พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #6: สมดุลแสงขาว
สมดุลแสงขาว คือ คุณสมบัติที่ช่วยให้มั่นใจว่าสีขาวในภาพถ่ายจะได้รับการถ่ายทอดอย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะถ่ายภาพภายใต้สภาพแสงแบบใดก็ตาม ในการถ่ายภาพขั้นพื้นฐานมากๆ เรามักเลือกใช้การตั้งค่าสมดุลแสงขาวอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี การตั้งค่านี้ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ หากต้องการตั้งค่าสมดุลแสงขาวให้เหมาะสมกับแหล่งกำเนิดแสงมากที่สุด ควรเลือกการตั้งค่าสมดุลแสงขาวล่วงหน้าจากกล้องของคุณ (เรื่องโดย Tomoko Suzuki)
สมดุลแสงขาวช่วยให้มั่นใจว่าภาพของคุณจะมีโทนสีที่เหมาะสมสำหรับการจัดแสง
สิ่งที่พึงจดจำ
- ฟังก์ชั่นดั้งเดิมของสมดุลแสงขาวช่วยให้โทนสีขาวในภาพของคุณดูขาวมากยิ่งขึ้น
- คุณยังสามารถใช้ฟังก์ชั่นนี้เพื่อเพิ่มความเพี้ยนของสีในภาพได้
ภาพวัตถุสีขาวที่คุณถ่ายอาจมีปัญหาสีเพี้ยน เช่น มีโทนสีแดงหรือสีฟ้าเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดแสงด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เนื่องจากสมองของเราจะแก้ไขปัญหาความเพี้ยนของสีโดยอัตโนมัติ เพื่อที่วัตถุสีขาวจะยังคงเป็นสีขาวอยู่ไม่ว่าจะอยู่ในแหล่งกำเนิดแสงใด อย่างไรก็ดี กล้องถ่ายภาพไม่มีความสามารถเช่นนั้น หน้าที่นี้จึงตกเป็นของฟังก์ชั่นสมดุลแสงขาว (WB) ที่จะทำให้วัตถุสีขาวในภาพได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นสีขาวจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ในแหล่งกำเนิดแสงใด
โดยมากแล้ว หากคุณต้องถ่ายภาพโดยมีการตั้งค่าสมดุลแสงขาวไปที่โหมด "อัตโนมัติ" ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า สมดุลแสงขาวอัตโนมัติ (AWB) โทนสีต่างๆ ในภาพจะค่อนข้างใกล้เคียงกับโทนสีที่คุณมองเห็นด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ดี สำหรับฉากบางฉาก "อัตโนมัติ" จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม จึงทำให้สีที่ได้ดูแตกต่างจากสีที่คุณมองเห็น เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ ให้เลือกการตั้งค่าสมดุลแสงขาวจากค่าต่างๆ ที่ตั้งไว้ล่วงหน้า โดยคุณสามารถเลือกจากตัวเลือกต่างๆ ได้แก่ "แสงแดด" "แสงในร่ม" "เมฆครึ้ม" "หลอดไฟทังสเตน" "แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว" และอื่นๆ ได้
และคุณยังสามารถใช้ฟังก์ชั่น WB เพื่อจงใจเพิ่มความเพี้ยนของสีในภาพได้อีกด้วย ลองใช้งานด้วยตัวเอง: ก่อนอื่น ให้ถ่ายภาพโดยตั้งค่าล่วงหน้าไว้ที่ "แสงแดด" เปรียบเทียบกับภาพที่ถ่ายด้วย "แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว" หรือ "หลอดไฟทังสเตน" ตรวจดูว่าภาพมีโทนสีออกไปทางสีฟ้ามากกว่าภาพที่ถ่ายด้วยตัวเลือก "แสงแดด" หรือไม่ จากนั้น ทดลองใช้ตัวเลือก "เมฆครึ้ม" และ "แสงในร่ม" คุณจะได้ภาพที่มีโทนสีที่อบอุ่นขึ้น
