พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #16: Aperture-priority AE
อยากสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่มีแบ็คกราวน์เบลอน่ารักๆ (เอฟเฟ็กต์โบเก้) หรืออาจอยากแน่ใจว่าทุกรายละเอียดในภาพยังคงอยู่ในโฟกัสใช่ไหม Aperture-priority AE เป็นโหมดที่ใช้งานสะดวกเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์ดังกล่าวนี้ เราจะลองมาศึกษารายละเอียดต่างๆ ของโหมดนี้กัน (เรื่องโดย Tomoko Suzuki)
โหมด Aperture-priority AE: ช่วยคุณปรับระดับของเอฟเฟ็กต์โบเก้
สิ่งที่ควรจดจำ
- คุณกำหนดค่า f และกล้องจะตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ที่สอดคล้องกัน
- ช่วงของค่า f ที่คุณสามารถตั้งค่าได้ขึ้นอยู่กับเลนส์ที่ใช้
Aperture-priority AE (โหมดระบุค่ารูรับแสง) เป็นโหมดการถ่ายภาพที่มีประโยชน์เมื่อคุณต้องการสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ในภาพถ่าย หรือเมื่อต้องการแน่ใจว่าทุกรายละเอียดในเฟรมภาพจะอยู่ในโฟกัส เนื่องจากเป็นโหมดที่ช่วยควบคุมการตั้งค่ารูรับแสง (ค่า f) อันเป็นหัวใจหลักในการปรับระดับความเบลอของแบ็คกราวด์ (เอฟเฟ็กต์โบเก้) และพื้นที่ของภาพที่อยู่ในระยะโฟกัส
ในโหมด Aperture-priority AE ช่างภาพจะตั้งค่า f ตามที่ตนเองเชื่อว่าเหมาะที่สุดสำหรับภาพที่ต้องการสร้างสรรค์ จากนั้นกล้องจะตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์โดยอัตโนมัติ เพื่อให้มีการเปิดรับแสงที่เหมาะสมสำหรับค่า f ที่ผู้ใช้กำหนด
ค่า f ที่ต่ำจะส่งผลให้รูรับแสงกว้างขึ้น พื้นที่ของภาพที่อยู่ในระยะโฟกัสจะเล็กลงเนื่องจากระยะชัดลึกตื้นขึ้น แต่นั่นหมายความว่าคุณจะสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่ด้านหน้าและ/หรือด้านหลังพื้นที่ที่อยู่ในระยะโฟกัสได้ ในทางตรงกันข้าม ค่า f ที่สูงจะส่งผลให้รูรับแสงแคบลง พื้นที่ของภาพที่อยู่ในระยะโฟกัสจะใหญ่ขึ้นเนื่องจากระยะชัดลึกมากขึ้น ทำให้คุณสามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่ทุกรายละเอียดในเฟรมอยู่ในโฟกัสได้ (หากต้องการทบทวนและดูตัวอย่าง โปรดดูที่ พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #1: รูรับแสง)
ค่า f ต่ำสุดและสูงสุดที่คุณสามารถตั้งได้นั้นขึ้นอยู่กับเลนส์ที่ใช้ แต่โดยทั่วไป เลนส์เดี่ยวมักช่วยให้ตั้งค่า f ได้ต่ำกว่าเลนส์ซูม
เมื่อใช้โหมด Aperture-priority อย่าลืมว่าหากคุณตั้งค่า f ไว้สูงเกินไป ความเร็วชัตเตอร์จะช้าลงและทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเกิดปัญหากล้องสั่น ในกรณีนี้ ควรใช้โหมด ISO อัตโนมัติเพื่อแก้ปัญหา
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโหมด ISO อัตโนมัติ และความไวแสง ISO:
พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #5: ความไวแสง ISO
วงแหวนเลือกโหมดในกล้องของคุณ
หากต้องการใช้โหมด Aperture-priority AE ให้หมุนวงแหวนเลือกโหมดไปที่ [Av]
หน้าจอ Quick Control
A: ความเร็วชัตเตอร์
B: การตั้งค่ารูรับแสง (ค่า f)
ช่างภาพตั้งค่ารูรับแสง กล้องตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์
หลังจากที่คุณตั้งค่า f แล้ว กล้องจะตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ ค่า f ต่ำจะให้เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่นุ่มนวลและสวยงามมากขึ้น ขณะที่ค่า f สูงๆ จะเพิ่มพื้นที่ของภาพที่ปรากฏในโฟกัส
ตัวอย่างการใช้งาน 1: สำหรับการสร้างสรรค์เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่นุ่มนวลในส่วนแบ็คกราวด์
EOS 5D Mark III / EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/40 วินาที, EV+0.7)/ ISO 125/ WB: อัตโนมัติ
การสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ทำให้ตัวแบบของคุณดูโดดเด่นจากทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่โดยรอบ เมื่อทำเช่นนี้ ให้ใช้ค่า f ที่ต่ำที่สุดเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์ที่นุ่มนวลมากที่สุด เคล็ดลับพิเศษ: หากต้องการสร้างเอฟเฟ็กต์ที่นุ่มนวลยิ่งขึ้น ให้ขยับเข้าไปใกล้ตัวแบบมากขึ้น เพื่อให้แบ็คกราวด์อยู่นอกโฟกัสมากขึ้น (คลิกที่นี่เพื่ออ่านเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับโบเก้)
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ:
การใช้เอฟเฟ็กต์การบีบมุมมองภาพและโบเก้ขนาดใหญ่ด้วยเลนส์เทเลโฟโต้
ตัวอย่างการใช้งาน 2: เมื่อคุณต้องการให้ทุกอย่างในภาพอยู่ในระยะโฟกัส
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/50 วินาที, EV-0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อองค์ประกอบที่อยู่ใกล้คุณที่สุดและไกลจากคุณที่สุดในเฟรมมีระยะห่างระหว่างกันมาก ให้ตั้งค่า f สูงเพื่อให้แน่ใจว่าองค์ประกอบทั้งหมดจะอยู่ในระยะโฟกัส โดยทั่วไปแล้ว ค่า f/8 จนถึง f/16 เป็นค่าที่เหมาะอย่างยิ่ง อีกทั้งช่วยให้คุณถ่ายภาพจากระยะที่ห่างจากตัวแบบพอสมควร
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่า f แต่ละค่าและฉากต่างๆ ที่นิยมใช้กันทั่วไป โปรดดูบทความต่อเนื่องเกี่ยวกับเทคนิคการใช้งานฟังก์ชัน Aperture-Priority:
#1: ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงของเลนส์และโบเก้
#2: สร้างโบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ให้กับภาพถ่ายครอบครัวที่แสนอบอุ่นและเป็นมิตร
#3: ความมหัศจรรย์ของ f/2.2 ในการถ่ายภาพหุ่นนิ่ง (Still-life)
#4: การถ่ายภาพใบหน้า (f/2.8)
#5: การตั้งค่ากล้องสำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตที่สมบูรณ์แบบนอกสถานที่ (f/4)
#6: การตั้งค่ารูรับแสงที่เป็นประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพสตรีท (f/5.6)
#7: การตั้งค่ารูรับแสงเพื่อถ่ายทอดภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนที่คมชัด (f/8)
#8: ค่ารูรับแสงที่เหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติให้ดูคมชัดและมีระยะชัดลึก (f/11)
#9: ถ่ายทอดภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนที่คมชัดตั้งแต่ส่วนโฟร์กราวน์จนถึงแบ็คกราวด์ (f/16)
หากต้องการความท้าทาย ต่อไปนี้คือเอฟเฟ็กต์เพิ่มเติมที่คุณสามารถสร้างสรรค์ได้ด้วยโหมด Aperture-priority AE:
คำแนะนำในการสร้างเอฟเฟ็กต์แฉกแสงด้วยดวงอาทิตย์
4 ขั้นตอนง่ายๆ ในการถ่ายภาพวงกลมโบเก้ที่หายาก
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังเรียนจบจากวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวโพลีเทคนิคแล้ว Suzuki ก็เข้าทำงานกับบริษัทโปรดักชั่นโฆษณาแห่งหนึ่ง เธอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับช่างภาพหลายคน รวมถึง Kirito Yanase และมีความเชี่ยวชาญการถ่ายภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอางอีกด้วย ตอนนี้เธอทำงานเป็นช่างภาพสตูดิโอให้กับบริษัทผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง