การถ่ายภาพดาราศาสตร์อาจจะยุ่งยากสักหน่อย แต่ไม่ต้องกลัว เพราะคุณจะเริ่มถ่ายภาพแบบนี้ได้ง่ายกว่าเดิม เพียงแต่ต้องเตรียมตัวสักหน่อย Mark Gee ช่างภาพดาราศาสตร์มือรางวัล มีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากคุณครับ
EOS 5D Mark III, เลนส์ EF14 มม. f/2.8L II USM, f/2.8, 10 วินาที, 14 มม., ISO3200
การระบายแสง:
การวาดภาพด้วยแสงเป็นเทคนิคหนึ่งที่ช่างภาพสามารถนำมาใช้เพิ่มความสว่างให้กับฉากหน้าของภาพถ่ายดาราศาสตร์ ตัวผมเองไม่ค่อยใช้เทคนิคนี้ แต่ตอนนำมาใช้ ผมจะนำมาใช้แค่เล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น แค่แสงสว่างจากหน้าจอโทรศัพท์ส่วนใหญ่ก็เพียงพอแล้วสำหรับการเพิ่มแสงสว่างเข้าไปในภาพ
เครื่องมืออื่น ๆ ที่คุณสามารถนำมาใช้ได้ก็คือไฟฉาย ง่าย ๆ นี่แหละครับ แต่อย่าถ่ายภูมิทัศน์โดยเปิดรับแสงนานเกินไปนะครับ มิเช่นนั้นจะเกิดแสงจ้าขึ้นได้ เทคนิคหนึ่งคือกระจายแสงจากไฟฉายโดยนำเสื้อยืดมาคลุมบนเลนส์ (ควรเป็นเสื้อยืดสีขาวหรือสีกลาง) คุณจะพับทบกันสองสามทบแล้วนำมาวางบนเลนส์เพื่อลดความเข้มของแสงก็ได้ หรือจะให้แสงตกกระทบบนวัตถุหลังกล้องแล้วสะท้อนกลับไปยังภูมิทัศน์ที่จะถ่ายก็ได้ วัตถุดังกล่าวอาจจะเป็นก้อนหิน หรือจะนำแผ่นโฟมสีขาวไปด้วยเพื่อใช้สะท้อนแสงก็ยังได้
นอกจากนี้ คุณยังสามารถซื้อโคมไฟและระบบไฟ LED แบบอื่น ๆ มาระบายแสงได้เหมือนกัน ผมแนะนำว่าควรจะใช้หลอดไฟฮาโลเจนแบบควอตส์แทนหลอด LED เพราะอุณหภูมิสีจะคล้ายกับอุณหภูมิสีตอนที่คุณตั้งค่ากล้องระหว่างการถ่ายภาพดาราศาสตร์มากที่สุด คืออยู่ระหว่าง 3000 - 3500 เคลวิน นอกจากนี้ ชุดหลอดไฟ LED ยังอาจจะมาพร้อมกับคุณสมบัติปรับแสงสีขาวได้ ดังนั้น หากคุณสามารถทุ่มเงินกับระบบไฟเพิ่มอีกหน่อย ก็ให้เลือกระบบไฟแบบนี้
EOS 6D, เลนส์ EF14 มม. f/2.8L II USM, f/2.8, 30sec, 14 มม., ISO6400
ภาพถ่าย 360 องศา:
ตลอดสองสามปีที่ผ่านมาภาพถ่าย 360 องศาได้รับความนิยมอย่างมากบนแพล็ตฟอร์มสื่อสังคมอย่าง Facebook ที่สนับสนุนภาพถ่ายแบบด้วยนี้ตัวดูภาพแบบอินเตอร์แอคทีฟ คุณสามารถถ่ายภาพ 360 องศา ได้หลายวิธีด้วยกัน แต่ตามปกติแล้ว จะต้องอาศัยการถ่ายภาพหลาย ๆ ภาพซ้อนทับกันจนกระทั่งได้มุมภาพตลอดทั้ง 360 องศา จากนั้น คุณจะต้องนำภาพมาประกอบกันโดยใช้ Lightroom หรือ Photoshop หรือจะใช้ซอฟต์แวร์ปะติดภาพแบบพาโนรามาอย่าง AutoPano หรือ PTGui
วิธีที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพพาโนรามา 360 องศา คือการถ่ายภาพในโหมดภาพถ่ายบุคคล เพื่อให้คุณได้พื้นที่ภาพในแนวดิ่งมากที่สุด ควรใช้ขาตั้งที่แข็งแรง หัวขาตั้งจะต้องหมุนรอบแกนได้หรือหัวขาตั้งแบบพาโนรามาอย่าง Nodal Ninja ก็ได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ขาตั้งจะต้องวางอยู่บนพื้นในแนวระนาบ ถึงแม้ว่าคุณสามารถถ่ายภาพพาโนรามา 360 องศา โดยใช้เลนส์มุมกว้างพิเศษหรือเลนส์ฟิชอาย แต่ผมก็อยากแนะนำให้คุณเริ่มจากเลนส์ 24 มม. หรือเลนส์ที่ยาวกว่านี้ก่อนครับ คุณจะเจอปัญหาภาพบิดเบี้ยวจากเลนส์น้อยลงและนำภาพมาปะต่อกันได้ง่ายกว่าเมื่อใช้ซอฟต์แวร์ ตอนถ่ายภาพ อย่าลืมถ่ายภาพทับซ้อนกันประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ เพราะการทำแบบนี้จะทำให้ปะติดภาพได้แม่นยำมากขึ้น
เครื่องมืออื่น ๆ ที่สามารถนำมาถ่ายภาพพาโนรามา 360 องศาก็คือหัวโรบอต อย่างเช่น GigaPan หรือ iOptron IPano ถึงแม้ว่า Syrp Genie Mini จะออกแบบมาเพื่่อเป็นอุปกรณ์ควบคุมการเคลื่อนไหวสำหรับวิดีโอแบบไทม์แลปส์ แต่ก็มีโหมดถ่ายภาพพาโนรามาที่มีประโยชน์มาก เพราะอุปกรณ์นี้มีขนาดเล็กและพกพาใส่กระเป๋ากล้องได้สะดวก หัวโรบ็อตเหล่านี้ทำให้คุณสามารถถ่ายภาพพาโนรามา 360 องศาได้ง่ายและแม่นยำ ให้ภาพถ่ายที่สวยงามหลังจากนำมาปะติดกันเรียบร้อยแล้ว
สำหรับซอฟต์แวร์ปะติดภาพ หากคุณต้องถ่ายภาพพาโนรามา 360 องศาจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพถ่ายดาราศาสตร์ ผทแนะนำให้คุณใช้ซอฟต์แวร์ภาพพาโนรามาโดยเฉพาะ เพราะจะช่วยให้คุณควบคุมและปะติดภาพได้ดีกว่า Lightroom หรือ Photoshop
แอปดี ๆ ก็ไม่เลว:
มีแอปฟรีอยู่สองสามแอปที่เป็นประโยชน์กับการถ่ายภาพดาราศาสตร์ แม้ว่าคุณจะต้องจ่ายเงินเพิ่มหากต้องการใช้คุณสมบัติทุกอย่างของแอปเหล่านี้ ผมขอยกตัวอย่างมาสองแอปครับ ได้แก่ Star Chart กับ Night Sky Lite แอปทั้งสองมีคุณสมบัติคล้ายกันมาก คุณก็แค่ถือโทรศัพท์เล็งไปบนท้องฟ้าตอนกลางคืนเพื่อเก็บภาพของสิ่งที่คุณมองเห็น
สำหรับแอปที่คุ้มค่ากับการจ่ายเงิน ผมแนะนำ PhotoPills ครับ แอปนี้เปรียบเสมือนมีดพกสวิสเลยในแง่ของการถ่ายภาพดาราศาสตร์หรือการถ่ายภาพ เพราะรวบรวมคุณสมบัติหลายอย่างของแอปต่าง ๆ ไว้ในแอปเดียว ตอนที่เขียนบทความนี้ PhotoPills สามารถใช้ได้กับระบบปฏิบัติการ iOs เท่านั้น เวอร์ชัน Android จะพร้อมใช้งานในไตรมาสที่ 2 ปี 2017
EOS 5D Mark IV, เลนส์ EF11-24 มม. f/4L USM, f/4, ISO6400
คุณมีกลเม็ดเคล็ดลับเกี่ยวกับการถ่ายภาพดาราศาสตร์โดยทั่วไปมาแนะนำผู้อ่านบ้าง
วางแผนและจัดองค์ประกอบภาพ สำรวจสถานที่ในตอนกลางวันถ้าทำได้ รวมทั้งในตอนกลางคืนด้วย เผื่อเวลาไว้เยอะ ๆ สำหรับการตั้งค่าและทดสอบถ่ายภาพก่อนที่ท้องฟ้าตอนกลางคืนจะเปลี่ยนไปจนไม่เป็นไปตามองค์ประกอบภาพที่วางเอาไว้ ใช้แอปถ่ายภาพดาราศาสตร์ในการค้นหาว่าสิ่งต่าง ๆ บนท้องฟ้าในตอนกลางคืนอยู่ตรงไหนและจะเปลี่ยนไปอย่างไร รวมทั้งระยะเวลาและทิศทางของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในองค์ประกอบภาพที่วางแผนเอาไว้
ขาตั้งกล้องที่แข็งแรงคืออุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ ตอนคุณลงสนามไปถ่ายภาพ คุณสามารถใช้ถุงทรายหรือก้อนหินถ่วงน้ำหนักขาตั้งกล้องได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้กล้องสัุ่น
และเนื่องจากคุณต้องเปิดรับแสงนานมากในการถ่ายภาพดวงดาว เพื่อป้องกันไม่ให้กล้องสั่นตอนลั่นชัตเตอร์ คุณสามารถลั่นชัตเตอร์โดยใช้สายลั่นชัตเตอร์ หรือใช้ตัวจับเวลาที่ติดตั้งมาในกล้องก็ได้ นอกจากนี้ คุณยังสามารถถ่ายภาพโดยใช้โหมดมิเรอร์ล็อคหรือโหมดไลฟ์วิวเพื่อป้องกันไม่ให้กระจกในกล้อง DSLR หมุน ซึ่งจะทำให้เกิดการสั่นมากขึ้น
ถ่ายภาพแบบแมนวล รวมทั้งใช้โฟกัสแบบแมนวลด้วย การโฟกัสดวงดาวเป็นปัญหาที่มือใหม่พบบ่อยที่สุด ผมแนะนำให้ใช้ไลฟ์วิวแล้วเล็งกล้องไปยังดวงดาวดวงที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า จากนั้นจึงขยายไลฟ์วิวจากด้านหลังของหน้าจอ LCD ให้มากที่สุด หมุนวงแหวนปรับโฟกัสจนกระทั่งมองเห็นดวงดาวได้ชัดเจน จากนั้นคุณจะได้โฟกัสที่เหมาะสม
เพื่อให้ภาพถ่ายที่ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด ให้หาท้องฟ้าที่มืดสนิทจริง ๆ และมีมลพิษทางแสงน้อยที่สุด ตราบใดที่คุณถ่ายภาพในบริเวณที่มืดสนิท ความไวชัตเตอร์ที่เหมาะสมจะอยู่ระหว่าง 25-30 วินาที เปิดรูรับแสงจนได้ค่า f น้อยที่สุดบนเลนส์ แล้วใช้ค่า ISO 1600 หากภาพดูมืดเกินไป ให้ปรับ ISO สูงขึ้น แต่ระวัง เพราะยิ่ง ISO สูงเท่าไหร่ ภาพก็จะมีสัญญาณรบกวนมากขึ้นเท่านั้น กล้องบางรุ่นสามารถถ่ายภาพได้ดีกว่ารุ่นอื่น อย่างเช่น กล้องรุ่น EOS 5D Mark IV เมื่อถ่ายภาพในบริเวณที่ท้องฟ้ามืดจริง ๆ ผมมักจะถ่ายภาพด้วยความไวชัตเตอร์ 30 วินาที รูรับแสง f/2.8 และค่า ISO 3200 โดยใช้เลนส์ EF14 มม. f/2.8 II USM
EOS 5D Mark III, เลนส์ EF27-70 มม. f/2.8L USM, f/2.8, 24 มม., 30 วินาที, ISO3200
ชมวิดีโอเกี่ยวกับบทความชุดนี้ได้ที่นี่:
EOS 5D Mark IV (Body)
EF11-24mm f/4L USM
EF24-70mm f/2.8L II USM
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความชุด "ถนนสู่ดวงดาว" อ่านบทความอื่น ๆ ได้จาก:
ถนนสู่ดวงดาว - Justin Mott กับการถ่ายภาพดาราศาสตร์เป็นครั้งแรก
ถนนสู่ดวงดาว - Mark Gee รีวิวกล้อง EOS 5D Mark IV สำหรับการถ่ายภาพดาราศาสตร์
ถนนสู่ดวงดาว - เผยหนทางสู่การถ่ายภาพดาราศาสตร์
ถนนสู่ดวงดาว - ถ่ายภาพดวงดาวในคูดัต
รับข้อมูลข่าวสารล่าสุดพร้อมเคล็ดลับเกี่ยวกับการถ่ายภาพได้ง่าย ๆ เพียงสมัครสมาชิกกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
Mark Gee ผู้ชนะรางวัลช่างภาพและผู้ถ่ายทำคลิป time-lapse พักอยู่ที่เวลลิงตัน นิวซีแลนด์ Mark เรียนรู้ทักษะการถ่ายภาพด้วยตนเอง โดยกล้าเสี่ยงออกไปยังที่ห่างไกลและมืดมิดที่สุดทั่วประเทศ เขาชื่นชอบความท้าทายในการผสมผสานภาพภูมิประเทศที่ตระการตาของนิวซีแลนด์ กับท้องฟ้ายามค่ำคืนที่งดงามอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ จากวิธีการสร้างสรรค์ใหม่ๆ
ฟิลม์สั้นของเขา ชื่อ ‘Full Moon Silhouettes’ ทำให้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก หลังจากมีการแพร่ภาพบนสังคมออนไลน์ ในปี ค.ศ. 2013 Mark ชนะรางวัลอันทรงเกียรติ ในฐานะช่างถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ประจำปี เขาไม่เพียงแต่ได้รับรางวัลชนะเลิศเท่านั้น ทว่า Mark ชนะรางวัลประเภท Earth and Space และรางวัลประเภท People and Space ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติการประกวดภาพถ่าย