ค้นหาสิ่งที่คุณต้องการ

หรือค้นหาโดย

หัวข้อ

Article
Article

Article

e-Book
e-Book

e-Book

Video
Video

Video

Campaigns
Campaigns

Campaigns

Architecture
กล้องคอมแพค

กล้องคอมแพค

Architecture
DSLRs

DSLRs

Architecture
การถ่ายวีดิโอ

การถ่ายวีดิโอ

Architecture
ภาพดาราศาสตร์

ภาพดาราศาสตร์

Architecture
กล้องมิลเลอร์เลส

กล้องมิลเลอร์เลส

Architecture
ภาพสถาปัตยกรรม

ภาพสถาปัตยกรรม

Architecture
เทคโนโลยีของแคนนอน

เทคโนโลยีของแคนนอน

Architecture
การถ่ายภาพในขณะที่มีแสงน้อย

การถ่ายภาพในขณะที่มีแสงน้อย

Architecture
การสัมภาษณ์ช่างภาพ

การสัมภาษณ์ช่างภาพ

Architecture
ภาพวิวทิวทัศน์

ภาพวิวทิวทัศน์

Architecture
การถ่ายภาพมาโคร

การถ่ายภาพมาโคร

Architecture
การถ่ายภาพกีฬา

การถ่ายภาพกีฬา

Architecture
การถ่ายภาพท่องเที่ยว

การถ่ายภาพท่องเที่ยว

Architecture
การถ่ายภาพใต้น้ำ

การถ่ายภาพใต้น้ำ

Architecture
แนวคิดการถ่ายภาพและการประยุกต์ใช้

แนวคิดการถ่ายภาพและการประยุกต์ใช้

Architecture
การถ่ายภาพสตรีท

การถ่ายภาพสตรีท

Architecture
กล้องมิเรอร์เลสแบบฟูลเฟรม

กล้องมิเรอร์เลสแบบฟูลเฟรม

Architecture
เลนส์และอุปกรณ์เสริม

เลนส์และอุปกรณ์เสริม

Architecture
Nature & Wildlife Photography

Nature & Wildlife Photography

Architecture
การถ่ายภาพพอร์ตเทรต

การถ่ายภาพพอร์ตเทรต

Architecture
การถ่ายภาพกลางคืน

การถ่ายภาพกลางคืน

Architecture
การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง

การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง

Architecture
โซลูชั่นการพิมพ์

โซลูชั่นการพิมพ์

Architecture
รีวิวผลิตภัณฑ์

รีวิวผลิตภัณฑ์

Architecture
การถ่ายภาพงานแต่งงาน

การถ่ายภาพงานแต่งงาน

เคล็ดลับและบทเรียน >> เคล็ดลับและบทเรียนทั้งหมด

การถ่ายภาพซากุระต้นเดี่ยว: 3 เทคนิคถ่ายภาพให้น่าประทับใจ

2024-04-22
0
103

ซากุระต้นเดี่ยวที่กำลังออกดอกบานสะพรั่งนั้นเป็นภาพที่สวยงามไม่ต่างจากถนนทั้งเส้นที่เต็มไปด้วยต้นซากุระ ที่จริงแล้ว ซากุระต้นเดี่ยวจำนวนมากในญี่ปุ่นล้วนมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง และอาจจะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมด้วย! ต่อไปนี้คือไอเดียและเคล็ดลับในการถ่ายภาพต้นซากุระเหล่านี้ให้สวยงามโดยใช้ตัวอย่างจากซากุระต้นเดี่ยวที่มีชื่อเสียง (เรื่องโดย Jiro Tateno, Chikako Yagi, Digital Camera Magazine)

ในบทความนี้:

 

1. เปิดรับแสงน้อยลงเล็กน้อยเพื่อให้ต้นไม้สีชมพูดูโดดเด่น

EOS R5/ FL: 31 มม./ Aperture-priority AE (f/9, 1/25 วินาที, EV -1.0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด/ ภาพโดย: Chikako Yagi
ชื่อต้นไม้: โคมัตสึนางิ โนะ ซากุระ (ต้นซากุระแห่งโคมัตสึนางิ)
สถานที่: หมู่บ้านอาจิ จังหวัดนางาโนะ
เวลาที่ควรไปเที่ยวชม: กลางเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม

เกี่ยวกับต้นซากุระ: โคมัตสึนางิ โนะ ซากุระ (駒つなぎの桜)
ว่ากันว่าซากุระต้นนี้มีอายุ 400-500 ปี ชื่อ “โคมัตสึนางิ โนะ ซากุระ” หมายถึง “ต้นซากุระที่ใช้ล่ามม้า” มีตำนานเล่าขานกันว่าซากุระต้นนี้คือต้นไม้ที่ซามูไรผู้โด่งดังนามว่า มินาโมโตะ โนะ โยชิตสึเนะ ใช้ล่ามม้าของตนขณะหลบหนีจากการข่มเหงของพี่ชายผู้ริษยา


ก่อน: ถ่ายด้วยแบ็คกราวด์ที่สว่างกว่า

ต้นซากุระดูไม่โดดเด่นเท่าใดนักเมื่อแบ็คกราวด์สว่างเกินไป

 

เทคนิค: ปรับค่าการเปิดรับแสงไปทางซ้าย + การจัดองค์ประกอบภาพ

  • แสงอาทิตย์ส่องในมุมต่ำ (ใกล้เวลาอาทิตย์ตก)
  • เปิดรับแสงให้น้อยกว่าค่าระดับแสงที่ “เหมาะสม” เล็กน้อย (ปรับค่าการเปิดรับแสงไปทางซ้าย)
  • ให้ท้องฟ้าอยู่นอกเฟรมภาพให้มากที่สุด

แสงแดดที่ส่องผ่านกลีบดอกซากุระทำให้ต้นซากุระดูมีมิติมากขึ้นและเห็นรายละเอียดได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากสิ่งแวดล้อมมีความสว่างพอๆ กัน ต้นซากุระจะดูกลมกลืนไปกับแบ็คกราวด์! ผมจึงตัดสินใจเพิ่มความเปรียบต่างของโทนสีระหว่างต้นซากุระและแบ็คกราวด์เพื่อให้ต้นซากุระดูโดดเด่นยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยอาศัยเวลาในการถ่ายภาพ ค่าการเปิดรับแสง และการตัดสินใจจัดองค์ประกอบภาพ

มุมที่แสงตกกระทบ
ผมเลือกถ่ายภาพในช่วงเวลาใกล้อาทิตย์ตก เนื่องจากแสงจะส่องมาจากมุมที่ต่ำกว่า ทำให้เกิดเป็นเอฟเฟ็กต์เหมือนมีสปอตไลต์ส่องไปที่ต้นไม้

การตั้งค่าระดับแสง
ผมถ่ายภาพในโหมด Aperture-priority AE ที่ f/9 เพื่อให้รายละเอียดของดอกซากุระคมชัดอยู่ในโฟกัส และใช้ค่าการชดเชยแสงเป็นลบเพื่อลดการเปิดรับแสงลงเล็กน้อย องค์ประกอบที่อยู่รอบๆ ต้นซากุระจึงกลายเป็นเงาสีดำ ในขณะที่แสงแดดส่องลงไปบนกลีบดอกซากุระ กลีบดอกเหล่านั้นจะยังคงสว่างอยู่แม้ว่าสิ่งอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบจะกลายเป็นเงาดำ

เคล็ดลับระดับมือโปร: อย่าเปิดรับแสงน้อยจนเกินไป เหลือรายละเอียดในส่วนเงาเอาไว้บ้างเพื่อให้สามารถมองเห็นบริบทโดยรอบได้อยู่!

การจัดองค์ประกอบภาพ
ท้องฟ้าที่สว่างจ้าจะดึงความสนใจของผู้ชมออกไปจากกลีบดอกซากุระสีอ่อน ผมจึงพยายามทำให้ท้องฟ้าอยู่นอกเฟรมภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


เลนส์ที่แนะนำ: เลนส์ซูมมาตรฐาน

ลองใช้: RF24-70mm f/2.8L IS USM

หากคุณใช้กล้องในระบบ EOS R อยู่แล้ว ให้ลองใช้เลนส์ 24-70mm f/2.8L ยอดนิยมของ Canon ในเวอร์ชันเมาท์ RF ปกติดู รูรับแสงกว้างสุดที่กว้างของเลนส์นี้จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้มากขึ้นแม้ท้องฟ้าจะมืดลงและมีน้ำหนักเพียงราว 900 กรัมเท่านั้น จึงเหมาะสำหรับฟังก์ชั่นการซูมและการถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย!

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโคมัตสึงิ โนะ ซากุระ

ต้นซากุระนี้จะมีการประดับไฟในเวลากลางคืนและดูงดงามมากเมื่ออยู่เบื้องหน้าภูเขาและท้องฟ้าในยามค่ำคืน และคุณจะสามารถถ่ายภาพเงาสะท้อนของนาข้าวที่อยู่ใกล้เคียงได้อย่างน่าสนใจหากสภาวะต่างๆ มีความเหมาะสม

ที่อยู่: ชิซาโตะ หมู่บ้านอาจิ เขตชิโมะไอนะ จังหวัดนางาโนะ 395-0304
รายละเอียดเพิ่มเติม: https://zekkeijapan.com/spot/index/1025/ (ฉบับภาษาอังกฤษ)

 

2. ใช้มุมต่ำและให้ต้นซากุระกินพื้นที่เต็มเฟรมภาพเพื่อแสดงขนาดที่ใหญ่โต

EOS R5/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 50 มม./ Manual exposure (f/8, 1/160 วินาที)/ ISO 200/ WB: 4,900K/ ภาพโดย: Jiro Tateno
ชื่อต้นซากุระ: มิฮารุ ทากิซากุระ (ต้นซากุระน้ำตกแห่งมิฮารุ)
สถานที่: เมืองมิฮารุ จังหวัดฟุกุชิมะ
เวลาที่ควรไปเที่ยวชม: กลางเดือนถึงปลายเดือนเมษายน

เกี่ยวกับต้นซากุระ: มิฮารุ ทากิซากุระ (三春滝桜)
“ซากุระน้ำตก” ต้นนี้เป็นซากุระที่มีกิ่งก้านย้อยลงมาและคาดว่ามีอายุมากกว่า 1,000 ปี อาจกล่าวได้ว่าเป็นซากุระต้นเดี่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดต้นหนึ่งในญี่ปุ่น และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมบัติทางธรรมชาติประจำชาติเมื่อปี ค.ศ. 1922


ก่อน: ต้นซากุระดูไม่น่าสนใจ

ภาพแบบกว้างๆ นี้ถ่ายจากตำแหน่งและมุมที่สูงกว่า พื้นที่รอบๆ ทำให้ต้นซากุระดูมีขนาดเล็ก

 

เทคนิค: มุมกล้อง ตำแหน่งถ่ายภาพ และการจัดองค์ประกอบภาพ

  • ตำแหน่งถ่ายภาพต่ำ มุมต่ำ: เอียงกล้องขึ้นด้านบนเล็กน้อย
  • ถ่ายให้ต้นซากุระทั้งต้นเต็มเฟรมภาพและลดปริมาณพื้นที่ว่างลง

และสมบัติประจำชาติชิ้นนี้ยังเป็นหนึ่งในต้นซากุระที่ใหญ่ที่สุด 3 ต้นของญี่ปุ่นด้วย ด้วยความสูงราว 13.5 เมตรและกิ่งก้านที่แผ่ขยายออกไปประมาณ 25 เมตรทั้งในทิศเหนือ-ใต้และทิศตะวันออก-ตะวันตก ขนาดและลักษณะที่ดูใหญ่โตอลังการเช่นนี้คือสิ่งที่ผมต้องการให้มีอยู่ในภาพ

มุมกล้องและตำแหน่งถ่ายภาพ
เช่นเดียวกับการถ่ายภาพมนุษย์ คุณสามารถทำให้ต้นไม้ดูโดดเด่นและน่าประทับใจยิ่งขึ้นได้หากถ่ายภาพโดยให้กล้องอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาและเอียงกล้องขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นวิธีที่ผมใช้ในการถ่ายภาพ “หลัง”

ทางยาวโฟกัสและเลนส์
ในภาพนี้ ผมต้องการให้เอฟเฟ็กต์ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นจึงถ่ายภาพที่ระยะ 50 มม. ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าให้เปอร์สเปคทีฟที่เป็นกลาง หรือคุณอาจใช้ตำแหน่งถ่ายภาพและมุมกล้องต่ำคู่กับเลนส์มุมกว้างหรือเลนส์ฟิชอายก็ได้ เนื่องจากเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟเกินจริงจากเลนส์เหล่านี้จะทำให้ได้ภาพที่มีลักษณะแปลกตา

อ่านเพิ่มเติมได้ที่
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง
การถ่ายภาพต้นซากุระ: ควรถ่ายที่ระยะมุมกว้างหรือเทเลโฟโต้ดี

