รีวิวเบื้องต้นของกล้อง EOS 6D Mark II (พร้อมภาพตัวอย่าง)
กล้อง EOS 6D ซึ่งเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน ปี 2012 ได้ช่วยให้การถ่ายภาพฟูลเฟรมเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับฐานผู้ใช้งานที่กว้างขึ้น และได้รับความไว้วางใจมาโดยตลอด หลังจากระยะเวลากว่าสี่ปี ขณะนี้ EOS 6D ได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ในรูปแบบของกล้อง EOS 6D Mark II แล้วกล้องรุ่นนี้มีประสิทธิภาพเหนือกล้องรุ่นก่อนอย่างไร เราจะมาดูกัน โดยใช้ภาพทิวทัศน์และภาพแนวสตรีทที่ถ่ายโดยช่างภาพมืออาชีพสองท่าน (ภาพโดย Ryo Ohwada, Jiro Tateno; เรื่องโดย: Ryo Ohwada)
จำนวนพิกเซลสูงกว่าที่ 26.2 ล้านพิกเซล
เป็นไปได้ว่ามีผู้ใช้จำนวนไม่น้อยที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอย (“ในที่สุด!”) การเปิดตัวกล้อง EOS 6D Mark II จาก Canon เห็นได้ว่า EOS 6D เป็นกล้องที่ได้รับความนิยมในฐานะกล้อง DSLR แบบฟูลเฟรมระดับเริ่มต้นในราคาที่เป็นเจ้าของได้นับตั้งแต่เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2012 คำถามที่ทุกคนอยากได้ยินคำตอบคงเป็น กล้องรุ่นถัดมาอย่าง EOS 6D Mark II จะให้ภาพแบบใด
ข้อแรก EOS 6D Mark II มีจำนวนพิกเซลที่เพิ่มขึ้นจากกล้องรุ่นก่อนเป็น 26.2 ล้านพิกเซล กลไกของระบบประมวลผลภาพได้พัฒนามาเป็น DIGIC 7 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดของ Canon นอกจากนั้น ช่วงความไวแสง ISO ปกติยังสูงถึง ISO 40000 อีกด้วย ผู้ใช้หลายคนจะพบว่าภาพที่ใช้ความไวแสง ISO 40000 ซึ่งถ่ายโดย EOS 6D Mark II นั้นเหมาะสมกับการใช้งานอยู่แล้ว แม้ว่าจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งานด้วยก็ตาม
EOS 6D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS II USM/ FL: 46 มม. / Aperture-priority AE (f/11, 25 วินาที, EV +0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Ryo Ohwada
ภาพนี้ถ่ายในเวลากลางคืน คุณจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนผ่านจากส่วนที่เป็นเงามายังพื้นที่สว่าง และการเปลี่ยนแปลงโทนสีเพียงเล็กน้อยนั้นได้รับการถ่ายทอดทุกรายละเอียด โฟร์กราวด์โดดเด่นออกมาจากแบ็คกราวด์ ทำให้รู้สึกถึงความลึกและความมีมิติของภาพ
บทความที่เกี่ยวข้อง: การถ่ายภาพสถาปัตยกรรม #4: การถ่ายภาพอาคารยามค่ำคืน
ประสิทธิภาพ AF ที่ดียิ่งขึ้น
ประสิทธิภาพของ AF ในการถ่ายภาพนิ่งยังได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดด้วย จำนวนจุด AF ได้เพิ่มเป็น 45 จุด โดยเพิ่มขึ้นมา 11 จุดจากกล้อง EOS 6D และ AF ตรวจจับสียังได้พัฒนาความสามารถในการตรวจจับใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถ่ายภาพกลางแจ้ง ช่องมองภาพอัจฉริยะ II ทำให้ผู้ใช้มองเห็นจุด AF และระดับความเอียงอิเล็กทรอนิกส์ และการตั้งค่าอื่นๆ แม้ในขณะจัดองค์ประกอบภาพ ระบบ AF ที่ทำงานขณะถ่ายแบบ Live View คือ Dual Pixel CMOS AF ซึ่งทำให้โฟกัสได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำสูงด้วย AF ตรวจจับแบบ Phase Different ตามระนาบภาพ
EOS 6D Mark II/ EF100mm f/2.8L Macro IS USM/ FL: 100 มม./ Shutter-priority AE (f/2.8, 1/4,000 วินาที, EV-0.7)/ ISO 8000/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Ryo Ohwada
ภาพนี้ถ่ายโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/4,000 วินาทีซึ่งเป็นความเร็วสูงสุดของกล้องในการจับภาพหยดน้ำฝนที่หล่นลงมากระทบใบไม้ รูปร่างและรูปทรงต่างๆ ซึ่งปกติแล้วมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ได้รับการถ่ายทอดออกมาให้เห็นรายละเอียดได้ชัดเจน
หน้าจอ LCD แบบปรับหมุนได้เพื่อความยืดหยุ่นในการถ่ายภาพจากหลากหลายมุม
การพัฒนาอีกอย่างหนึ่งคือการใช้หน้าจอ LCD แบบปรับหมุนได้เป็นหน้าจอจริง ทำให้ผู้ใช้สามารถจัดองค์ประกอบภาพได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น แม้จะถ่ายจากมุมที่ไม่คุ้นเคยซึ่งปกติแล้วถ่ายได้ยากหรือไม่สามารถถ่ายได้
และความเร็วในการถ่ายต่อเนื่องยังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึง 6.5 fps เทียบกับรุ่นก่อนที่สูงสุดเพียง 4.5 fps
คุณสมบัติที่ปรับปรุงใหม่บางอย่างของกล้อง EOS 6D Mark II นั้นเทียบเท่ากล้องในรุ่นไฮเอนด์ ยกตัวอย่างเช่น หน้าจอ LCD แบบปรับหมุนได้หลายองศาระบบสัมผัสและบอดี้ที่มีน้ำหนักเบา ซึ่งให้อิสระในการเคลื่อนไหวและความสามารถรอบด้านที่เหนือกว่า กล้องฟูลเฟรมใน ‘ราคาที่เป็นเจ้าของได้’ รุ่นใหม่นี้ จะเป็นกล้องที่ได้รับความนิยมยาวนานอย่างแน่นอน
เลนส์ที่ควรลองใช้กับกล้อง EOS 6D Mark II
ต่อไปนี้คือเลนส์สองตัวที่สามารถเข้าคู่กันได้ดีกับกล้อง EOS 6D Mark II
EF24-70mm f/4L IS USM
EF24-70mm f/4L IS USM เป็นเลนส์ที่สมบูรณ์แบบสำหรับกล้องขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบา โดยเฉพาะการถ่ายภาพแนวสตรีท ครอบคลุมมุมรับภาพตั้งแต่ระยะมุมกว้างไปจนเทเลโฟโต้ระยะกลาง เหมาะสำหรับถ่ายตัวแบบได้แทบทุกประเภท จึงเป็นเลนส์อเนกประสงค์ที่ยอดเยี่ยม โหมดถ่ายภาพแบบมาโครช่วยให้คุณถ่ายภาพแมลงและวัตถุขนาดเล็กอื่นๆ ที่พบขณะถ่ายภาพ
EOS 6D Mark II/ EF24-70mm f/4L IS USM/ FL: 39 มม./ Manual exposure (f/11, 1/80 วินาที)/ ISO 320/ WB: กลางวัน
ภาพโดย Jiro Tateno
ภาพนี้ถูกถ่ายในเวลากลางวันในขณะที่ตำแหน่งของพระอาทิตย์บนท้องฟ้าทำให้เกิดความเปรียบต่างของความสว่างที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ช่วงไดนามิกเรนจ์กว้างของกล้องจะทำให้คุณมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดส่วนที่สว่างหรือมืดเกินไปในท้องทะเลที่ส่องประกายระยิบระยับหรือเงาของใบเตยทะเล
EF35mm f/1.4L II USM
ด้วยกำลังในการแยกรายละเอียดสูงและรูรับแสงที่สว่าง เลนส์เดี่ยวรุ่นนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการถ่ายภาพของคุณให้มากยิ่งขึ้น สิ่งที่คุณต้องการมีเพียงแค่เลนส์นี้และเลนส์ซูมมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพ IS และอุปกรณ์อื่นๆ คุณก็จะสามารถรับมือกับตัวแบบได้แทบทุกประเภท
รีวิวภาพถ่าย – EF35mm f/1.4L II USM
EOS 6D Mark II/ EF35mm f/1.4L II USM/ FL: 35 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 25 วินาที, EV+0.7)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Ryo Ohwada
โปรดสังเกตการเปลี่ยนแปลงของโทนสีอย่างเป็นธรรมชาติจากจุดที่มีแสงสว่างจ้าเนื่องจากความเข้มของแสงมายังส่วนที่สว่างที่สุด สีสันดูมีความลุ่มลึกและเข้มข้น และเห็นส่วนที่เป็นสีเขียวได้ชัดเจน
โปรดติดตามบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ EOS 6D Mark II ได้ในสัปดาห์ต่อๆ ไป!
คุณอาจสนใจ:
บทสัมภาษณ์ทีมนักพัฒนากล้อง EOS 6D: ตอนที่ 1, ตอนที่ 2
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่กรุงโตเกียวในปี 1975 ตั้งแต่ราวปี 1990 เขาสัมผัสธรรมชาติผ่านทางการตกปลา และเริ่มถ่ายภาพ เขาเดินทางถ่ายภาพไปทั่วประเทศในหัวข้อ "ความงดงามของธรรมชาติ” ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ปัจจุบัน เขาเป็นผู้จัดส่งภาพถ่ายเพื่อเผยแพร่ในนิตยสาร หนังสือ โปสเตอร์ ปฏิทิน และอื่นๆ อีกมากมาย เขาจัดงานนิทรรศการภาพถ่าย "Okinawa" ขึ้นในปี 2010 และจัดนิทรรศการภาพถ่าย "Northern Lights - Journey of Light/ Iceland" ในปี 2017
เกิดที่จังหวัดมิยะงิในปี 1978 จบการศึกษาจาก Graduate School of Arts แห่งมหาวิทยาลัย Tokyo Polytechnic ในปี 2005 ผลงานของเขาได้รับเลือกให้จัดแสดงในนิทรรศการ “reGeneration.50 Photographers of Tomorrow” ที่พิพิธภัณฑ์ Musée de l'Élysée ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผลงานอื่นๆ ของเขายังได้จัดแสดงทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น เช่น ในแกลเลอรี่ LUMAS ประเทศเยอรมนี Ohwada ได้แสดงผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง โดยเผยแพร่ผลงานในนิตยสารและสื่อโฆษณาอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งจัดนิทรรศการแบบเดี่ยวและกลุ่มเป็นประจำ และเขายังเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัย Tokyo Polytechnic อีกด้วย