หนึ่งสถานที่กับภาพสองแบบ: ภาพยามค่ำคืนแนวแอ็บสแตรกต์ - ความสงบเยือกเย็น กับ ความมีชีวิตชีวา
ภาพทิวทัศน์ในเมืองมักถูกเลือกให้เป็นตัวแบบในการถ่ายภาพยามค่ำคืนอยู่บ่อยๆ แต่นั่นก็หมายความว่าคุณจะเพิ่มความหลากหลายให้กับภาพถ่ายได้ยากด้วยเช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้น คุณยังสามารถผลิตภาพถ่ายที่ให้อารมณ์แตกต่างไปอย่างมากได้โดยการปรับเปลี่ยนเทคนิคที่ใช้ถ่ายภาพในขณะที่ยังคงใช้เลนส์และสถานที่ถ่ายภาพเดิม ในบทความนี้ ผมจะขอแนะนำเทคนิคสองประการ เทคนิคแรกจะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาดูสงบเยือกเย็นและสวยงาม ในขณะที่เทคนิคที่สองช่วยเติมเต็มพลังและความมีชีวิตชีวาให้กับภาพถ่ายของคุณ (เรื่องโดย: Kazuo Nakahara)
ถ่ายทอดความสงบเยือกเย็น: สร้างบรรยากาศอันเงียบสงบชวนฝันด้วยการปรับเปลี่ยนภาพทิวทัศน์กลางคืนให้ดาษดื่นไปด้วยวงกลมโบเก้
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 10 วินาที, EV-0.7)/ ISO 400/ WB: หลอดไฟทังสเตน
ในภาพด้านบน ผมตั้งโฟกัสไว้ที่รั้วลวดเหล็กที่อยู่ตรงหน้า และลองเบลอภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนซึ่งเป็นตัวแบบหลัก เมื่อถ่ายภาพตัวแบบสองตัวที่อยู่ห่างจากกัน สิ่งสำคัญคือการคำนึงถึงความสมดุลระหว่างตัวแบบทั้งสอง โดยวิธีหนึ่งที่จะช่วยได้คือการปรับทางยาวโฟกัสของเลนส์
การใช้ทางยาวโฟกัสฝั่งเทเลโฟโต้ที่มากขึ้นจะช่วยสร้าง เอฟเฟ็กต์การบีบภาพที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งทำให้แบ็คกราวด์ดูมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับรั้วลวดเหล็ก หากไม่ปรับทางยาวโฟกัส คุณอาจไม่ได้ภาพที่มีความสมดุลเหมาะสมตามต้องการจากการปรับระยะห่างระหว่างกล้องและรั้วเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ ยังอาจมองไม่เห็นตัวแบบหลักหากภาพออกมาเบลอจนเกินไป ดังนั้น จึงขอแนะนำให้คุณพิจารณาเลือกใช้ค่ารูรับแสงที่เหมาะสมซึ่งให้ปริมาณเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เพียงพอ เนื่องจากค่ารูรับแสงที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างกล้องกับรั้วลวดเล็ก จึงควรปรับค่ารูัรับแสงหลังจากที่คุณกำหนดองค์ประกอบภาพเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจึงค่อยตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้เพื่อกำหนดค่า f ที่จะใช้ต่อไป
จุดที่ 1: ตั้งโฟกัสไว้ที่รั้วลวดเหล็ก
ใช้ประโยชน์จากการโฟกัสแบบแมนนวล (MF) เนื่องจากโฟกัสอาจอยู่ที่แบ็คกราวด์หากมีการใช้ AF ในภาพนี้ สภาพโดยรอบมืดและไม่สามารถมองเห็นรั้วลวดเหล็กได้ชัดเจนผ่านช่องมองภาพ ดังนั้น ผมจึงใช้ฟังก์ชั่น Live View ในการโฟกัส และโปรดสังเกตว่าคุณจะไม่สามารถโฟกัสได้หากคุณขยับเข้าใกล้รั้วมากจนเกินไป
จุดที่ 2: ถ่ายภาพชิงช้าสวรรค์ให้อยู่ในเฟรมเดียวกับรั้ว
ผมปรับขนาดของรั้วและชิงช้าสวรรค์โดยเปลี่ยนทางยาวโฟกัสรวมทั้งระยะห่างระหว่างกล้องกับรั้ว เพื่อให้สามารถเก็บภาพชิงช้าสวรรค์ไว้ในเฟรมเดียวกันกับรั้วลวดเหล็กได้ ในภาพนี้ผมเลือกใช้ทางยาวโฟกัสที่ 105 มม. เพื่อทำให้แบ็คกราวด์ดูใกล้กับกล้องมากขึ้น
จุดที่ 3: ระวังขนาดของเอฟเฟ็กต์โบเก้
สิ่งสำคัญคือไม่ควรลดค่า f มากจนเกินไป เนื่องจากอาจทำให้วัตถุที่อยู่ในแบ็คกราวด์อยู่นอกโฟกัสมากจนแทบมองไม่ออกว่าคืออะไร ควรปรับค่ารูรับแสงขณะถ่ายภาพเพื่อให้ได้ปริมาณเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เหมาะสม ดังเช่นในภาพตัวอย่างนี้ เอฟเฟ็กต์จะดูสมบูรณ์แบบมากสุดที่ค่า f/8 อีกทั้งยังสามารถมองเห็นวัตถุที่ส่วนแบ็คกราวด์ได้อย่างชัดเจน
f/11
f/4
ความรู้สึกมีชีวิตชีวา: ขยับเลนส์ของคุณเพื่อทำให้ภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนเต็มไปด้วยความตื่นเต้น
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 2 วินาที, EV-0.3)/ ISO 50/ WB: หลอดไฟทังสเตน
เทคนิคที่สองคือ การเพิ่มความสนุกสนานและพลังให้กับภาพถ่ายยามค่ำคืนด้วยการผสานการใช้เทคนิคระเบิดซูม (หรือที่เรียกกันว่าการเบลอซูม) และเทคนิคการเบลอโฟกัสเข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้ตัวแบบดูราวกับกำลังดื่มด่ำกับชีวิต แต่เนื่องจากจริงๆ แล้วตัวแบบอยู่นิ่งกับที่ ดังนั้นเทคนิคนี้จะได้ภาพตามที่ต้องการก็ต่อเมื่อพลิกแพลงการใช้งานกล้องแทนเท่านั้น
ระเบิดซูมเป็นวิธีที่ใช้สร้างเส้นแสงโดยการซูมเลนส์ในระหว่างที่เปิดชัตเตอร์ ซึ่งคุณสามารถใช้วิธีนี้เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ที่มีพลังได้ราวกับว่าตัวแบบกำลังเคลื่อนไหวเข้าหากล้อง
ขณะเดียวกันการเบลอโฟกัสเป็นวิธีที่ค่อยๆ เบลอโฟกัสโดยการหมุนวงแหวนปรับโฟกัสขณะเปิดรับแสง ซึ่งสามารถใช้สำหรับถ่าย ภาพดอกไม้ไฟในเชิงศิลป์ ได้อีกด้วย
แม้ว่าเทคนิคการระเบิดซูมและการเบลอโฟกัสทำให้คุณต้องใช้ทั้งสองมือเพื่อควบคุมวงแหวนซูมและวงแหวนโฟกัสไปพร้อมกัน แต่ขาตั้งกล้องก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในการลั่นชัตเตอร์ คุณอาจใช้ตัวตั้งเวลา 2 วินาทีได้
สำหรับวิธีที่ชาญฉลาดในการตั้งค่ากล้องนั้น ผมขอแนะนำให้ใช้ค่า f ที่น้อยลงเพื่อให้เห็นเอฟเฟ็กต์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่คุณอาจไม่มีเวลาปรับวงแหวนซูมและวงแหวนโฟกัสเท่าใดนักหากว่าความเร็วชัตเตอร์สูงเกินไป ซึ่งในกรณีเช่นนี้คุณสามารถลดความไวแสง ISO เพื่อรักษาความเร็วชัตเตอร์ให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ นอกจากนี้ คุณอาจลองพิจารณาเลือกใช้ฟิลเตอร์ ND ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฉากด้วยเช่นกัน
จุดที่ 1: การจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลางมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับเอฟเฟ็กต์ระเบิดซูม
เมื่อใช้เอฟเฟ็กต์ระเบิดซูม เส้นแสงจะมาบรรจบกันที่บริเวณกึ่งกลางภาพเสมอ ดังนั้น การนำการจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลางที่วางตัวแบบไว้ที่ศูนย์กลางภาพมาใช้จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังเช่นในตัวอย่างนี้ ชิงช้าสวรรค์ซึ่งเป็นตัวแบบหลักถูกจัดวางไว้ตรงกลางภาพ
จุดที่ 2: ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ไปที่ 2 วินาที
ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 2 ถึง 3 วินาทีเพื่อเผื่อเวลาสำหรับการควบคุมวงแหวนซูมและวงแหวนโฟกัส และเนื่องจากผมได้เลือกค่า f น้อยๆ เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่มีขนาดใหญ่ไว้แล้ว อันดับต่อไปผมจึงลดความไวแสง ISO เหลือ ISO 50 เพื่อที่จะกำหนดความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ 2 วินาที
จุดที่ 3: ควบคุมทั้งการซูมและการโฟกัสไปในเวลาเดียวกัน
เพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์ตามที่แสดงไว้ในตัวอย่างด้านบน ให้จับโฟกัสไปที่ตัวแบบ แล้วลั่นชัตเตอร์ จากนั้น ใช้มือข้างหนึ่งหมุนวงแหวนซูมไปที่ฝั่งเทเลโฟโต้พร้อมกับใช้มืออีกข้างหนึ่งหมุนวงแหวนโฟกัสไปทางกล้อง นอกจากนี้ คุณยังสามารถหมุนวงแหวนทั้งสองไปในทิศทางตรงกันข้ามเพื่อปรับเปลี่ยนเอฟเฟ็กต์ได้อีกด้วย
เอฟเฟ็กต์ระเบิดซูมและการเบลอโฟกัส
ตัวอย่างต่อไปนี้คือภาพที่ได้จากการใช้เอฟเฟ็กต์ระเบิดซูมและการเบลอโฟกัสแยกกัน ซึ่งเมื่อใช้เอฟเฟ็กต์ทั้งสองร่วมกัน คุณจะได้เอฟเฟ็กต์ดังที่แสดงไว้ในตัวอย่างด้านบน
การระเบิดซูม
การเบลอโฟกัส
Kazuo Nakahara
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation