คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์ #8: ส่วนใดที่ควรโฟกัสเพื่อให้ได้ภาพถ่ายวงกลมโบเก้ที่สวยงาม
การถ่ายภาพวงกลมโบเก้ที่สวยงามคือเทคนิคการถ่ายภาพหนึ่งที่ผมขอแนะนำให้ลองใช้งาน ซึ่งเมื่อคุณฝึกฝนกลเม็ดในการสร้างวงกลมโบเก้จนเชี่ยวชาญแล้ว คุณจะสามารถถ่ายภาพดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย ต่อไปนี้ผมจะอธิบายถึงวิธีสร้างวงกลมโบเก้ รวมทั้งเคล็ดลับสองสามข้อในการถ่ายภาพ (เรื่องโดย: Kazuo Nakahara)
แหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุดสว่างคือเคล็ดลับที่ทำให้ได้วงกลมโบเก้
วงกลมโบเก้ปรากฏขึ้นเมื่อคุณสร้างภาพเบลอของแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุดสว่างที่มีขนาดใหญ่ และภาพที่ได้ดูไม่ต่างจากวงกลมโบเก้แบบปกติ ดังนั้น สิ่งที่คุณต้องทำเพื่อให้ได้ภาพวงกลมโบเก้คือ หาแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุดสว่างและสร้างภาพเบลอขนาดใหญ่นั่นเอง (อ่านบทความของเราเกี่ยวกับเคล็ดลับ 4 ข้อในการสร้างวงกลมโบเก้อย่างง่ายๆ!)
ตัวอย่างของแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุดสว่างที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ ไฟและแสงสว่างตามท้องถนน ซึ่งเป็นแสงเทียมที่มีความโดดเด่นสำหรับการถ่ายภาพกลางคืน อย่างไรก็ดี แม้แต่ในเวลากลางวัน แสงอาทิตย์ที่สะท้อนกับผิวน้ำหรือใบไม้ และแสงสว่างจากท้องฟ้าที่ลอดผ่านช่องว่างของกิ่งไม้และใบไม้ของต้นไม้ต่างๆ จนเห็นได้ชัดยังอาจเป็น "จุดส่องประกาย" หรือแหล่งกำเนิดแสงสำหรับสร้างวงกลมโบเก้ได้ คุณจึงสามารถมองหาสถานที่ที่มีแสงย้อนทางด้านหลังเพื่อถ่ายภาพแสงแดดที่สะท้อนได้ง่ายขึ้น หรือสามารถค้นหาแหล่งกำเนิดแสงตามช่องว่างระหว่างแนวต้นไม้ในวันที่เมฆครึ้มได้ ดังนั้น หากคุณใช้เวลาสำรวจรอบๆ ก่อน คุณจะพบว่าวงกลมโบเก้สามารถสร้างขึ้นได้ในทุุกสภาวะ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเมฆครึ้ม ในช่วงเวลากลางวัน หรือแม้แต่ช่วงเวลากลางคืน
วิธีที่ดีที่จะช่วยสร้างภาพเบลอที่มีขนาดใหญ่คือ ใช้เลนส์เดี่ยวที่สว่างหรือเลนส์เทเลโฟโต้ร่วมกับกล้องแบบฟูลเฟรม นอกจากนี้ ในขณะถ่ายภาพ การวางตัวแบบหลักให้ห่างจากแหล่งกำเนิดแสงของวงกลมโบเก้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งในกรณีนี้คือแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุด จะทำให้ได้ภาพวงกลมโบเก้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อีกประการหนึ่ง หากคุณถ่ายภาพด้วยรูรับแสงที่แคบลง วงกลมโบเก้ที่จะได้มีขนาดเล็กหรือมีรูปทรงผิดแผกไปตามขนาดของม่านรูรับแสง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือควรถ่ายภาพโดยใช้ขนาดรูรับแสงกว้างสุด
ฉากที่ 1: แสงสว่าง
EOS 5D Mark III/ FL: 70 มม./ Aperture Priority AE (f/4, 1/25 วินาที, EV+0.3)/ ISO 250/ WB: แสงแดด
แสงสว่างคือแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุดซึ่งนำมาใช้สร้างวงกลมโบเก้ได้ง่ายที่สุด ผมตั้งค่ารูรับแสงไปที่ f/4 และขยับเข้าใกล้แสงที่อยู่ในส่วนโฟร์กราวด์จนเกือบสัมผัสกับกระจกเลนส์ จากนั้นทำให้ภาพอยู่นอกโฟกัสมากขึ้นเพื่อสร้างวงกลมโบเก้ขนาดใหญ่
ฉากที่ 2: แสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านใบไม้
EOS 5D Mark III/ FL: 200 มม./ Aperture Priority AE (f/2.8, 1/640 วินาที, EV +0.3)/ ISO 400/ WB: 4,500K
ผืนป่ายังถือเป็นขุมทรัพย์ของแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุดอีกด้วย วงกลมโบเก้ที่คุณสามารถมองเห็นได้นั้นมาจากแสงอาทิตย์ของท้องฟ้าที่ใสกระจ่างซึ่งสาดส่องลงมาผ่านใบไม้ ดังเช่นในภาพนี้ ผมสามารถสร้างวงกลมโบเก้ได้ด้วยการทำให้ภาพอยู่นอกโฟกัสโดยใช้รูรับแสงกว้างสุดที่ f/2.8
ขอแนะนำ บทความเชิงลึก เกี่ยวกับวิธีสร้างวงกลมโบเก้ในฉากต่างๆ ที่คล้ายคลึงกัน
ฉากที่ 3: ภาพสะท้อนบนผิวน้ำ
EOS 5D Mark II/ FL: 80 มม./ Aperture Priority AE (f/4, 1/2,000 วินาที, EV-0.7)/ ISO 200/ WB: เมฆครึ้ม
ผมถ่ายภาพผิวน้ำในแม่น้ำที่ส่องประกายยามพระอาทิตย์ตกดิน ผมสร้างภาพเบลอขนาดใหญ่ในส่วนแบ็คกราวด์โดยการจับโฟกัสที่รั้วในส่วนโฟร์กราวด์ ผลที่ได้รับคือภาพที่งดงามชวนฝันอันเกิดจากวงกลมโบเก้มากมายที่ปกคลุมไปทั่วผิวน้ำในแม่น้ำ
คอลัมน์: "รูรับแสงทรงกลม" คืออะไร และมีผลต่อรูปร่างของโบเก้อย่างไรบ้าง
เลนส์รุ่นใหม่จำนวนมากได้รับการออกแบบให้ม่านรูรับแสงสร้างรูปทรงที่เป็นทรงกลม ซึ่งเรียกว่ารูรับแสงทรงกลม ซึ่งมีข้อดีคือ ช่วยให้วงกลมโบเก้ยังคงมีรูปทรงกลมแม้ในขณะที่คุณลดค่ารูรับแสงลง และลดโอกาสที่จะทำให้โบเก้มีรูปทรงอื่นๆ ที่ดูไม่เป็นธรรมชาติได้
เมื่อคุณใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงที่ไม่ใช่ทรงกลม (เช่น เลนส์รุ่นก่อนๆ) ม่านรูรับแสงจะสร้างรูปทรงแบบมีหลายมุมขึ้นมา และเมื่อคุณสร้างภาพเบลอให้กับแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุดโดยใช้เลนส์ดังกล่าว โบเก้ที่ได้จะมีรูปทรงแบบมีหลายมุมด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสร้างวงกลมโบเก้ให้มีทรงกลมมนตามที่ต้องการ ตารางสเปคของเลนส์แต่ละชนิดจะมีการระบุไว้ว่าเลนส์นั้นๆ มีรูรับแสงทรงกลมหรือไม่ ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ
รูรับแสงทรงกลม
รูปทรงของม่านรูรับแสงได้รับการออกแบบมาเพื่อให้รูรับแสงมีลักษณะกลม ซึ่งยังคงมีรูปทรงกลมมนแม้ว่าคุณจะลดขนาดรูรับแสงลงก็ตาม
รูรับแสงที่ไม่ใช่ทรงกลม
จุดตัดของม่านรูรับแสงเป็นทรงเหลี่ยม ดังนั้น รูรับแสงจึงมีทรงเหลี่ยมด้วยเช่นกัน
Kazuo Nakahara
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation