ในทางออปติกส์ “รูรับแสง” หมายถึง กลุ่มม่านเล็กๆ ที่ติดตั้งไว้ในเลนส์และควบคุมปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์ แม้ขนาดจะเล็ก แต่รูรับแสงมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการถ่ายทอดภาพถ่าย (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)
รูรับแสงคืออะไร
คำว่า “Aperture” หมายถึง “ช่อง” หรือ “รูรับแสง” เรามักใช้คำว่า “รูรับแสง” เพื่อพูดถึงตัวเลขค่า f (ค่า f /f-stop/ การตั้งค่ารูรับแสง) ในกล้อง อย่างไรก็ดี รูรับแสงยังหมายถึง ช่องเปิดในเลนส์ (“ไดอะแฟรมรูรับแสง”) ที่ประกอบด้วยม่าน (“ม่านรูรับแสง”) จำนวนหนึ่ง ซึ่งช่วยให้แสงสามารถเข้าสู่เลนส์และไปถึงเซนเซอร์
โดยส่วนใหญ่ไดอะแฟรมรูรับแสงจะทำหน้าที่:
1. ควบคุมปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้อง
2. ควบคุมขนาดของพื้นที่ในโฟกัส (ระยะชัด) หรือความเบลอในแบ็คกราวด์หรือโฟร์กราวด์
ความสัมพันธ์ระหว่างช่องรูรับแสงและค่า f
ค่า f เป็นค่าที่ระบุขนาดช่องที่เกิดจากม่านรูรับแสง
เมื่อคุณเปลี่ยนค่า f ในกล้องหรือเมื่อกล้องปรับค่า f ขนาดของไดอะแฟรมรูรับแสงจะเปลี่ยนตามไปด้วย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนปริมาณแสงที่เข้าสู่เซ็นเซอร์ภาพเช่นกัน
เมื่อไดอะแฟรมรูรับแสง “เปิด” ปริมาณแสงจะเข้าสู่เซ็นเซอร์ภาพได้มาก
และเมื่อไดอะแฟรมรูรับแสง “ปิด” ช่องรูรับแสงจะแคบลงและปริมาณแสงจะเข้ามาได้น้อยลง
ยิ่งช่องรูรับแสงแคบลง ตัวเลขค่า f จะสูงขึ้น การปรับช่องรูรับแสงนี้เรียกว่า “เปิดรูรับแสงกว้างขึ้น” หรือ “ลดขนาดรูรับแสงลง”
อ่านรายละเอียดได้ใน พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #1: รูรับแสง
เคล็ดลับ: ค่า f น้อยๆ ใช้ได้ผลดีกว่าสำหรับการถ่ายภาพในที่ที่แสงน้อย เนื่องจากเปิดรับแสงเข้ามามากกว่า
ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงกับระยะชัด
นอกจากจะทำหน้าที่เหมือนวาล์วควบคุมแสงแล้ว รูรับแสงยังสามารถใช้ปรับพื้นที่ในระยะโฟกัสด้วย (ระยะชัด)
เมื่อรูรับแสงแคบ ระยะชัดจะกว้าง ซึ่งทำให้ตัวแบบที่อยู่ในโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์อยู่ในโฟกัสทั้งหมด
เมื่อรูรับแสงเปิดกว้าง (รูรับแสงกว้างสุด) ระยะชัดจะตื้น
หากตัวแบบอยู่ในส่วนโฟร์กราวด์และคุณตั้งโฟกัสไว้ที่ตัวแบบ คุณสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ที่เรียกว่า โบเก้ (แบ็คกราวด์เบลอ) ได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ตัวแบบดูโดดเด่นออกมาจากแบ็คกราวด์ ตัวแบบจึงมีความคมชัดและแบ็คกราวด์เบลอ
เคล็ดลับ:
- หากมีวัตถุบางอย่างอยู่ด้านหน้าตัวแบบ คุณสามารถใช้รูรับแสงกว้างสุดเพื่อเบลอวัตถุดังกล่าวและสร้างโบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์
- เมื่อระยะชัดตื้น ควรระวังจุดที่คุณจับโฟกัส เพราะบางส่วนของตัวแบบอาจอยู่นอกระยะโฟกัสได้ อ่านบทความเกี่ยวกับการถ่ายภาพใบหน้า เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับจุดที่ควรโฟกัสสำหรับภาพพอร์ตเทรตครึ่งตัว
รูรับแสงกว้าง: ระยะชัดตื้น
Aperture-priority AE (f/1.8, 1/1000 วินาที, EV±0)
เมื่อคุณถ่ายภาพด้วยรูรับแสงที่เปิดกว้างเต็มที่ พื้นที่ที่อยู่ในโฟกัสจะแคบลง และแบ็คกราวด์จะเบลออย่างเห็นได้ชัด
รูรับแสงแคบ: ระยะชัดที่กว้างขึ้น
Aperture-priority AE (f/11, 1/320 วินาที, EV±0)
เมื่อถ่ายภาพด้วยรูรับแสงแคบ ภาพที่ได้จะคมชัดโดยที่ส่วนโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์อยู่ในโฟกัสทั้งหมด
ผลกระทบของค่ารูรับแสงที่มีต่อระยะชัด
f/2.8
f/4.0
f/5.6
f/8.0
f/11
f/16
f/22
ในตัวอย่างนี้ ผมจับโฟกัสที่โคมไฟและถ่ายภาพหลายภาพด้วยค่ารูรับแสงหลายระดับ ดังที่เห็นในภาพ พื้นที่ในโฟกัสจะกว้างขึ้นและเอฟเฟ็กต์โบเก้ในแบ็คกราวด์จะลดลง เมื่อตัวเลขค่ารูรับแสงสูงขึ้น พื้นที่ในโฟกัสเช่นนี้เรียกกันว่า “ระยะชัด” ภาพที่มีพื้นที่ในโฟกัสกว้างจะมี “โฟกัสชัดลึก” ขณะที่ภาพที่มีพื้นที่ในโฟกัสน้อยจะมี “โฟกัสชัดตื้น”
การเลี้ยวเบนของแสงกับรูรับแสงแคบ
คำแนะนำข้อหนึ่งที่บอกกันบ่อยๆ คือ ควรระมัดระวังการลดขนาดรูรับแสงลงอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเป็นเพราะเมื่อคุณใช้รูรับแสงที่แคบเกินไป จะทำให้เกิดการเลี้ยวเบนของแสงขึ้น
การเลี้ยวเบนของแสงจะเกิดขึ้นเมื่อช่องรูรับแสงแคบมากจนทำให้แสงเลี้ยวเบนขณะผ่านเข้าสู่รูรับแสง ส่งผลให้เกิดแสงสะท้อนที่ผิดปกติรอบๆ ม่านรูรับแสง ซึ่งแสงสะท้อนที่ผิดปกตินี้ส่งผลให้ภาพดูคมชัดน้อยลง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อคุณต้องการให้โฟกัสชัดลึก โดยปกติค่ารูรับแสงที่ f/8 ถึง f/11 นับว่าเพียงพอ
ผลกระทบจากการเลี้ยวเบนของแสง: f/8 กับ f/22
เมื่อวางกล้องมั่นคงแล้ว ผมถ่ายภาพหลายช็อตจากตำแหน่งเดียวกันโดยเปลี่ยนเฉพาะค่ารูรับแสง ภาพถ่ายสองภาพด้านล่างนี้เป็นภาพขยายของส่วนที่อยู่ในกรอบสีแดง สังเกตว่าภาพที่ถ่ายด้วยค่า f/8 ดูคมชัดกว่าภาพที่ถ่ายด้วยค่า f/22
f/8.0
f/22
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่กล้องและเลนส์ Canon จัดการกับปัญหาการเลี้ยวเบนของแสงและความคลาดของเลนส์อื่นๆ ที่นี่:
EOS-1D X Mark II – การใช้เลนส์ภายในกล้องให้เกิด ประโยชน์สูงสุดเพื่อภาพถ่ายคุณภาพสูง
ค่ารูรับแสงกว้างสุดของเลนส์มีความหมายอย่างไร
ในความหมายที่ใช้กันโดยทั่วไป ค่ารูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ หมายถึง ความสว่างเมื่อรูรับแสงเปิดกว้างสุด
ส่วนในทางเทคนิค ค่ารูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ หมายถึง ค่าฟังก์ชั่นผกผันของเส้นผ่านศูนย์กลางที่ใช้งานจริงของเลนส์นั้นๆ ซึ่งแบ่งตามทางยาวโฟกัส
ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ค่ารูรับแสงกว้างสุด หมายความว่า ยิ่งขนาดของช่องรูรับแสงกว้างมากเท่าใด ค่ารูรับแสงจะน้อยลงเท่านั้น
วิธีระบุค่ารูรับแสงกว้างสุดในเลนส์ของคุณ
หากรูรับแสงกว้างสุดของเลนส์มีค่า f/3.5 บนตัวเลนส์ก็จะระบุไว้ว่า “1:3.5”
ในเลนส์ซูมบางรุ่น ค่ารูรับแสงกว้างสุดอาจเปลี่ยนไปตามทางยาวโฟกัส หากบนเลนส์ซูมระบุไว้ว่า “1:3.5-5.6” หมายความว่า รูรับแสงกว้างสุดมีค่า f/3.5 ที่สุดฝั่งมุมกว้าง และ f/5.6 ที่สุดฝั่งเทเลโฟโต้
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่า f แต่ละค่าและฉากต่างๆ ที่นิยมใช้กันทั่วไป โปรดดูบทความต่อเนื่องเกี่ยวกับเทคนิคการใช้งานฟังก์ชัน Aperture-Priority:
#1: ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงของเลนส์และโบเก้
#2: สร้างโบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ให้กับภาพถ่ายครอบครัวที่แสนอบอุ่นและเป็นมิตร
#3: ความมหัศจรรย์ของ f/2.2 ในการถ่ายภาพหุ่นนิ่ง (Still-life)
#4: การถ่ายภาพใบหน้า (f/2.8)
#5: การตั้งค่ากล้องสำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตที่สมบูรณ์แบบนอกสถานที่ (f/4)
#6: การตั้งค่ารูรับแสงที่เป็นประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพสตรีท (f/5.6)
#7: การตั้งค่ารูรับแสงเพื่อถ่ายทอดภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนที่คมชัด (f/8)
#8: ค่ารูรับแสงที่เหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติให้ดูคมชัดและมีระยะชัดลึก (f/11)
#9: ถ่ายทอดภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนที่คมชัดตั้งแต่ส่วนโฟร์กราวน์จนถึงแบ็คกราวด์ (f/16)
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ นอกจากถ่ายภาพสำหรับงานโฆษณาและนิตยสารทั้งในและนอกญี่ปุ่นแล้ว เขายังทำหน้าที่เป็นนักรีวิวให้กับ "Digital Camera Magazine" นับตั้งแต่นิตยสารเปิดตัว ตลอดจนตีพิมพ์ผลงานต่างๆ มากมาย ในส่วนของการรีวิวผลิตภัณฑ์และเลนส์ Takahashi เน้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพที่ดึงประสิทธิภาพการทำงานของเลนส์ออกมาผ่านมุมมองและการทดสอบเฉพาะตัวของเขาเอง ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย