การถ่ายภาพต้นซากุระในญี่ปุ่น: จุดชมวิวและเคล็ดลับของช่างภาพมืออาชีพ (2)
บทความนี้เป็นบทความต่อจากตอนที่ 1 ซึ่งจะแนะนำสถานที่ชมต้นซากุระที่มีชื่อเสียงเพิ่มเติม โดยในครั้งนี้เราจะพาไปดูสถานที่ยอดนิยมที่เหมาะแก่การไปเยือนมากที่สุดในช่วงกลางถึงปลายเดือนเมษายน นอกจากนี้ เราจะไปดูเทคนิคการถ่ายภาพที่คุณสามารถใช้เพื่อถ่ายภาพต้นซากุระในตอนกลางคืน และดูความแตกต่างระหว่างภาพที่ถ่ายในช่วงกลางคืนกับต้นซากุระที่งดงามตระการตาที่คุณเห็นในตอนกลางวัน (เรื่องโดย Takashi Nishikawa, Atsushi Malta, Masami Goto, Tatsuhiko Bin)
1: บ้านเรือแห่งอิเนะ (“อิเนะ-โนะ-ฟุนะยะ”) และซากุระแห่งวัดไคโซะจิ (จังหวัดเกียวโต ทางตะวันตกของเกาะฮอนชู)
เราสามารถถ่ายทอดรายละเอียดของต้นซากุระในตอนเย็นย่ำในช่วงก่อนหรือหลังพระอาทิตย์ตกดินได้ หากบรรยากาศไม่มืดจนเกินไป
จุดชมต้นซากุระที่มีชื่อเสียงสำหรับคนท้องถิ่นในเกียวโต (แต่ไม่่ค่อยเป็นที่รู้ัจักในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ) คือต้นซากุระเพียงหนึ่งเดียวที่สว่างไสวในยามค่ำคืนที่วัดไคโซจิในอ่าวอิเนะ เนื่องจากต้นซากุระนี้ขนาบข้างด้วยบ้านเรือที่ดูเหมือนกำลังลอยล่องอยู่บนผืนน้ำในอ่าว จึงทำให้เกิดภาพที่งดงามอย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
สิ่งสำคัญที่ทำให้ได้ภาพถ่ายบ้านเรือและต้นซากุระที่ดีที่สุดด้วยการถ่ายภาพครั้งเดียวคือ การถ่ายภาพจากริมแม่น้ำฝั่งตรงข้าม เนื่องจากคุณจะไม่สามารถถ่ายทอดรายละเอียดเมื่อบรรยากาศบริเวณโดยรอบมืดสนิทได้ จึงควรลองถ่ายภาพโดยใช้การเปิดรับแสงอันเดอร์ในช่วงอาทิตย์ลับขอบฟ้า การตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็น "แสงแดด" ทำให้ภาพออกมามีโทนสีฟ้ามากเกินไป จึงควรใช้การตั้งค่าเป็น "อัตโนมัติ" เพื่อให้ภาพยังคงมีโทนสีฟ้าเล็กน้อย
ในช่วงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ให้ตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็น "แสงแดด" หรือ "อัตโนมัติ" เพื่อสร้างอารมณ์ภาพที่โดดเด่นยิ่งขึ้น
EOS 5D Mark II/ EF70-300mm f/4-5.6L IS USM/ FL: 79 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 10 วินาที, EV-1.0)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Takashi Nishikawa/ สถานที่: Ine-cho, Yosa-gun จังหวัดเกียวโต
ช่วงที่เหมาะแก่การชมมากที่สุด: กลางเดือนเมษายน/ เวลาถ่ายภาพ: 19:00 น.
ตัวอย่างที่ไม่ดี: เมื่อใช้การตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็น "แสงในร่ม" จะทำให้ภาพส่งผลต่ออารมณ์น้อยลง
EOS 5D Mark II/ EF70-300mm f/4-5.6L IS USM/ FL: 79 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 10 วินาที, EV-1.0)/ ISO 400/ WB: แสงในร่ม
ภาพโดย Takashi Nishikawa
หากตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็น "แสงในร่ม" ภาพที่ได้จะดูใกล้เคียงกับภาพจริงในแง่ของอุณหภูมิสี และจะช่วยเพิ่มโทนสีอบอุ่นให้กับต้นซากุระ แต่จะทำให้อารมณ์ภาพโดยรวมลดลง
2: สวนสาธารณะ Takada (จังหวัดนีงะตะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู)
วางตัวแบบข้างกันอย่างมีสมมาตรเพื่อทำให้ตัวแบบทั้งสองดูโดดเด่น
คูน้ำซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากลมกรรโชกได้ง่าย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับภาพที่ใช้ประโยชน์จากภาพสะท้อนบนผิวน้ำ ผมต้องการสร้างสรรค์ภาพถ่ายของต้นซากุระในยามค่ำคืนที่น่าประทับใจ ดังนั้น ผมจึงหันหน้าเข้าหาปราสาทและต้นซากุระที่สะท้อนบนผิวน้ำโดยตรง แล้วจัดวางองค์ประกอบภาพโดยการหาจุดสมมาตร ซึ่งการทำเช่นนั้นทำให้ผมสามารถแสดงตัวแบบทั้งสองในภาพได้อย่างน่าประทับใจ ส่วนเวลาในการถ่ายภาพที่เหมาะสมจะเป็นตอนเย็นหลังพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งแสงสะท้อนบนผิวน้ำจะโดดเด่นยิ่งขึ้น
แม้ว่าจุดสำคัญของภาพนี้จะอยู่ที่ภาพสะท้อนของปราสาทและต้นซากุระบนผิวน้ำ แต่ภาพจะดูธรรมดาเกินไปหากถ่ายภาพจากมุมทแยง นอกจากนี้ ภาพจะดูรกเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวอยู่ที่บริเวณซ้ายมือของภาพ ดังนั้น ผมจึงตัดส่วนดังกล่าวออกจากเฟรม
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 13 วินาที, EV±0)/ ISO 320/ WB: แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว
ภาพโดย Atsushi Malta/ สถานที่: Motoshiro-cho, Joetsu-shi, จังหวัดนีงะตะ
ช่วงที่เหมาะแก่การชมมากที่สุด: กลางเดือนเมษายน/ เวลาถ่ายภาพ: 19:30 น.
ถ่ายภาพจากอีกมุมหนึ่ง: ภาพดูธรรมดาเมื่อถ่ายจากแนวทแยงมุม
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 28 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 10 วินาที, EV+0.3)/ ISO 200/ WB: แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว
ภาพโดย Atsushi Malta
ภาพนี้ถ่ายด้วยเอฟเฟ็กต์สะท้อนเช่นเคย ขณะที่แนวเส้นของคูน้ำถ่ายทอดมุมมองเปอร์สเปคทีฟและให้ภาพถ่ายที่ดูสวยงาม ภาพนี้เป็นการจัดองค์ประกอบภาพที่มักใช้งานกันโดยทั่วไป แต่ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดหากคุณหวังว่าจะได้ภาพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว!
3: สวนสาธารณะ Kitakami Tenshochi (จังหวัดอิวะเตะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู)
อุโมงค์ต้นซากุระปกคลุมท้องฟ้าอย่างหนาแน่น และมีแสงจ้าในตอนรุ่งเช้าส่องผ่านลงมาช่วยขับเน้นความรู้สึกแบบสามมิติ
เนื่องจากในจุดชมวิวนี้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เดินทางมาชมต้นซากรุที่บานสะพรั่ง เราจึงตั้งเป้าที่จะถ่ายภาพในตอนเช้าตรู่ขณะที่มีคนไม่มากนัก แม้ว่าการถ่ายภาพให้ดูกว้างขวางและมีความลึกด้วยเลนส์มุมกว้างจะเป็นความคิดที่ดี แต่ผมอยากแนะนำให้ลองใช้มุมรับภาพระยะเทเลโฟโต้เล็กน้อย เพื่อถ่ายภาพดอกไม้ให้ดูหนาแน่นยิ่งขึ้น และขับเน้นความงดงามตระการตาของต้นซากุระ นอกจากนี้ ผมยังหามุมที่ต้นซากุระปรากฏขึ้นปกคลุมเต็มท้องฟ้าอีกด้วย
เมื่อถ่ายภาพจากสถานที่นี้ ผลลัพธ์ที่ได้จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เวลาในการถ่ายภาพ และวิธีที่แสงส่องเข้ามาในเฟรมภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ่ายภาพในยามเช้าตรู่ที่มีอากาศแจ่มใส เงาที่นุ่มนวลซึ่งก่อตัวขึ้นจากแสงแดดจ้าจะช่วยให้คุณได้ภาพที่น่ามหัศจรรย์ นอกจากนี้ เงาที่ทอดตัวบนทางเดินยังช่วยสื่อถึงความเป็นสามมิติได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 88 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/20 วินาที, EV+1.0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Masami Goto/ สถานที่: Tachibana, Kitakami-shi, จังหวัดอิวะเตะ
ช่วงที่เหมาะแก่การชมมากที่สุด: ปลายเดือนเมษายน/ เวลาถ่ายภาพ: 7:00 น.
ตัวอย่างที่ไม่ดี: หากไม่มีแสงสว่าง ภาพจะดูจืดชืด
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 73 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/10 วินาที, EV+1.0)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Masami Goto
เมื่อท้องฟ้ามีเมฆครึ้ม ภาพทั้งภาพจะขาดชีวิตชีวาทันที และเมื่อขาดระยะชัดลึกบนทางเดินหรือไม่มีความรู้สึกแบบสามมิติจากต้นซากุระ จึงทำให้การสร้างภาพอุโมงค์ต้นซากุระทำได้ยาก
4: ซากุระ Ageishi Fudo (จังหวัดฟุกุชิมะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู)
เอฟเฟ็กต์การบีบภาพของเลนส์เทเลโฟโต้ช่วยขับเน้นปริมาณของต้นซากุระ คุณจึงถ่ายภาพได้อย่างสวยสดงดงามท่ามกลางแสงในยามเย็น
ต้นซากุระสายพันธุ์ Prunus Pendula ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 350 ปีนี้มีดอกซากุระที่มีสีเข้มสวย ดอกไม้ที่มีชื่อว่า "ดอกซากุระฟุโด (Fudozakura)" เหล่านี้ห้อมล้อมด้วยดอกเรพซีดมากมาย คุณจึงสามารถเก็บภาพจากมุมภาพต่างๆ ได้ ดอกซากุระฟุโดได้รับความนิยมเนื่องจากมีลำต้นที่สูงสง่าทำให้ภาพดูสวยงามเมื่อถ่ายท่ามกลางแสงในยามเย็น ผมจึงขอแนะนำให้คุณเลือกมุมภาพและจังหวะเวลาในการถ่ายภาพนี้อย่างระมัดระวัง
สำหรับภาพนี้ ผมพยายามที่จะสร้างผลงานที่เน้นการผสมผสานต้นซากุระกับศาลเจ้าที่อยู่ด้านหลัง ผมพยายามใช้ประโยชน์จากแสงและเอฟเฟ็กต์การบีบภาพของเลนส์เทเลโฟโต้ เพื่อขับเน้นปริมาณของดอกไม้ให้ดูหนาตา นอกจากนี้ ผมยังต้องแน่ใจว่าจะถ่ายทอดโทนสีของดอกไม้ที่สวยงามออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวาโดยใช้ฟิลเตอร์ PL เพื่อหลีกเลี่ยงส่วนที่สว่างจ้าเกินไป
EOS-1Ds Mark III/ EF70-300mm f/4-5.6L IS USM/ FL: 252 มม./ Aperture-priority AE (f/9, 1/80 วินาที, EV-0.7)/ ISO 200/ WB: 6,000K
ภาพโดย Tatsuhiko Bin/ สถานที่: Nakata-machi, Koriyama-shi, จังหวัดฟุกุชิมะ
ช่วงที่เหมาะแก่การชมมากที่สุด: ปลายเดือนเมษายน/ เวลาถ่ายภาพ: 17:00 น.
ตัวอย่างที่ไม่ดี: ศาลเจ้าดูโดดเด่นกว่าต้นซากุระ
EOS-1Ds Mark III/ EF70-300mm f/4-5.6L IS USM/ FL: 269 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/40 วินาที, EV-1.0)/ ISO 250/ WB: 5,200K
ภาพโดย Tatsuhiko Bin
ศาลเจ้าดูโดดเด่นมากเกินไป จึงทำให้ต้นซากุระดูขาดพลัง ผมขอแนะนำให้ตรวจสอบตำแหน่งที่ถ่ายภาพและมุมถ่ายภาพเพื่อทำให้ต้นซากุระดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
สถานที่ตั้งของจุดชมวิว
1: บ้านเรือแห่งอิเนะ (“อิเนะ-โนะ-ฟุนะยะ”) และซากุระแห่งวัดไคโซะจิ (จังหวัดเกียวโต)
2: สวนสาธารณะ Takada (จังหวัดนีงะตะ)
3: สวนสาธารณะ Kitakami Tenshochi (จังหวัดอิวะเตะ)
4: ซากุระ Ageishi Fudo (จังหวัดฟุกุชิมะ)
ภูิมิภาคที่แสดงเป็นสีน้ำเงินได้กล่าวถึงไว้ในตอนที่ 1
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่จังหวัดนาระ เมื่อปี 1965 Nishikawa จบการศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ สาขาการแพร่ภาพและภาพยนตร์ Osaka Professional Total Creative School เขาศึกษาการถ่ายภาพด้วยตนเอง และทำงานที่บริษัทผลิตวิดีโอโฆษณาและศูนย์พิมพ์ภาพระดับมืออาชีพ ก่อนจะผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระในที่สุด และยังเป็นสมาชิกของสมาคม Japan Nature Scenery Photograph Association (JNP) อีกด้วย
เกิดเมื่อปี 1968 ปัจจุบัน Malta ถือว่าการถ่ายภาพยามค่ำคืนไปทั่วโลกเป็นผลงานทั้งชีวิตของตนเอง และร่วมแสดงภาพถ่ายอย่างต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์/ออนไลน์ นิตยสาร สิ่งพิมพ์รายสัปดาห์แนวกราเวียร์ นิทรรศการภาพถ่าย และเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืน
เกิดที่ฮอกไกโดในปี 1955 Goto เริ่มต้นถ่ายภาพเทือกเขาไดเซสึซังในปี 1978 พร้อมกับรับงานถ่ายภาพโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในปี 1984 เขาเริ่มออกเดินทางไปทั่วฮอกไกโดในฐานะช่างภาพอิสระเพื่อบันทึกภาพและถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ปัจจุบัน เขาถ่ายภาพทิวทัศน์ทั่วญี่ปุ่น โดยเน้นที่ภูมิภาคฮอกไกโดและโทโฮกุเป็นหลัก
เกิดในโตเกียว ปี 1958 Bin ถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติในหมู่บ้านบนเทือกเขาของประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก และยังจัดส่งภาพถ่ายเพื่อเผยแพร่ในปฏิทิน โฆษณา และนิตยสารต่างๆ มากมาย