การถ่ายภาพต้นซากุระในญี่ปุ่น: จุดชมวิวและเคล็ดลับของช่างภาพมืออาชีพ (1)
ซากุระเป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น แต่เมื่อแต่ละภูมิภาคมีช่วงเวลาที่เหมาะแก่การชมซากุระที่แตกต่างกัน คุณจะสามารถถ่ายภาพดอกไม้ได้อย่างน่าประทับใจได้อย่างไร ในตอนที่ 1 ของบทความ 2 ตอนต่อเนื่องนี้ เราจะมาดูจุดชมวิวต่างๆ ที่มีดอกซากุระบานสะพรั่งเต็มที่ในช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน และเรียนรู้เคล็ดลับบางประการในการถ่ายภาพซากุระให้สวยงามมากที่สุด (เรื่องโดย Fumio Tomita, Makoto Hashimuki, Shirou Hagihara)
1: ซากุระใหญ่แห่งอิชชินเกียว (จังหวัดคุมาโมะโตะ คิวชู)
เพิ่มอุณหภูมิสีด้วย WB เพื่อถ่ายทอดแสงในยามเช้า
ฉากนี้ผมถ่ายภาพต้นซากุระที่ต้องแสงอรุณแรกในยามเช้า เนื่องจากอุณหภูมิสีของแสงค่อนข้างต่ำในตอนเช้า การถ่ายทอดสีสันต่างๆ เช่น สีแดง ส้ม และเหลือง จึงต้องทำในลักษณะที่เน้นสีสันของซากุระโดยรวมและบรรยากาศในยามเช้าให้ดูโดดเด่นมากขึ้น ผมตัดสินใจเลือกมุมถ่ายภาพ หลังจากพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เช่น รูปทรงของต้นไม้ จำนวนดอกไม้ ตำแหน่งของดอกเรพซีด ซึ่งมักจะบานในฤดูใบไม้ผลิที่ญี่ปุ่น (ส่วนล่างของภาพ) และแบ็คกราวด์
ในช่วงเช้าและช่วงเย็น แสงสว่างจะลดลง เราจึงไม่สามารถถ่ายทอดบรรยากาศยามเช้าได้อย่างสมจริงหากถ่ายภาพโดยใช้ AWB (สมดุลแสงขาวอัตโนมัติ) อย่างไรก็ดี การเพิ่มอุณหภูมิสีในการตั้งค่า WB ภายในกล้อง จะเพิ่มโทนสีแดงในภาพถ่ายโดยรวม ซึ่งช่วยให้คุณสามารถถ่ายทอดบรรยากาศของต้นไม้ที่อาบไล้ไปด้วยแสงในยามเช้าหรือยามเย็นได้ ควรระมัดระวังอย่าตั้งอุณหภูมิสีสูงจนเกินไป มิฉะนั้นภาพที่ได้จะดูไม่เป็นธรรมชาติ
EOS-1Ds Mark III/ EF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 95 มม./ Manual exposure (f/18, 1/3 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: 7,000K
ภาพโดย: Fumio Tomita/ สถานที่: Minamiaso-mura, Aso-gun จังหวัดคุมาโมะโตะ
ช่วงที่เหมาะแก่การชมมากที่สุด: ปลายเดือนมีนาคม/ เวลาถ่ายภาพ: 7:00 น.
ตัวอย่างที่ไม่ดี: เมื่อถ่ายภาพโดยใช้ AWB แสงยามเช้าจะส่งผลกระทบทางอารมณ์น้อยลง
EOS-1Ds Mark III/ EF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 95 มม./ Manual exposure (f/16, 1/3 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัติโนมัติ
ภาพโดย: Fumio Tomita
เมื่อถ่ายภาพโดยใช้ AWB โทนสีแดงในแสงยามเช้าจะลดลง ดังนั้น แม้ว่าเราจะถ่ายทอดสีสันของต้นซากุระเดิมได้อย่างสมจริง แต่กล้องก็ไม่อาจสื่อพลังทางอารมณ์ของภาพต้นซากุระขนาดใหญ่ที่ห้อมล้อมด้วยแสงยามเช้า
2: Ryuganbuchi, Uruigawa River (จังหวัดชิซุโอกะ ตอนกลางเกาะฮอนชู)
ลดการเปิดรับแสงเพื่อป้องกันไม่ให้บริเวณที่มีหิมะสว่างจ้าจนเกินไป
ภาพนี้ถ่ายในสถานที่ซึ่งมีต้นซากุระอยู่ในส่วนโฟร์กราวด์ และมีภูเขาไฟฟูจิสูงตระหง่านในส่วนแบ็คกราวด์ เนื่องจากม่านหมอกจะหนาตัวขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ ดังนั้น ผมขอแนะนำให้ถ่ายภาพในตอนเช้าซึ่งมีอากาศแจ่มใสกว่า และเพื่อให้ภาพส่งผลทางอารมณ์มากที่สุด ควรถ่ายภาพในขณะที่ดอกซากุระบานสะพรั่ง และควรระมัดระวังเกี่ยวกับการเปิดรับแสงด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้น ภาพหิมะที่ปกคลุมยอดภูเขาไฟฟูจิอาจจะมีโอกาสที่จะสว่างจ้าเกินไป ดังนั้น เพื่อผลลัพธ์ภาพที่ดียิ่งขึ้น ให้ลองลดการเปิดรับแสงในการถ่ายภาพ
นอกจากนี้ เนื่องจากสถานที่นี้คราคร่ำไปด้วยช่างภาพจำนวนมาก จึงควรใช้ระยะเทเลโฟโต้เพื่อตัดผู้คนออกไปจากภาพ นอกจากนี้ บริเวณดังกล่าวมีสะพานแคบๆ ซึ่งมีผู้คนเดินผ่านไปมามากมาย จึงควรระมัดระวังสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุอีกด้วย
EOS 6D/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 93 มม./ Manual exposure (f/8, 1/320 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัติโนมัติ
ภาพโดย: Makoto Hashimuki/ สถานที่: Kuzawa, Fuji-shi, จังหวัดชิซุโอกะ
ช่วงที่เหมาะแก่การชมมากที่สุด: ปลายเดือนมีนาคม/ เวลาถ่ายภาพ: 11:00 น.
ตัวอย่างที่ไม่ดี: การรวมผู้คนไว้ในเฟรมจะทำให้ภาพถา่กลายเป็นผลงานบันทึกฉากในช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น
EOS 6D/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 88 มม./ Manual exposure (f/8, 1/400 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัติโนมัติ
ภาพโดย: Makoto Hashimuki
หากเรารวมผู้คนไว้ในเฟรมภาพ ภาพจะดูเหมือนแสดงรายละเอียดของสิ่งที่อยู่ในภาพถ่ายเท่านั้น จึงควรเลือกมุมภาพและสถานที่ที่ผู้คนจะไม่ปรากฏในภาพถ่ายของคุณ
3: สวนสาธารณะ Gokanjoshi (จังหวัดกุนมะ ทางตะวันออกของเกาะฮอนชู)
ใส่ต้นซากุระไว้บริเวณด้านบนและด้านล่างของภาพ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกหนาแน่น
ภาพนี้ถ่ายระหว่างที่เดินตามเส้นทางธรรมชาติซึ่งนำขึ้นไปสู่เทือกเขา เทือกเขา Myogi ดูราวกับตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางระหว่างต้นซากุระที่อยู่ด้านบนและด้านล่าง ผมเพิ่มความสูงของขาตั้งกล้องเพื่อทำให้ระยะห่างระหว่างต้นซากุระที่ยื่นออกมากับภูเขาดูใกล้กันมากที่สุด เพื่อเติมเต็มพื้นที่ว่างในภาพและถ่ายทอดความรู้สึกหนาแน่น วิธีนี้ทำให้ได้ภาพถ่ายที่สื่อถึงดอกไม้บานสะพรั่งและส่งกลิ่นหอมรัญจวนในฤดูใบไม้ผลิ
นอกจากนี้ การวางต้นซากุระในแนวตั้งเพื่อให้มองเห็นกิ่งไม้ได้อย่างชัดเจนจะช่วยเน้นความงดงามตระการตาของต้นซากุระยามต้องแสงอาทิตย์ยามเย็นได้อย่างมาก และในขณะเดียวกันยังสื่อถึงความสูง ขนาด และความยิ่งใหญ่ของเทือกเขา Myogi ได้อีกด้วย
เมื่อถ่ายภาพจากสถานที่นี้ คนส่วนใหญ่อาจจัดองค์ประกอบภาพโดยใช้เฉพาะเทือกเขาและต้นซากุระที่บริเวณด้านล่างของภาพเท่านั้น แม้ว่าการวางภูเขาไว้ด้านหลังต้นซากุระจะสามารถสื่อถึงพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลได้ แต่การเพิ่มต้นซากุระที่ยื่นออกมาเข้าไปด้วยจะช่วยเน้นความน่าสนใจและเพิ่มความโดดเด่นขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
เนื่องจากท้องฟ้าในแบ็คกราวด์มีความสว่าง ดังนั้น หากเราใช้การปรับระดับแสงอัตโนมัติ กล้องจะได้รับผลกระทบจากความสว่างดังกล่าวและทำให้ภาพมืดลงได้ การถ่ายทอดความงามของต้นซากุระในฉากนี้จึงจำเป็นต้องทำให้ภาพดูสมจริงราวกับเห็นด้วยตาตนเอง หรืออย่างน้อยก็ทำให้ภาพสว่างขึ้นเล็กน้อย ดังนั้น ในภาพนี้ ผมจึงตั้งค่าการชดเชยแสงเป็น EV+1.0
EOS 5D Mark II/ EF17-40mm f/4L USM/ FL: 20 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/15 วินาที, EV+1.0)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ภาพโดย: Shirou Hagihara/ สถานที่: Nakagokan, Annaka-shi, จังหวัดกุนมะ
ช่วงที่เหมาะแก่การชมมากที่สุด: ต้นเดือนเมษายน/ เวลาถ่ายภาพ: 17:30 น.
ตัวอย่างที่ไม่ดี 1: การวางต้นซากุระบริเวณด้านล่างของภาพเพียงอย่างเดียวจะทำให้ภาพดูน่าสนใจน้อยลง
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 85 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/20 วินาที, EV-0.7)/ ISO 200/ WB: Manual
ภาพโดย: Shirou Hagihara
หากเราวางต้นซากุระบริเวณด้านล่างของภาพอย่างเดียวจะเพิ่มความรู้สึกถึงทิวทัศน์อันกว้างใหญ่ไพศาลได้ แต่ต้นซากุระจะดูไม่โดดเด่นเท่าที่ควร
ตัวอย่างที่ไม่ดี 2: หากไม่ใช้การชดเชยแสงเป็นบวก ต้นซากุระจะดูมืดลง
EOS 5D Mark II/ EF17-40mm f/4L USM/ FL: 20 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/15 วินาที, EV±0)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ภาพโดย: Shirou Hagihara
เนื่องจากท้องฟ้ากินพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาพ ต้นซากุระจึงดูมืดหากเราไม่ใช้การชดเชยแสง และภาพจะขาดความน่าดึงดูดไป
สถานที่ตั้งของจุดชมวิว
1: ซากุระใหญ่แห่งอิชชินเกียว (จังหวัดคุมาโมะโตะ)
2: Ryuganbuchi, Uruigawa River (จังหวัดชิซุโอกะ)
3: สวนสาธารณะ Gokanjoshi (จังหวัดกุนมะ)
ในตอนต่อไป เราจะนำเสนอจุดชมวิวต่อไปนี้ ซึ่งจะมีดอกซากุระบานสะพรั่งในช่วงหลังจากนั้นเล็กน้อย คือตั้งแต่ช่วงกลางจนถึงปลายเดือนเมษายน (บริเวณที่เป็นสีน้ำเงินบนแผนที่):
- บ้านเรือแห่งอิเนะ (“อิเนะ-โนะ-ฟุนะยะ”) และซากุระแห่งวัดไคโซะจิ (จังหวัดเกียวโต ทางตะวันตกของเกาะฮอนชู)
- สวนสาธารณะ Takada (จังหวัดนีงะตะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู)
- สวนสาธารณะ Kitakami Tenshochi (จังหวัดอิวะเตะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู)
- ซากุระ Ageishi Fudo (จังหวัดฟุกุชิมะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู)
หากต้องการทราบเคล็ดลับและเทคนิคเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพต้นซากุระ เข้าไปดูได้ที่:
การถ่ายภาพต้นซากุระ: ควรถ่ายที่ระยะมุมกว้างหรือเทเลโฟโต้ดี
วิธีถ่ายภาพดอกซากุระให้มีความละเอียดแต่ดูชวนฝันด้วยซอฟต์ฟิลเตอร์
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1977 ที่จังหวัดชิซุโอกะ Hashimuki เริ่มถ่ายภาพหลังจากซื้อกล้องมิเรอร์เลสในปี 2012 ความงดงามของภูเขาไฟฟูจิสะกดใจเขา หลังจากนั้นเขาจึงซื้อกล้อง EOS 6D และเลนส์อื่นๆ ของ Canon เพื่อพัฒนาการถ่ายภาพอย่างจริงจังยิ่งขึ้น ภาพภูเขาไฟฟูจิที่เขาถ่ายได้รับการเผยแพร่ในสิ่งพิมพ์มากมายในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งนิตยสารการถ่ายภาพและปฏิทิน
Instagram: @hashimuki
เกิดที่กรุงโตเกียว หลังจบการศึกษาจาก Tokyo College of Photography เขาได้เรียนถ่ายภาพจากช่างภาพภูเขา ก่อนจะผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ เขาเชี่ยวชาญการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติในประเทศญี่ปุ่น
เกิดในปี 1959 ที่เมืองยามานาชิ หลังจากจบการศึกษาจาก Nihon University, Hagihara มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นนิตยสารถ่ายภาพ Fukei Shashin ที่เขาทำงานเป็นบรรณาธิการและผู้ตีพิมพ์ ต่อมาเขาลาออกและผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ ปัจจุบัน Hagihara ทำงานอยู่ในวงการถ่ายภาพและเขียนผลงานที่เน้นการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ เขาเป็นสมาชิกของ Society of Scientific Photography (SSP)
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation