ฟังก์ชั่นของกล้องที่มีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนให้ดูแตกต่าง
คุณชอบถ่ายภาพเมืองในยามค่ำคืนแต่กำลังมองหาวิธีถ่ายภาพแนวใหม่ใช่หรือไม่ ต่อไปนี้คือฟังก์ชั่นกล้องสองแบบที่จะช่วยขยายขอบเขตการสร้างสรรค์ของคุณ นั่นคือ การถ่ายภาพซ้อนและการลดจุดรบกวนหลายภาพ ภาพตัวอย่างจาก EOS 6D Mark II (เรื่องโดย Yuta Nakamura)
เทคนิคข้อที่ 1: ใช้ฟังก์ชั่นการถ่ายภาพซ้อนเพื่อสร้างบรรยากาศที่น่ามหัศจรรย์ให้กับเมืองยามค่ำคืน
EOS 6D Mark II/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 121 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1 วินาที, EV-0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
สร้างแสงนอกโฟกัสซ้อนกันหลายชั้นด้วยคุณสมบัติการถ่ายภาพซ้อน
การถ่ายภาพเมืองยามค่ำคืนที่เต็มไปด้วยแสงสีและความมีชีวิตชีวาเป็นเรื่องน่าสนุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณมีกล้องที่มีเซนเซอร์ CMOS ฟูลเฟรม เช่น EOS 6D Mark II และ EOS 5D Mark IV EOS 6D Mark II ซึ่งใช้ถ่ายภาพในบทความนี้ให้การเกลี่ยสีอย่างดีเยี่ยม ทั้งยังมีความสามารถโดดเด่นในการถ่ายทอดรายละเอียดด้วยความละเอียด 26.2 ล้านพิกเซล จึงให้ภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนอันน่าตื่นตะลึง
อาศัยอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ความรู้แน่นในเรื่องพื้นฐานกล้อง ผนวกกับประสบการณ์ที่มี คุณก็สามารถถ่ายภาพสวยๆ ได้อย่างที่เคย แต่หากต้องการศึกษาวิธีการถ่ายภาพแบบอื่น ควรลองใช้การถ่ายภาพซ้อนเพื่อนำภาพหลายๆ ภาพมาซ้อนกันเป็นภาพเดียวดู การทำเช่นนี้ขณะถ่ายภาพยามค่ำคืนจะทำให้เกิดแสงที่ดูน่ามหัศจรรย์ได้
วิธีหนึ่งที่จะสร้างการถ่ายภาพซ้อนได้คือ ถ่ายภาพหลายๆ ภาพ จากนั้นใช้ซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพเพื่อผสานภาพทั้งหมดเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ดี กล้อง Canon บางรุ่นมีฟังก์ชั่นการถ่ายภาพซ้อนที่คุณสามารถใช้เพื่อรวมภาพเข้าด้วยกันภายในกล้อง* ที่คุณต้องทำมีเพียงแค่ระบุจำนวนภาพที่จะรวม จากนั้นกดปุ่มชัตเตอร์ในจำนวนครั้งที่เท่ากัน และคอยติดตามความคืบหน้าในการรวมภาพหลังจากถ่ายภาพแต่ละภาพไปแล้ว ผมขอแนะนำให้ใช้ขาตั้งกล้องในการถ่ายภาพเพื่อให้แน่ใจว่าภาพยังคงอยู่ในแนวเดียวกัน
*ได้แก่ EOS-1D X Mark II, EOS 5D Mark IV, EOS 5DS/5DS R, EOS 6D, EOS 6D Mark II, EOS 7D Mark II และ EOS 80D (ข้อมูลถูกต้อง ณ วันที่เผยแพร่บทความนี้)
การเปิดใช้งานฟังก์ชั่นการถ่ายภาพซ้อนจากเมนูการถ่ายภาพ
คุณสามารถตั้งค่าฟังก์ชั่นการถ่ายภาพซ้อนจากเมนูการถ่ายภาพได้ โดยจากการตั้งค่า ให้เลือก "เติมแต่ง" หากคุณต้องการซ้อนภาพที่ถ่ายจากหลายสถานที่ หากภาพที่นำมาซ้อนนั้นถ่ายจากสถานที่เดียวกัน ให้เลือก "เฉลี่ย"
เมื่อเลือก "เติมแต่ง" ภาพจะสว่างขึ้นเมื่อคุณเพิ่มจำนวนชั้นของภาพ ดังนั้นคุณจะต้องใช้การชดเชยแสงเป็นลบอย่างเหมาะสมในระหว่างการถ่ายภาพ ดูการตั้งค่าการชดเชยแสงที่แนะนำโดยพิจารณาจากจำนวนภาพถ่ายที่นำมาซ้อนด้านล่างนี้
ค่าการชดเชยแสงที่แนะนำสำหรับจำนวนภาพที่นำมาซ้อน:
ภาพซ้อน 2 ภาพ: -1 สต็อป
ภาพซ้อน 3 ภาพ: -1.5 สต็อป
ภาพซ้อน 4 ภาพ: -2 สต็อป
การปรับขนาดของโบเก้
หลังจากใช้กล้องจับโฟกัสเพื่อถ่ายภาพซ้อนภาพแรกอย่างเหมาะสมแล้ว ให้หมุนวงแหวนโฟกัสไปยังทางยาวโฟกัสที่สั้นที่สุดเพื่อให้แหล่งกำเนิดแสงอยู่นอกโฟกัสสำหรับภาพซ้อนภาพต่อไป หากวงกลมโบเก้มีขนาดใหญ่เกินไป ภาพจะดูยุ่งเหยิงมาก และหากมีขนาดเล็กเกินไป ภาพจะดูขาดเอฟเฟ็กต์ ดังนั้น ทางที่ดีจึงควรปรับตำแหน่งของวงแหวนโฟกัสเพื่อสร้างวงกลมโบเก้ที่มีขนาดพอเหมาะพอดี
วงกลมโบเก้ขนาดเล็ก
EOS 6D Mark II/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 106 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1.3 วินาที, EV-0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
วงกลมโบเก้ขนาดใหญ่
EOS 6D Mark II/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 106 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1.6 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ลองใช้วิธีนี้: การถ่ายภาพซ้อนเพื่อถ่ายเส้นแสงจากรถยนต์
หากคุณต้องการถ่ายภาพเส้นแสงจากพาหนะ ผมขอแนะนำให้ถ่ายภาพจากบนสะพานลอย อย่างไรก็ดี รถยนต์ที่วิ่งผ่านอาจไม่ได้มาในจังหวะเวลาที่เหมาะสมเสมอไป ดังนั้น คุณควรเพิ่มเส้นแสงในภาพถ่ายโดยใช้ฟังก์ชั่นการถ่ายภาพซ้อน นอกจากนี้ คุณยังอาจทำให้ภาพดูมีพลังมากขึ้นอีกได้โดยใช้การซ้อนเส้นแสงหลายๆ ชั้น และนำมาจัดเรียงให้ทั่วทั้งองค์ประกอบภาพ
EOS 6D Mark II/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 8 วินาที, EV-0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
EOS 6D Mark II/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 8 วินาที, EV-0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
EOS 6D Mark II/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 8 วินาที, EV-0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ผมลดขนาดรูรับแสงลงเหลือ f/11 เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์แพนโฟกัสและยืดเวลาการเปิดรับแสงให้นานขึ้นเพื่อขยายเส้นแสง ภาพด้านบนสุดใช้การนำภาพซ้อนสองภาพด้านบนมาเรียงซ้อนกัน สำหรับทั้งสองภาพ ผมตั้งตารอจนกระทั่งไฟจราจรบนถนนเปลี่ยนเป็นสีเขียว จากนั้นจึงลั่นชัตเตอร์ขณะที่รถออกวิ่งและเข้ามาในเฟรมภาพ
เทคนิคข้อที่ 2: ถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนที่สวยงามด้วยการลดจุดรบกวนถ่ายหลายภาพ
EOS 6D Mark II/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Shutter-priority AE (f/4.5, 1/20 วินาที, EV-0.3)/ ISO 3200/ WB: อัตโนมัติ
ลดจุดรบกวนด้วยการลดจุดรบกวนถ่ายหลายภาพ
เพื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนที่ไร้จุดรบกวนด้วยความไวแสง ISO ต่ำ คุณจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้อง อย่างไรก็ดี การพกพากล้องไปตลอดเวลาอาจเป็นเรื่องยาก บางครั้ง คุณจึงอาจต้องถ่ายภาพด้วยมือเช่นกัน แต่เมื่อคุณเพิ่มความไวแสง ISO เพื่อพยายามถ่ายภาพให้นิ่งพร้อมกับมีการสั่นไหวของกล้องน้อยที่สุด มักจะทำให้ภาพเกิดจุดรบกวน
ฟังก์ชั่นการลดจุดรบกวนถ่ายหลายภาพคือคุณสมบัติที่มีประโยชน์สำหรับสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากสามารถถ่ายภาพสี่ภาพอย่างต่อเนื่องโดยกดปุ่มชัตเตอร์เพียงครั้งเดียว และสร้างภาพถ่ายหนึ่งภาพที่มีจุดรบกวนต่ำโดยตรงจากกล้อง คุณจึงลั่นชัตเตอร์ได้อย่างมั่นใจแม้แต่ในฉากยามค่ำคืนที่ก่อนหน้านี้คุณอาจเปลี่ยนใจถ่ายภาพโดยใช้มือถือกล้อง
การใช้การลดจุดรบกวนถ่ายหลายภาพเพื่อลบท้องฟ้าที่ไม่สม่ำเสมอ
ภาพมีโอกาสเกิดจุดรบกวนที่ความไวแสง ISO สูง เมื่อคุณถือกล้องด้วยมือเพื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน ซึ่งจุดรบกวนดังกล่าวจะเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อถ่ายภาพตามปกติ อย่างไรก็ดี เอฟเฟ็กต์นี้จะลดลงเมื่อคุณเปิดใช้งานการลดจุดรบกวนจากความไวแสง ISO สูง และหากคุณใช้ตัวเลือกการลดจุดรบกวนถ่ายหลายภาพ จุดรบกวนจะยิ่งลดลงมากขึ้น ข้อแตกต่างนี้สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อคุณขยายภาพและเปรียบเทียบส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพ
ลดจุดรบกวนจากความไวแสง ISO สูง: ปิด
EOS 6D Mark II/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Shutter-priority AE (f/4.5, 1/20 วินาที, EV-0.3)/ ISO 3200/ WB: อัตโนมัติ
ลดจุดรบกวนจากความไวแสง ISO สูง: ปกติ
EOS 6D Mark II/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Shutter-priority AE (f/4.5, 1/20 วินาที, EV-0.3)/ ISO 3200/ WB: อัตโนมัติ
ลดจุดรบกวนถ่ายหลายภาพ
EOS 6D Mark II/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Shutter-priority AE (f/4.5, 1/20 วินาที, EV-0.3)/ ISO 3200/ WB: อัตโนมัติ
เคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพ: ภาพถ่ายจะดูธรรมดาหากไม่มีตัวแบบในส่วนโฟร์กราวด์
เมื่อคุณเพิ่มความลึกให้กับภาพถ่ายที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ไพศาลอยู่แล้ว ภาพจะดึงดูดให้คุณเกิดความรู้สึกร่วมในฉากนั้นๆ ในการทำให้ภาพดูลึกขึ้น วิธีง่ายๆ คือวางตัวแบบไว้ในส่วนโฟร์กราวด์เพื่อสร้างจุดเด่น ในภาพด้านล่าง ภาพที่ได้ดูธรรมดาเนื่องจากไม่มีองค์ประกอบภาพทางด้านขวา
EOS 6D Mark II/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Shutter-priority AE (f/4, 1/20 วินาที, EV-0.3) /ISO 3200/ WB: อัตโนมัติ
สำหรับเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพยามค่ำคืน โปรดอ่านบทความต่อไปนี้:
หนึ่งสถานที่กับภาพสองแบบ: ภาพยามค่ำคืนแนวแอ็บสแตรกต์ - ความสงบเยือกเย็น กับ ความมีชีวิตชีวา
การถ่ายภาพยามค่ำคืน: การปรับค่าความเปรียบต่างเพื่อสร้างภาพที่งดงามและให้ความรู้สึกเหนือจริง
การถ่ายภาพสถาปัตยกรรม #4: การถ่ายภาพอาคารยามค่ำคืน
จุดโฟกัส: การถ่ายภาพยามค่ำคืน(ฉบับภาษาอังกฤษ)
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่จังหวัดคานากาวะเมื่อปี 1988 เขาทำงานเป็นช่างภาพทิวทัศน์กลางคืนนับตั้งแต่ปี 2010 ไม่เพียงแค่การถ่ายภาพสถานที่ต่างๆ ในเวลากลางคืนเฉพาะในกรุงโตเกียวเท่านั้น แต่ถ่ายทั่วทั้งญี่ปุ่น และเขายังเปิดเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลสำหรับจุดถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืนชื่อว่า "Nightscape FAN"