ช่างภาพผู้มีประสบการณ์ไม่เพียงเผยให้เห็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวผ่านความสามารถในการถ่ายทอดตัวแบบหรือจัดองค์ประกอบภาพที่ดีเท่านั้น แต่ยังสามารถแสดงสไตล์ส่วนตัวผ่านวิธีเลือกการแสดงสีได้อีกด้วย ซึ่งเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างหนึ่งก็คือฟังก์ชั่นการแก้ไขสมดุลแสงขาว ซึ่งใช้เพื่อปรับแก้ความเพี้ยนของสีให้เป็นสีขาวกลางๆ บทความนี้จะแสดงวิธีใช้งานฟังก์ชั่นดังกล่าวสำหรับการแสดงสี (บรรณาธิการโดย studio9)
อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างสมดุลแสงขาว (WB) และการแก้ไขสมดุลแสงขาว
เราจะมาสรุปเนื้อหาของ บทความก่อนหน้านี้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นสมดุลแสงขาว กันอีกครั้ง สมดุลแสงขาวเป็นการตั้งค่าที่ใช้เพื่อเปลี่ยนสมดุลสีในภาพถ่ายของคุณเพื่อให้ภาพดูอบอุ่นหรือเย็นขึ้น หากคุณใช้โหมด "เมฆครึ้ม, แสงยามเย็น, พระอาทิตย์ตกดิน" ภาพถ่ายของคุณจะมีโทนสีแดง และหากใช้โหมด "หลอดไฟทังสเตน" ภาพจะมีโทนสีน้ำเงิน การตั้งค่าพื้นฐานสำหรับสมดุลสีจะเป็นตามที่แสดงด้านล่างนี้
อย่างไรก็ดี การตั้งค่านี้จะส่งผลให้ภาพของคุณมีโทนสีน้ำเงินหรือสีแดงเท่านั้น
แล้วถ้าหากคุณต้องการทำให้ภาพถ่ายดูเป็นสีเขียวๆ เพื่อเน้นถึงความเขียวชอุ่มสดชื่นของต้นไม้ล่ะ หรือหลายครั้งคุณอาจต้องการสร้างสีที่อยู่ระหว่างโทนสีของโหมด "แสงแดด" และ "เมฆครึ้ม, แสงยามเย็น, พระอาทิตย์ตกดิน" โดยการทำให้สีเป็นโทนอบอุ่นหรือเยือกเย็นขึ้นล่ะ
เมื่อนั้นเองที่ฟังก์ชั่นการแก้ไขสมดุลแสงขาวจะเข้ามามีบทบาทที่ช่วยให้คุณสามารถสร้างโทนสีต่างๆ ที่ไม่ปรากฏในฉากจริงได้
วิธีการเข้าใช้งานฟังก์ชั่นการแก้ไขสมดุลแสงขาว
ไม่ว่าคุณจะกำลังใช้กล้อง DSLR หรือกล้องมิเรอร์เลสอยู่ คุณสามารถตั้งค่าฟังก์ชั่นสมดุลแสงขาวด้วยวิธีเดียวกันได้
กล้องของคุณควรมีตัวเลือก [ปรับ/คร่อมแสงขาว] อยู่ในเมนู
หากคุณเลือกตัวเลือก [ปรับ/คร่อมแสงขาว] หน้าจอดังเช่นภาพตัวอย่างด้านล่างจะปรากฏขึ้น
จากนั้น แกน G (สีเขียว), A (สีแดง), M (สีม่วงแดง), B (สีน้ำเงิน) จะแสดงขึ้น แกน B (สีน้ำเงิน) - A (สีแดง) ในแนวนอนใช้เพื่อปรับสมดุลแสงขาว เพื่อทำให้โทนสีอบอุ่นหรือเย็นขึ้น ขณะเดียวกัน แกน G (สีเขียว) - M (สีม่วงแดง) ในแนวตั้งใช้เพื่อทำให้ภาพดูเป็นสีเขียวหรือชมพู
3 ขั้นตอนในการแสดงสีในสไตล์ของคุณเอง
ถึงตอนนี้ คุณได้เข้าใจแล้วว่าการแก้ไขสมดุลแสงขาวคืออะไร ต่อไปผมจะแนะนำเคล็ดลับบางประการเกี่ยวกับการตั้งค่าที่ควรใช้ขณะถ่ายภาพจริง ซึ่งหากคุณทำตามขั้นตอนด้านล่าง คุณควรจะค้นพบสไตล์ในการแสดงสีในแบบของคุณเองได้อย่างง่ายดาย (ป.ล. การลองใช้แนวคิดต่อไปนี้กับกล้องของคุณเองอาจจะช่วยให้คุณเข้าใจได้ง่ายขึ้น)
ผมจะแนะนำขั้นตอนเหล่านี้โดยแสดงภาพถ่ายจริงเป็นตัวอย่างประกอบ (โปรดทราบว่าการแก้ไขตัวอย่างถูกจำลองขึ้นในไฟล์ RAW โดยใช้ Digital Photo Professional) ผมแก้ไขสมดุลแสงขาวในภาพให้ดูเกินจริงเล็กน้อยเพื่อให้เห็นความแตกต่างได้ชัดเจนขึ้น
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ f/5.6/ 1/1250 วินาที/ ISO 200
ผมถ่ายภาพนี้ด้วยโหมด "แสงแดด" (โดยไม่แก้ไขสมดุลแสงขาว)
ขั้นตอนที่ 1: กำหนดการตั้งค่าสมดุลแสงขาวพื้นฐาน
ผมต้องการให้ภาพดูชัดและคมเล็กน้อยจึงเปลี่ยนสมดุลแสงขาวเป็น "หลอดไฟทังสเตน" ดังนั้น ภาพจึงมีโทนสีที่เยือกเย็นขึ้น
เปลี่ยนสไตล์ของภาพไปโดยสิ้นเชิง ดังนั้น อย่าลืมกำหนดการปรับเปลี่ยนสมดุลแสงขาวพื้นฐานไว้ล่วงหน้า เนื่องจากค่าพื้นฐานดังกล่าวจะส่งผลต่อโทนสีอย่างชัดเจนที่สุด
ขั้นตอนที่ 2: ปรับการแก้ไขสมดุลแสงขาวไปตามแกน G (สีเขียว) - M (สีม่วงแดง)
ผมปรับแกน G (สีเขียว) ในการแก้ไขสมดุลแสงขาวเพิ่มเติม เพราะผมต้องการเน้นให้ดอกไม้มีสีเขียวมากขึ้นอีกเล็กน้อย ในตัวอย่างนี้ ผมเลื่อนเครื่องหมายสี่เหลี่ยมไปประมาณ 8 ช่องในแนว G บนตาราง
คุณจะเห็นว่าสีเขียวของก้านดอกไม้ดูเด่นขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ท้องฟ้ายังดูเป็นสีเขียวเล็กน้อย ภาพจึงมีบรรยากาศที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร
ขั้นตอนที่ 3: ปรับการแก้ไขสมดุลแสงขาวไปตามแกน B (สีน้ำเงิน) - A (สีแดง)
ขณะที่การปรับค่าไปตามแกน G - M จะเป็นการกำหนดสีอ่อนจางในภาพถ่ายโดยรวม แต่ควรใช้แกน B - A หากคุณต้องการปรับอุณหภูมิสีเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย
ในตัวอย่างนี้ ผมคิดว่าภาพถ่ายดูเย็นตาเกินไปเล็กน้อย ผมจึงเพิ่มความอบอุ่นเข้าไปในภาพนิดหน่อยโดยการเลื่อนเครื่องหมายสี่เหลี่ยมไปประมาณ 4 ช่องในแนว A (สีแดง)
ในจอภาพบางรุ่นความแตกต่างอาจไม่ปรากฏชัดเจนมากนัก แต่ภาพที่ออกมาจะมีลักษณะเหมือนในภาพนี้หลังจากที่คุณได้ปรับไปตามแนว B - A แล้ว
ซึ่งจะทำให้คุณได้โทนสีตามที่ตั้งใจไว้
เมื่อใช้การแก้ไขสมดุลแสงขาว สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการปรับไปตามแกน G (สีเขียว) - M (สีม่วงแดง) ในแนวตั้ง หากคุณเลื่อนเครื่องหมายสี่เหลี่ยมไปตามแกนประมาณ 3 - 4 ช่อง ความเปลี่ยนแปลงของโทนสีจะชัดเจนขึ้น หรือคุณอาจอยากทดลองใช้เคล็ดลับต่อไปนี้หลังจากคุ้นเคยกับการปรับค่าไปตามแกน B (สีน้ำเงิน) - A (สีแดง) แล้ว (หรือข้ามไปเลยหากคุณไม่จำเป็นต้องใช้)
4 เคล็ดลับสำหรับการแก้ไขสมดุลแสงขาว
เมื่อใช้ฟังก์ชั่นการแก้ไขสมดุลแสงขาว วิธีที่ดีที่สุดคือทดลองตั้งค่าหลายๆ แบบในขณะที่ถ่ายภาพ อย่างไรก็ดี ผมอยากจะแนะนำเคล็ดลับพื้นฐาน 4 ประการที่อาจช่วยได้
1. ในวันที่แดดจ้า ให้เพิ่มค่า G เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดขึ้นพร้อมโทนสีที่ดูผ่อนคลาย
ในภาพน้ำตกด้านล่างนี้ ผมสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ขึ้นที่โฟร์กราวด์ และเพิ่มค่า G เป็น +2 เพื่อให้ภาพโดยรวมมีโทนสีที่เป็นกลางและผ่อนคลายมากขึ้น
EOS 5D Mark II/ EF70-200mm f/4L IS USM/ f/8.0/ 1/5000 วินาที/ ISO 400
เมื่อถ่ายภาพในโหมด "แสงแดด" ผลภาพที่ได้จึงเป็นเช่นนี้
ผมใช้โหมด "แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว" ซึ่งดึงเอาสีที่งดงามของท้องฟ้าออกมาและทำให้ภาพดูโปร่งแสงมากขึ้น เพื่อช่วยขับเน้นความโปร่งแสงของน้ำ
นอกจากนี้ ผมยังลองเพิ่มค่า G (สีเขียว) ไปที่ประมาณ G+7 ซึ่งการทำเช่นนั้นช่วยให้ผมสามารถสร้างโทนสีที่ผ่อนคลายพร้อมสร้างบรรยากาศแนวเรโทรเพิ่มเติมได้ด้วย
2. ลองเพิ่มค่า M สำหรับถ่ายภาพต้นซากุระในวันที่เมฆครึ้ม
หากคุณถ่ายภาพต้นซากุระโดยใช้โหมด "แสงแดด" ในวันที่เมฆครึ้ม ภาพที่ได้จะเป็นเช่นนี้ เนื่องจากต้นซากุระมีโทนสีที่ค่อนข้างซีด ภาพจึงไม่ดูโดดเด่นแต่กลับกลมกลืนไปกับท้องฟ้า
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ f/8.0, 1/320 วินาที/ ISO 200
ต้นซากุระเป็นโทนสีขาวและดูทึมๆ ลองใช้โหมด "เมฆครึ้ม, แสงยามเย็น, พระอาทิตย์ตกดิน" เพื่อดึงเอาความอบอุ่นในภาพออกมา
หลังจากเปลี่ยนไปใช้โทนสีที่อุ่นขึ้นแล้ว สีของต้นซากุระจะโดดเด่นขึ้นเล็กน้อย
นอกจากนี้ ผมยังเพิ่มค่า M (สีม่วงแดง) ไปที่ M+5 สีของต้นซากุระที่ได้จึงเหมือนภาพที่ปรากฏเมื่อเห็นด้วยตาตนเอง
3. เพิ่มค่า M ในโหมด "หลอดไฟทังสเตน" เพื่อสร้างวิวทิวทัศน์ของเมืองยามค่ำคืนที่ดู "เก๋ไก๋" ทั้งตามที่เป็นจริงและโดยอุปมา
เมื่อถ่ายภาพวิวเมืองยามราตรี ผมขอแนะนำให้ใช้การแก้ไขสมดุลแสงขาวเพื่อสร้างโทนสีเย็นมากขึ้น หากคุณใช้โหมด "แสงแดด" ภาพถ่ายจะไม่ให้ความรู้สึกของความเป็นเมืองใหญ่
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ f/11/ 6 วินาที/ ISO 200
ผมปรับสมดุลแสงขาวไปที่โหมด "หลอดไฟทังสเตน" เพื่อสร้างบรรยากาศในภาพให้ดูเยือกเย็นขึ้น จึงสามารถสื่อถึงความเป็นเมืองใหญ่ได้อย่างน่าประทับใจทีเดียว
นอกจากนี้ ผมยังเพิ่มค่า M (สีม่วงแดง) ไปที่ M+10 เพื่อให้ภาพทิวทัศน์ของเมืองดูเย็นตาและสง่างามยิ่งขึ้น ท้องฟ้าจึงมีโทนสีม่วงเล็กน้อย ทำให้ภาพมีบรรยากาศขององค์ประกอบภาพที่ดูสง่างาม
4. การเพิ่มค่า G ช่วงดวงอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้าทำให้ภาพมีบรรยากาศแนวโรโทรในทันที
ช่วงเวลาที่น่าทึ่งมากที่สุดของวันคือช่วงเวลาก่อนพระอาทิตย์ตกดินในวันที่มีแสงแดดจ้า อย่างไรก็ดี หากต้องการถ่ายทอดบรรยากาศอันน่าทึ่งดังกล่าว โหมด "แสงแดด" อาจไม่ให้ผลภาพที่ดีมากนัก
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ f/5,6/ 1/1000 วินาที/ ISO 250
หากต้องการให้ภาพมีโทนสีที่อบอุ่นยิ่งขึ้น ให้ลองใช้โหมด "แสงในร่ม" แทน เพื่อดึงเอาบรรยากาศของภาพที่สวยงามออกมา
นอกจากนี้ ผมยังลองเพิ่มค่า G (สีเขียว) ไปที่ประมาณ G+6 ซึ่งจะช่วยเน้นความลึกของสีเพื่อให้ภาพสื่อถึงบรรยากาศแนวเรโทร! (ผมยังเพิ่มค่า A ขึ้นเล็กน้อยที่ประมาณ +4 อีกด้วย เนื่องจากภาพยังขาดโทนสีแดงไปพอสมควร เพื่อให้เกิดความสมดุลกับค่า G ที่เพิ่มขึ้น)
ผมได้แนะนำแนวทาง 4 ข้อที่คุณสามารถทำได้ในสามขั้นตอนไปแล้ว สำหรับทั้ง 4 แนวทางนี้ ทั้งหมดที่ผมทำคือเปลี่ยนสมดุลแสงขาวของภาพต้นฉบับโดยไม่ปรับเปลี่ยนค่าความสว่างหรือความเปรียบต่างใดๆ ซึ่งคุณจะเห็นว่าบรรยากาศของภาพจะเปลี่ยนไปเพียงแค่คุณเลือกการแสดงสีที่แตกต่างออกไปเท่านั้น
ตอนนี้ คุณสนใจที่จะใช้สมดุลแสงขาวและการแก้ไขสมดุลแสงขาวเพื่อทดลองเฟ้นหาการแสดงสีในแบบของคุณเองดูหรือไม่
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดย ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
เว็บไซต์ด้านการถ่ายภาพของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นเมื่อปี 2011 ด้วยสโลแกนว่า "ให้การถ่ายภาพใกล้ตัวคุณยิ่งขึ้น" เว็บไซต์นี้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับทุกคนที่ชอบการถ่ายภาพ นอกจากเนื้อหาบนเว็บไซต์แล้ว studio9 ยังมีการจัดสัมมนาและเวิร์กช็อปอีกด้วย