[ตอนที่ 2] การถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน – ประกายแฉกแสงและสีสัน
การถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนให้คุณสนุกกับการสร้างสรรค์ภาพถ่ายหลากหลายสไตล์ผ่านการปรับตั้งค่ากล้อง ในบทความนี้ ผมจะแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพ ”ประกายแฉกของแสงไฟ” โดยใช้ค่ารูรับแสง และวิธีการต่างๆ ในการแสดง ”สีสัน” ด้วยการใช้สมดุลแสงขาว (เรื่องโดย: Takuya Iwasaki)
หน้า: 1 2
การปรับลดขนาดรูรับแสง
การถ่ายภาพ “ประกายแฉกของแสงไฟ” ในภาพถ่ายทิวทัศน์ยามค่ำคืนเป็นเทคนิคที่น่าสนใจ ซึ่งทำได้โดยการปรับค่ารูรับแสง ประกายแฉกของแสงไฟจะปรากฏเมื่อขนาดรูรับแสงลดลง สำหรับแหล่งแสงที่อยู่ใกล้ตัวคุณ เช่น โคมไฟถนน การลดขนาดรูรับแสงลงจนถึงระดับหนึ่งจะช่วยสร้างภาพถ่ายให้มีเสน่ห์ยิ่งขึ้น
คุณสมบัติของกล้องที่ใช้ในการถ่าย
ค่ารูรับแสง
แสงจากโคมไฟถนนมองเห็นเป็นเส้นแฉกชัดเจนขึ้นเมื่อปรับขนาดรูรับแสงลง
เทคนิคการสร้างประกายแฉกของแสง: การใช้รูรับแสง
ประกายแฉกแสงจะปรากฏในภาพอย่างไรขึ้นอยู่กับจำนวนกลีบของม่านรูรับแสงในเลนส์และค่ารูรับแสง ถ้าคุณต้องการทำให้ประกายแสงเป็นแฉกชัดเจน ให้ลดขนาดรูรับแสงลงให้มากเท่าที่จะทำได้ ผลภาพที่ดีที่สุดจะอยู่ที่ประมาณ f/8 และ f/11 แม้เอฟเฟ็กต์จะเปลี่ยนไปเมื่อใช้เลนส์ที่แตกต่างกัน พึงระลึกว่า การลดขนาดรูรับแสงลงมากเกินไปจะให้แฉกแสงที่ยาว ซึ่งอาจทำให้องค์ประกอบภาพดูรกตาได้ ในทางตรงกันข้าม รูรับแสงที่เปิดกว้างเกือบเต็มที่ก็อาจทำให้เอฟเฟ็กต์ประกายแฉกดูไม่มีพลังในภาพ นอกจากนี้ เอฟเฟ็กต์อาจไม่มีผลที่ชัดเจนหากแหล่งแสงอยู่ไกลเกินไป รูปร่างของประกายแฉกแสงจะเปลี่ยนไปตามจำนวนม่านรูรับแสง ดังนั้น หากจะลองเปรียบเทียบภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์รุ่นต่างๆ ก็นับเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
EOS 5D Mark II/EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 47 มม./ Manual exposure (15 วินาที, f/8)/ ISO 200/ WB: แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว
ประกายแฉกแสงจากโคมไฟถนนทั้งในโทนสีอุ่นและโทนสีเย็นจะช่วยเพิ่มความงดงามให้กับภาพถ่ายยิ่งขึ้น
ประกายแฉกแสงที่เกิดจากการใช้กลีบม่านรูรับแสงที่มีจำนวนต่างกัน
ซ้าย: 8 กลีบ, ขวา: 9 กลีบ
เลนส์แต่ละรุ่นจะมีจำนวนกลีบของม่านรูรับแสงต่างกันเป็นจำนวนคู่หรือจำนวนคี่ สำหรับเลนส์ที่มีกลีบม่านรูรับแสงเป็นคู่ จำนวนแฉกแสงที่เกิดขึ้นจะเท่ากับจำนวนของกลีบ ขณะที่จำนวนแฉกแสงจากเลนส์ที่มีกลีบม่านรูรับแสงเป็นจำนวนคี่จะให้แฉกแสงมากกว่าเป็นสองเท่าของจำนวนกลีบ
ประกายแฉกแสงที่เกิดจากค่ารูรับแสงที่ต่างกัน
ซ้าย: f/4, ขวา: f/11
ที่รูรับแสงกว้างสุดขนาด f/4 แฉกแสงจะสั้นและเป็นวงกลม เมื่อลดขนาดรูรับแสงไปที่ f/11 จะเกิดเป็นแฉกแสงที่คมชัดขึ้น
การเลือกสมดุลแสงขาวสำหรับภาพถ่ายของคุณ
ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนนั้น ไม่มีแสงขาวที่ถูกต้องที่สุดเสียทีเดียว เนื่องจากไม่มีแสงอาทิตย์และตัวแบบรับแสงมาจากแหล่งแสงที่แตกต่างหลากหลาย หมายความว่า คุณสามารถที่จะสนุกสนานกับการแสดง “สีสัน” ด้วยสมดุลแสงขาวตามที่คุณชื่นชอบ [แสงแดด] และ [แสงฟลูออเรสเซนต์ขาว] เป็นตัวเลือกที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะให้สีสันที่ใกล้กับที่มองเห็นด้วยตา หากคุณต้องการเปรียบเทียบเอฟเฟ็กต์ที่ใช้การตั้งค่าสมดุลแสงขาวต่างกัน ให้ตั้งค่าคุณภาพการบันทึกภาพเป็น RAW ก่อนการถ่ายภาพ เมื่อทำเช่นนั้น คุณจะสามารถปรับเปลี่ยนการตั้งค่าได้อย่างอิสระในระหว่างการปรับไฟล์ภาพ RAW
ฟังก์ชั่นของกล้องที่ใช้ในการถ่าย
การตั้งค่าสมดุลแสงขาว
โดยทั่วไปการเลือกอุณหภูมิสีที่สูงกว่าจะเปลี่ยนสีภาพทิวทัศน์จากโทนสีน้ำเงินเป็นโทนสีแดง
เทคนิคการใช้สี
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 47 มม./ Manual exposure (3.2 วินาที, f/9)/ ISO 200/ WB: แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว
ในภาพนี้ ผมต้องการสร้างภาพถ่ายของสะพานรูปทรงเหลี่ยมพร้อมกับเวิ้งอ่าวด้วยโทนสีเย็น เพื่อเพิ่มโทนสีน้ำเงินให้มากขึ้น ผมจึงตั้งค่าสมดุลแสงขาวไปที่ [แสงฟลูออเรสเซนต์ขาว]
ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน ไม่มีกฎการใช้ค่าสมดุลแสงขาวที่เฉพาะเจาะจง สมดุลแสงขาวเป็นฟังก์ชั่นที่มีไว้เพื่อให้แสงสีขาวที่เหมาะสมในกลางวันหรือภายใต้สภาวะแสงของสถานที่ในร่ม เนื่องจากในเวลากลางคืนไม่มีแสงอาทิตย์ คุณจึงสามารถใช้สมดุลแสงขาวเพื่อกำหนดสีสันของภาพทั้งภาพได้โดยการสร้างโทนสีที่ผิดเพี้ยนอย่างตั้งใจ การตั้งค่าสมดุลแสงขาวที่มักใช้กันในการถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืนคือ [แสงแดด] และ [แสงฟลูออเรสเซนต์ขาว] เนื่องจากทั้งคู่จะให้ภาพที่มีสีสันใกล้เคียงกับที่เห็นด้วยตา สำหรับกล้องรุ่นสูงๆ คุณสามารถปรับอุณหภูมิสีด้วยตนเอง (เป็นหน่วย เคลวิน) การลดค่าเคลวินจะเพิ่มโทนสีน้ำเงิน ขณะที่การเพิ่มค่าจะทำให้โทนสีแดงเข้มขึ้น
ความเพี้ยนของสีในการตั้งค่าสมดุลแสงขาวแบบต่างๆ ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน
- 2,500K
- 2,800K
- 4,000K (แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว)
- 5,500K (แสงแดด)
- 10,000K
สีสันในการตั้งค่าสมดุลแสงขาวแบบต่างๆ
WB: ค่าที่ตั้งไว้ล่วงหน้า (2,800K)
เมื่อเลือกอุณหภูมิสีที่ต่ำกว่าอุณหภูมิสีในการตั้งค่า [แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว] แสง LED สีขาวจะให้สีน้ำเงิน และภาพทั้งภาพจะเป็นโทนสีน้ำเงิน
WB: แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว
โทนสีน้ำเงินเข้มชัด ขณะที่สีชมพูของหอคอยก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา นอกจากโทนสีเยือกเย็นแล้ว ภาพนี้ยังให้ความรู้สึกของแสงที่ไม่เป็นธรรมชาติมากนัก
WB: แสงแดด
ภาพทั้งภาพจะเป็นโทนสีส้ม รายละเอียดของท้องฟ้าช่วงอาทิตย์ลับขอบฟ้าสว่างสดใส ให้ภาพที่มีสัมผัสอบอุ่น
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดย ลงทะเบียนกับเรา!
เกิดปี 1980 ในโอซาก้า หลังจากจบการศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ที่ Hosei University Iwasaki กลายมาเป็นช่างภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนเมื่อปี 2003 เขาทำงานเป็นไกด์ให้กับ All About (http://allabout.co.jp) นอกจากนั้นยังเป็นผู้บรรยายใน “หลักสูตรการถ่ายภาพยามค่ำคืน” ให้กับการสัมมนา Tokyu Seminar BE
http://www.yakei-photo.jp/