ค้นหาสิ่งที่คุณต้องการ

หรือค้นหาโดย

หัวข้อ

Article
Article

Article

e-Book
e-Book

e-Book

Video
Video

Video

Campaigns
Campaigns

Campaigns

Architecture
กล้องคอมแพค

กล้องคอมแพค

Architecture
DSLRs

DSLRs

Architecture
การถ่ายวีดิโอ

การถ่ายวีดิโอ

Architecture
ภาพดาราศาสตร์

ภาพดาราศาสตร์

Architecture
กล้องมิลเลอร์เลส

กล้องมิลเลอร์เลส

Architecture
ภาพสถาปัตยกรรม

ภาพสถาปัตยกรรม

Architecture
เทคโนโลยีของแคนนอน

เทคโนโลยีของแคนนอน

Architecture
การถ่ายภาพในขณะที่มีแสงน้อย

การถ่ายภาพในขณะที่มีแสงน้อย

Architecture
การสัมภาษณ์ช่างภาพ

การสัมภาษณ์ช่างภาพ

Architecture
ภาพวิวทิวทัศน์

ภาพวิวทิวทัศน์

Architecture
การถ่ายภาพมาโคร

การถ่ายภาพมาโคร

Architecture
การถ่ายภาพกีฬา

การถ่ายภาพกีฬา

Architecture
การถ่ายภาพท่องเที่ยว

การถ่ายภาพท่องเที่ยว

Architecture
การถ่ายภาพใต้น้ำ

การถ่ายภาพใต้น้ำ

Architecture
แนวคิดการถ่ายภาพและการประยุกต์ใช้

แนวคิดการถ่ายภาพและการประยุกต์ใช้

Architecture
การถ่ายภาพสตรีท

การถ่ายภาพสตรีท

Architecture
กล้องมิเรอร์เลสแบบฟูลเฟรม

กล้องมิเรอร์เลสแบบฟูลเฟรม

Architecture
เลนส์และอุปกรณ์เสริม

เลนส์และอุปกรณ์เสริม

Architecture
Nature & Wildlife Photography

Nature & Wildlife Photography

Architecture
การถ่ายภาพพอร์ตเทรต

การถ่ายภาพพอร์ตเทรต

Architecture
การถ่ายภาพกลางคืน

การถ่ายภาพกลางคืน

Architecture
การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง

การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง

Architecture
โซลูชั่นการพิมพ์

โซลูชั่นการพิมพ์

Architecture
รีวิวผลิตภัณฑ์

รีวิวผลิตภัณฑ์

Architecture
การถ่ายภาพงานแต่งงาน

การถ่ายภาพงานแต่งงาน

เคล็ดลับและบทเรียน >> เคล็ดลับและบทเรียนทั้งหมด พื้นฐานของการถ่ายภาพ- Part

พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #19: ระยะชัดของภาพ

2024-03-19
3
1.63 k

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดสำคัญนี้ที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดองค์ประกอบภาพและการเล่าเรื่องทั้งในการถ่ายภาพและภาพยนตร์

ในบทความนี้:

1. ระยะชัดของภาพหมายถึงอะไร

ระยะชัด: หมายถึงปริมาณของฉากที่อยู่ในโฟกัสและดูคมชัดมากพอ

ระยะชัดของภาพ (DOF) เป็นระยะห่างระหว่างจุดที่ใกล้ที่สุดกับจุดที่ไกลที่สุดจากกล้องที่อยู่ในโฟกัสและดูคมชัดมากพอ (“พื้นที่ในโฟกัส”)

คุณอาจลองนึกภาพว่าเลนส์ของคุณกำลังฉายภาพภาชนะแก้วขนาดใหญ่ในแนวขนานไปกับตัวเลนส์ ภาชนะแก้วนี้จะเปลี่ยนตำแหน่งไปตามจุดโฟกัสที่คุณกำหนดไว้ แต่จะอยู่ในแนวขนานกับตัวเลนส์เสมอ วัตถุภายในภาชนะแก้วนี้จะดูคมชัดและอยู่ในโฟกัส ในขณะที่ความเบลอของวัตถุนอกภาชนะจะเพิ่มขึ้นตามระยะห่างจากภาชนะ

ขนาด (ความลึก) ของระยะชัดสามารถควบคุมได้ด้วยปัจจัยต่อไปนี้

1. รูรับแสง
2. ทางยาวโฟกัส
3. ขนาดของเซนเซอร์ภาพ
4. ระยะห่างของกล้องจากตัวแบบ

หากปัจจัยข้อที่ 2-4 เปลี่ยนแปลงไป เฟรมภาพและเปอร์สเปคทีฟก็จะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลต่อองค์ประกอบภาพ เลื่อนดูรายละเอียดและตัวอย่างเพิ่มเติมได้เลย


โฟกัสตื้น
หากภาชนะแก้วมีความบาง เราจะเรียกว่าระยะชัดนั้น “ตื้น” หรือ “แคบ” จะมีเพียงส่วนเล็กๆ ของฉากเท่านั้นที่อยู่ในโฟกัส ในขณะที่ส่วนอื่นที่อยู่ด้านหน้าหรือด้านหลังจะเบลอ (กลายเป็นโบเก้) ภาพลักษณะนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาพโฟกัสตื้น

โฟกัสลึก
หากภาชนะแก้วหนามากจนกระทั่งพื้นที่ในฉากส่วนใหญ่อยู่ในโฟกัสที่คมชัดตั้งแต่ด้านหน้าจนถึงด้านหลัง เราจะเรียกว่าระยะชัดนั้น “ใหญ่” หรือ “ลึก” ภาพลักษณะนี้เรียกว่า ภาพโฟกัสชัดลึก

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง:
พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #1: รูรับแสง
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #3: การสร้างโบเก้

2. กฎ 5 ข้อในการควบคุมระยะชัดของภาพ

กฎ 5 ข้อในการควบคุมระยะชัดของภาพ

1. ยิ่งรูรับแสงกว้างเท่าใด (ค่า f ต่ำๆ) ระยะชัดจะยิ่งตื้นขึ้นเท่านั้น

f/1.8

f/8

ที่ f/1.8 มีเพียงแท่งไม้สีเขียวและแดงบางส่วนเท่านั้นที่อยู่ในโฟกัส ส่วนอื่นๆ ถูกเบลอออกไปทั้งหมด เมื่อเราเพิ่มระยะชัดของภาพโดยการใช้ค่า f ที่สูงขึ้น ฉากจะอยู่ในโฟกัสได้มากขึ้น


ข้อควรพิจารณา: ระยะชัดของภาพขณะถ่ายตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่

เมื่อต้องถ่ายตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่ ให้ลองใช้ระยะชัดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้ตัวแบบมีโอกาสอยู่ในพื้นที่โฟกัสได้มากขึ้นในขณะเคลื่อนที่ไปรอบๆ วิธีที่ง่ายที่สุดที่ทำได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนองค์ประกอบภาพคือ การใช้รูรับแสงที่แคบลง (ใช้ค่า f สูงๆ)

หากคุณต้องการใช้ระยะชัดตื้น ระบบติดตาม AF ด้วยการเรียนรู้เชิงลึกที่น่าเชื่อถือของ Canon จะช่วยให้ตัวแบบอยู่ในโฟกัสได้ และนี่คือ 5 เคล็ดลับเพื่อการตรวจจับและติดตามตัวแบบที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้คุณมีภาพที่ใช้ได้มากขึ้น!


2. ยิ่งเลนส์ของคุณอยู่ใกล้ตัวแบบมากเท่าใด ระยะชัดของภาพจะตื้นขึ้นเท่านั้น

ใกล้ตัวแบบมากกว่า: 105 มม. ที่ f/4

ไกลจากตัวแบบมากกว่า: 105 มม. ที่ f/4

เลนส์อยู่ใกล้กับรั้วมากกว่าในภาพแรก และยังทำให้แบ็คกราวด์ดูใกล้ขึ้นด้วย (และดูใหญ่ขึ้น) ซึ่งทำให้เห็นภาพเบลอที่อยู่นอกโฟกัสได้ชัดเจนขึ้น

เคล็ดลับ: คุณจะสังเกตเห็นด้วยว่า เมื่อเราถอยห่างออกมาจากตัวแบบ เฟรมภาพและเปอร์สเปคทีฟจะเปลี่ยนแปลงไปแม้ใช้ทางยาวโฟกัสเท่าเดิม


3. ยิ่งทางยาวโฟกัสยาวขึ้นเท่าใด ระยะชัดจะตื้นขึ้นเท่านั้น

ทางยาวโฟกัสสั้น: 35 มม. ที่ f/4

ทางยาวโฟกัสยาว: 105 มม. ที่ f/4

ทั้งสองภาพนี้ถ่ายจากตำแหน่งถ่ายภาพเดียวกันโดยการซูมจาก 35 มม. เข้าไปที่ 105 มม. กำลังขยายจากทางยาวโฟกัสยาวทำให้ระยะชัดของภาพดูตื้นกว่า ในทางกลับกัน เลนส์มุมกว้างมักจะให้ระยะชัดที่ลึกกว่าโดยธรรมชาติแม้ใช้รูรับแสงกว้างกว่า

นี่คือสาเหตุที่ทำให้กล้องฟูลเฟรมสร้าง “โบเก้ได้ชัดเจนกว่า” และกล้อง APS-C รวมถึงกล้องคอมแพคจะให้ระยะชัดมากกว่า ขนาดของเซนเซอร์จะส่งผลต่อทางยาวโฟกัสที่คุณใช้เพื่อให้ได้มุมรับภาพที่ต้องการ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความกล้องฟูลเฟรมและกล้อง APS-C: ควรเลือกรุ่นไหนดี)


4. ระยะชัดของภาพจะตื้นกว่าปกติขณะถ่ายภาพระยะใกล้และภาพแบบเทเลโฟโต้

หากถ่ายภาพในระยะใกล้หรือใช้เลนส์เทเลโฟโต้ คุณจะต้องใช้รูรับแสงที่แคบกว่าปกติเพื่อให้ได้ระยะชัดที่ลึกขึ้น หากคุณถ่ายภาพนิ่งของตัวแบบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว อาจลองใช้ฟังก์ชั่น Focus Bracketing และ Depth Compositing เพื่อให้ได้ระยะชัดที่ต้องการ


ภาพโคลสอัพที่ f/1.8
ถ่ายด้วย EOS R6 Mark II + RF35mm f/1.8 Macro IS STM

ในภาพโคลสอัพนี้ มีส่วนที่อยู่ในโฟกัสให้เห็นเป็นเส้นบางๆ เท่านั้น นี่คือสาเหตุว่าทำไมการโฟกัสจึงเป็นเรื่องยากในการถ่ายภาพโคลสอัพและการถ่ายภาพแบบมาโคร!


ภาพเทเลโฟโต้ที่ f/11
ถ่ายด้วย EOS R + RF600mm f/11 IS STM

เรามักจะต้องใช้รูรับแสงที่กว้างมากหากต้องการให้แบ็คกราวด์เบลอ แต่ที่ระยะ 600 มม. โฟกัสจะตื้นแม้ที่ f/11


5. มุมกล้องคือปัจจัยสำคัญ

ยังจำ “ภาชนะแก้ว” ที่เปรียบเหมือนโฟกัสของเราได้หรือไม่ หากคุณไม่ได้ใช้ฟังก์ชั่นทิลต์ของเลนส์ทิลต์-ชิฟต์ ภาชนะแก้วนี้จะขนานกับระนาบของเซนเซอร์ภาพ (และส่วนปลายของเลนส์ด้วย) เสมอ หากเอียงกล้องหรือถ่ายตัวแบบจากอีกมุมหนึ่ง คุณจะสามารถเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ภายใน “ภาชนะแก้ว” ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนระยะชัด

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับรั้วจากภาพตัวอย่างก่อนหน้าเมื่อเราถ่ายภาพโดยใช้มุมกล้องที่แตกต่างออกไป


f/1.8 - ด้านหน้า

รั้วสีขาวอยู่ในโฟกัสทั้งหมดแม้ที่ f/1.8


f/1.8 - แนวทแยง

มีเสาเหล็กเพียงต้นเดียวเท่านั้นที่อยู่ในโฟกัส หากต้องการให้เสาอื่นๆ อยู่ในโฟกัสมากขึ้นขณะถ่ายภาพจากมุมนี้ เราจะต้องใช้ระยะชัดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

3. การตั้งค่ากล้องที่เป็นประโยชน์: ฟังก์ชั่นเช็คระยะชัด

การตั้งค่ากล้องที่เป็นประโยชน์: ฟังก์ชั่นเช็คระยะชัด

โดยการตั้งค่าเริ่มต้น กล้องของคุณจะเช็คค่าการเปิดรับแสง (ความสว่างของภาพ) ให้อยู่แล้ว แต่จะไม่ได้เช็คระยะชัดของภาพ ฟังก์ชั่นนี้เกี่ยวข้องกับระบบวัดแสงด้วยรูรับแสงกว้างสุด นั่นคือไม่ว่าคุณจะตั้งค่าการเปิดรับแสงอย่างไร ม่านรูรับแสงจะเปิดออกสุดเสมอจนกว่าจะถึงวินาทีก่อนคุณถ่ายภาพ เพื่อให้ม่านรูรับแสงสามารถรับข้อมูลแสงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ภาพที่คุณเห็นบนหน้าจอ LCD ด้านหลังหรือช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์เป็นการจำลองจากระบบประมวลผลภาพ

คุณสามารถเช็คระยะชัดของภาพได้ 2 วิธี


วิธีที่ 1: เช็คระยะชัดทุกครั้ง

กล้องจะปิดม่านรูรับแสงตามการตั้งค่ารูรับแสงของคุณแม้ในขณะทำการวัดแสง วิธีนี้อาจส่งผลต่อการโฟกัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีแสงน้อย เนื่องจากแสงจะผ่านเข้าสู่กล้องได้น้อยกว่า

ขั้นตอนที่ 1
เลือก “แสดงการจำลอง” ในเมนูสีแดง

ขั้นตอนที่ 2
เลือก “Exposure+DOF” จากนั้นกดปุ่ม SET กล้องของคุณจะแสดงทั้งตัวอย่างของความสว่างจริงและระยะชัดตามการตั้งค่าการเปิดรับแสงของคุณ


วิธีที่ 2: กดปุ่มเพื่อเช็คระยะชัด

กล้องจะปิดม่านรูรับแสงชั่วคราวเมื่อกดปุ่มที่ตั้งค่าไว้ 

ขั้นตอนที่ 1
ไปที่เมนูสีส้มและหาเมนู “ปรับแต่งปุ่ม”

ขั้นตอนที่ 2
จากรายการ ให้คุณเลือกปุ่มที่ต้องการใช้เป็นทางลัดในการ “เช็คระยะชัดของภาพ” และทำการกำหนดค่า

กล้องบางรุ่น เช่น EOS R6 Mark II จะมีปุ่มเช็คระยะชัดของภาพมาให้อยู่แล้ว แต่คุณก็สามารถกำหนดฟังก์ชั่นนี้ให้กับปุ่มอื่นได้ด้วยเช่นกัน สำหรับกล้องรุ่นอื่นๆ คุณต้องเลือกว่าจะใช้ปุ่มใด

4. ระยะชัดส่งผลต่อการถ่ายทอดเรื่องราวด้วยภาพอย่างไร

ระยะชัดส่งผลต่อการถ่ายทอดเรื่องราวด้วยภาพอย่างไร

ดวงตาของเรามักจะมองเห็นตัวแบบที่ดูคมชัดและอยู่ในโฟกัสก่อนเป็นอันดับแรก ดังนั้น การควบคุมระยะชัดของภาพจึงเป็นทักษะสำคัญที่ทำให้เราถ่ายภาพได้สวยขึ้นและยังช่วยให้บอกเล่าเรื่องราวได้ดียิ่งขึ้นด้วย ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งในการถ่ายภาพและภาพยนตร์

1. ระยะชัดเป็นตัวกำหนดว่าตัวแบบของเราจะคมชัดเพียงใด

f/1.8

f/16

ในสองภาพนี้ เราวางตำแหน่งให้จุดโฟกัสอยู่ที่ส่วนปลายของผลสตรอว์เบอร์รี ที่ f/1.8 ส่วนอื่นๆ ทั้งหมดอยู่นอกโฟกัสและถูกเบลอออกไป แต่ที่ f/16 ส่วนอื่นๆ ดูคมชัดมากกว่า (เราให้จุดโฟกัสอยู่ที่เดิมเพื่อให้เปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น ในทางปฏิบัติ หากเปลี่ยนให้จุดโฟกัสมาอยู่ที่เนื้อครีม จะช่วยให้ภาพอยู่ในโฟกัสมากขึ้นเมื่อใช้รูรับแสงกว้างขึ้นเล็กน้อย)


2. ระยะชัดจะกำหนดว่าสิ่งใดคือตัวแบบ

ระยะชัดที่ตื้นขึ้น

50 มม. f/2.5
มีเพียงทาร์ตเท่านั้นที่อยู่ในโฟกัส ส่วนอื่นๆ ถูกเบลอออกไปทั้งหมด ทำให้เราทราบว่าทาร์ตคือตัวแบบของภาพ

ระยะชัดที่ลึกขึ้น

50 มม. f/16
ระยะชัดที่ลึกขึ้นทำให้ทั้งทาร์ตและเครื่องดื่มอยู่ในโฟกัส ทั้งสองจึงเป็นตัวแบบของภาพนี้

ข้อควรรู้: เมื่อมีวัตถุอยู่ในโฟกัสมากขึ้น อาจทำให้มีสิ่งรบกวนสายตามากขึ้นด้วย คุณจะต้องจัดวางองค์ประกอบภาพอย่างระมัดระวังมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติมได้ที่
พื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพ (2): ตัวแบบหลัก ตัวแบบรอง และรูปสามเหลี่ยม


3. ระยะชัดสามารถกำหนดได้ว่ารายละเอียดของบริบทแวดล้อมจะถูกแสดงออกมาในปริมาณเท่าใด

ระยะชัดตื้น

f/4

ระยะชัดลึก

f/16

ระยะชัดตื้นจะเบลอภาพ (“ทำให้เรียบง่าย”) ใบไม้ในแบ็คกราวด์และโฟร์กราวด์ออกไป ความสนใจของเราจึงอยู่ที่ดอกไม้เป็นหลัก ระยะชัดที่มีขนาดใหญ่กว่าจะทำให้เราสังเกตเห็นใบไม้ที่อยู่รอบๆ ดอกไม้ด้วย


การถ่ายทำภาพยนตร์: ใช้การเปลี่ยนจุดโฟกัสเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดอารมณ์

ในการถ่ายวิดีโอและภาพยนตร์ การเปลี่ยนแปลงระยะชัดและจุดโฟกัสจะถูกบันทึกไว้ คุณสามารถใช้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เพื่อสร้างวิธีการเปิดเผยเรื่องราวได้อย่างสร้างสรรค์ และยังเป็นวิธีการที่ช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวให้ภาพของคุณโดยไม่ต้องขยับกล้องอีกด้วย!

ยกตัวอย่างเช่น ให้เพิ่มระยะชัดของภาพที่มีระยะชัดตื้นอย่างช้าๆ เพื่อเผยให้เห็นวัตถุในแบ็คกราวด์ หรือใช้วิธีตรงกันข้าม


วิธีนี้อาจทำให้เกิด “การดึงโฟกัส” หรือ “การย้ายโฟกัส” ซึ่งก็คือการเปลี่ยนจุดโฟกัสจากวัตถุหนึ่งในเฟรมไปยังอีกวัตถุหนึ่ง คุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการย้ายโฟกัสได้ชัดเจนกว่าหากระยะชัดของภาพนั้นตื้น 

 

ฝึกฝนสายตาของคุณ: ลองสังเกตระยะชัดในการถ่ายทำภาพยนตร์และการถ่ายภาพ

ครั้งต่อไปที่คุณเห็นภาพที่ชอบ หรือชมภาพยนตร์หรือละครเรื่องใดก็ตาม ให้ลองสังเกตดูว่าช่างภาพหรือนักถ่ายทำภาพยนตร์มีวิธีการใช้ระยะชัดอย่างไร ระยะชัดนั้นตื้นหรือลึก ทำให้มองเห็นสิ่งใดหรือซ่อนสิ่งใดเอาไว้ ระยะชัดนั้นช่วยในการบอกเล่าเรื่องราวอย่างไร ระยะชัดที่ใช้มักเกิดจากการเลือกอย่างจงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถ่ายทำภาพยนตร์

ภาพยนตร์ฮอลลีวูดระดับคลาสสิกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักจากการใช้ภาพโฟกัสชัดลึกในการสร้างเรื่องราวคือ Citizen Kane (นักถ่ายทำภาพยนตร์: Gregg Tolland, ผู้กำกับ: Orson Welles) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากอันเป็นที่จดจำนี้ (ฉบับภาษาอังกฤษ)


ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระยะชัดของภาพและเทคนิคที่เกี่ยวข้องได้ที่
จุดโฟกัส: การตั้งค่ารูรับแสงสำหรับฉากต่างๆ
อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างเลนส์ซูมเทเลโฟโต้ f/2.8 และ f/4
การถ่ายภาพพอร์ตเทรต: การตั้งค่ารูรับแสง 3 รูปแบบที่ช่างภาพมืออาชีพชื่นชอบ
4 แนวคิดเกี่ยวกับเลนส์ที่จะพลิกโฉมภาพถ่ายของคุณ
วิธีการถ่ายภาพพอร์ตเทรตให้มีสีสันสวยงามชวนฝันพร้อมโบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์

บทความที่เกี่ยวข้อง

แบ่งปันภาพถ่ายของคุณใน My Canon Story แล้วร่วมลุ้นโอกาสเผยแพร่ผลงานบนโซเชียลมีเดียของเรา