พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #5: ความไวแสง ISO
ความไวแสง ISO เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปิดรับแสงพอๆ กับรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ ตอนนี้เราจะมาทำความรู้จักถึงข้อดีและข้อเสียของการเพิ่มความไวแสง ISO กัน (เรื่องโดย Tomoko Suzuki)
ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงน้อย เราสามารถเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ด้วยการเพิ่มความไวแสง ISO ได้
สิ่งที่พึงจดจำ
- ในช่วงความไวแสง ISO ปกติ เมื่อลดความไวแสง ISO ลง คุณภาพของภาพจะสูงขึ้น
- การเพิ่มความไวแสง ISO ทำให้กล้องสามารถตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้นได้
- จุดสีรบกวนจะเกิดขึ้นเมื่อความไวแสง ISO สูงขึ้น
หากพูดง่ายๆ ก็คือ ความไวแสง ISO คือความสามารถในการรับแสงของเซนเซอร์ภาพ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นค่าตัวเลข กล่าวกันว่าการเปิดรับแสงจะเป็นตัวกำหนดว่าการถ่ายภาพของคุณประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ความไว ISO เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการเปิดรับแสงเช่นกัน
หากรูรับแสงคือความกว้างของรัศมีแสงที่ผ่านเข้ามาและความเร็วชัตเตอร์คือเวลาที่รัศมีของแสงใช้ในการส่องผ่าน ค่าความไวแสง ISO จะอธิบายถึงความสามารถในการรับแสงของเซนเซอร์ภาพ ยิ่งมีค่าสูงเท่าไหร่ กล้องจะยิ่งมีความไวแสงมากขึ้นเท่านั้น แม้แต่ในสภาพแวดล้อมที่มืดหรือเมื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน เรายังสามารถถ่ายภาพให้ออกมาสว่างและสวยงามได้ หรือในอีกทางหนึ่ง สมมติว่าเราไม่ต้องการให้ภาพออกมาสว่างจนเกินไป ความไวแสง ISO ที่สูงขึ้นยังทำให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นได้ ดังนั้น เพียงแค่ปรับความไวแสง ISO เราก็จะเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ด้วยเช่นกัน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยป้องกันภาพเบลออันเป็นผลจากปัญหากล้องสั่นหรือความเบลอที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของตัวแบบได้
นอกจากนี้ ความไวแสง ISO ที่สูงขึ้นยังช่วยให้เราได้รูรับแสงที่แคบลงโดยไม่ทำให้ความสว่างของภาพลดลงตราบใดที่คุณใช้ความเร็วชัตเตอร์คงที่ (เช่น โดยการใช้โหมด Shutter-priority AE)
แม้ว่าฉันจะพูดได้ว่าความไวแสง ISO เป็นฟังก์ชันที่มีประโยชน์ แต่มันก็มีข้อเสียเช่นกัน ยิ่งความไวแสง ISO สูงขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีจุดสีรบกวนมากขึ้นเท่านั้น ภาพถ่ายโดยรวมจึงอาจมีเม็ดเกรนเกิดขึ้นได้ ใช่ค่ะ มีกล้องหลายรุ่นที่มาพร้อมคุณสมบัติในการลดจุดสีรบกวน แต่ช่างภาพส่วนใหญ่จะพยายามตั้งค่าความไวแสง ISO ให้เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดภาพเบลอจากกรณีที่กล้องสั่นไหว โดยปกติแล้ว ค่าที่ว่านี้จะใกล้เคียงกับความไวแสง ISO มาตรฐาน (ความไวแสง ISO ปกติที่ต่ำที่สุด) มากที่สุด แต่อาจเพิ่มสูงขึ้นได้ตามเป้าหมายในการถ่ายภาพและสภาพการถ่าย
ตัวอย่างเช่น คุณอาจใช้ความไวแสง ISO มาตรฐานได้เมื่อถ่ายภาพเส้นแสงและอาคารในยามค่ำคืน อย่างไรก็ตาม คุณอาจจำเป็นต้องเพิ่มความไวแสง ISO ให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันกล้องสั่นไหวเมื่อถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือในตอนกลางคืน และหากคุณต้องการที่จะเก็บภาพดวงดาวไว้ในภาพถ่ายของคุณ แม้ว่าคุณจะใช้ขาตั้งกล้อง คุณจะต้องใช้ทั้งความเร็วชัตเตอร์ต่ำและความไวแสง ISO ที่สูงมากๆ อย่างแน่นอน
จากซ้าย:
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 2.5 วินาที, EV-0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/6 วินาที, EV-0.7)/ ISO 1600/ WB: อัตโนมัติ
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/50 วินาที, EV-0.7)/ ISO 12800/ WB: อัตโนมัติ
สังเกตดูว่าจุดสีรบกวนในภาพจะเพิ่มขึ้นเมื่อเราใช้ความไวแสง ISO สูงขึ้น ซึ่งปัญหานี้จะปรากฏชัดเจนอย่างมากตามสถานการณ์ที่เราถ่ายภาพ ดังนั้น ตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้ตั้งค่าความไวแสง ISO ไว้สูงจนเกินไป!
คำสำคัญ: ISO อัตโนมัติ
เมื่อเปลี่ยนจากสภาพแวดล้อมที่สว่างเป็นสภาพแวดล้อมที่มืด อย่าลืมเพิ่มความไวแสง ISO ให้สูงขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหากล้องสั่น หากคุณคิดว่าอาจลืมเปลี่ยนค่า ISO คุณก็สามารถตั้งกล้องไว้ในโหมด ISO อัตโนมัติได้ โดยคุณสมบัตินี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการปรับค่าความไวแสง ISO ในกล้องให้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้การตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์มีความรวดเร็วเพียงพอที่จะป้องกันปัญหากล้องสั่นไหว นอกจากนี้ โหมดนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้กล้องกลับไปใช้ค่าความไวแสง ISO เดิมเพื่อถ่ายภาพ หลังจากที่คุณเปลี่ยนสถานที่ถ่ายภาพจากสภาพแวดล้อมที่มืดเป็นสภาพแวดล้อมที่สว่างแล้ว
หน้าจอ ISO อัตโนมัติ
ในการตั้งค่า ISO เป็นอัตโนมัติ ให้เลือก [AUTO] บนหน้าจอเพื่อตั้งค่า เมื่อเลือก AUTO แล้ว กล้องจะกำหนดค่าความไวแสง ISO เองโดยอัตโนมัติตามฉากและโหมดภาพ นี่จึงเป็นคุณสมบัติที่แสนสะดวกซึ่งจะช่วยป้องกันภาพสั่นไหวเมื่อเกิดปัญหากล้องสั่นและความเบลอที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของตัวแบบ
การตั้งค่าขีดจำกัดสูงสุดสำหรับ ISO อัตโนมัติ
เมื่อตั้งค่าความไวแสง ISO เป็น AUTO เรายังสามารถตั้งค่าขีดจำกัดสูงสุดสำหรับความเร็วที่กล้องสามารถทำงานได้อีกด้วย หากค่าขีดจำกัดถูกตั้งไว้สูงขึ้น แม้ว่าเราจะสามารถถ่ายภาพในฉากมืดหรือถ่ายภาพตัวแบบที่มืดได้อย่างง่ายดาย แต่จะเกิดจุดสีรบกวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ให้ตั้งค่าความไวแสง ISO ในระดับที่จะไม่ส่งผลต่อคุณภาพของภาพถ่ายมากจนเกินไป
เคล็ดลับที่เป็นประโยชน์: ความแตกต่างระหว่างความไวแสง ISO ปกติ และความไวแสง ISO แบบขยาย
กล้องบางรุ่นจะแยกแยะความแตกต่างระหว่างความไวแสง ISO ปกติ และความไวแสง ISO แบบขยาย โดย "ความไวแสง ISO ปกติ" (หรือที่เรียกกันว่า "ความไวแสง ISO ดั้งเดิม") หมายถึง ช่วงความไวแสง ISO ที่ผู้ผลิตกล้องได้ทำการทดสอบและพิจารณาแล้วว่าควรให้คุณภาพของภาพที่ดีที่สุด ส่วน "ความไวแสง ISO แบบขยาย" หมายถึง ความเร็วที่สูงหรือต่ำกว่าช่วงความไวแสง ISO ปกติ และโดยทั่วไปจะส่งผลให้คุณภาพของภาพถ่ายลดลงเมื่อนำมาใช้งาน ดังนั้น เมื่อตัดสินใจว่าจะใช้ความไวแสงแบบใดเมื่อใด ควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการใช้และตัวแบบที่จะถ่าย โดยหากเป็นสถานการณ์ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของภาพเป็นหลัก ฉันขอแนะนำให้คุณใช้ช่วงความไวแสง ISO ปกติจะเป็นการดีกว่า
สำหรับเคล็ดลับเกี่ยวกับวิธีใช้ความไวแสง ISO แบบขยาย โปรดดูที่:
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #3: ฉันจะใช้ความไวแสง ISO แบบขยายบนกล้องอย่างไร
หน้าจอการตั้งค่าความไวแสง ISO แบบขยาย
ในกล้องส่วนใหญ่ ค่าเริ่มต้นสำหรับความไวแสง ISO แบบขยายจะถูกปิดใช้งาน ในกล้องบางรุ่น คุณสามารถตั้งค่าความไวแสง ISO แบบขยายที่ต่ำลงนอกเหนือจากค่าความไวแสง ISO แบบขยายที่เพิ่มสูงขึ้นได้
หน้าจอการตั้งค่าการลดจุดสีรบกวน
คุณสมบัติการลดจุดสีรบกวนช่วยให้จุดสีรบกวนลดน้อยลงเมื่อคุณใช้ค่าความไวแสง ISO ที่สูงหรือถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงนาน จึงควรเลือกระดับที่เหมาะสมกับฉากที่ถ่ายด้วย
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดย ลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังเรียนจบจากวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวโพลีเทคนิคแล้ว Suzuki ก็เข้าทำงานกับบริษัทโปรดักชั่นโฆษณาแห่งหนึ่ง เธอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับช่างภาพหลายคน รวมถึง Kirito Yanase และมีความเชี่ยวชาญการถ่ายภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอางอีกด้วย ตอนนี้เธอทำงานเป็นช่างภาพสตูดิโอให้กับบริษัทผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง