไรก็ดี ภาพถ่ายไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดโทนสีที่สมจริงเสมอไป ตัวอย่างเช่น เมื่อถ่ายภาพในที่ร่มในวันที่ฟ้าโปร่ง ขณะที่สมดุลแสงขาวอัตโนมัติสามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยมโดยไม่ทำให้ตัวแบบมีโทนสีฟ้า แต่หากถ่ายภาพบรรยากาศยามเย็นด้วยโหมดอัตโนมัติอาจเป็นการลดโทนสีแดงในภาพ ซึ่งส่งผลให้ภาพดูขาดพลังไป
เพื่อให้ได้โทนสีที่คุณพึงพอใจ การใช้ฟังก์ชั่นการชดเชยแสง WB ไปพร้อมกับการถ่ายภาพ หรือถ่ายภาพครั้งแรกในรูปแบบ RAW นับเป็นความคิดที่ดี และคุณอาจต้องการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของคุณลงในภาพถ่ายผ่านโทนสีต่างๆ โดยการเปลี่ยนสมดุลแสงขาวระหว่างกระบวนการปรับแต่งภาพ RAW หลังจากถ่ายภาพ
ฉากที่ 1: แสงแดด
เมื่อถ่ายภาพกลางแจ้งในวันที่ฟ้าโปร่ง อุณหภูมิสีของแสงแดดจะอยู่ที่ประมาณ 5,500K ซึ่งใกล้เคียงกับอุณหภูมิสีในโหมดแสงแดด (ประมาณ 5,200K) ดังนั้น หากคุณตั้งค่าโหมดสมดุลแสงขาวเป็นแสงแดด โทนสีจะปรากฏใกล้เคียงกับสีที่ตามองเห็น แม้กระทั่งเมื่อคุณตั้งค่าเป็นอัตโนมัติ โทนสีที่ได้จะใกล้เคียงกับทั้งโหมดอัตโนมัติและแสงแดดเป็นอย่างมาก เนื่องจากกล้องจะระบุฉากได้อย่างถูกต้อง
[ข้อมูลภาพทั้งหมด] EOS 5D Mark III / FL: 45 มม./ Aperture Priority AE (f/1.8, 1/8,000 วินาที, EV-1.0)/ ISO 200
อัตโนมัติ
แสงแดด
ฉากที่ 2: แสงในร่ม
เนื่องจากการถ่ายภาพในที่ร่มไม่มีการเปิดรับแสงแดดโดยตรง และแสง (ธรรมชาติ) สาดส่องลงมาจากท้องฟ้าที่เป็นสีฟ้า ตัวแบบจึงโดดเด่นด้วยแสงสีฟ้า หากเราตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็นแสงแดดในขั้นนี้ ภาพที่ได้ก็จะมีสีฟ้าด้วยเช่นกัน ในโหมดอัตโนมัติ กล้องจะตัดโทนสีฟ้าออกอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่เห็นจากภาพตัวอย่างด้านล่าง
[ข้อมูลภาพทั้งหมด] EOS 5D Mark III / FL: 45 มม./ Aperture Priority AE (f/1.8, 1/1,000 วินาที, EV+0.7)/ ISO 200
อัตโนมัติ
แสงแดด
ฉากที่ 3: ยามอาทิตย์อัสดง
เนื่องจากในตอนเช้าและตอนพลบค่ำแสงอาทิตย์จะมีโทนสีส้ม พร้อมมีอุณหภูมิสีต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น โทนสีส้มจึงยิ่งเข้มขึ้นหากคุณตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็นโหมดแสงแดด ซึ่งหากคุณต้องการสร้างภาพตะวันตกดินอันน่าประทับใจ ภาพที่ได้ก็จะสวยสดงดงามมาก หากคุณตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็นอัตโนมัติ กล้องจะตัดโทนสีส้มออก ทำให้สีของภาพดูทึมไม่สดใส
[ข้อมูลภาพทั้งหมด] EOS 5D Mark III / FL: 155 มม./ Aperture Priority AE (f/8, 4 วินาที, EV-1.0)/ ISO 200
อัตโนมัติ
แสงแดด
Kazuo Nakahara
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation