คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์ #2: เลนส์ไวแสงทำให้มองเห็นผ่านช่องมองภาพได้ง่ายขึ้นหรือไม่
บทความชุดนี้จะตอบคำถามเกี่ยวกับเลนส์ที่คุณคิดว่ารู้แล้ว (แต่อาจไม่รู้) ในบทความนี้ เราจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงกว้างสุดของเลนส์กับภาพที่เห็นจากช่องมองภาพ (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)
เลนส์ไวแสง (“ให้ความสว่าง”) คืออะไร
เลนส์ไวแสงคือ เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ เช่น f/1.2, f/1.4 หรือ f/2.8
เมื่อเลนส์มีรูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ แสงจะสามารถผ่านและเข้ามาถึงเซนเซอร์ได้มากขึ้น และเมื่อตั้งค่ารูรับแสงกว้างสุด คุณจะได้รับการเปิดรับแสงที่เพียงพอได้รวดเร็วกว่าเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดเล็กกว่าด้วย ดังนั้น เลนส์ที่มีลักษณะเช่นนี้จึงเป็นเลนส์ที่ “ไวแสง” หรือ “ให้ความสว่าง”
คุณสมบัตินี้ส่งผลต่อภาพที่เห็นในช่องมองภาพแบบออพติคอลอย่างไร
ภาพที่เห็นผ่าน OVF (เลนส์ f/1.4)
ภาพที่เห็นผ่าน OVF (เลนส์ f/4)
ภาพด้านบนเป็นภาพที่เห็นจากช่องมองภาพแบบออพติคอล (OVF) ของเลนส์ EF24-105mm f/4L IS USM และ EF24mm f/1.4L II USM ตามลำดับ ภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ารูรับแสงของเลนส์ส่งผลโดยตรงอย่างไรต่อความสว่างของภาพที่เห็นผ่าน OVF ช่องมองภาพที่มีความสว่างมากกว่าจะช่วยให้คุณเห็นรายละเอียดบนตัวแบบได้ชัดเจนกว่า และยังเป็นข้อได้เปรียบเมื่อต้องถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อยด้วย
ถึงแม้จะมองเห็นความแตกต่างได้ค่อนข้างยากในฉากที่สว่าง เช่น เมื่อถ่ายภาพกลางแจ้ง แต่จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อคุณถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย
อะไรทำให้เกิดความแตกต่างเช่นนี้
ภาพประกอบด้านล่างแสดงการเดินทางของแสงผ่านเลนส์ของกล้อง DSLR และเกิดเป็นภาพใน OVF
A: เพนทาปริซึมหรือเพนทามิเรอร์
B: ช่องมองภาพแบบออพติคอล
C: กระจกชิ้นหลัก
1. แสงเข้าสู่เลนส์
2. กระจกชิ้นหลัก (C) สะท้อนแสงนี้ไปยังเพนทามิเรอร์ (A) ด้วย
3. ภาพที่เกิดขึ้นที่ (A) คือสิ่งที่คุณมองเห็นเมื่อมองผ่านช่องมองภาพ OVF (B)
แสงที่ผ่านเข้ามาถึง OVF จะไม่ได้รับผลกระทบจากการตั้งค่ารูรับแสงหรือการตั้งค่าอื่นๆ ในกล้องของคุณเลย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความสว่างของภาพที่เห็นใน OVF ขึ้นอยู่กับปริมาณแสงที่ผ่านเข้ามาในเลนส์เมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุดเท่านั้น*
เมื่อคุณใช้เลนส์ไวแสง โดยปกติแล้ว แสงจะผ่านเข้ามาในเลนส์ได้มากขึ้น ทำให้แสงสะท้อนไปยัง OVF ได้มากขึ้น ภาพที่เห็นใน OVF จึงมีความสว่างมากกว่าหากเทียบกับการใช้เลนส์ไวแสงน้อยกว่า
*ข้อควรรู้: ระบบวัดแสงด้วยรูรับแสงกว้างสุด
กล้อง DSLR ส่วนมากวัดความสว่างของฉากด้วยระบบวัดแสงด้วยรูรับแสงกว้างสุด (ฉบับภาษาอังกฤษ) (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบวัดแสงด้วยรูรับแสงแบบเปิด) ซึ่งไดอะแฟรมรูรับแสงจะถูกตั้งค่าเริ่มต้นไว้ที่ตำแหน่งรูรับแสงกว้างสุด หากตั้งค่ากล้องโดยใช้ค่า f ที่แคบลง ไดอะแฟรมรูรับแสงจะแคบลงชั่วขณะเมื่อคุณลั่นชัตเตอร์ แต่หลังจากนั้นจะกลับไปอยู่ที่ค่ารูรับแสงกว้างสุดอีกครั้ง กล้องมิเรอร์เลสของ Canon ก็มีวิธีการทำงานแบบเดียวกันนี้ แต่สำหรับกล้องอื่นๆ อาจแตกต่างออกไป
หมายเหตุ: เพราะเหตุใดช่างภาพบางคนจึงชื่นชอบภาพที่ได้จากการมองผ่าน OVF
ระบบนี้ช่วยให้คุณมองเห็นภาพใน OVF ได้เช่นเดียวกับที่มองเห็นด้วยตาเปล่าด้วย ภาพที่เป็นธรรมชาติ ไม่ผ่านการปรับแต่ง และเป็นภาพของฉากที่คุณเห็นได้ “โดยตรง” คือสิ่งที่ช่างภาพหลายคนชื่นชอบเมื่อถ่ายภาพด้วย OVF
เลนส์ไวแสงส่งผลต่อภาพที่เห็นผ่าน EVF หรือไม่
ภาพที่คุณเห็นในช่องมองภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ (EVF) เกิดขึ้นได้ด้วยกระบวนการต่อไปนี้:
1. แสงเข้าสู่เลนส์
2. เซนเซอร์ภาพบันทึกแสงนี้ไว้
3. ภาพที่เกิดขึ้นบนเซนเซอร์ภาพจะถูกฉายลงบน EVF
เมื่อคุณเปลี่ยนการตั้งค่าของกล้อง ค่าเหล่านี้จะมีผลต่อภาพที่เกิดบนเซนเซอร์ภาพ ดังนั้น ภาพที่คุณเห็นใน EVF ก็จะเปลี่ยนไปด้วย และช่องมองภาพ EVF ยังเพิ่มความสว่างของภาพได้แบบอิเล็กทรอนิกส์ รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์จึงไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อความสว่างของภาพที่เห็นใน EVF
อย่างไรก็ตาม เลนส์ไวแสงสูงๆ อาจมีผลต่อคุณภาพของภาพใน EVF ได้อีกทางหนึ่ง
ผลของเลนส์ไวแสงต่อความสว่างของ EVF
เมื่อคุณถ่ายภาพในสภาพแวดล้อมที่มืด EVF จะ “เพิ่มแสง” (เพิ่มความสว่าง) โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นได้ดีขึ้น แต่การเพิ่มแสงที่มากเกินไปอาจทำให้ภาพใน EVF ดูหยาบแบบมีเม็ดเกรน
EVF จะเพิ่มแสงน้อยลงหากแสงผ่านเข้ามาถึงเซนเซอร์ได้มากขึ้น นี่จึงเป็นข้อได้เปรียบของเลนส์ไวแสงสูงๆ ความหยาบที่น้อยลงและแสงที่ผ่านเข้ามาถึงเซนเซอร์ได้มากขึ้นยังมีส่วนช่วยให้ AF ทำงานได้ดีขึ้นในสภาวะแสงน้อยด้วย
ภาพที่เห็นจาก EVF
สภาพการถ่ายจริง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง OVF กับ EVF ได้ที่:
พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #12: ช่องมองภาพ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ นอกจากถ่ายภาพสำหรับงานโฆษณาและนิตยสารทั้งในและนอกญี่ปุ่นแล้ว เขายังทำหน้าที่เป็นนักรีวิวให้กับ "Digital Camera Magazine" นับตั้งแต่นิตยสารเปิดตัว ตลอดจนตีพิมพ์ผลงานต่างๆ มากมาย ในส่วนของการรีวิวผลิตภัณฑ์และเลนส์ Takahashi เน้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพที่ดึงประสิทธิภาพการทำงานของเลนส์ออกมาผ่านมุมมองและการทดสอบเฉพาะตัวของเขาเอง ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย