เทคนิคการใช้แฟลชติดกล้อง #6: วงกลมโบเก้ที่น่ามหัศจรรย์ในวันฝนตก
วันฝนตกที่ท้องฟ้ามืดครึ้มอาจดูไม่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพ แต่ก็เปิดโอกาสในการเปลี่ยนทิวทัศน์ธรรมดาๆ ให้กลายเป็นภาพถ่ายที่งดงามอย่างน่าอัศจรรย์ได้! ในบทความนี้ เราจะแสดงให้คุณเห็นหนึ่งวิธีที่ทำได้ด้วยการใช้แฟลชติดกล้อง ป.ล. เทคนิคนี้เหมาะสำหรับการเพิ่มชีวิตชีวาให้ภาพทิวทัศน์ในเมือง (เรื่องโดย: Teppei Kohno)
Aperture-priority AE (f/2.8, 1/30 วินาที)/ ISO 1600
สร้างภาพอันเปี่ยมเสน่ห์ด้วยหยาดฝน
หากคุณเคยลองถ่ายภาพด้วยวิธีปกติ (เช่น ไม่ใช้แฟลช) ในวันที่มีฝนตก เป็นไปได้ว่าภาพที่ได้มักจะเป็นเหมือนภาพด้านล่าง
Manual exposure (f/2.8, 1/30 วินาที)/ ISO 1600
แฟลชติดกล้อง: ปิด
ภาพนี้ดูไม่เหมือนภาพถ่ายในวันฝนตกเลยใช่ไหม นั่นเป็นเพราะหยาดฝนมีขนาดเล็กมากจนแทบมองไม่เห็นในภาพ ในวันที่มีฝนตกและมืดครึ้ม คุณมักจะต้องใช้รูรับแสงกว้างและความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เพื่อให้ได้ระดับแสงที่เหมาะสม ซึ่งไม่เป็นประโยชน์มากนัก เพราะจะยิ่งทำให้หยาดฝนดูเบลอและไม่สามารถมองเห็นได้ในภาพ
แต่ถ้าหากคุณยิงแสงจากแฟลชติดกล้องออกไป หยาดฝนจะ “หยุดนิ่ง” และสะท้อนแสง กลายเป็นแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุดซึ่งเหมาะมากสำหรับการสร้างวงกลมโบเก้ ภาพนี้ถ่ายด้วยการตั้งค่าแบบเดียวกับภาพด้านบน แต่คราวนี้เปิดแฟลชด้วย:
Manual exposure (f/2.8, 1/30 วินาที)/ ISO 1600
แฟลชติดกล้อง: ปิด
หยดน้ำฝนที่สว่างขึ้นด้วยแฟลชติดกล้องนั้นอยู่นอกโฟกัสอย่างมาก ส่งผลให้ได้ภาพถ่ายที่ดูน่าอัศจรรย์
คำแนะนำแบบทีละขั้นตอน: วิธีใช้แฟลชเพื่อเปลี่ยนหยาดฝนให้กลายเป็นวงกลมโบเก้
ขั้นตอนการถ่ายภาพ
A: โฟกัสไปที่ทิวทัศน์ด้านหลังหยาดฝน (ซึ่งในภาพนี้คือตัวอาคาร) และจัดองค์ประกอบภาพ
B: ตั้งค่ากล้องไปที่โหมด Aperture-priority AE (Av)
C: ใช้การตั้งค่ารูรับแสงกว้างสุด
D: เปิดแฟลชติดกล้อง แล้วถ่ายภาพ
E: หากวงกลมโบเก้ดูเป็นเส้น ให้เพิ่มความเร็วชัตเตอร์โดยใช้ความไวแสง ISO ที่สูงขึ้น
(ตัวอย่างของวงกลมโบเก้ที่เป็นเส้น)
รายละเอียดการตั้งค่ามีดังนี้:
1. ใช้รูรับแสงกว้างและโฟกัสไปที่ทิวทัศน์ในแบ็คกราวด์
วิธีนี้จะช่วยเพิ่มเอฟเฟ็กต์โบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์ให้กับหยาดฝนที่อยู่ใกล้คุณมากกว่า ทำให้ได้วงกลมโบเก้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อยิงแฟลช
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นฐานการสร้างโบเก้ได้ใน:
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #3: การสร้างโบเก้
2. หากวงกลมโบเก้ของคุณดูเป็นเส้น ให้เพิ่มความเร็วชัตเตอร์
หากความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกินไป ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวจะทำให้หยาดฝนกลายเป็นเส้นและดูเหมือนดาวตก (ดูตัวอย่างด้านล่าง) ซึ่งในการหลีกเลี่ยงปัญหานี้ ควรเพิ่มความไวแสง ISO เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้น
จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณถ่ายภาพด้วยรูรับแสงแคบต่ำเกินไปหรือความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกินไป
f/8, 1/13 วินาที: วงกลมขนาดเล็ก ดูเป็นเส้น
Manual exposure (f/8, 1/13 วินาที) / ISO 1600
เมื่อใช้รูรับแสงแคบ (f/8) และความเร็วชัตเตอร์ต่ำ หยาดฝนจะกลายเป็นวงกลมเล็กๆ ดูเป็นเส้นเหมือนการลากขนแปรง แม้จะดูค่อนข้างมีศิลปะ แต่ก็ไม่ใช่เอฟเฟ็กต์ที่เราต้องการจะสร้าง
f/2.8, 1/200 วินาที: วงกลมโบเก้ขนาดใหญ่ขึ้น
Manual exposure (f/2.8, 1/200 วินาที) / ISO 1600
เมื่อใช้รูรับแสงที่กว้างขึ้นและความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้น จะสามารถถ่ายภาพวงกลมโบเก้ขนาดใหญ่ได้ ซึ่งช่วยสื่อความรู้สึกถึงหิมะที่กำลังตก
เคล็ดลับ: เทคนิคนี้ไม่เพียงแต่ใช้ได้กับฝนเท่านั้น หิมะก็ใช้ได้เช่นกัน นี่เป็นเทคนิคที่คุณควรจดจำไว้เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ!
ข้อควรรู้: อย่าลืมป้องกันอุปกรณ์ของคุณด้วย
กล้องของคุณไม่สามารถกันน้ำหรือกันเปียกได้ แม้จะทนต่อสภาพอากาศแบบต่างๆ ก็ตาม ควรหาวิธีป้องกันกล้องของคุณไม่ให้เปียกอยู่เสมอ เช่น ถ่ายภาพจากสถานที่กำบัง หรือใช้ผ้าคลุมกันฝนหรือเคสกันน้ำ
แนะนำให้ใช้: เลนส์เดี่ยวมุมกว้างความไวแสงสูง
เมื่อถ่ายภาพยามค่ำคืนหรือในวันที่มีฝนตก แสงที่ไม่เพียงพอจะทำให้ความเร็วชัตเตอร์ช้าลงเพื่อให้ได้ระดับแสงที่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ความเร็วชัตเตอร์ช้าจนเกินไป จึงควรใช้เลนส์เดี่ยวความไวแสงสูง (รูรับแสงกว้าง) ซึ่งช่วยให้คุณตั้งค่ารูรับแสงได้กว้างถึง f/2.8 หรือต่ำกว่า เลนส์มุมกว้างจะมีประโยชน์เป็นพิเศษสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์และภาพสตรีท อีกทั้งยังมีข้อดีอีกข้อคือ มักจะมีน้ำหนักเบาและพกพาได้สะดวกอีกด้วย
ลองพิจารณาเลนส์ 3 รุ่นต่อไปนี้
คุณมีแฟลชภายนอกแล้วหรือยัง อ่านบทช่วยสอนเกี่ยวกับการใช้งานแฟลชภายนอกเพื่อถ่ายภาพหยดฝนเพื่อสร้างสรรค์พอร์ตเทรตที่เหนือจริงได้ที่นี่
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพวงกลมโบเก้ได้ที่:
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์ #8: ส่วนใดที่ควรโฟกัสเพื่อให้ได้ภาพถ่ายวงกลมโบเก้ที่สวยงาม
หากต้องการทราบไอเดียและเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพวันที่ฝนตก เข้าไปดูได้ที่:
การถ่ายภาพภูมิทัศน์: การถ่ายภาพสายฝน
เคล็ดลับในการถ่ายภาพสะท้อนบนผิวน้ำ: เพลิดเพลินกับแอ่งน้ำ!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่โตเกียวในปี 1976 เขาจบการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Meiji Gakuin และฝึกถ่ายภาพกับช่างภาพ Masato Terauchi เขามีส่วนร่วมในการถ่ายภาพให้นิตยสาร PHaT PHOTO ฉบับแรก และผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระหลังจากนั้นในปี 2003 Kohno ถ่ายภาพโฆษณาทุกประเภท นอกจากนั้นเขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเขียนมากมายในนิตยสารเกี่ยวกับกล้องและนิตยสารอื่นๆ ด้วย