มีอะไรใหม่ใน EOS 6D Mark II: 13 คุณสมบัติสำคัญ (ตอนที่ 1)
EOS 6D Mark II ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ล่าสุดแตกต่างจาก EOS 6D อย่างไร ในตอนที่ 1 ของบทความ 2 ตอนต่อเนื่องนี้ เราจะมาดูการปรับปรุงสำคัญ 7 จาก 14 จุด เริ่มจากคุณสมบัติที่ด้านหน้าของกล้อง ซึ่งประกอบไปด้วยเซนเซอร์ CMOS และระบบประมวลภาพ DIGIC (ภาพโดย Ryo Ohwada และ Jiro Tateno เรื่องโดย Ryo Ohwada)
#1: เซนเซอร์ CMOS 26.2 ล้านพิกเซลที่พัฒนาขึ้นใหม่
ดูเหมือน Canon ได้บรรจุเทคโนโลยีใหม่ๆ ไว้ในเซนเซอร์ CMOS ความละเอียด 26.2 ล้านพิกเซลที่พัฒนาขึ้นใหม่ กล้อง EOS 6D Mark II จึงมีช่วงไดนามิกเรนจ์ที่กว้างกว่ารุ่นก่อนหน้า เมื่อซูมเข้าไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพที่ถ่ายด้วยกล้องรุ่นนี้ จะเห็นได้ชัดว่าสามารถถ่ายทอดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างแม่นยำ
ในภาพด้านล่างนี้ ช่างภาพลดค่าความคมชัดลงในการตั้งค่าเริ่มต้น รูปแบบภาพ (มาตรฐาน) เนื่องจากความชอบส่วนตัว แต่ภาพก็ยังคงมีความคมชัดเป็นธรรมชาติ เนื่องจากเซนเซอร์มีจำนวนพิกเซลสูง
EOS 6D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS II USM/ FL: 70 มม./ Aperture-priority AE (f/8.0, 1/250 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Ryo Ohwada
#2: เก็บรายละเอียดได้มากกว่าด้วยความไวแสง ISO สูงและ DIGIC 7
หากต้องการขยายภาพสำหรับงานพิมพ์ขนาด A3 การใช้ความไวแสง ISO สูงถึง 6400 น่าจะทำให้ได้ภาพที่คมชัดและเป็นธรรมชาติ พร้อมแสดงรายละเอียดพอประมาณ และมีจุดรบกวนในระดับที่ยอมรับได้ และสำหรับงานพิมพ์ขนาดเดียวกัน แม้ว่าจะขึ้นอยู่กับฉาก แต่ความไวแสง ISO 12800 ขึ้นไปอาจทำให้มองไม่เห็นจุดรบกวนและความละเอียดภาพที่ลดลงบริเวณเส้นขอบ อย่างไรก็ตาม หากต้องการถ่ายภาพเพื่อใช้งานในบล็อกหรือโซเชียลมีเดีย คุณภาพของภาพคงไม่เป็นปัญหา แม้ว่าคุณจะถ่ายด้วย ISO 40000 ซึ่งเป็นความไวแสง ISO สูงสุดตามปกติ
EOS 6D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS II USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/2 วินาที, EV-1.0)/ ISO 3200/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Ryo Ohwada
#3: ถ่ายภาพต่อเนื่องได้สูงสุด 6.5 fps
ระบบขับเคลื่อนกระจกของกล้อง EOS 6D Mark II ได้รับการยกเครื่องใหม่ ซึ่งสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็วสูงสุดถึง 6.5 fps แม้จะถ่ายด้วยความละเอียด 26.2 ล้านพิกเซล ส่วนโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องแบบเงียบที่ลดเสียงรบกวนจากกลไกการทำงานของกล้อง ยังสามารถใช้งานได้ด้วยความเร็วสูงสุด 3 fps
#4: การแก้ไขความคลาดของเลนส์ รวมถึงการแก้ไขการเลี้ยวเบน
EOS 6D Mark II มีคุณสมบัติการแก้ไขความคลาดของเลนส์เหมือนกับ EOS 5D Mark IV เช่นกัน จึงสามารถแก้ไขความคลาด ความบิดเบี้ยว และการเลี้ยวเบนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟังก์ชั่นแก้ไขการเลี้ยวเบนสามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพของภาพที่ด้อยลงจากการเลี้ยวเบน โดยเฉพาะเมื่อรูรับแสงมีขนาดเล็ก เช่น f/16
เมื่อตรวจสอบคุณภาพของภาพถ่ายที่มีการแก้ไขการเลี้ยวเบนแล้ว (เช่นตัวอย่างภาพด้านล่าง) จะสังเกตได้ว่า ขอบของวัตถุที่เบลอเพราะการเลี้ยวเบนนั้นดูคมชัดหลังการแก้ไข การแก้ไขเช่นนี้จะมีประโยชน์มากเมื่อคุณโฟกัสแบบชัดลึกหรือใช้เทคนิคอื่นที่ต้องใช้รูรับแสงขนาดเล็กมาก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟังก์ชั่นแก้ไขความคลาดของเลนส์ได้จากบทความต่อไปนี้:
EOS 5D Mark IV: การแก้ไขความคลาดของเลนส์ - วิเคราะห์เจาะลึก (ตอนที่ 1)
EOS 5D Mark IV: การแก้ไขความคลาดเคลื่อนของเลนส์ - วิเคราะห์เจาะลึก (ตอนที่ 2)
EOS 6D Mark II/ EF16-35mm f/2.8L III USM/ FL: 35 มม./ Aperture-priority AE (f/22, 1/40 วินาที, EV+0.3)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Ryo Ohwada
แก้ไขการเลี้ยวเบน - เปิด
แก้ไขการเลี้ยวเบน - ปิด
EOS 6D Mark II/ EF16-35mm f/2.8L III USM/ FL: 18 มม./ Manual exposure (f/16, 1/2 วินาที)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Jiro Tateno
ถ่ายภาพด้วยโฟกัสแบบชัดลึก จุดโฟกัสอยู่ที่กึ่งกลางภาพ ซึ่งอยู่บนทะเล โดยตั้งค่ารูรับแสงไว้ที่ f/16 เพื่อให้สามารถถ่ายวัตถุทุกชิ้นในภาพได้อย่างคมชัด ไม่ว่าจะเป็นกรวดกลมเม็ดใหญ่ในส่วนโฟร์กราวด์ไปจนถึงผาหินด้านหลัง ความคลาดหรือการบิดเบี้ยวไม่ปรากฏให้เห็นเนื่องจากตั้งค่าโหมดแก้ไขความคลาดของเลนส์ไว้ที่ ‘เปิด’ นอกจากนี้ยังใช้ฟิลเตอร์ตัดแสง (ND) แบบ Graduated แบบ 2 สต็อป เนื่องจากในฉากมีความเปรียบต่างของความสว่างมาก
#5: โครงสร้างกันฝุ่นและกันหยดน้ำเพื่อความทนทานในสภาพแวดล้อมที่สมบุกสมบัน
ในภาพทางขวา จะเห็นว่าส่วนต่างๆ ที่มีซีลป้องกันละอองน้ำและฝุ่นนั้นมีสีแดง ซึ่งรวมถึงช่องใส่แบตเตอรี่และฝาปิดช่องใส่การ์ดด้วย ส่วนโครงสร้างที่เป็นสีเขียวได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อป้องกันฝุ่นและสิ่งสกปรก ทั้งหมดนี้ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า คุณจะสามารถถ่ายภาพใกล้สถานที่ต่างๆ เช่น น้ำตกหรือบริเวณที่มีฝุ่นละออง ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องกังวลว่ากล้องจะได้รับความเสียหาย คุณสมบัติป้องกันฝุ่นและหยดน้ำในกล้องรุ่นนี้เทียบเท่ากับ EOS 6D เลยทีเดียว
#6: กริปจับถนัดมือ
บริเวณส่วนหน้าของตัวกล้องที่นิ้วมือของคุณจะสัมผัสเมื่อถือกล้องนั้น มีความกว้างกว่าเดิม เพื่อให้จับได้ง่ายและกระชับมือยิ่งขึ้น จึงเพิ่มความสะดวกสบายในการจับกล้อง แม้ว่าจะติดเลนส์ที่มีน้ำหนักมากกว่าปกติ เช่น เลนส์เทเลโฟโต้ หรือเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง
#7: ผังช่องต่อรีโมทคอนโทรลที่ดียิ่งขึ้น
ในกล้องรุ่นก่อนหน้า ช่องต่อรีโมทคอนโทรลจะอยู่ทางด้านข้างของตัวกล้อง ทำให้ยากที่จะหาพบเมื่อถ่ายภาพในที่มืด เช่น การถ่ายภาพดาราศาสตร์และการถ่ายภาพยามค่ำคืน แต่ใน EOS 6D Mark II มีการย้ายช่องต่อรีโมทคอนโทรลมาอยู่ด้านหน้าเพื่อให้สะดวกต่อการเข้าถึง นับเป็นการปรับปรุงที่เรียบง่าย แต่ช่วยให้ง่ายต่อการใช้งานขึ้นมาก
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่กรุงโตเกียวในปี 1975 ตั้งแต่ราวปี 1990 เขาสัมผัสธรรมชาติผ่านทางการตกปลา และเริ่มถ่ายภาพ เขาเดินทางถ่ายภาพไปทั่วประเทศในหัวข้อ "ความงดงามของธรรมชาติ” ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ปัจจุบัน เขาเป็นผู้จัดส่งภาพถ่ายเพื่อเผยแพร่ในนิตยสาร หนังสือ โปสเตอร์ ปฏิทิน และอื่นๆ อีกมากมาย เขาจัดงานนิทรรศการภาพถ่าย "Okinawa" ขึ้นในปี 2010 และจัดนิทรรศการภาพถ่าย "Northern Lights - Journey of Light/ Iceland" ในปี 2017
เกิดที่จังหวัดมิยะงิในปี 1978 จบการศึกษาจาก Graduate School of Arts แห่งมหาวิทยาลัย Tokyo Polytechnic ในปี 2005 ผลงานของเขาได้รับเลือกให้จัดแสดงในนิทรรศการ “reGeneration.50 Photographers of Tomorrow” ที่พิพิธภัณฑ์ Musée de l'Élysée ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผลงานอื่นๆ ของเขายังได้จัดแสดงทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น เช่น ในแกลเลอรี่ LUMAS ประเทศเยอรมนี Ohwada ได้แสดงผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง โดยเผยแพร่ผลงานในนิตยสารและสื่อโฆษณาอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งจัดนิทรรศการแบบเดี่ยวและกลุ่มเป็นประจำ และเขายังเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัย Tokyo Polytechnic อีกด้วย