เทคนิคเกี่ยวกับการตั้งค่าตามขนาดรูรับแสง 1: ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงของเลนส์และโบเก้
มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ทราบว่าข้อดีข้อหนึ่งของเซนเซอร์ภาพที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในกล้องของคุณคือ สามารถช่วยสร้างเอฟเฟ็กต์ภาพเบลอสวยๆ ที่เรียกว่า “โบเก้” คุณสามารถใช้เอฟเฟ็กต์นี้เพื่อแยกตัวแบบออกจากแบ็คกราวด์และทำให้ตัวแบบ “โดดเด่น” ออกมา คุณจะสามารถทำได้อย่างไร พบคำตอบได้ในบทความนี้! (เรื่องโดย: Teppei Kohno)
i) รูรับแสงคืออะไรและเกี่ยวข้องกับโบเก้อย่างไร
ii) จะควบคุมรูรับแสงได้อย่างไร
iii) บอกขนาดรูรับแสงกว้างสุดจากชื่อเลนส์
iv) คำแนะนำแบบทีละขั้นตอน: เปลี่ยนค่ารูรับแสง
v) เคล็ดลับพิเศษในการถ่ายภาพดอกไม้ให้สวยงามยิ่งขึ้น
รูรับแสงคืออะไรและเกี่ยวข้องกับโบเก้อย่างไร
มาทบทวนสั้นๆ กันก่อน: รูรับแสง หมายถึง ช่องในเลนส์ที่เปิดให้แสงผ่านเข้ามาภายในกล้อง ช่องนี้เกิดจากม่านรูรับแสง
ขนาดของช่องที่ว่านี้มีผลต่อ “ระยะชัด” ซึ่งก็คือพื้นที่ในภาพที่ปรากฏในโฟกัส พื้นที่นอกส่วนนี้ (“พื้นที่นอกโฟกัส”) จะเกิดการเบลอที่ดูต่างจากการเบลอจากการเคลื่อนไหวหรือการสั่นของกล้อง การเบลอในลักษณะนี้คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า “โบเก้”
และนี่คือความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงและโบเก้:
- - ช่องรูรับแสงใหญ่ขึ้น = ระยะชัดตื้นขึ้น = โบเก้ชัดเจนขึ้น
- - ช่องรูรับแสงเล็กลง = ระยะชัดลึกขึ้น = โบเก้ชัดเจนน้อยลง
มีปัจจัยทั้งหมดสี่ข้อที่ส่งผลต่อโบเก้และระยะชัด (อ่านเพิ่มเติมได้ใน คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์ #3: การสร้างโบเก้) อย่างไรก็ตาม วิธีสร้างโบเก้ที่ง่ายที่สุดคือ ใช้การควบคุมรูรับแสง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบทความนี้
จะควบคุมรูัรับแสงได้อย่างไร
รูรับแสงจะแสดงเป็นค่าตัวเลขที่เรียกว่า ค่า f ยิ่งค่า f ต่ำ ช่องรูรับแสงก็จะยิ่งกว้างขึ้น
คุณสามารถควบคุมขนาดของช่องรูรับแสงในกล้องของคุณได้ด้วยการเปลี่ยนค่ารูรับแสง (ค่ารูรับแสง/ค่า f) ในกล้อง (นี่คือคำแนะนำทีละขั้นตอนในการเปลี่ยนค่ารูรับแสง)
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างค่า f และการเปิดรูรับแสง กรุณาคลิกที่นี่
แม้พยายามจะเปลี่ยนค่า f แต่ก็ทำไม่ได้ เป็นเพราะอะไร
อาจเป็นเพราะคุณใช้โหมดการถ่ายภาพที่ไม่ถูกต้อง คุณจะสามารถควบคุมค่า f ได้ก็ต่อเมื่อคุณใช้โหมดใดโหมดหนึ่งต่อไปนี้:
- - โหมด Aperture-priority AE (Av)
- - โหมดแมนนวล (M)
- - โหมด Flexible-priority AE (Fv) (ถ้ากล้องของคุณมีโหมดนี้)
แม้ว่าคุณสามารถถ่ายภาพที่สวยงามมากเมื่อใช้ โหมด Program AE (P) หรือโหมดฉากพิเศษ แต่ในโหมดเหล่านี้ กล้องจะกำหนดค่าการเปิดรับแสงทั้งหมดรวมทั้งค่ารูรับแสงด้วย ซึ่งคุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จึงหมายความว่าคุณจะสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ตามที่ต้องการได้ยากขึ้น
ฉันยังเป็นมือใหม่ ควรเริ่มด้วยโหมดไหนดี
ลองใช้โหมด Av ในโหมดนี้ กล้องจะตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะที่สุดโดยให้อัตโนมัติสำหรับค่า f ที่คุณเลือกไว้ คุณสามารถลองใช้โหมดแมนนวลได้เมื่อคุณมีความคุ้นเคยกับการเปิดรับแสงมากขึ้น!
ในภาพตัวอย่างด้านล่าง ตัวอย่างภาพที่ใช้ f/2.8 ถ่ายในโหมด Av ในขณะที่ตัวอย่างภาพที่ใช้ f/8 ถ่ายโดยใช้โหมด P คุณเห็นความแตกต่างหรือไม่
โหมด Av - f/2.8
ดอกไม้โดดเด่นขึ้นด้วยเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่สวยงามน่ารักในส่วนแบ็คกราวด์
โหมด P - f/8
กล้องตั้งค่ารูรับแสงไว้ค่อนข้างแคบที่ f/8 เนื่องจากมีแสงแดดจ้า แม้การเปิดรับแสงจะสมบูรณ์แบบ แต่เอฟเฟ็กต์โบเก้นั้นไม่สวยงามและนุ่มนวลเท่าภาพตัวอย่างที่ใช้ค่า f/2.8 ยังคงพอมองเห็นเอฟเฟ็กต์โบเก้อยู่บ้างเนื่องจากผมถ่ายภาพใกล้กับดอกไม้มาก แต่ค่า f ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
ข้อควรรู้: เลนส์แต่ละรุ่นมีรูรับแสงกว้างสุดต่างกัน
เลนส์ทุกรุ่นมีค่ารูรับแสงกว้างสุดที่แตกต่างกัน ซึ่งตัวเลขนี้จะมีบอกไว้ในชื่อของเลนส์ในส่วนตัวเลขที่ขึ้นต้นด้วย “f” (ในกรอบสีแดงด้านล่าง)
ทำไมชื่อของเลนส์บางรุ่นจึงบอกค่า f เป็นช่วง
สำหรับเลนส์ที่มีรูรับแสงแบบปรับได้ เช่น EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM ค่ารูรับแสงกว้างสุดจะเปลี่ยนไปตามทางยาวโฟกัสที่คุณใช้ ซึ่งในกรณีนี้ ค่า f ทั้งสองค่ามีบอกไว้ในชื่อเลนส์ เลขตัวแรกคือค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ระยะมุมกว้าง และตัวที่สองคือค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ระยะเทเลโฟโต้
ตัวอย่างเช่น ข้อมูลต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ชื่อของเลนส์ “EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM” บอกเราเกี่ยวกับค่า f ต่ำสุดที่เราสามารถตั้งค่าได้
- - ที่ทางยาวโฟกัส 18 มม. ค่า f ต่ำสุดที่ตั้งได้คือ f/4
- - ที่ทางยาวโฟกัส 55 มม. ค่า f ต่ำสุดที่ตั้งได้คือ f/5.6
- - ที่ทางยาวโฟกัสระหว่างทั้งสองระยะ ค่า f ต่ำสุดที่ตั้งได้คือ ระหว่าง f/4 กับ f/5.6
ชื่อของเลนส์อาจจะแสดงอยู่ที่ด้านหน้าของเลนส์ด้วย
เคล็ดลับพิเศษ: ใช้รูปแบบภาพ “บุคคล” เพื่อให้สีสันโดดเด่นขึ้น
ลองเปลี่ยนรูปแบบภาพเพื่อให้สีของดอกไม้ดูสวยงามยิ่งขึ้น โดยการตั้งค่ารูปแบบภาพเป็นโหมด “บุคคล” เพื่อเพิ่มความสดใสของสีชมพูและสีเหลืองของดอกไม้
รูปแบบภาพ “มาตรฐาน”
ภาพที่ได้ดูสดใสพอสมควร แต่ยังมีอะไรบางอย่างขาดไป
รูปแบบภาพ “บุคคล”
ในภาพนี้ สีสันต่างๆ ดูสดใสกว่า
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการใช้รูปแบบภาพเพื่อเปลี่ยนรูปลักษณ์ของภาพที่คุณถ่ายได้ที่:
3 ขั้นตอนในการสร้างภาพถ่ายที่ปรับแต่งได้ตามใจคุณด้วยฟังก์ชั่นรูปแบบภาพ
EOS M6: สามคุณสมบัติเด่นที่คุณสามารถใช้เพื่อให้ได้ภาพทิวทัศน์เมืองยามค่ำคืนที่สวยงามน่าทึ่ง
การถ่ายภาพยามค่ำคืน: การปรับค่าความเปรียบต่างเพื่อสร้างภาพที่งดงามและให้ความรู้สึกเหนือจริง
วิธีเปลี่ยนค่ารูรับแสง
*ภาพสำหรับใช้ประกอบบทความเท่านั้น วงแหวนและปุ่มต่างๆ บนกล้องของคุณอาจดูแตกต่างไปจากนี้เล็กน้อย!
1. ตั้งกล้องไปที่โหมด [Av]
เปิดสวิตช์กล้องไปที่ [ON] และหมุนวงแหวนเลือกโหมดไปที่โหมด [Av]
ข้อควรรู้: กล้องบางรุ่น เช่น EOS M6 Mark II มาพร้อมกับโหมด Fv ซึ่งทำหน้าที่เหมือนโหมด P เว้นแต่คุณสามารถยกเลิกการตั้งค่าการเปิดรับแสงที่กล้องกำหนดไว้ได้อย่างง่ายดายเมื่อต้องการ จึงใช้งานได้สะดวกหากคุณชอบให้กล้องกำหนดการตั้งค่าให้เป็นส่วนใหญ่ แต่ต้องการควบคุมเองบ้างเป็นบางครั้ง!
2. หมุนวงแหวนควบคุมหลัก
ใช้นิ้วชี้หมุนวงแหวนควบคุมหลักเพื่อเปลี่ยนค่า f หมุนวงแหวนไปทางซ้ายเพื่อลดค่า f และให้ได้ค่ารูรับแสงกว้างสุด และหมุนวงแหวนไปทางขวาเพื่อเพิ่มค่า f
3. ตรวจสอบว่าค่า f เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
หน้าจอ LCD ด้านหลังระหว่างถ่ายภาพผ่าน OVF ด้วยกล้อง DSLR
ขณะถ่ายภาพด้วย Live View/EVF
ค่า f ปัจจุบันจะปรากฏดังที่วงกลมไว้ ตรวจสอบว่าค่า f เปลี่ยนแปลงแล้วก่อนที่จะเริ่มถ่ายภาพ
---
ในบทความต่อๆ ไป เราจะมาศึกษาค่า f ต่างๆ กันและดูว่าแต่ละค่าเหมาะสำหรับการสร้างเอฟเฟ็กต์แบบใดบ้าง ระหว่างนี้ คุณน่าจะลองถ่ายภาพโดยใช้ค่า f ที่แตกต่างกันและดูว่าโบเก้ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และหากคุณอยากลองเปลี่ยนอะไรใหม่ๆ ดูบ้าง ให้ลองปรับเปลี่ยนปัจจัยอื่นๆ ที่สร้างโบเก้ด้วย
ช่วงนี้คุณได้ถ่ายภาพที่มีโบเก้บ้างหรือไม่ เล่าให้เราฟังได้ที่ My Canon Story เรื่องราวของคุณอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้ด้วย!
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่โตเกียวในปี 1976 เขาจบการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Meiji Gakuin และฝึกถ่ายภาพกับช่างภาพ Masato Terauchi เขามีส่วนร่วมในการถ่ายภาพให้นิตยสาร PHaT PHOTO ฉบับแรก และผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระหลังจากนั้นในปี 2003 Kohno ถ่ายภาพโฆษณาทุกประเภท นอกจากนั้นเขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเขียนมากมายในนิตยสารเกี่ยวกับกล้องและนิตยสารอื่นๆ ด้วย