คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง 1: ฟังก์ชั่นการเปิดรับแสงแบบแมลนวลจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อใช้กับภาพแบบไหน
บทความชุดนี้จะตอบคำถามเกี่ยวกับกล้องที่คุณคิดว่ารู้แล้ว (แต่อาจไม่รู้) ในบทความนี้ เราจะอธิบายรายละเอียด < M > เกี่ยวกับโหมดที่เห็นบนวงแหวนเปลี่ยนโหมดให้มากขึ้น (เรื่องโดย: Koji Ueda)
สิ่งที่สำคัญสำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรต
การเปิดรับแสงแบบแมนนวล
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM /FL: 50 มม. /รับแสงแบบแมนนวล (f/1.4, 1/250 วินาที)/ ISO 100/ WB: เมฆครึ้ม
เมื่อใช้การเปิดรับแสงแบบแมนนวล คุณสามารถปรับแสงบนใบหน้าของตัวแบบได้ตามที่คิดว่าเหมาะสม ทำให้คุณสามารถถ่ายภาพให้มีระดับความสว่างตามที่ต้องการ ไม่ว่าความสว่างในแบ็คกราวด์จะเป็นอย่างไร
โปรแกรมระดับแสงอัตโนมัติ (Program AE)
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM /FL: 50 มม. /Program AE (f/1.4, 1/500 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: เมฆครึ้ม
เมื่อถ่ายภาพในโหมด Program AE ตัววัดปริมาณแสงของกล้องจะกำหนดว่าแบ็คกราวด์สว่าง ดังนั้น ใบหน้าของนางแบบ (ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของภาพ) จะมีความสว่างลดลง
คุณเคยมีประสบการณ์การถ่ายภาพฉากเดียวกันแล้วความสว่างออกมาต่างกันบ้างไหม หนึ่งในสาเหตุที่เป็นอย่างนั้นคือโหมด AE
ปกติแล้ว กล้องจะกำหนดระดับปริมาณแสงโดยวัดความสว่างของภาพโดยรวม เราสามารถใช้โหมด AE ได้เมื่อถ่ายภาพในฉากที่แสงส่องตรงที่ตัวแบบ เช่น การถ่ายภาพทิวทัศน์ นั่นเป็นเพราะความสว่างในองค์ประกอบภาพเสถียรเมื่อคุณถ่ายภาพภายใต้สภาพแสงที่ส่องตรง ในทางกลับกัน ในการถ่ายภาพพอร์ตเทรต ยากที่จะทำลักษณะแสงนั้น เพราะแสงทางตรงจะส่องเข้าหาตัวแบบแรงเกินไป ทำให้เกิดแสงเงาบนใบหน้าของตัวแบบ และทำให้การแสดงสีหน้าไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น
สภาพแสงย้อนมักจะทำให้ตัวแบบมืดลง เพราะความเปรียบต่างของตัวแบบและแบ็คกราวด์ โดยปกติ เราจะใช้การชดเชยแสงเพื่อทำให้ตัวแบบสว่างขึ้น อย่างไรก็ตาม แต่ละครั้งที่เปลี่ยนองค์ประกอบภาพ ความเปรียบต่างของแสงในภาพก็จะเปลี่ยนสัดส่วนไปด้วย ดังนั้น ในโหมด AE ระดับแสงจึงไม่เสถียร ทำให้ความสว่างแต่ละภาพไม่สม่ำเสมอกัน ในกรณีนี้ ให้ใช้การเปิดรับแสงแบบแมนนวลและตั้งค่ากล้องเพื่อให้ระดับการเปิดรับแสงไม่เปลี่ยนแม้ว่าองค์ประกอบภาพจะเปลี่ยน
ข้อดีของการเปิดรับแสงแบบแมนนวล
ข้อดีที่ 1: สามารถรักษาระดับความสว่างของตัวแบบหลักให้คงที่โดยไม่กระทบกับความสว่างของแบ็คกราวด์
ข้อดีที่ 2: สามารถปรับความสว่างเพื่อให้ได้ความสว่างของตัวแบบหลักตามต้องการ
วิธีตั้งค่าการเปิดรับแสงแบบแมนนวล
เลื่อนแหวนปรับโหมดมาที่ < M > ตั้งค่าความไวแสง ISO ไปยังค่าที่ต้องการไว้ล่วงหน้า
ปรับวงแหวนควบคุมหลักเพื่อตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ ปรับวงแหวน Quick Control เพื่อตั้งค่า f สำหรับกล้องรุ่นที่ไม่มีวงแหวน Quick Control ให้กดปุ่มชดเชยแสงค้างไว้ พร้อมกับหมุนวงแหวนควบคุมหลักเพื่อตั้งค่ารูรับแสง
ตรวจสอบตัวชี้ระดับแสงที่แสดงบนจอ LCD ด้านหลัง จากตำแหน่งของเครื่องหมายระดับการเปิดรับแสง คุณสามารถตรวจสอบความแตกต่างของระดับการเปิดรับแสงที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปได้ โดยเทียบกับระดับการเปิดรับแสงมาตรฐาน
เกิดที่ฮิโรชิมาในปี 1982 Ueda เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยช่างภาพชื่อ Shinichi Hanawa จากนั้น เขาหันมาทำงานเป็นช่างภาพอิสระ และในปัจจุบันเขามีส่วนในงานถ่ายภาพหลากหลายประเภท ตั้งแต่นิตยสารไปจนถึงงานโฆษณา ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้ถ่ายภาพเมืองต่างๆ และภาพทิวทัศน์ขณะเดินทางไปทั่วโลก นอกจากนั้น เขายังเป็นนักเขียนและผู้บรรยายเรื่องการถ่ายภาพทั้งในห้องบรรยายและในเวิร์คช็อป
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation