แม้ว่าในปัจจุบันเลนส์ซูมจะถือได้ว่าเป็นยุคของเลนส์ซูม แต่เลนส์เดี่ยวก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างเหนียวแน่นจากผู้ใช้งาน ถึงแม้จะมีทางยาวโฟกัสที่ตายตัว แต่เลนส์เดี่ยวเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติดีๆ มากมายที่สามารถเอาชนะข้อเสียอันนี้ อย่างเช่น "เอฟเฟ็กต์โบเก้" "ภาพที่ไม่สั่นไหว" "การถ่ายทอดภาพที่คมชัด" ในบทความนี้ ผมจะเน้นในเรื่องเอฟเฟ็กต์โบเก้ของเลนส์เดี่ยว และอธิบายเทคนิคเกี่ยวกับวิธีการใช้งานในการถ่ายภาพพอร์ตเทรต ซึ่งเป็นแนวการถ่ายภาพที่ได้รับความนิยม (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)
EOS 5D Mark II/ EF50mm f/1.4 USM/ Aperture-priority AE (1/500 วินาที, f/2.0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
แนะนำการใช้เลนส์ EF50mm f/1.4 USM
เมื่อพิจารณาระยะห่างจากนางแบบ ผมเลือกเลนส์ EF50mm f/1.4 USM ที่มีระยะโฟกัสสั้นสุดประมาณ 45 ซม. ด้วยการลดรูรับแสงลงที่ f/2 ผมก็เบลอรูปร่างของคนและวัตถุอื่นๆ ที่อยู่ในแบ็คกราวด์ได้พอสมควร แต่ยังคงเก็บบรรยากาศของสถานที่เอาไว้ได้ เมื่อใช้โหมดแมนนวลโฟกัส (MF) ผมสามารถทำการโฟกัสที่ตาข้างขวา ซึ่งไม่ครอบคลุมอยู่ในจุด AF
การใช้โบเก้เพื่อเน้นธีมหลักให้โดดเด่น
ขั้นตอนที่ 1. ตั้งค่าโหมดการถ่ายภาพไปที่ Av
หมุนแหวนเลือกโหมดให้ตรงกับโหมด Aperture-priority AE (Av) ที่โหมดกึ่งอัตโนมัตินี้ ผู้ถ่ายภาพต้องระบุค่ารูรับแสง (ค่า f) ขณะที่กล้องจะกำหนดค่าอื่นๆ รวมทั้งความเร็วชัตเตอร์เองโดยอัตโนมัติ คุณสมบัติอย่างหนึ่งของโหมด Av คือ คุณสามารถควบคุมปริมาณโบเก้ได้ง่าย นี่เป็นโหมดที่จะต้องใช้ถ้าคุณต้องการเน้นเรื่องโบเก้ เพราะค่ารูรับแสงจะไม่เปลี่ยนไปตามความสว่างของตัวแบบ และจะกำหนดปริมาณแสงที่เหมาะสมโดยการปรับค่าต่างๆ เช่น ความเร็วชัตเตอร์
ขั้นตอนที่ 2. ปรับสวิตช์โหมดการโฟกัสมาที่ MF
เลือกโหมดแมนนวลโฟกัส (MF) ขณะที่ใช้แมนนวลโฟกัส คุณสามารถกำหนดระยะโฟกัสตรงจุดใดก็ได้ในระหว่างที่มองผ่านช่องมองภาพ โหมดนี้ใช้ได้ดีกับการถ่ายภาพพอร์ตเทรต ซึ่งช่างภาพจะต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่ยืนของตัวเองไปหลายๆ จุดเพื่อจะสร้างภาพถ่ายที่ดูแตกต่าง โดยจับโฟกัสให้แม่นยำที่ดวงตาของนางแบบ นอกจากนี้ เมื่อใส่เลนส์เดี่ยวที่มีความสว่างซึ่งมีค่ารูรับแสงกว้างสุดเป็นตัวเลขน้อยๆ ภาพที่มองเห็นในช่องมองภาพจะสว่าง ทำให้คุณตรวจเช็คโฟกัสได้สะดวก
ขั้นตอนที่ 3. ถือกล้องให้กระชับมือ
เพื่อให้ได้โฟกัสที่คมชัดแม่นยำ ผมวางข้อศอกทั้งสองข้างบนโต๊ะเพื่อให้กล้องมั่นคง ผมมุ่งความสนใจไปยังพื้นที่โฟกัส และใช้โต๊ะสีขาวเป็นรีเฟลกเตอร์เพื่อสะท้อนแสง สภาพแวดล้อมรอบข้างถูกปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพในการถ่าย เช่น การจัดให้แสงดวงไฟสะท้อนอยู่ในตาของนางแบบขณะที่ปรับความสว่างของใบหน้า
ขั้นตอนที่ 4. กำหนดโฟกัสหลังจากวางองค์ประกอบภาพ
