คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์ #6: หากเลนส์ซูมของฉันไม่มีรูรับแสงกว้างสุดที่สว่างมาก ฉันจะสามารถสร้างโบเก้ขนาดใหญ่ได้อย่างไร
ด้วยการทำตามเงื่อนไขต่างๆ เราสามารถสร้างโบเก้ขนาดใหญ่ด้วยเลนส์ซูมมาตรฐานได้ ขอให้ลองอ่านวิธีที่ผมได้อธิบายโดยใช้ตัวอย่างภาพถ่ายดอกไม้เพิ่มเติม (ภาพและเรื่องโดย: Kazuo Nakahara)
4 เงื่อนไขเพื่อให้ได้ภาพโบเก้
บางคนอาจคิดว่าไม่สามารถสร้างภาพโบเก้ได้หากใช้เลนส์ซูมมาตรฐานระดับเริ่มต้น เนื่องจากเลนส์ดังกล่าวไม่มีรูรับแสงกว้างสุดที่มีความสว่าง แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย ภาพโบเก้ขนาดใหญ่สามารถทำได้หากคุณคิดหาวิธีสร้างมันขึ้นมา
หลายคนมักลืมไปว่าจำนวนโบเก้ในภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่า f เพียงอย่างเดียว แต่การที่คุณขยับเข้าใกล้ในระยะเทเลโฟโต้ รวมถึงการเข้าใกล้ตัวแบบมากน้อยเพียงใดต่างมีความสำคัญเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ โบเก้จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อยิ่งอยู่ห่างจากระนาบโฟกัส ดังนั้นวัตถุที่คุณต้องการใช้เอฟเฟ็กต์โบเก้จึงควรตั้งอยู่ห่างจากตัวแบบให้มากที่สุด
อีกนัยหนึ่งคือ หากต้องการสร้างภาพโบเก้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทางที่ดีควรผสมผสานเงื่อนไข 4 ข้อดังต่อไปนี้เข้าด้วยกัน
---------------------------------------------
เงื่อนไขที่ทำให้ได้ภาพโบเก้ขนาดใหญ่
(1) ใช้ค่า f ต่ำ
(2) เลือกทางยาวโฟกัสในช่วงเทเลโฟโต้
(3) เข้าใกล้ตัวแบบ
(4) ค้นหาแบ็คกราวด์ที่อยู่ห่างออกไป
---------------------------------------------
เงื่อนไขเหล่านี้รวมทั้งมุมถ่ายภาพที่สร้างความลึกสามารถช่วยให้เกิดโบเก้ขนาดใหญ่ได้อย่างน่าทึ่ง แม้ว่าเลนส์ของคุณจะไม่มีรูรับแสงกว้างสุดที่สว่างมากก็ตาม หากเลนส์ของคุณ "มืด" มากๆ ให้ (1) ใช้ค่า f ต่ำสุด (รูรับแสงกว้างสุด) และ (2) ซูมเข้าไปจนถึงระยะสุดฝั่งเทเลโฟโต้ สำหรับตัวแบบอย่างเช่น ดอกไม้ การตรวจสอบให้แน่ใจว่าภาพที่ถ่ายนั้นมีความสว่าง (เช่น โดยใช้การชดเชยแสง) ยังช่วยทำให้เอฟเฟ็กต์โบเก้ดู มีขนาดใหญ่และนุ่มนวลยิ่งขึ้นอีกด้วย
การถ่ายภาพที่ค่า f/5.6 ขณะที่ทำตามเงื่อนไขเพื่อให้ได้โบเก้ขนาดใหญ่
EOS 750D/ EF-S55-250mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 250 มม. (เทียบเท่า 400 มม.)/Aperture Priority AE (f/5.6, 1/320 วินาที, EV+0.7)/ISO 400/WB: อัตโนมัติ
ผมนำตำแหน่งในการถ่ายภาพที่อยู่ในระนาบเดียวกับดอกไม้มาใช้ และใช้รูรับแสงกว้างสุดในระยะเทเลโฟโต้ จากนั้นจึงสร้างความลึกให้กับแบ็คกราวด์ ผลลัพธ์: โบเก้ขนาดใหญ่ที่ดูนุ่มนวล
การถ่ายภาพที่ค่า f/5.6 โดยไม่ทำตามเงื่อนไขเพื่อให้ได้โบเก้ขนาดใหญ่
EOS 750D/ EF-S55-250mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 55 มม. (เทียบเท่า 88 มม.)/Aperture Priority AE (f/5.6, 1/80 วินาที, EV0)/ISO 320/WB: อัตโนมัติ
คุณไม่อาจได้เอฟเฟ็กต์โบเก้หากคุณถ่ายภาพอย่างไร้จุดหมาย แม้ว่าคุณจะใช้ค่ารูรับแสง f/5.6 เช่นเดียวกับในภาพก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ หากคุณถ่ายภาพจากมุมสูง พื้นดินจะกลายเป็นแบ็คกราวด์ และจะไม่มีระยะห่างระหว่างตัวแบบหลักและตัวแบบที่คุณต้องการจะถ่ายให้เกิดภาพโบเก้ ภาพที่ได้ไม่เพียงแต่จะมีโบเก้น้อยลงเท่านั้น แต่ยังขาดสีสันที่น่าสนใจอีกด้วย
Kazuo Nakahara
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย
http://photo-studio9.com/
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation