ความสำคัญของการใช้ถ้อยคำเพื่อถ่ายทอดแนวคิดเบื้องหลังภาพถ่าย
GOTO AKI เผยแพร่ผลงานภาพถ่ายในสื่อต่างๆ อาทิ นิทรรศการเดี่ยว คอลเลคชั่นภาพถ่าย และเว็บไซต์ ในตอนสุดท้ายของบทความต่อเนื่องชุดนี้ GOTO จะเล่าถึงความสำคัญในการถ่ายทอดผลงานของคุณเองออกมาเป็นถ้อยคำ การจัดแสดงภาพถ่ายพร้อมกับถ่ายทอดภาพเหล่านั้นออกมาเป็นถ้อยคำได้นั้นสำคัญอย่างไร พบคำตอบได้ในบทความนี้ (เรื่องโดย: GOTO AKI)
EOS 5DS R/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 400 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/320 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ภาพอาทิตย์ตกดินที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังหมู่เมฆนี้ถ่ายที่อามาคุสะ (จังหวัดคุมาโมะโตะ) โดยใช้ทางยาวโฟกัส 400 มม. ผมตั้งใจถ่ายภาพนี้เพื่อแสดงองค์ประกอบทางกราฟิกที่ทรงพลัง
ผลงานประกอบขึ้นจากภาพถ่ายและถ้อยคำ
เมื่อผมก้าวไปถึงจุดที่ได้รับโอกาสอย่างต่อเนื่องในการแสดงผลงานของตัวเองในนิทรรศการเดี่ยว นิตยสาร และคอลเลคชั่นภาพถ่าย (ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนที่ 4 ของบทความชุดนี้) ผลงานต่างๆ ดูเหมือนจะได้รับความนิยมเกินคาด จนผมได้รับงานชิ้นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องจากบุคคลที่มีความสนใจในงานของผม
EOS 5DS R/ EF24-70mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 30 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ภาพถ่ายก้อนเมฆที่ลอยขึ้นสูงเพราะกระแสลมในช่วงเวลาสำคัญที่บริเวณปล่องภูเขาไฟโฮเอบนภูเขาฟูจิ ภาพนี้ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ โดยใช้ขาตั้งกล้องและการลั่นชัตเตอร์ระยะไกล
ภาพถ่ายพิเศษบนเว็บไซต์ "Full-size Furusato" และภาพถ่ายสำหรับ "ปฏิทิน Canon" เมื่อปี 2015 ซึ่งถ่ายด้วยกล้อง EOS 6D นับเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นจากผลงานของผม ภาพถ่ายเหล่านี้จัดแสดงในนิทรรศการภาพถ่าย "LAND ESCAPES -Japan-" (Canon Gallery) ที่ผมจัดขึ้นเมื่อปี 2013 อีกทั้งยังเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของผมที่ใช้ทิวทัศน์ของญี่ปุ่นเป็นตัวแบบหลัก ผู้เข้าชมบางท่านที่ได้ชมผลงานของผมในนิทรรศการรู้สึกชื่นชอบ และขอให้ผมถ่ายภาพสำหรับใช้ในโครงการอื่นๆ ของพวกเขา
เวลานั้น ลึกๆ แล้วผมคิดว่าตราบใดที่ช่างภาพยังคงผลิตผลงานภาพถ่ายที่ได้คุณภาพ พวกเขาจะได้รับความนิยมสูงอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี ในขณะที่ผมกำลังจัดทำ "Full-size Furusato" และ "ปฏิทิน Canon" งานของผมไม่จำกัดเฉพาะแค่การถ่ายภาพเท่านั้น แต่ผมยังต้องถ่ายทอดแนวคิดออกมาเป็นถ้อยคำอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ผมต้องอธิบายมุมมองที่มีต่อผลงานของตัวเอง หรือกระทั่งเขียนเรียงความเกี่ยวกับการถ่ายภาพ ผมศึกษาทุกรายละเอียดของงานจนตระหนักได้ว่าชิ้นส่วนสุดท้ายของจิ๊กซอว์นั้นเป็นเรื่องของการสื่อสารผลงานด้วยถ้อยคำ
ภาพถ่ายที่นำมาจากเว็บไซต์ "Full-size Furusato" ที่ถ่ายด้วยกล้อง EOS 6D นอกจากภาพทิวทัศน์ที่ภูเขาโชคาอิในจังหวัดยามากะตะแล้ว ผมยังเขียนเรียงความอธิบายการถ่ายภาพครั้งนั้นและประสบการณ์ของผมที่สถานที่ถ่ายภาพอีกด้วย
สื่อประชาสัมพันธ์สำหรับนิทรรศการปฏิทิน Canon ผมถ่ายภาพกว่าหนึ่งปีสำหรับปฏิทินฉบับนั้น
เมื่อผมส่งภาพถ่ายให้แก่บรรณาธิการนิตยสาร ผมมักได้รับการร้องขอให้จัดส่งต้นฉบับและคำบรรยายไปด้วย ทุกครั้งที่ผมจัดนิทรรศการเดี่ยว การเสวนา หรือรับหน้าที่เป็นวิทยากร แทบจะแน่นอนว่าผมต้องถูกถามว่า "คุณคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้างในระหว่างถ่ายภาพ" แม้ขณะที่คุณกำลังขายคอลเลคชั่นภาพถ่ายต่างๆ คุณจะไม่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาของงานให้แก่ผู้ซื้อและร้านหนังสือได้ หากคุณไม่สามารถอธิบายเนื้อหาออกมาเป็นถ้อยคำอย่างตรงไปตรงมา
ภาพเบื้องหลังที่ถ่ายในระหว่างทัวร์ถ่ายภาพที่อามาคุสะ ในภาพนี้ ผมกำลังอธิบายให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฟังเกี่ยวกับวิธีตั้งค่ากล้องและใช้งานฟิลเตอร์ (ภาพโดย TAKASHI MUKAI)
งานเสวนาเกี่ยวกับภาพทิวทัศน์ที่แกลเลอรี่แห่งหนึ่งในจังหวัดโออิตะ ซึ่งการนำเสนอมุ่งเน้นที่ผลงานในปฏิทิน Canon
การสื่อถึงผลงานด้วยถ้อยคำไม่ใช่เพียงการอธิบายถึงสถานที่ถ่ายภาพและตัวแบบเท่านั้น แต่เป็นการแสดงแนวคิด ซึ่งก็คือ สิ่งที่คุณคำนึงถึงหรือมุมมองที่คุณมีขณะที่ถ่ายภาพ ผู้คนคาดหวังเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาทั้งในรูปแบบของถ้อยคำและภาพถ่าย ดังนั้น ผมจึงให้ความสำคัญเสมอกับการถามตัวเองว่าทำไมจึงถ่ายภาพนี้ และทำไมจึงเลือกภาพนั้น
แล้วคุณผู้อ่านล่ะครับ คุณสามารถถ่ายทอดผลงานของตนเองออกมาเป็นถ้อยคำได้หรือไม่
สื่อถึงผลงานด้วยถ้อยคำ
EOS 5D Mark IV/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM / FL: 400 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/125 วินาที, EV-1)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ภาพที่ถ่ายโดยใช้มือถือกล้องที่บึงโกชิคินุมะ จังหวัดฟุกุชิมะ ต้นไม้ที่สะท้อนบนผิวน้ำถูกขับเน้นให้ดูโดดเด่น พร้อมกับเพิ่มมิติความลึกให้กับภาพซึ่งถ่ายในมุมที่ค่อนข้างแบน
ในทางปฏิบัติ การสื่อถึงภาพถ่ายด้วยถ้อยคำอาจเป็นเรื่องที่ยากเอาการ อันที่จริงแล้ว กระบวนการนี้เป็นเรื่องสาหัสทีเดียวกว่าผมจะเริ่มคุ้นเคยกับการเขียนออกมาเป็นถ้อยคำ เนื่องจากผมต้องนึกหาถ้อยคำที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้ อย่างไรก็ดี ผมถือว่านี่คือโอกาสที่จะใช้เวลากับตัวเองอย่างสงบและพัฒนาคุณภาพของผลงาน ตอนนี้ ผมจึงหันมาให้ความสำคัญกับการให้เวลากับตัวเอง ผมสามารถปิด Wi-Fi และอยู่เพียงลำพังเพื่อสงบจิตใจและร้อยเรียงถ้อยคำที่เหมาะสมเข้าด้วยกัน
ภาพเฟรมหนึ่งจากรายการสารคดี "The Photographers 2" ซึ่งออกอากาศในประเทศญี่ปุ่น ในภาพ ผมกำลังอธิบายภาพถ่ายด้วยถ้อยคำของผมเอง
สื่อประชาสัมพันธ์สำหรับงานนิทรรศการที่เชื่อมโยงกับรายการสารคดี
ผมสงสัยว่าทุกคนที่อ่านบทความนี้จาก SNAPSHOT ในตอนนี้จะสามารถเชื่อมต่อกับผมผ่าน "ภาพถ่าย" และ "ถ้อยคำ" ได้เช่นกันหรือไม่ หากบทความชุดนี้มีเพียงภาพถ่ายเพียงอย่างเดียวหรือถ้อยคำเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ผมต้องการสื่อสารจะถูกถ่ายทอดเพียงครึ่งเดียวหรือไม่ ผมคิดว่าภาพถ่ายและถ้อยคำควรเคียงคู่ไปด้วยกันเสมือนล้อสองล้อบนเพลาตัวเดียว ดังนั้น ผมจะยังคงใช้ภาพถ่ายและถ้อยคำอย่างระมัดระวัง เพราะผมเชื่อว่าทั้งสององค์ประกอบนี้จะสามารถถ่ายทอดผลงานของผมได้อย่างเต็มที่
ภาพที่ถ่ายภายในแล็บขณะผมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพถ่ายสำหรับงานนิทรรศการเดี่ยว ผมต้องบรรยายภาพในขั้นสุดท้ายโดยใช้ถ้อยคำให้ตรงตามที่คิดไว้ มิฉะนั้นสีสันในภาพอาจไม่เป็นอย่างที่ต้องการ
สำหรับคนที่กังวลว่าจะไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ตามที่ต้องการ ขอให้ลองเรียบเรียงสิ่งที่คุณอยากพูดถึงจริงๆ ออกมาเป็นตัวหนังสือก่อน คุณไม่จำเป็นต้องเผยสิ่งที่คุณเขียนให้คนอื่นทราบด้วยซ้ำ เพียงแค่หาถ้อยคำที่เหมาะสมซึ่งซ่อนอยู่เบื้องหลังทุกสิ่งที่คุณต้องการสื่อออกมาเท่านั้น
สุดท้ายนี้...
เว็บไซต์พิเศษสำหรับ EOS 5D Mark IV ที่สร้างขึ้นในปี 2016 ผมได้จัดสัมมนาที่โตเกียว โอซาก้า และฟุกุโอกะ
และแล้ว เราก็มาถึงบทความชิ้นสุดท้ายของบทความต่อเนื่องทั้ง 6 ตอนนี้ ผมใช้ถ้อยคำอันจำกัดเพื่อถ่ายทอดหัวใจของการทำงานในฐานะช่างภาพและมืออาชีพ ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องราวของผมในฐานะช่างภาพในญี่ปุ่นจะสามารถนำไปใช้กับผู้ใช้งานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้โดยตรงหรือไม่ อย่างไรก็ดี ผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งหากข้อมูลของผมจะเป็นประโยชน์แก่คุณผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย
และหวังว่าจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนไอเดียต่างๆ กับพวกคุณทุกคนโดยใช้ภาษา "ภาพถ่าย" ที่มีร่วมกันต่อไป สุดท้ายนี้ ผมรอคอยที่จะพบกับพวกคุณที่เวิร์กช็อปของผมและ Canon Clinic นะครับ!
ขอบคุณมากครับที่สละเวลาอ่านบทความต่อเนื่องชุดนี้
อ่านบทความ SNAPSHOT จาก GOTO AKI ได้ที่นี่:
เหตุผล 5 ข้อว่าทำไม EOS 5D Mark IV คือกล้องที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์
หลักสำคัญ 4 ข้อในการถ่ายภาพทิวทัศน์ก่อนฟ้าสาง
EF16-35mm f/4L IS USM: ถ่ายภาพทิวทัศน์ได้อย่างน่าทึ่งแม้ถ่ายแบบถือกล้องด้วยมือ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1972 ที่จังหวัดคานากาวะ จบการศึกษาจาก Sophia University และ Tokyo College of Photography Goto เผยแพร่ผลงานคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า "LAND ESCAPES" และยังมีส่วนร่วมในผลงานอื่นๆ อีก อาทิ "water silence" การแสดงผลงานศิลปะที่ผสานภาพถ่ายกับวิดีโอเข้าไว้ด้วยกัน