GOTO AKI ตีพิมพ์ผลงานภาพถ่ายมากมายของตนเองในธีม 'ทิวทัศน์' ในบทความนี้ เขาจะมาเผยแนวคิดเกี่ยวกับวิธีรวบรวมหนังสือภาพถ่ายของคุณเอง ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของผลงานช่างภาพ หนังสือภาพถ่ายสองเล่มที่เขาตีพิมพ์จนถึงขณะนี้กำลังวางจำหน่ายภายใต้สำนักพิมพ์อิสระของเขาเอง ต่อไปนี้เราจะมาเรียนรู้ว่า Goto พิถีพิถันกับผลงานตนเองอย่างไรโดยจัดการกับการสร้างสรรค์ ตีพิมพ์ และจัดจำหน่ายด้วยตัวเอง (เรื่องโดย: GOTO AKI)
EOS 5D Mark III/ EF200-400mm f/4L IS USM/ FL: 236 มม./ Aperture-priority AE (f/8.0, 1/200 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
สถานที่: ฮิราโอะได จังหวัดฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น
ที่ราบสูงหินปูนในฮิราโอะได จังหวัดฟุกุโอกะ เมื่อ 300 ล้านปีก่อน แผ่นเปลือกโลกบริเวณใกล้กับเส้นศูนย์สูตรเคลื่อนตัวจนกลายเป็นที่ราบสูงในภาคตะวันตกของญี่ปุ่นในปัจจุบัน
ผมใช้มือถือกล้องเพื่อถ่ายภาพนี้ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ในขณะที่อุณหภูมิสีอยู่ในระดับสูง และพื้นที่ทั้งหมดอาบไล้ไปด้วยแสงสีฟ้า
หนังสือภาพถ่าย: ผลงานภาพที่เราสามารถชื่นชมได้ทุกเวลา
เมื่อผมตีพิมพ์ผลงานในนิตยสารถ่ายภาพและจัดนิทรรศการของตัวเองที่แกลเลอรี่ ผมได้รับโอกาสในการนำเสนอผลงานสู่สายตาของบรรดาแฟนๆ และผู้คนในแวดวงถ่ายภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่ของการเผยแพร่สไตล์การถ่ายภาพและชื่อเสียงเรียงนามของผมให้เป็นที่รู้จัก อย่างไรก็ดี การเผยแพร่ผลงานมีข้อจำกัดตรงที่ตีพิมพ์ได้เป็นรายเดือนในนิตยสาร หรือทุกๆ สองถึงสามสัปดาห์ในกรณีนิทรรศการของตัวเอง ซึ่งจัดแสดงเป็นระยะเวลานั้นเท่านั้น
หลังจบนิทรรศการในปี 2010 เมื่อความตื่นเต้นกับนิตยสารและการจัดนิทรรศการน้อยลง ผมเริ่มอยากจัดทำหนังสือภาพถ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผมอยากให้คนอื่นสามารถดูผลงานของผมได้ทุกเวลาที่ต้องการ โดยไม่ติดกับข้อจำกัดด้านระยะเวลาอย่างในนิทรรศการหรือนิตยสาร
EOS 5D Mark III/ EF200-400mm f/4L IS USM Extender 1.4x / FL: 303 มม./ Aperture-priority AE (f/8.0, 1/320 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
สถานที่: เทือกเขาคิริชิม่า จังหวัดคาโกชิมะ ประเทศญี่ปุ่น
ในภาพนี้ ผมเก็บภาพพื้นผิวของระลอกคลื่นที่ทะเลสาบโอนามิอิเกะ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวินาทีเพราะแรงลม อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากภูเขาไฟเมื่อ 40,000 ปีก่อน สาเหตุที่ทำให้เกิดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ก็เนื่องมาจากโลกหมุนรอบแกนของตัวเอง ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ต่างๆ
การจัดทำหนังสือภาพถ่ายภายใต้สำนักพิมพ์อิสระ
เมื่อผมเริ่มรวบรวมแนวคิดการทำงานสำหรับจัดทำหนังสือภาพถ่าย ผมหวนนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ของอดีตครูของผม คือคุณ Kiyoshi Suzuki ผู้ล่วงลับ (ซึ่งผมเคยกล่าวถึงในตอนที่ 1 ของบทความต่อเนื่อง) เมื่อผมถามครูถึงเหตุผลที่ชนะรางวัล Domon Ken หนึ่งในรางวัลสำคัญด้านการถ่ายภาพของญี่ปุ่น ครูตอบว่า เป็นเพราะเขาตีพิมพ์ผลงานทั้งหมดของตัวเองอย่างอิสระ
ในตอนนั้น ผมมีทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับการตีพิมพ์ผลงานด้วยตนเอง ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องของช่างภาพที่ถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกสำหรับใช้งานส่วนตัวเท่านั้น ต่อมาในปี 1998 ระหว่างขึ้นเครื่องบินไปนิวยอร์กด้วยกัน ผมถามครูว่า "ทำไมครูถึงตีพิมพ์ผลงานแบบอิสระมาตลอดล่ะครับ"
ครูตอบตามตรงว่า "เพราะการตีพิมพ์ผลงานลักษณะนี้มีข้อจำกัดน้อยที่สุด และเราสามารถทำได้อย่างอิสระ เมื่อเธอตีพิมพ์ผลงานกับสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ หลายครั้งเธอจะไม่สามารถเลือกฟอร์แมต กระดาษ หรืออื่นๆ ได้ จึงไม่สามารถทำให้ผลงานออกมาในรูปแบบที่ต้องการได้ เราย่อมรู้จักผลงานของตัวเองดีที่สุดยิ่งกว่าใคร ดังนั้น ครูจึงอยากดูแลขั้นตอนทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ"
คำพูดของครูในตอนนั้นขจัดข้อสันนิษฐานในทางลบที่ผมเคยมีเกี่ยวกับการพิมพ์ผลงานด้วยตัวเองไปจนหมด นับแต่นั้นมา ผมตัดสินใจว่าหากผมจะรวบรวมผลงานภาพถ่ายขึ้นเป็นเล่ม ผมจะตีพิมพ์ภายใต้สำนักพิมพ์อิสระของตัวเอง
EOS 5D Mark III/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 200 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/1250 วินาที, EV-1)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
อันที่จริงแล้ว ผมตั้งค่าอุณหภูมิสีให้ต่ำลง (โทนสีเหลืองชัดเจนขึ้น)
สถานที่: อนนะซน จังหวัดโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น
ภาพนี้เก็บบันทึกแสงแดดที่สาดส่องลงมาเป็นเส้นแสงจากด้านทิศตะวันตกหลังเกิดพายุ โดยมีทั้งองค์ประกอบของม่านหมอกที่บดบังแสงอาทิตย์ ขอบฟ้า และแสงส่องประกายในภาพ เพื่อแสดงให้เห็นรูปแบบที่ต่างออกไป
สร้างสรรค์หนังสือภาพถ่ายที่คงทนแม้ผ่านกาลเวลา และมอบความพึงพอใจเมื่อได้เป็นเจ้าของ
วันเวลาหมุนผ่านไปและตอนนี้ก็เข้าสู่ยุคดิจิตอลแล้ว
คุณอาจมีคำถามว่า การจัดทำหนังสือภาพถ่ายของตัวเองมีจุดประสงค์อะไร ในเมื่อเราอยู่ในยุคที่สามารถเปิดดูภาพถ่ายจากทั่วโลกได้มากตามต้องการผ่านสื่อสังคมและบนเว็บไซต์ ผมใช้เวลาหลายวันคิดใคร่ครวญว่าการมีแค่ภาพถ่ายสวยๆ คงไม่เพียงพอ และหนังสือภาพถ่ายต้องสะท้อนถึงมุมมองของช่างภาพและให้ความรู้สึกเป็นเจ้าของได้ มิเช่นนั้น การจัดทำหนังสือภาพถ่ายก็จะไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด
บนชั้นวางหนังสือของผมมีหนังสือศิลปะเก่าๆ จากช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1980 และหน้ากระดาษเป็นสีเหลืองหลังจากผ่านมานานหลายปี ซึ่งให้ความรู้สึกว่าเป็นของเก่าแก่ เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่คุณอาจทำได้เพื่อให้หนังสือของคุณไปอยู่บนชั้นวางของใครสักคนเป็นเวลา 20 หรือ 30 ปี ผมก็ตระหนักได้ว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องใส่ใจรายละเอียดที่เล็กน้อยที่สุด เพื่อให้หนังสือมีความคงทนแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดก็ตาม และต้องเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าอีกด้วย เมื่อมีแนวคิดเช่นนี้ ผมจึงเริ่มต้นสร้างสรรค์หนังสือภาพถ่ายของตัวเอง
ในงานนิทรรศการ แม้ว่าจะมีพื้นที่มากก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน สายตาของคุณจะเต็มไปด้วยผลงานศิลปะมากมาย ในทางตรงกันข้าม หนังสือภาพช่วยให้คุณสามารถชมภาพถ่ายได้ครั้งละหนึ่งหรือสองภาพทุกครั้งที่คุณพลิกหน้ากระดาษ เมื่อใช้ภาพชุดต่างๆ ที่ถ่ายในสถานที่หลายแห่งในหลากหลายช่วงเวลาและนำมาเรียบเรียงโดยพิจารณาลักษณะเฉพาะที่มีร่วมกัน เช่น "แสง/พื้นผิว/รูปทรง" และอื่นๆ ผมจึงถ่ายทอดเรื่องราวที่มากกว่าการอธิบายถึงสถานที่ถ่ายภาพเท่านั้น เนื่องจากผลงานของผมนำเสนอความน่าสนใจของรูปแบบทางกายภาพของโลก เช่น พื้นผิวของหิน และเลเยอร์ชั้นบนสุดของมหาสมุทร ผมจึงเลือกกระดาษสำหรับหนังสือภาพถ่ายโดยคำนึงถึงผิวสัมผัสที่รู้สึกได้ในมือ มากกว่าความแวววาวของเนื้อกระดาษ
เมื่อจัดทำหนังสือภาพขึ้นมาสักเล่ม ยิ่งคุณตัดสินใจที่จะพิถีพิถันมากเท่าไหร่ คุณจะต้องใช้เวลากับมันมากขึ้นเท่านั้น ผมพิจารณาภาพถ่าย กระดาษ ดีไซน์ คุณภาพการพิมพ์ และช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างรอบคอบ และหลังจากเตรียมทุกอย่างเป็นเวลาถึงหนึ่งปีครึ่ง ในที่สุดผมก็ตั้งสำนักพิมพ์อิสระของตัวเองในชื่อ traviaggio* ได้สำเร็จในปี 2012
*traviaggio คือชื่อที่ผมคิดขึ้นใหม่โดยรวมคำว่า ‘travel’ ในภาษาอังกฤษกับ ‘viaggio’ ในภาษาอิตาลีซึ่งต่างแปลว่า การท่องเที่ยว เข้าด้วยกัน
‘LAND ESCAPES’ คือหนังสือเล่มแรกที่ผมตีพิมพ์เมื่อปลายปี 2012 ภายใต้ธีม ‘การเดินทาง’ สำหรับหนังสือเล่มนี้ ผมเข้าเล่มให้ดูคล้ายกับเรากำลังเปิดกระเป๋าเดินทาง ส่วนกระดาษ แทนที่จะใช้กระดาษเนื้อมันวาวหรือด้าน ผมเลือกกระดาษชนิดหนึ่งเรียกว่า Vent Nouveau ที่มีผิวหยาบ นอกจากนี้ ผมยังออกแบบให้ปกกับหน้าของภาพถ่ายมีความหนาไม่เท่ากัน เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ภาพแบบ Mat frame
หนังสือภาพถ่ายเล่มแรกของผมที่ชื่อว่า ‘LAND ESCAPES’ (2012) ผมเข้าเล่มในแนวนอนตามขอบด้านยาว โดยยึดตามแบบกระเป๋าเดินทางที่ผมใช้อยู่
ขณะรวมเล่ม ผมจะนึกถึงสัมผัสของพื้นผิวกระดาษไปพร้อมกัน และอยากให้ผู้อ่านรู้สึกคาดหวังทุกครั้งที่พลิกหนังสือไปทีละหน้า ผมไม่เพียงใส่ใจกับภาพถ่ายเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงผิวสัมผัสของหนังสือในภาพรวมอีกด้วย
การตรวจสอบสีสันของภาพในกระดาษปรู๊ฟสีที่โรงพิมพ์ส่งกลับมา และหนังสือภาพถ่ายที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว (ซ้าย) เนื่องจากขนาดของปกและหน้าภาพถ่ายแตกต่างกัน จึงทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์ภาพแบบ Mat frame เมื่อเปิดหนังสือ (ขวา)
สำหรับหนังสือภาพ ‘LAND ESCAPES - FACE - ’ ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2015 ผมใช้กระดาษอาร์ตการ์ดสำหรับพิมพ์หน้าปก กระดาษชนิดนี้มีการใช้งานมาอย่างยาวนาน และยังคงให้ความสวยงามแม้กระดาษจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อเวลาผ่านไป สำหรับหน้าภาพถ่าย ผมใช้กระดาษซาตินชนิดหนึ่งที่มีผิวแวววาว ซึ่งจะช่วยเพิ่มสีสันให้กับภาพถ่าย และผมยังให้ความสำคัญกับสัมผัสที่ลื่นมือของเนื้อกระดาษอีกด้วย
หน้าปกของหนังสือภาพถ่ายเล่มที่สองของผม ‘LAND ESCAPES - FACE - ’ ซึ่งวางจำหน่ายในปี 2015
นี่คือภาพสำหรับหนังสือต้นแบบที่ใช้ทำหนังสือภาพถ่ายของผม และในขั้นตอนการเรียงลำดับหน้า ผมจัดทำหน้าปกหลายรูปแบบไว้เผื่อเลือก แต่แทนที่จะตัดสินใจทันที ผมจะทิ้งไว้สักสองสามวันแล้วค่อยกลับไปดูเพื่อตัดสินใจอีกครั้ง
การเตรียมจัดส่งหนังสือไปตามร้านหนังสือต่างๆ และ Amazon ผมติดป้ายราคาที่มีรหัส ISBN บนหนังสือ ก่อนจะจัดส่งไปยังที่ต่างๆ พร้อมความหวังเต็มเปี่ยมว่าจะมีคนซื้อ
ในระหว่างจัดทำหนังสือภาพถ่ายภายใต้สำนักพิมพ์อิสระ หลายครั้งคุณจะเกิดความสงสัยว่าคุณกำลังตัดสินใจถูกหรือไม่ (ในเรื่องการเลือกภาพถ่าย ชนิดของกระดาษ ดีไซน์ และอื่นๆ) เมื่อเกิดความรู้สึกนี้ ผมจะหยุดสักพักแล้วค่อยกลับไปตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งทำให้ใช้เวลานานขึ้นกว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้น
ความสำคัญของการเลือกใช้ถ้อยคำที่สื่อถึงมุมมองของคุณในผลงาน
EOS 5D Mark III/ EF200-400mm f/4L IS USM/ FL: 160 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/320 วินาที, EV-0.3)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
สถานที่: จังหวัดยามากูจิ ประเทศญี่ปุ่น
หลุมยุบที่อากิโยชิได ว่ากันว่าหินปูนนี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นดินใต้ทะเลเมื่อ 3 ร้อยล้านปีก่อน ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่เป็นที่ตั้งของประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซียในปัจจุบัน
ผมจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายที่เสร็จสมบูรณ์ในสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่จัดนิทรรศการของผม นอกจากนี้ ยังนำหนังสือนี้ไปเสนอกับแกลเลอรี่งานศิลปะภาพถ่ายและร้านค้าต่างๆ ที่จำหน่ายหนังสือศิลปะด้วยตัวเอง และเจรจาขอวางขายหนังสือ
การรับหน้าที่เป็นผู้ขายและติดต่อประสานงานกับพนักงานในร้านทำให้ผมตระหนักถึงความสำคัญของทั้งภาพถ่ายในหนังสือและถ้อยคำที่ใช้อธิบายด้วย เพราะหากต้องการขายหนังสือ ร้านต้องสามารถอธิบายให้ลูกค้าทราบได้ว่าหนังสือภาพถ่ายนี้เป็นอย่างไร ในกรณีที่ลูกค้าไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับตัวหนังสือเลย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือช่างภาพต้องสามารถถ่ายทอดมุมมองของตนเองออกมาเป็นถ้อยคำได้ด้วย ความสำคัญของการใช้ถ้อยคำจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการขาย
เราอยู่ในยุคสมัยที่เราสามารถดูภาพถ่ายได้ง่ายๆ ตามสื่อสังคม แม้ว่าจะเข้าใจถึงความรู้สึกพึงพอใจเวลาได้รับยอดไลค์ทางออนไลน์ แต่ผมรู้สึกว่ามีแนวโน้มที่เราจะถูกข้อมูลปริมาณมหาศาลโถมทับ หากคุณคือคนหนึ่งที่มีความฝันอยากเป็นช่างภาพหรือศิลปินมืออาชีพ ทำไมไม่ลองพิมพ์ผลงานหรือหนังสือภาพถ่ายดูบ้างล่ะครับ
การได้รวบรวมผลงานในรูปแบบหนังสือภาพถ่ายของตัวเองเป็นสิ่งที่ผมอยากรู้สึกภูมิใจต่อไปเรื่อยๆ ในฐานะช่างภาพ
หนังสือภาพ ‘LAND ESCAPES - FACE- ’ ที่จัดแสดงในร้านหนังสือ ผมเลือกร้านหนังสือที่เน้นจำหน่ายหนังสือศิลปะโดยเฉพาะ และประสานงานกับพวกเขาโดยตรง
อ่านบทความ SNAPSHOT จาก GOTO AKI ได้ที่นี่:
เหตุผล 5 ข้อว่าทำไม EOS 5D Mark IV คือกล้องที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์
หลักสำคัญ 4 ข้อในการถ่ายภาพทิวทัศน์ก่อนฟ้าสาง
EF16-35mm f/4L IS USM: ถ่ายภาพทิวทัศน์ได้อย่างน่าทึ่งแม้ถ่ายแบบถือกล้องด้วยมือ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดย ลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1972 ที่จังหวัดคานากาวะ จบการศึกษาจาก Sophia University และ Tokyo College of Photography Goto เผยแพร่ผลงานคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า "LAND ESCAPES" และยังมีส่วนร่วมในผลงานอื่นๆ อีก อาทิ "water silence" การแสดงผลงานศิลปะที่ผสานภาพถ่ายกับวิดีโอเข้าไว้ด้วยกัน