จุดเริ่มต้นในอาชีพ: นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกและการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง
การเป็นช่างภาพมืออาชีพเป็นเส้นทางแห่งการลองผิดลองถูก และส่วนใหญ่แล้วกว่าจะผ่านขั้นตอนเหล่านั้นมาได้จะต้องผ่านความพลั้งพลาดและได้เรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น ในบทความชิ้นที่สองของชุดภาพสะท้อนทางความคิดนี้ GOTO AKI จะมาเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับบทเรียนที่เขาได้รับเมื่อครั้งเริ่มต้นเส้นทางแห่งการเป็นช่างภาพมืออาชีพ นับตั้งแต่เริ่มจัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาเป็นต้นมา (เรื่องโดย: GOTO AKI)
ผลงานจากนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่สองของ GOTO AKI ซึ่งถ่ายที่บ้านของนักดนตรีชาวบัลแกเรีย
เปิดตัวที่งานนิทรรศการเดี่ยวเป็นครั้งแรกแต่ไม่มีงานเข้ามา...
โรงเรียนสอนการถ่ายภาพที่ผมเข้าเรียนนั้นเปรียบเสมือนสถานที่ฝึกหัดช่างภาพ [บทความก่อนหน้านี้นำเสนอเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นการเดินทางในโลกแห่งการถ่ายภาพของ GOTO AKI] หลังจบการศึกษา ผมสมัครขอรับสิทธิ์จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวโดยใช้ผลงานภาพถ่ายชุดที่ผมเคยนำติดตัวไปนิวยอร์ก และได้รับการคัดเลือกทันที และต่อมาจึงมีการประกาศว่าผมจะได้จัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในปี 1999
ผลงานภาพถ่ายชุดแรกของผมเป็นภาพถ่ายแนวสตรีทที่ถ่ายที่กรุงเทพฯ และเซี่ยงไฮ้ด้วยฟิล์มขาวดำ จากนั้นผมโชคดีพอสมควรที่ได้มีโอกาสจัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลป์ชุดที่สองของผมในปีถัดมาคือปี 2000 ซึ่งผลงานชุดที่สองนั้นประกอบด้วยภาพถ่ายขาวดำที่ถ่ายด้วยกล้อง 4x5 ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นภาพชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยถ่ายในบ้านของพวกเขา
การได้มีโอกาสจัดนิทรรศการเดี่ยวที่แกลเลอรี่เก่าแก่ในประเทศญี่ปุ่นนั้นฉายแววแห่งความหวังว่าผมจะต้องสามารถทำเงินได้มากจากการถ่ายภาพ ผมหลงเชื่อไปว่าการเริ่มต้นในฐานะช่างภาพนั้นจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครติดต่อจ้างงานผมเลยเสียด้วยซ้ำ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้หลังจากจบการแสดงผลงานเป็นครั้งแรกในนิทรรศการเดี่ยวคือ ความจริงที่ว่าช่างภาพมากมายในญี่ปุ่นต่างสร้างโครงการของตัวเองขึ้นโดยใช้รายได้จากงานถ่ายภาพโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ นั่นจึงทำให้ผมเกิดความคิดที่จะหารายได้จากงานถ่ายภาพเชิงพาณิชย์ดูบ้าง อย่างไรก็ดี ผมรู้ดีว่าผมขาดความรู้ในด้านการจัดแสงและทักษะที่จำเป็นในการถ่ายภาพเชิงพาณิชย์ หลังจากคิดทบทวนดูแล้ว ผมก็รู้สึกว่าตัวเองคงไม่สามารถทำงานเป็นช่างภาพได้หากไม่ให้ความสำคัญกับอุปกรณ์รวมถึงเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบวัดแสงและการจัดแสง
แทนที่จะมานั่งรู้สึกแย่กับเรื่องดังกล่าว ผมตัดสินใจซื้อหนังสือเกี่ยวกับการจัดแสงและเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยตนเอง นั่นคือเรื่องราวในช่วงยุคการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม ที่ต้องใช้เวลาและทุนทรัพย์ในการเรียนรู้แม้แต่วิธีจัดแสงสักประเภทหนึ่ง ซึ่งคงยากที่จะจินตนาการในยุคแห่งการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลอย่างเช่นในปัจจุบัน
ที่มุมถนนในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นภาพมือของผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังซื้อของจากร้านค้า ภาพนี้อยู่ในคอลเลคชันที่รวบรวมผลงานไว้ 30 ภาพ
ภาพนี้ถ่ายที่สถานที่จัดงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่สองของผมที่ใช้ชื่อว่า "MIRROR SITE" โดยมีการนำภาพพอร์ตเทรตราว 100 ภาพ ที่ถ่ายในห้องพักของชาวต่างชาติจากประเทศต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมาจัดแสดงไว้
กล้องขนาด 4x5 ที่ผมใช้ถ่ายภาพ
เรียนรู้เรื่องการจัดแสงแบบมืออาชีพในสตูดิโอถ่ายภาพ
ในฤดูใบร่วงปี 1999 ผมตัดสินใจเดินทางไปอิตาลี ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมเรียนรู้ด้วยตัวเองมีจำกัด ดังนั้น ผมจึงต้องการลองบางสิ่งที่แตกต่างออกไป เนื่องจากขณะนั้นมีช่างภาพญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในปารีสและลอนดอนมากมาย ผมจึงอยากลองเสี่ยงไปที่อื่นที่ไม่ค่อยมีใครไปกัน ในขณะนั้น เพื่อนชาวอิตาลีคนหนึ่งลงมือค้นคว้าหาข้อมูลให้ และพบสตูดิโอแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า Cult Media Studio ในเมืองเรกจิโอ เอมิเลีย มีเจ้าของสตูดิโอชื่อ Maurizio Mantovi
ในเวลานั้นเขาไม่ได้รับสมัครพนักงาน แต่ผมพยายามบอกกับเขาว่าผมต้องการเรียนเรื่องการจัดแสง และสามารถไปทำงานที่สตูดิโอได้ แม้ว่าผมจะได้เข้าทำงานในที่สุด แต่ไม่มีวีซ่าทำงาน จึงไม่ได้รับค่าจ้าง แต่สิ่งที่ได้รับคือฟิล์มถ่ายภาพมากมาย ผมจึงออกไปถ่ายภาพในวันหยุด วันแล้ววันเล่า ผมได้เรียนรู้วิธีการจัดแสงในอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่คนไม่ค่อยเข้าใจภาษาอังกฤษ แม้ว่าในทุกๆ วันจะทำงานสำเร็จลุล่วงด้วยดีก็ตาม แต่เงินเก็บของผมก็เริ่มร่อยหรอหลังจากผ่านไปหลายเดือน ผมจึงกลับญี่ปุ่น
Cult Media Studio ในอิตาลี
หลังจากกลับไปที่ญี่ปุ่น ผมก็ผันตัวเป็นช่างภาพมืออาชีพเมื่ออายุได้ 28 ปี ผมยังขาดความรู้และประสบการณ์ก็จริง แต่ผมก็ทำนามบัตรพลางคิดว่าถึงอย่างไรผมก็จะประสบความสำเร็จให้ได้ เนื่องจากการถ่ายภาพเป็นงานที่ไม่ต้องใช้คุณสมบัติเหมือนกับอาชีพอื่นๆ อย่างเช่น ทนายความ การเข้าสู่วงการจึงไม่ใช่เรื่องยาก ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของการตั้งปณิธานที่จะดำเนินอาชีพนี้ต่อไปเท่านั้น
ผมรู้สึกมีความสุขที่ได้เริ่มต้นเป็นช่างภาพมืออาชีพในที่สุด แม้ว่าในขณะเดียวกันจะรู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ช่างภาพ Maurizio แห่ง Cult Media Studio กับผม
ตอบรับงานทุกชิ้นที่ผ่านเข้ามา
การเป็นช่างภาพอาชีพไม่ได้หมายความว่างานจะเข้ามาหาเราในทันทีเสมอไป ผมเริ่มต้นด้วยการโทรหาบริษัทผู้ผลิตที่ไม่เป็นที่รู้จักและตอบรับโฆษณาสมัครงานของโรงเรียนสอนการถ่ายภาพและรับงานชิ้นเล็กๆ ก่อน สิ่งที่ผมทำได้ก็คือทำงานแต่ละชิ้นด้วยความใส่ใจ ในไม่ช้า ผมก็ได้รับงานจากลูกค้ารายเดิมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปัจจุบัน ราว 80% ของงานที่ผมทำทั้งหมดเป็นงานของลูกค้าที่กลับมาใช้บริการซ้ำ และในช่วงเวลานี้เองผมได้เรียนรู้สิ่งสำคัญสองสิ่งคือ ทำงานที่อยู่ตรงหน้าให้เกิดความน่าเชื่อถือ และช่วยเหลือบรรณาธิการและผู้กำกับเพื่อเป็นใบเบิกทางไปสู่งานชิ้นต่อๆ ไป
การ์ดเชิญของร้านอาหารชั้นดี
ในขณะนั้น ผมไม่ได้เลือกเนื้อหาของงานที่จะทำมากนัก ตัวแบบในภาพถ่ายของผมมีทั้งงานแต่งงาน การทำอาหาร บ้าน ร้านค้า นักดนตรี นางแบบ ภาพนักธุรกิจ ท่องเที่ยว ทิวทัศน์ รถยนต์ ฯลฯ ผมตัดสินใจว่าจะไม่ปฏิเสธงานเลยและไม่เกี่ยงเรื่องอัตราค่าจ้าง ดังนั้น ผมจึงรับงานถ่ายภาพทุกประเภท ในช่วงเวลานั้นผมไม่ได้คิดเลยว่าประสบการณ์เหล่านี้จะกลายเป็นประโยชน์ที่ดีเยี่ยมในอนาคต ในเวลานี้เมื่อผมย้อนกลับไปดูภาพถ่ายของตัวเองก็พบว่าภาพเหล่านั้นไม่ดีเอาเสียเลย และผมรู้สึกอายมากๆ
ประมาณช่วงปลายปี 2004 เมื่อผมเริ่มคุ้นเคยกับการถ่ายภาพอย่างมืออาชีพ Canon ได้วางจำหน่ายกล้อง DSLR รุ่น EOS-1Ds Mark II แบบฟูลเฟรมความละเอียดสูง ที่สามารถถ่ายภาพที่เหมาะสำหรับงานพิมพ์ขนาด A3 ได้ กล้องรุ่นนี้เป็นกล้องระดับไฮเอนด์มากๆ และมีราคาอยู่ที่ราว 800,000 เยนในขณะนั้น นับว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพงสำหรับผู้เริ่มต้นใช้งานกล้องอย่างผม แต่ก็มีความละเอียดถึง 4.5 ล้านพิกเซล ซึ่งมากกว่ากล้องรุ่นอื่นๆ ในตลาด ผมคิดว่าหากผมใช้อุปกรณ์ใหม่ล่าสุด ผมอาจรับงานในขอบเขตที่กว้างขึ้นได้ ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจซื้อมาใช้งานทันที ผมเลิกใช้อุปกรณ์อื่นที่เคยใช้มาก่อนหน้านั้น และเปลี่ยนไปใช้เลนส์ใหม่แทนทั้งหมด
กล้อง EOS-1Ds Mark II ที่ออกวางจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน 2004 ด้วยความละเอียดของภาพที่ประมาณ 16.7 ล้านพิกเซล และเซนเซอร์ CMOS ฟูลเฟรม 35 มม. กล้องนี้จึงมีสเปคสูงที่สุดในบรรดากล้อง DSLR ที่วางจำหน่ายในขณะนั้น
ดังนั้น การที่ผมเปลี่ยนไปใช้กล้อง DSLR แบบฟูลเฟรมจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดช่วงเวลาที่ผมเป็นช่างภาพมือใหม่ ในที่สุดก็ถึงเวลาที่ผมจะก้าวไปอีกขั้นในเส้นทางสายอาชีพเสียที
ภาพถ่ายนักดนตรี นางแบบ และภาพถ่ายให้กับแค็ตตาล็อกแบรนด์แฟชั่น
ภาพสถานที่จัดงานแต่งงานสำหรับเว็บไซต์ของสโมสรที่ให้บริการแบบสมัครสมาชิก
สำหรับบทความของ SNAPSHOT โดย GOTO AKI คลิกที่นี่
เหตุผล 5 ข้อว่าทำไม EOS 5D Mark IV คือกล้องที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์
หลักสำคัญ 4 ข้อในการถ่ายภาพทิวทัศน์ก่อนฟ้าสาง
EF16-35mm f/4L IS USM: ถ่ายภาพทิวทัศน์ได้อย่างน่าทึ่งแม้ถ่ายแบบถือกล้องด้วยมือ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1972 ที่จังหวัดคานากาวะ จบการศึกษาจาก Sophia University และ Tokyo College of Photography Goto เผยแพร่ผลงานคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า "LAND ESCAPES" และยังมีส่วนร่วมในผลงานอื่นๆ อีก อาทิ "water silence" การแสดงผลงานศิลปะที่ผสานภาพถ่ายกับวิดีโอเข้าไว้ด้วยกัน