ผมมองผ่านช่องมองภาพเพื่อจะจัดวางองค์ประกอบภาพ แล้วตั้งจุดโฟกัสตรงตาข้างขวาของนางแบบ ที่ค่ารูรับแสง f/2 ซึ่งใกล้เคียงกับค่ารูรับแสงสูงสุดของเลนส์เดี่ยว ระยะชัดของภาพ (ช่วงโฟกัสที่ยอมรับได้) อาจจะตื้นกว่าที่คุณคิดไว้ คุณจึงควรจะมีไอเดียที่ชัดเจนว่าส่วนใดของดวงตาที่คุณต้องการจับโฟกัส
ขั้นตอนที่ 5. ควบคุมจำนวนโบเก้ตามองศาของใบหน้า
เมื่อถ่ายภาพครึ่งตัวบนของนางแบบโดยใช้เลนส์เดี่ยวที่มีค่า f ต่ำๆ แล้ว การเปลี่ยนทิศทางการเบนหน้าสักเล็กน้อยจะช่วยเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของโบเก้และความรู้สึกที่ถ่ายทอดออกมาอย่างมาก ในตัวอย่างนี้ ภาพถ่ายทั้งสองถ่ายจากระยะเดียวกัน ภาพด้านหน้า ใบหน้าทั้งหมดโดยเฉพาะตาและริมฝีปากปรากฏอยู่ในโฟกัส เมื่อเอียงใบหน้าไปทางด้านข้าง จะเห็นความเบลอที่บริเวณใบหน้าครึ่งหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด ในการถ่ายภาพพอร์ตเทรต คุณควรดูว่า ตำแหน่งของเอฟเฟ็กต์โบเก้เปลี่ยนแปลงไปตามมุมกล้องที่เลือกถ่ายอย่างไรบ้าง นอกเหนือจากการเปลี่ยนระยะชัดลึก หรือช่วงโฟกัสที่ยอมรับได้เพียงอย่างเดียว
คอลัมน์: การเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของโทนสีผิวกับค่า f
f/1.4
f/2.8
f/5.6
f/8
ในภาพตัวอย่างนี้ ใช้เลนส์ EF50mm f/1.4 USM เพื่อถ่ายภาพโคลสอัพใบหน้าจากระยะใกล้ จับโฟกัสที่ดวงตาข้างซ้าย เมื่อใช้ค่า f ต่ำๆ จะสังเกตว่าดวงตาข้างซ้ายเท่านั้นที่อยู่ในโฟกัส ขณะที่ส่วนอื่นๆ ของใบหน้าจะกลายเป็นภาพเบลอ ลักษณะเช่นนี้จะช่วยสร้างความรู้สึกที่นุ่มนวลให้กับภาพทั้งภาพ เมื่อค่า f เพิ่มสูงขึ้น ระยะโฟกัสที่ยอมรับได้ก็จะมากขึ้นตาม และจะถ่ายทอดโทนสีผิวได้คมชัดขึ้น หากเราดูที่ภาพถ่ายทั้ง 4 ภาพนี้ เมื่อใช้ค่ารูรับแสง f/8 ทั่วทั้งใบหน้าจะออกมาชัดสดใส ขณะที่เส้นผมในระยะแบ็คกราวด์ยังคงความเบลอ ตัวอย่างกรณีของภาพถ่ายทิวทัศน์ทั่วไปและภาพสแนปช็อต หลายภาพอาจปรากฏภาพที่ทั้งภาพออกมาคมชัดที่ค่า f/8 อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพที่ถ่ายจากระยะใกล้ เช่น ภาพพอร์ตเทรต ระยะโฟกัสที่ยอมรับได้จะแคบมาก แม้ว่าจะตั้งค่า f ไว้สูงก็ตาม แม้ว่าคุณอาจรู้สึกอยากถ่ายภาพด้วยค่ารูรับแสงกว้างสุดเมื่อใช้เลนส์เดี่ยวที่มีค่า f ต่ำ แต่แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นได้มากคือ ภาพที่ออกมาไม่มีจุดโฟกัสเลย ดังนั้น สำหรับภาพพอร์ตเทรตที่ถ่ายจากระยะใกล้ ให้เลือกค่า f ที่เหมาะสม พร้อมกับระลึกไว้เสมอว่า เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่สวยเพียงพอเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะลดขนาดรูรับแสงลง
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ และเนื่องจากรับถ่ายภาพให้กับนิตยสารชื่อดัง เขาจึงได้เดินทางจากที่อยู่ประจำ คือ ญี่ปุ่นและจีน ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก