การถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืนเปิดโอกาสให้คุณสนุกกับวิธีการถ่ายทอดที่หลากหลายโดยการปรับเปลี่ยนการตั้งค่าของกล้อง อย่างเช่น การถ่ายภาพ "เส้นแสง" ทำได้โดยเปิดชัตเตอร์ไว้เป็นเวลานาน ในบทความนี้ ผมจะอธิบายถึงเทคนิคการถ่ายภาพเส้นแสงจากไฟรถยนต์ว่าทำอย่างไรให้ออกมาสวยจับใจ (เรื่องโดย: Takuya Iwasaki)
ความเร็วชัตเตอร์กำหนดความยาวของเส้นแสง
การถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืนเป็นโอกาสให้คุณได้สนุกกับวิธีการถ่ายทอดที่หลากหลายด้วยการปรับเปลี่ยนการตั้งค่าของกล้อง เมื่อเปิดชัตเตอร์ไว้นาน คุณก็สามารถจับภาพแสงจากรถยนต์และรถไฟให้เต็มด้วยลวดลายหลากสี ซึ่งมักเรียกกันว่า “เส้นแสง” ช่วงเวลาของความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้จะเป็นตัวกำหนดว่าเส้นแสงที่ถ่ายมาช่วยขับเน้นผลงานภาพถ่ายของคุณหรือไม่ หากความเร็วชัตเตอร์สูงมาก เส้นแสงอาจสั้นเกินไป ในการจับภาพแสงไฟ อย่างไฟจากรถยนต์ที่กำลังเคลื่อนตัวผ่านคุณนั้น การเลือกความไวแสง ISO ต่ำๆ และความเร็วชัตเตอร์ช้าๆ จะช่วยให้คุณสร้างสรรค์ภาพเส้นแสงไฟที่มีชีวิตชีวาและการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราขอแนะนำให้เลือกจุดถ่ายที่อยู่สูงซึ่งสามารถมองลงมาเห็นทางด่วนหรือทางหลวงที่มีปริมาณการจราจรสูง
ฟังก์ชั่นของกล้องที่ใช้ในการถ่าย
ความเร็วชัตเตอร์
ขนาดของเส้นแสงไฟจะสั้นลงเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้น และขนาดจะยาวขึ้นเมื่อความเร็วชัตเตอร์ช้าลง
เทคนิคการสร้างเส้นแสง: เวลาเปิดรับแสงนาน
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวการถ่ายภาพให้เกิดเส้นแสงก็คือ คุณสามารถถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของแสงให้ปรากฏในภาพเดียวได้ นอกจากแสงไฟจากรถยนต์ คุณยังสามารถสร้างเส้นแสงจากไฟของรถไฟ เครื่องบิน และเรือได้ด้วย ในบทความนี้ ผมจะแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพเส้นแสงจากไฟรถยนต์ให้น่าดึงดูดใจ ประการแรก เลือกสถานที่ที่มีปริมาณการจราจรสูง และตั้งกล้องของคุณบนขาตั้งกล้องในตำแหน่งที่เอื้อให้คุณมองลงไปเห็นถนน เช่น บนทางเท้าหรือตำแหน่งที่สูงกว่าปกติ เลือก Shutter-priority AE หรือ Manual Exposure เป็นโหมดการถ่ายภาพ ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ไปที่ประมาณ 15 วินาที และเลือกความไวแสง ISO ต่ำๆ ระหว่าง ISO 100 และ 200 สำหรับการตั้งค่าสมดุลแสงขาว ขอแนะนำตัวเลือก [แสงแดด] เพราะช่วยในการสร้างสีของแสงไฟตามถนนให้สวยงาม
EOS 5D Mark II/ EF17-40mm f/4L USM/ FL: 17 มม./ Manual exposure (25 วินาที, f/11)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ในการถ่ายภาพเส้นแสงจากไฟรถที่วิ่งอยู่บนท้องถนนให้สื่อความเคลื่อนไหวจากตำแหน่งที่มองลงมาเห็นทางด่วน ผมลดขนาดรูรับแสงลงและเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ช้า
เส้นแสงที่ความเร็วชัตเตอร์ระดับต่างๆ
1/4 วินาที
ที่ 1/4 วินาที ยังมองเห็นรถแต่ละคัน และมีการถ่ายทอดการเคลื่อนไหวในภาพเล็กน้อยมาก
2 วินาที
ที่ 2 วินาที เริ่มเห็นเส้นแสงชัด แต่ยังคงไม่ต่อเนื่อง
15 วินาที
เส้นแสงต่อติดกันทั้งหมด เพิ่มความรู้สึกสมจริงให้กับภาพได้อย่างมาก
เกิดปี 1980 ในโอซาก้า หลังจากจบการศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ที่ Hosei University Iwasaki กลายมาเป็นช่างภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนเมื่อปี 2003 เขาทำงานเป็นไกด์ให้กับ All About (http://allabout.co.jp) นอกจากนั้นยังเป็นผู้บรรยายใน “หลักสูตรการถ่ายภาพยามค่ำคืน” ให้กับการสัมมนา Tokyu Seminar BE
http://www.yakei-photo.jp/