ข้อควรทราบเกี่ยวกับเอฟเฟ็กต์ - คุณสามารถใช้เอฟเฟ็กต์เหล่านี้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อภาพถ่ายที่ได้
ความแตกต่างระหว่างค่าที่ตั้งไว้ล่วงหน้าสำหรับสมดุลแสงขาว
อัตโนมัติ
แสงแดด
แสงในร่ม
เมฆครึ้ม
หลอดไฟทังสเตน
แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว
ภาพตัวอย่างทั้งหมดถ่ายด้วย: EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/6400 วินาที, EV+1)/ ISO 100
ภาพเหล่านี้ถ่ายที่กลางแจ้งในวันที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง เมื่อเปรียบเทียบกับภาพที่ถ่ายโดยตั้งค่าล่วงหน้าไว้ที่ "แสงแดด" บ้านสีขาวหลังนี้จะดูอบอุ่นขึ้นในภาพตัวอย่างที่ถ่ายโดยใช้ "แสงในร่ม" และ "เมฆครึ้ม" และดูเย็นขึ้นในภาพตัวอย่างที่ถ่ายโดยใช้ "หลอดไฟทังสเตน" และ "แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว" ในสถานการณ์ปกติ เราขอแนะนำให้ใช้ "อัตโนมัติ" เมื่อถ่ายภาพกลางแจ้ง เนื่องจากภาพที่ได้จะดูเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
เชื่อมโยงคำสำคัญเหล่านี้กับแนวคิดเกี่ยวกับ "สมดุลแสงขาว"
คำสำคัญที่ 1: สมดุลแสงขาวอัตโนมัติ (AWB)
อัตโนมัติ
แสงแดด
ภาพตัวอย่างทั้งหมดถ่ายด้วย: EOS 5D Mark II/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 70 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/250 วินาที, EV-1)/ ISO 100
ท้องฟ้าในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกจะมีโทนสีแดง หากเราถ่ายภาพท้องฟ้าเหล่านั้นโดยตั้งค่าสมดุลแสงขาวไปที่ "อัตโนมัติ" ฟังก์ชั่นจะพยายามแก้ไขก้อนเมฆต่างๆ ที่มีความเพี้ยนสีแดงจนกระทั่งกลายเป็นสีขาว และจะเป็นการลดโทนสีแดงของท้องฟ้าลง แต่หากคุณต้องการเน้นโทนสีแดงแทน ให้ลองตั้งค่าล่วงหน้าต่อไปนี้เพื่อเพิ่มระดับของเอฟเฟ็กต์: อัตโนมัติ→แสงแดด→เมฆครึ้ม→แสงในร่ม
อัตโนมัติ
เมฆครึ้ม
ภาพตัวอย่างทั้งหมดถ่ายด้วย: EOS 80D/ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM/ FL: 135 มม. (เทียบเท่า 216 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/200 วินาที, EV+1.7)/ ISO 200
หากคุณต้องการถ่ายภาพแสงสว่างจากหลอดไฟทังสเตนโดยใช้ AWB แสงจะดูเป็นสีขาวในภาพ แม้ว่าจริงๆ แล้วโทนสีในภาพจะดูอบอุ่นขึ้นก็ตาม หากต้องการถ่ายทอดสีขาวได้อย่างสมจริงมากขึ้น ให้เลือกการตั้งค่าล่วงหน้าแบบ "หลอดไฟทังสเตน" หากต้องการโทนสีที่ดูอบอุ่นยิ่งขึ้น ให้เลือกระหว่าง "แสงในร่ม" หรือ "เมฆครึ้ม" การตั้งค่าเหล่านี้จะสร้างโทนสีแดงให้กับภาพถ่ายโดยรวม ทั่วทั้งภาพจึงให้ความรู้สึกที่อบอุ่น
คำสำคัญที่ 2: ฟังก์ชั่นการแก้ไขสมดุลแสงขาว
หากเราต้องการโทนสีที่ถูกต้องแม่นยำ ค่าที่ตั้งไว้ล่วงหน้าสำหรับสมดุลแสงขาวจะสามารถปรับโทนสีได้ตามแกนสีแดง/สีน้ำเงินได้เท่านั้น หากต้องการปรับตามแกนสีม่วงแดง/สีเขียว ควรใช้ฟังก์ชั่นการแก้ไขสมดุลแสงขาว ซึ่งจะเน้นโทนสีม่วง/สีเขียว เพื่อให้ตัวแบบดูน่าสนใจมากขึ้น
ในการตั้งค่าฟังก์ชั่นการแก้ไขสมดุลแสงขาว ก่อนอื่น ให้แก้ไขโทนสีของภาพทั้งภาพโดยเลือกค่าที่ตั้งไว้ล่วงหน้าสำหรับสมดุลแสงขาวอย่างใดอย่างหนึ่ง จากนั้น ในเมนูการแก้ไขสมดุลแสงขาว ให้ปรับค่าไปตามแกนสีม่วงแดง/สีเขียว หากคุณต้องการปรับค่าตามแกนสีน้ำเงิน/สีแดงก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งในที่สุดคุณก็จะได้ภาพที่มีโทนสีตามต้องการ
จากเมนู SHOOT ให้เลือก [ปรับเลื่อน/ถ่ายคร่อม] เพื่อให้หน้าจอแสดงขึ้นดังด้านบน เลื่อนเครื่องหมายสี่เหลี่ยมไปยังตำแหน่งที่ต้องการบนเส้นตาราง
ตัวอักษรบนเส้นตาราง [ปรับเลื่อน/ถ่ายคร่อม] แต่ละตัวจะแสดงสีแต่ละสี เลื่อนเครื่องหมายสี่เหลี่ยมไปในทิศทางของสีที่คุณต้องการจะเน้นเป็นพิเศษ
ตัวอย่างของการแก้ไขสมดุลแสงขาว
ปกติ
A:9
B:9
G:9
M:9
ภาพตัวอย่างทั้งหมดถ่ายด้วย: EOS 6D/ EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/3.5, 1/500 วินาที, EV+1)/ ISO 100
ในตัวอย่างด้านบน ผมเลื่อนเครื่องหมายสี่เหลี่ยมตามจำนวนหน่วยที่ระบุไว้ใต้ภาพสำหรับ A(สีแดง), B(สีน้ำเงิน), G(สีเขียว) และ M(สีม่วงแดง) ตามลำดับ เอฟเฟ็กต์ที่ได้จากการปรับแต่งจะดูคมชัดในผลภาพขั้นสุดท้าย
สำหรับเคล็ดลับและบทช่วยสอนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกค่าที่ตั้งไว้ล่วงหน้าสำหรับสมดุลแสงขาว โปรดดูที่:
หลักพื้นฐานเกี่ยวกับสมดุลแสงขาวช่วยสร้างโทนสีได้ดังใจนึก
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #11: ควรใช้การตั้งค่าสมดุลแสงขาว (WB) แบบใด อัตโนมัติหรือแสงแดด
สร้างโลกแห่งความสงบเยือกเย็นด้วยภาพเงาสะท้อนบนผิวน้ำและค่าสมดุลแสงขาว
สำหรับเคล็ดลับและบทช่วยสอนเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีใช้การแก้ไขสมดุลแสงขาว โปรดดูที่:
วิธีการแสดงสีด้วยฟังก์ชั่นการแก้ไขสมดุลแสงขาว
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดย ลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังเรียนจบจากวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวโพลีเทคนิคแล้ว Suzuki ก็เข้าทำงานกับบริษัทโปรดักชั่นโฆษณาแห่งหนึ่ง เธอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับช่างภาพหลายคน รวมถึง Kirito Yanase และมีความเชี่ยวชาญการถ่ายภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอางอีกด้วย ตอนนี้เธอทำงานเป็นช่างภาพสตูดิโอให้กับบริษัทผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง