วิธีถ่ายภาพดอกซากุระให้มีความละเอียดแต่ดูชวนฝันด้วยซอฟต์ฟิลเตอร์
ขั้นตอนแรกที่ช่วยให้ได้ภาพถ่ายดอกซากุระที่มีความละเอียดแต่ดูชวนฝันอาจเป็นการถ่ายภาพต้นซากุระขนาดใหญ่ในระยะใกล้ อย่างไรก็ดี เราควรตั้งค่ากล้องแบบใดเพื่อเก็บรายละเอียดบริเวณขอบภาพเมื่อถ่ายภาพในเวลากลางคืนและในสภาพแวดล้อมที่มีลมแรง เราจะมาเรียนรู้เทคนิคการตั้งค่าเพิ่มเติมในบทความนี้กัน (เรื่องโดย Hidehiko Mizuno)
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 32 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/3 วินาที, EV±0)/ ISO 800/ WB: แสงแดด
ต้นซากุระต่างๆ ในสวนสาธารณะมารุยาม่าร่วงโรยมาเป็นเวลานานแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้กลับค่อยๆ ฟื้นคืนสู่ความมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ผมมุ่งมั่นเก็บภาพรายละเอียดของต้นไม้ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาพร้อมหวนนึกถึงดอกซากุระที่เคยบานสะพรั่งก่อนหน้านี้
โฟกัสไปที่กิ่งไม้ที่มีดอกซากุระกำลังผลิบานอย่างสวยสดงดงาม
ผมรักต้นซากุระในย่านกิออนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมชอบมองดูต้นไม้เหล่านั้นที่สวนสาธารณะมารุยาม่าในกรุงเกียวโตในช่วงเวลากลางคืนอย่างมาก ผมมักจะเดินเล่นไปรอบๆ บริเวณเพื่อหามุมถ่ายภาพที่สามารถเก็บรูปทรงของต้นไม้ได้อย่างสวยงามมากที่สุด พร้อมกับพยายามที่จะไม่รบกวนคนอื่นๆ ที่มาเยือนสวนสาธารณะ
ความเร็วชัตเตอร์
เนื่องจากมีลมแรงเล็กน้อย ก่อนอื่นผมจึงตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ในระดับที่เพียงพอที่จะ "หยุด" ดอกไม้ให้อยู่กับที่ และเพื่อลดจุดรบกวนให้เหลือน้อยที่สุดเราจำเป็นต้องใช้ค่าความไวแสง ISO ไม่เกิน 800
รูัรับแสง
การกำหนดค่ารูรับแสงที่เหมาะสมในการใช้งานนับเป็นความท้าทายสำหรับภาพถ่ายในลักษณะนี้ เพื่อแสดงรายละเอียดบริเวณขอบภาพในระดับที่เหมาะสม ปกติผมมักแนะนำให้ใช้ค่า f/8 ขึ้นไป ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/4 อาจให้ความเร็วชัตเตอร์ที่ฉับไวและใช้งานง่ายก็จริง แต่มีระยะชัดที่ค่อนข้างตื้น ดังนั้น กล้องจะจับภาพได้ดีเฉพาะพื้นที่ตรงกลางภาพเท่านั้น
ในครั้งนี้ ผมถ่ายภาพต้นซากุระขนาดใหญ่ในระยะใกล้ แม้ว่าจะถ่ายภาพที่มุมกว้างแต่ก็จำเป็นต้องใช้รูรับแสงที่แคบ ทำให้ทราบได้ยากว่าจะวางโฟกัสไว้ที่ตรงจุดใด เนื่องจากการใช้ค่า f/5.6 ถึง f/8 จะให้ระยะชัดที่เพียงพอ เมื่อผมจับโฟกัสที่กลีบดอกไม้ที่อยู่ใกล้ๆ กลีบดอกไม้ที่บริเวณด้านหลังจะเบลอ และเมื่อผมโฟกัสไปที่ลำต้นของต้นไม้ ผลที่ได้จะกลับกัน
ผมพบว่าผลภาพจะออกมาดีที่สุดเมื่อจับโฟกัสที่กิ่งไม้ซึ่งเต็มไปด้วยดอกไม้ที่งดงามมากที่สุด และถ่ายภาพที่อยู่ห่างในระยะปานกลาง จากจุดนั้น เมื่อผมลดขนาดรูรับแสงลงเหลือ f/8 ผมจะสามารถจับโฟกัสไปที่ต้นไม้ทั้งต้นได้อย่างเต็มที่ นอกเหนือจากต้องแน่ใจว่าสามารถมองเห็นรูปทรงของต้นไม้ได้ทั้งต้นแล้ว ผมได้ใช้ฟิลเตอร์ซอฟต์และเน้นให้กึ่งกลางภาพมีความคมชัด พร้อมกับถ่ายทอดภาพของต้นไม้ใหญ่ที่ดูชวนฝัน
เคล็ดลับที่ 1: ใช้ f/8 เพื่อเก็บภาพต้นซากุระทั้งต้นได้อย่างคมชัด
เมื่อใช้ค่า f/5.6 ระยะชัดของภาพจะค่อนข้างตื้น ดังนั้น ภาพจะไม่คมชัดทั่วทั้งภาพเมื่อถ่ายต้นซากุระขนาดใหญ่ในระยะใกล้ บริเวณขอบของภาพไม่ชัดเจน ทั้งยังมีกิ่งไม้ที่ยื่นออกมาทางด้านบนสุดซ้ายของภาพ ซึ่งเห็นเด่นชัดว่าขาดความคมชัด ดังนั้น ระยะชัดของภาพโดยรวมจึงไม่เพียงพอ
โดยปกติ ผมจะแนะนำให้ใช้ค่ารูรับแสง f/8 สำหรับเก็บรายละเอียดที่คมชัดของตัวแบบ ซึ่งอยู่ห่างในระยะปานกลาง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดอ่าน:
เทคนิคเกี่ยวกับการตั้งค่าตามขนาดรูรับแสง #7: การตั้งค่ารูรับแสงเพื่อถ่ายทอดภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนที่คมชัด
f/5.6
f/8
เคล็ดลับที่ 2: ให้แหล่งกำเนิดแสงอยู่นอกเฟรมภาพ
การตรวจดูจนแน่ใจว่าไม่มีแหล่งกำเนิดแสงที่จะดึงความสนใจไปจากภาพคือจุดสำคัญอีกข้อหนึ่งในการถ่ายภาพต้นซากุระที่สวยสดงดงามยามค่ำคืน และเมื่อเราใช้ฟิลเตอร์ซอฟต์ เรายิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากแหล่งกำเนิดแสงจะกลืนเข้าไปในส่วนอื่นๆ ของภาพและมองเห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่ง ในภาพด้านล่าง มีแสงสว่างมากมายที่บริเวณขอบภาพ ซึ่งมาแย่งจุดสนใจของผู้ชมไปจากต้นซากุระ
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/2 วินาที, EV±0)/ ISO 500
ฟิลเตอร์ MARUMI Foggilizer สำหรับกล้อง - Soft Effect Filter 77 มม.
สำหรับบทช่วยสอนอื่นๆ เกี่ยวกับการได้ภาพต้นซากุระยามค่ำคืนที่สวยงามน่าทึ่ง โปรดดูที่:
ภาพทิวทัศน์ดวงดาวอันน่าทึ่ง: การถ่ายภาพดอกซากุระและทางช้างเผือกยามค่ำคืนให้สวยสดงดงาม
เลนส์ที่แนะนำเมื่อใช้ค่า f/8: EF24-105mm f/4L IS USM
ส่วนตัวแล้วผมนิยมใช้ EF24-105mm f/4L IS USM ที่ให้โฟกัสราบรื่นและเชื่อถือได้แม้ถ่ายภาพในที่มืด แม้ว่าภาพที่ถ่ายโดยใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/4 จะคมชัดมากพอ แต่หากคุณปรับขนาดรูรับแสงให้ลดลงเหลือ f/8 จะทำให้บริเวณขอบภาพดูสวยสดงดงามด้วยเช่นกัน
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดย ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดปี 1968 ในเกียวโต ผลงานที่เขาเผยแพร่เน้นทิวทัศน์ที่สวยงาม รวมถึงศาลเจ้าและวัดวาอารามในเกียวโต