การจัดองค์ประกอบภาพ
ยิ่งมีที่ว่างรอบต้นซากุระมากเท่าใด ต้นซากุระจะดูเล็กลงมากเท่านั้น ผมจัดองค์ประกอบภาพให้ต้นซากุระกินพื้นที่ตามขวางของเฟรมภาพจนเต็มโดยไม่มีช่องว่างทางด้านซ้ายและขวาเหลืออยู่เลย หากคุณใช้เลนส์ที่กว้างกว่านี้ ให้ก้าวเข้าไปใกล้ๆ เพื่อให้ต้นซากุระกินพื้นที่เต็มเฟรม!

 

เทคนิคพิเศษ: จะทำอย่างไร หากต้องการให้เห็นท้องฟ้ามากกว่านี้

EOS R5/ RF15-35mm f/2.8L IS USM/ FL: 21 มม./ Manual exposure (f/2.8, 15 วินาที)/ ISO 2000/ WB: 4,000K/ ภาพโดย: Jiro Tateno

มิฮารุ ทากิซากุระจะมีไฟประดับในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นภาพที่สวยงาม แต่หากคุณอยู่จนถึงเวลาปิดไฟ (หลัง 3 ทุ่มตามกำหนดการของปีก่อนหน้า) คุณจะมีโอกาสได้ถ่ายภาพอันสวยงามของต้นซากุระที่อยู่เบื้องหน้าท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว ในภาพนี้ ทั้งต้นซากุระและท้องฟ้าต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญ ผมจึงถ่ายภาพในสไตล์มินิมัลโดยให้ท้องฟ้ากินพื้นที่สองในสามของเฟรมภาพ ในขณะเดียวกันผมก็ให้ต้นซากุระกินพื้นที่หนึ่งในสามด้านล่างให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อคงผลทางอารมณ์เอาไว้


เลนส์ที่แนะนำ: เลนส์ซูมมุมกว้าง

ลองใช้: RF15-35mm f/2.8L IS USM

เลนส์ซูมมุมกว้างจะช่วยให้คุณถ่ายภาพฉากตระการตาที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างน่าทึ่งและสมจริง เช่นเดียวกับต้นซากุระมิฮารุขนาดใหญ่ที่มีกิ่งก้านห้อยย้อยในภาพด้านบน ใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดกว้างเพื่อให้พร้อมสำหรับการถ่ายฉากเบื้องหน้าท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว!

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมิฮารุ ทากิซากุระ

จะมีผู้ชมหลั่งไหลมาในช่วงที่ดอกซากุระบานเต็มที่เนื่องจากซากุระต้นนี้เป็นที่นิยมมาก และมีค่าธรรมเนียมเข้าชม 500 เยน

นอกจากนี้ยังมีดอกไม้อื่นๆ ให้ชมอีกมากมายในบริเวณเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นซากุระต้นอื่นหรือดอกคาโนล่าสีเหลือง ความจริงแล้ว เมืองมิฮารุทั้งเมืองถือเป็นจุดชมซากุระยอดนิยมเลยทีเดียว

ที่อยู่: 296 ทากิซากุระคุโบะ เมืองมิฮารุ เขตทามุระ จังหวัดฟุกุชิมะ 963-7714
รายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.japan-guide.com/e/e7792.html (ฉบับภาษาอังกฤษ)
เว็บไซต์ทางการ: https://miharukoma.com/experience/183 (แปลอัตโนมัติ)

 

3. ถ่ายภาพต้นไม้โดดเดี่ยวด้านหน้าทิวทัศน์ตระการตาให้มีความสมดุล

EOS R5/ RF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 200 มม./ Manual exposure (f/4, 1/100 วินาที)/ ISO 200/ WB: 4,900K/ ภาพโดย: Jiro Tateno
ชื่อต้นซากุระ: อินาอิ โนะ อิปปงซากุระ (ซากุระต้นเดี่ยวที่อินาอิ)
สถานที่: เมืองฮะจิมันไต จังหวัดอิวาเตะ
เวลาที่ควรไปเที่ยวชม: ปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม

เกี่ยวกับต้นซากุระ: อินาอิ โนะ อิปปงซากุระ (為内の一本桜)
ต้นซากุระนี้อยู่บนยอดเนินเขาเล็กๆ โดยมองเห็นภูเขาอิวาเตะอยู่ด้านหลัง และเป็นจุดยอดนิยมสำหรับการถ่ายรูปและถ่ายทำภาพยนตร์

 

เทคนิค: การบีบอัดของเลนส์เทเลโฟโต้และเวลาในการถ่ายภาพ

  • ใช้การบีบอัดของเลนส์เทเลโฟโต้เพื่อให้ภูเขาดูใหญ่ขึ้น
  • ถ่ายในช่วงเย็นเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์ “สปอตไลต์”

ไฮไลต์ของจุดถ่ายภาพนี้ไม่ใช่แค่ซากุระต้นเดี่ยวเท่านั้น แต่ยังมีวิวภูเขาอิวาเตะอยู่ด้านหลังด้วย จุดถ่ายภาพนี้มีระยะห่างจากต้นซากุระพอสมควร ส่วนภูเขานั้นอยู่ห่างออกไป 10 กิโลเมตร คุณสามารถจัดองค์ประกอบภาพได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าต้องการเน้นที่จุดใด แต่ผมต้องการให้ต้นซากุระเป็นจุดเด่นของภาพนี้ ภูเขาควรเป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้ภาพสวยงามขึ้น แต่ต้องไม่ทำให้ต้นซากุระดูมีขนาดเล็กหรือไม่สำคัญจนเกินไป

เลนส์และการจัดองค์ประกอบภาพ:
คุณอาจจะคุ้นเคยกับเทคนิคที่แสดงขนาดตัวเล็กจิ๋วของมนุษย์เทียบกับโครงสร้างขนาดใหญ่กว่ามากเพื่อเน้นให้เห็นขนาดของฉากที่คุณกำลังถ่ายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่คุณทราบหรือไม่ว่า คุณสามารถใช้ลูกเล่นของเปอร์สเปคทีฟและการบีบอัดเพื่อให้สิ่งของที่มีขนาดเล็กดูใหญ่ขึ้นได้

เมื่อผมใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ผลที่ได้มีสองอย่างคือ
- ผมสามารถถ่ายภาพต้นซากุระอินาอิให้เต็มเฟรมยิ่งขึ้นได้แม้จะยืนอยู่ไกลพอสมควร
- เอฟเฟ็กต์บีบอัดภาพของเลนส์เทเลโฟโต้ช่วย “ดึง” เอาภูเขาอิวาเตะเข้ามา แล้วทำให้ดูเหมือนอยู่ใกล้ขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น

ตอนนี้ต้นซากุระจึงดูมีขนาดใหญ่พอๆ กับภูเขามหึมาลูกนั้น!

คุณอาจจะต้องลองเปลี่ยนระยะการถ่ายภาพและทางยาวโฟกัสสักเล็กน้อยเพื่อหาวิธีจัดเฟรมภาพให้เหมาะสม

เคล็ดลับระดับมือโปร: ทางยาวโฟกัสและระยะการถ่ายภาพที่คุณใช้จะเป็นตัวกำหนดว่าต้นซากุระและภูเขาจะดูมีขนาดใหญ่ (หรือเล็ก) เพียงใดเมื่อเทียบกัน ยกตัวอย่างเช่น หากใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวกว่า เช่น 400 มม. คุณจะสามารถดึงภูเขาให้เข้ามาใกล้จนกระทั่งกินพื้นที่ในแบ็คกราวด์ทั้งหมดได้ ซึ่งจะทำให้เอฟเฟ็กต์ของภาพเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ช่วงเวลาของวัน

นี่คือภาพที่ได้เมื่อผมถ่ายตอนประมาณเที่ยงวัน

พระอาทิตย์อยู่สูงขึ้นไปบนท้องฟ้าและส่องแสงลงมาจนสว่างไปทั้งฉาก ตัวภูเขาจึงสว่างด้วยเช่นกัน ภาพนี้เป็นภาพที่สวยดี แต่ผมรู้สึกว่าต้นซากุระดูไม่โดดเด่นเท่าที่ผมต้องการ

เช่นเดียวกับภาพต้นซากุระโคมัตสึนางิที่ถ่ายโดย Chikako Yagi ในภาพที่ 1 ผมถ่ายภาพหลักของต้นซากุระอินาอิในช่วงเย็น ซึ่งแสงแดดจะส่องไปที่ต้นซากุระเท่านั้นและไม่มีแสงบนเนินเขาเลย เอฟเฟ็กต์สปอตไลต์นี้ช่วยให้ต้นซากุระโดดเด่นมากขึ้น


นำเคล็ดลับนี้ไปใช้: ให้ความสำคัญกับมุมที่แสงตกกระทบ
แสงแบบ “สปอตไลต์” ที่สวยงามเป็นสิ่งที่คุณสามารถคาดการณ์ได้! ลองศึกษามุมตกกระทบและทิศทางของแสงในแต่ละช่วงเวลาของวันดู แอปอย่าง Sun Surveyor ก็สามารถช่วยได้ โครงสร้างและภูมิประเทศที่อยู่โดยรอบ เช่น ภูเขา ก็สามารถทำหน้าที่เป็นธงดำหรือตัวบีบแสงตามธรรมชาติได้เช่นกันในบางเวลา ซึ่งจะช่วยให้เกิดเอฟเฟ็กต์สปอตไลต์ที่สวยงาม


เลนส์ที่แนะนำ: เลนส์ซูมเทเลโฟโต้

ลองใช้: RF70-200mm f/4L IS USM

หากลองไปถามดู ช่างภาพธรรมชาติหรือช่างภาพทิวทัศน์ทุกคนจะบอกว่าเลนส์ซูมเทเลโฟโต้เป็นเลนส์ชนิดหนึ่งที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องไปเยือนสถานที่ที่มีเนินเขาหรือภูเขา RF70-200mm f/4L IS USM เป็นเลนส์ที่มีความสมดุลระหว่างความคล่องตัว ความแข็งแรงทนทาน และประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยม จึงเหมาะสำหรับการเดินทางไกลหรือเดินป่า

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอินาอิ โนะ อิปปงซากุระ

แม้ทางเดินไปยังต้นซากุระจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากชาวบ้าน แต่ที่ดินนั้นเป็นที่ดินส่วนบุคคล จึงควรใช้ความระมัดระวังและแสดงความเคารพด้วย! ประชาชนในจังหวัดอิวาเตะเรียกซากุระต้นนี้ว่า “สถานีสุดท้ายของฤดูใบไม้ผลิ” เพราะออกดอกช้ากว่าต้นซากุระอื่นๆ ในเมือง ซึ่งเป็นผลมาจากการอยู่ในระดับที่สูงกว่า

ที่อยู่: ทาเมะอุชิยามะ, โนดะ เมืองฮะจิมันไต จังหวัดอิวาเตะ
รายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.tohoku-sakurakaido.jp/en/sakuratourism/view/96 (ฉบับภาษาอังกฤษ)

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

Digital Camera Magazine

นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation

Jiro Tateno

เกิดที่กรุงโตเกียวในปี 1975 ตั้งแต่ราวปี 1990 เขาสัมผัสธรรมชาติผ่านทางการตกปลา และเริ่มถ่ายภาพ เขาเดินทางถ่ายภาพไปทั่วประเทศในหัวข้อ "ความงดงามของธรรมชาติ” ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ปัจจุบัน เขาเป็นผู้จัดส่งภาพถ่ายเพื่อเผยแพร่ในนิตยสาร หนังสือ โปสเตอร์ ปฏิทิน และอื่นๆ อีกมากมาย เขาจัดงานนิทรรศการภาพถ่าย "Okinawa" ขึ้นในปี 2010 และจัดนิทรรศการภาพถ่าย "Northern Lights - Journey of Light/ Iceland" ในปี 2017

Chikako Yagi

Chikako Yagi มีอายุเพียง 20 ปีตอนที่เธอเริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพด้วยตัวเองโดยใช้กล้องฟิล์ม SLR เธอออกจากงานประจำมาเป็นช่างภาพทิวทัศน์เต็มตัวในปี 2016 เธอเคยฝึกงานกับช่างภาพชื่อดังหลายราย เช่น Kiyoshi Tatsuno และ Tomotaro Ema และยังเป็นสมาชิกของชมรม Shizensou Club ซึ่งก่อตั้งโดย Kiyoshi Tatsuno และเป็นหนึ่งในชมรมช่างถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ในปี 2013 เธอได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 10 อันดับช่างภาพฝีมือดีของชมรม Tokyo Camera Club

www.chikakoyagi.com
Instagram: @chikako_yagi

แบ่งปันภาพถ่ายของคุณใน My Canon Story แล้วร่วมลุ้นโอกาสเผยแพร่ผลงานบนโซเชียลมีเดียของเรา