ถ่ายภาพพอร์ตเทรตยามค่ำคืนให้สวยงามโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้องและแฟลช
EOS 5D Mark II/ EF35mm f/2 IS USM/ Aperture-priority AE (f/2.0, 1/30 วินาที, EV -0.7)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
อุปกรณ์: ใช้เลนส์ไวแสง
เลนส์ไวแสงหรือที่เรียกกันว่า "เลนส์ที่ให้ความสว่าง" หมายถึง เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ เช่น EF35mm f/2 IS USM ที่ผมใช้ถ่ายภาพด้านบน แสงสว่างจากร้านค้าเป็นแหล่งกำเนิดแสงเดียวที่ผมมีก็จริง แต่รูรับแสงกว้างสุดที่สว่างช่วยให้แสงเข้าสู่เลนส์ได้มากขึ้นและเข้าไปยังเซนเซอร์โดยไม่ต้องลดความเร็วชัตเตอร์มากเกินไป (ในกรณีนี้ใช้ 1/30 วินาที) ภาพถ่ายที่ออกมาจึงไม่เกิดปัญหากล้องสั่นและตัวแบบเบลอ
เลนส์ไวแสงสูงสุดมักเป็นเลนส์เดี่ยว ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากเลนส์มาพร้อมระบบ IS (ระบบป้องกันภาพสั่นไหวในเลนส์ของ Canon) เพราะคุณจะต้องอาศัยตัวช่วยทุกอย่างเท่าที่จะหาได้เพื่อให้ภาพออกมานิ่ง
ฟังก์ชัน IS ใน EF35mm f/2 IS USM สามารถลดปัญหากล้องสั่นได้เทียบเท่าความเร็วชัตเตอร์ประมาณสี่สต็อป นอกเหนือจากความสว่างและระบบป้องกันภาพสั่นไหวแล้ว เลนส์เดี่ยวมุมกว้างแบบที่ผมใช้อยู่นี้ไม่เพียงสามารถเก็บบริบทของฉากได้เท่านั้น แต่ยังมักมีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบาอีกด้วย จึงเหมาะสำหรับการถ่ายภาพสตรีทแม้ในยามค่ำคืน
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับเลนส์ EF35mm f/2 IS USM
4 ขั้นตอนในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตยามค่ำคืนแบบถือกล้องด้วยมือให้คมชัด
ขั้นตอนที่ 1: หมุนวงแหวนเลือกโหมดไปที่โหมด Av กำหนดค่า f ให้ต่ำที่สุด
หากคุณไม่มีเป้าหมายที่เจาะจงในการถ่ายภาพ (เช่น การวาดภาพด้วยแสง) ควรถ่ายภาพในโหมด Aperture-priority AE (Av) และใช้รูรับแสงกว้างสุด เพราะการใช้รูรับแสงที่แคบลงจะลดความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลง (เพิ่มเวลาการรับแสงนานขึ้น) จึงมีโอกาสมากขึ้นที่จะเกิดภาพเบลอ ทั้งนี้ สำหรับเทคนิคที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ส่วนใหญ่ (เช่น เส้นแสง) คุณจะต้องใช้ขาตั้งกล้องเข้าช่วย
ขั้นตอนที่ 2: เพิ่มความไวแสง ISO
เพิ่มความไวแสง ISO ตามความสว่างของสถานที่ถ่ายภาพ จนกว่าคุณจะได้ความเร็วชัตเตอร์ที่เพียงพอต่อการถือกล้องถ่ายภาพ โดยหลักการทั่วไป หากคุณกำลังใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 35 มม. ความเร็วชัตเตอร์ควรอยู่ที่ประมาณ 1/30 วินาที
หากคุณใช้ ISO อัตโนมัติ ความไวแสง ISO ที่กล้องเลือกใช้อาจสูงเกินไป ส่งผลให้ภาพเกิดเม็ดเกรน หากคุณต้องการได้คุณภาพดีไร้ที่ติ ขอแนะนำให้ตั้งค่าความไวแสง ISO ด้วยตนเองจะดีกว่า
เคล็ดลับ: ตั้งค่าความไวแสง ISO อัตโนมัติสูงสุด
เพื่อให้มั่นใจว่าความไวแสง ISO ไม่สูงเกินไปในโหมด ISO อัตโนมัติไม่ว่าสถานที่ถ่ายภาพจะมืดแค่ไหนก็ตาม ควรตั้งค่าความไวแสง ISO อัตโนมัติให้สูงที่สุด เนื่องจากจะช่วยให้คุณสามารถควบคุมคุณภาพของภาพถ่ายได้มากขึ้น
ขั้นตอนที่ 3: หาแหล่งกำเนิดแสง
แม้จะถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย คุณยังคงต้องมีแหล่งกำเนิดแสง ผมจัดให้นางแบบยืนพิงขอบประตูร้านค้า และใช้แสงที่มาจากด้านในร้านเป็นแหล่งกำเนิดแสงหลัก
เคล็ดลับ: ในการถ่ายทอดบรรยากาศรอบๆ ไม่ควรแก้ไขอุณหภูมิสีมากจนเกินไป
แสงสว่างคือแสงไฟจากตะเกียงซึ่งมีโทนสีอบอุ่น การใช้สมดุลแสงขาวอัตโนมัติช่วยให้ผมเก็บโทนสีเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องปรับแต่งสีเพิ่มเติม
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมดุลแสงขาวได้ที่นี่:
พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #6: สมดุลแสงขาว
ขั้นตอนที่ 4: ควรระวังเรื่องเงาที่เด่นชัด หัวใจสำคัญคือจุดที่นางแบบหันหน้าไป
ในตอนกลางคืน ความเปรียบต่างของแสงและเงาจะเด่นชัดขึ้น จึงควรใส่ใจเรื่องมุมการให้เแสงเป็นพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงเงาที่เด่นชัด หากแสงส่องมาจากด้านข้างเช่นในภาพนี้ ผมมักจะเริ่มโดยให้นางแบบหันหน้าไปทางแหล่งกำเนิดแสง หากเงาเด่นชัดจนเกินไป ให้ปรับมุมศีรษะและตำแหน่งของนางแบบให้สอดคล้องกัน
คุณอาจสนใจอ่านบทความนี้:
3 เทคนิคน่ารู้จากนางแบบมืออาชีพ
ไอเดียสำหรับการถ่ายภาพกลางคืนแบบถือกล้องถ่าย: การเล่นกับแสงและเงา
มีสิ่งอื่นๆ อีกมากมายที่คุณสามารถถ่ายในตอนกลางคืนได้โดยใช้เทคนิคข้างต้น ขอให้คอยมองหาฉากสตรีทหรือบรรยากาศในยามค่ำคืนที่น่าสนใจ สิ่งที่คุณไม่สามารถถ่ายได้ในเวลากลางวัน อาทิ ป้ายไฟนีออนหรือไฟประดับตกแต่ง เป็นตัวแบบที่ยอดเยี่ยมสำหรับถ่ายภาพกลางคืนได้เช่นกัน
อ่านเคล็ดลับและบทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพยามค่ำคืนเพิ่มเติมได้ที่:
จุดโฟกัส: การถ่ายภาพยามค่ำคืน (ฉบับภาษาอังกฤษ)
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ นอกจากถ่ายภาพสำหรับงานโฆษณาและนิตยสารทั้งในและนอกญี่ปุ่นแล้ว เขายังทำหน้าที่เป็นนักรีวิวให้กับ "Digital Camera Magazine" นับตั้งแต่นิตยสารเปิดตัว ตลอดจนตีพิมพ์ผลงานต่างๆ มากมาย ในส่วนของการรีวิวผลิตภัณฑ์และเลนส์ Takahashi เน้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพที่ดึงประสิทธิภาพการทำงานของเลนส์ออกมาผ่านมุมมองและการทดสอบเฉพาะตัวของเขาเอง ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย