การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: ถ่ายภาพจากมุมสูงหรือมุมต่ำ?
ควรถ่ายภาพจากมุมสูงหรือมุมต่ำดีกว่ากัน หากคุณพบว่าตนเองสับสนว่าจะใช้ตัวเลือกใดในการถ่ายภาพทิวทัศน์ แน่นอนว่าคุณไม่ใช่คนแรกที่เป็นเช่นนั้น และไม่ว่าคุณจะเลือกมุมใดก็ล้วนแต่ส่งผลต่อสไตล์การถ่ายภาพของคุณ ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าช่างภาพทั้งสองคนมีแนวคิดในเรื่องนี้อย่างไร และเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคถ่ายภาพของแต่ละคนกัน (เรื่องโดย Toshiki Nakanishi, Masami Goto)
มุมต่ำ: มองขึ้นไปที่ตัวแบบพร้อมกับใช้การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟที่เกินจริง
EOS 5D Mark IV/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 23 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/5 วินาที, EV+1.3)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Toshiki Nakanishi
Toshiki Nakanishi กล่าวว่า:
"เมื่อผมเดินเข้าไปในป่าและมองขึ้นไปผ่านเลนส์มุมกว้าง ผมได้เห็นโลกที่แตกต่างจากสิ่งที่ผมเคยเห็นด้วยตาเปล่าโดยสิ้นเชิง ซึ่งทำให้ผมมีความสุขมาก เมื่อผมถ่ายภาพโดยแหงนกล้องขึ้น ผมใช้เลนส์มุมกว้างและถ่ายภาพในมุมที่กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้พร้อมกับรักษาสมดุลในภาพ วิธีนี้ทำให้ผมสามารถใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟที่เกินจริงของเลนส์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดูกว้างใหญ่ไพศาลได้ คุณสามารถสร้างภาพถ่ายที่ดูโดดเด่นด้วยการถ่ายมุมต่ำได้ แต่อย่าลืมปรับการจัดวางตำแหน่งให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้ภาพมีตำหนิที่เห็นได้ชัดจนเกินไป ตัวอย่างเช่น ตรวจดูให้แน่ใจว่ากิ่งไม้และใบไม้เว้นระยะห่างจากกันอย่างสมดุล”
เคล็ดลับ: ขณะจัดองค์ประกอบภาพด้วยเลนส์มุมกว้าง ควรให้ความสำคัญกับบริเวณมุมภาพ
ภาพเสีย
EOS 5D Mark IV/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 20 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/5 วินาที, EV+1.3)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Toshiki Nakanishi
ผมถ่ายนี้ตามสไตล์ที่ผมถนัด คือทำให้เกิดความบิดเบี้ยวโดยใช้ช่วงมุมกว้างของเลนส์มุมกว้าง เพื่อเน้นความรู้สึกโล่งและกว้างใหญ่ไพศาล อย่างไรก็ดี เนื่องจากการจัดวางตำแหน่งที่ไม่ค่อยดีนักหรือมุมภาพกว้างเกินไป ใบเมเปิลจึงดูมีระยะห่างจากกันมาก และภาพดูเหมือนขาดอะไรบางอย่าง ภาพถ่ายจะสวยงามขึ้นกว่านี้หากผมให้ความสำคัญกับบริเวณมุมทั้งสี่ของเฟรมภาพ และจัดวางตำแหน่งใบไม้ให้สอดคล้องกัน
ดูบทความต่อไปนี้เพื่ออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเคล็ดลับในการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง:
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 2: เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง
มุมสูง: ลดสัดส่วนของท้องฟ้าลงเพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของทิวทัศน์
EOS 5D Mark III/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 150 มม./ Aperture-priority AE (f/10, 1/10 วินาที, EV-0.7)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Masami Goto
Masami Goto กล่าวว่า:
“เมื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีความกว้างใหญ่ไพศาลจากบนที่สูง เช่น จากจุดชมวิว คนส่วนมากจะจัดองค์ประกอบภาพโดยให้ท้องฟ้ากินพื้นที่ส่วนใหญ่ในเฟรมภาพ แม้ว่าวิธีนี้จะสร้างความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ตระการตา แต่มีโอกาสที่ตัวแบบดั้งเดิมที่เป็นจุดสนใจคือทิวทัศน์จะส่งผลทางอารมณ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร
หากเกิดปัญหานี้ขึ้น ขอแนะนำให้ถ่ายภาพจากมุมสูงเล็กน้อยจะเป็นการดีกว่า แทนที่จะรวมท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาลไว้ในองค์ประกอบภาพ ลองสังเกตดูภาพทิวทัศน์ธรรมชาติที่อยู่ตรงหน้าคุณเมื่อมองลงไปเบื้องล่าง หากคุณเข้าใจว่าอะไรทำให้ภาพนี้ดูมีเอกลักษณ์และมีความพิเศษ คุณจะสามารถถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ตระการตาได้ แม้ว่าคุณจะไม่ได้เก็บภาพฉากทั้งฉากที่อยู่ตรงหน้าคุณ (รวมถึงท้องฟ้า) ไว้ในเฟรมภาพก็ตาม อันที่จริง คุณอาจจะได้ภาพทิวทัศน์ที่ดูมีพลังมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป”
เคล็ดลับ: การถ่ายภาพที่ระดับสายตาและรวมท้องฟ้าไว้ในเฟรมภาพจะช่วยเบนความสนใจจากจุดสนใจหลัก
EOS 5D Mark III/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 116 มม./ Aperture-priority AE (f/10, 1/10 วินาที, EV±0)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Masami Goto
คุณอาจรู้สึกอยากรวมท้องฟ้าไว้ในองค์ประกอบภาพมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามรุ่งอรุณและโพล้เพล้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพด้านบน ซึ่งผมถ่ายภาพจากระดับสายตาเพื่อที่จะรวมทั้งท้องฟ้าและบึงไว้ในเฟรมภาพ อย่างไรก็ดี การปล่อยให้ท้องฟ้าส่วนใหญ่อยู่นอกองค์ประกอบภาพ โดยให้บึงกลายเป็นจุดโฟกัสและจัดองค์ประกอบภาพให้เป็นภาพมุมสูงแบบมุมมองนก จะเพิ่มความลึกให้แก่ภาพหนองน้ำที่เต็มไปด้วยสีสันจัดจ้านของดวงอาทิตย์ยามอัสดง
หากต้องการอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมกล้อง โปรดดูที่:
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #7: ตำแหน่งของกล้อง (ระดับ) และมุมกล้องแตกต่างกันอย่างไร
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดย ลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่ฮอกไกโดในปี 1955 Goto เริ่มต้นถ่ายภาพเทือกเขาไดเซสึซังในปี 1978 พร้อมกับรับงานถ่ายภาพโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในปี 1984 เขาเริ่มออกเดินทางไปทั่วฮอกไกโดในฐานะช่างภาพอิสระเพื่อบันทึกภาพและถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ปัจจุบัน เขาถ่ายภาพทิวทัศน์ทั่วญี่ปุ่น โดยเน้นที่ภูมิภาคฮอกไกโดและโทโฮกุเป็นหลัก
เกิดปี 1971 ในโอซาก้า หลังจากศึกษาการถ่ายภาพด้วยตัวเอง Nakanishi ย้ายสถานที่ดำเนินกิจกรรมถ่ายภาพของตนไปยังเมือง Biei ที่อำเภอ Kamikawa-gun ในฮอกไกโด นอกจากถ่ายภาพทิวทัศน์ที่โฟกัสที่แสงเป็นหลักแล้ว เขายังสร้างสรรค์ผลงานที่เน้นถึงความงามของธรรมชาติในจินตนาการอีกด้วย เขามีตำแหน่งเป็นหัวหน้า PHOTO OFFICE ของ atelier nipek