อาคารที่มีแสงไฟสว่างไสวยามค่ำคืนเป็นตัวแบบที่มีเสน่ห์อย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพ ในตอนสุดท้ายของบทความต่อเนื่องชุดนี้ เราจะมาดูวิธีการถ่ายภาพอาคารในช่วงกลางคืนกัน (ภาพโดย: Takeshi Akaogi, บรรณาธิการโดย: Etica)
EOS 6D / EF24-70mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/40 วินาที)/ ISO 10000/ WB: อัตโนมัติ
สถานที่: สถานีรถไฟโตเกียว (ทางออกมารุโนะอุชิ) กรุงโตเกียว
พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน
ในบทนี้้เราจะมาดูพื้นฐานที่จำเป็นในการถ่ายภาพอาคารยามค่ำคืน ซึ่งครอบคลุมถึง แนวคิดพื้นฐานในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม, การใช้ทางยาวโฟกัสมุมกว้าง/เทเลโฟโต้ และ เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพที่มีประสิทธิภาพ ในบทก่อนหน้านี้ด้วยเช่นกัน
มีสองสามข้อที่คุณต้องทราบในการถ่ายภาพยามค่ำคืน:
- ความเร็วชัตเตอร์จะต่ำลงเมื่อคุณถ่ายภาพในที่มืด ซึ่งทำให้ภาพได้รับผลกระทบจากปัญหากล้องสั่น
ในที่มืด ความเร็วชัตเตอร์จะลดลงเนื่องจากไม่มีแสงสว่างเพียงพอ ดังนั้น จึงอาจเกิดปัญหากล้องสั่นได้ง่าย ในการจัดการกับปัญหานี้ ให้เพิ่มความไวแสง ISO เพื่อให้คุณสามารถถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงได้แม้ในสภาพแสงน้อย และช่วยให้คุณถือกล้องได้นิ่ง มีจุดสำคัญสองประการในการถ่ายภาพตอนกลางคืน
- การเพิ่มความไวแสง ISO มีแนวโน้มทำให้ภาพมีจุดรบกวนเพิ่มขึ้น
หากคุณต้องการเพิ่มคุณภาพของภาพถ่ายให้สูงขึ้น คุณจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องหรือหาวิธีอื่นในการตั้งกล้องให้มั่นคง หากคุณใช้ขาตั้งกล้อง ปัญหากล้องสั่นยังคงเกิดขึ้นได้เนื่องจากการกดปุ่มชัตเตอร์ ดังนั้น ขณะถ่ายภาพผมขอแนะนำให้คุณตั้งเวลาถ่ายภาพไว้ที่ 2 วินาที
- กล้องของคุณอาจชดเชยแสงจากแหล่งกำเนิดแสงที่สว่างจ้าอย่างเช่น ไฟถนนและไฟประดับตกแต่ง มากจนเกินไป ส่งผลให้ภาพดูมืด
เมื่อถ่ายภาพแหล่งกำเนิดแสงต่างๆ เช่น ไฟถนนและไฟประดับตกแต่ง แสงสว่างดังกล่าวอาจทำให้ตัววัดปริมาณแสงของกล้องเข้าใจว่าฉากดังกล่าวสว่างจ้ากว่าความเป็นจริงอยู่มาก ดังนั้น กล้องจะชดเชยแสงสว่างมากจนเกินไปจนทำให้ภาพของคุณออกมาดูมืด แม้ว่ากรณีนี้จะขึ้นอยู่กับความเข้มของแสงจากแหล่งกำเนิดแสงและการกระจายแสงในเฟรมภาพก็ตาม แต่หากคุณรู้สึกว่าภาพของคุณดูมืดเกินไป ลองใช้การชดเชยแสงเป็นบวกแล้วถ่ายภาพใหม่อีกครั้ง วิธีนี้จะทำให้แสงไฟระยิบระยับในภาพถ่ายของคุณดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
ในภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน แสงสว่างจะช่วยดึงดูดสายตาของมนุษย์ จึงควรนำข้อดีนี้มาใช้ในการจัดองค์ประกอบภาพถ่ายของคุณ
ในภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน วัตถุที่ส่องสว่างอย่างเช่น แสงไฟตามท้องถนน จะดึงดูดสายตาของเราได้ง่าย ดังนั้น การคิดถึงวิธีจัดเรียงวัตถุดังกล่าวในขณะจัดองค์ประกอบภาพจึงเป็นความคิดที่ดี ในภาพตัวอย่าง ผมวางไฟถนนไว้ตามขอบด้านซ้ายและด้านขวาของภาพให้เส้นแสงมาบรรจบกันที่บริเวณกึ่งกลางภาพ เพื่อช่วยให้เกิดมิติความตื้นลึก
วิธีตั้งค่าความไวแสง ISO
ปุ่ม "ISO" → ใช้การสั่งการด้วยระบบสัมผัสหรือหมุนวงแหวนเพื่อเปลี่ยนค่า *แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรุ่นของกล้อง
ได้ภาพที่สวยงามตรึงใจโดยไม่ต้องเพิ่มความไวแสง ISO
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/4L IS USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/50 วินาที)/ ISO 12800/ WB: อัตโนมัติ
สถานที่: สถานีรถไฟโตเกียว (ทางออกมารุโนะอุชิ) กรุงโตเกียว
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/4L IS USM/ FL: 59 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1.3 วินาที)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
สถานที่: สถานีรถไฟโตเกียว (ทางออกมารุโนะอุชิ) กรุงโตเกียว
ดูภาพถ่าย 2 ภาพด้านบน สังเกตไหมว่าภาพที่ถ่ายด้วยค่า ISO 12800 มีจุดรบกวนมากกว่าเล็กน้อย
ยิ่งความไวแสง ISO สูงขึ้นเท่าไหร่ ภาพก็ยิ่งมีจุดรบกวนมากขึ้นเท่านั้น กล้องรุ่นใหม่ๆ มีความสามารถในการลดจุดรบกวนอันเนื่องมาจากการใช้ความไวแสง ISO สูงที่ดียิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดจุดรบกวนให้หมดไปโดยสิ้นเชิงได้ ด้วยเหตุนี้ ช่างภาพส่วนใหญ่จึงหาโอกาสถ่ายภาพด้วยความไวแสง ISO ที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนที่จะเกิดจุดรบกวนด้วยการปรับการตั้งค่ากล้อง เช่น ค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์
การตั้งค่าความไวแสง ISO ให้ต่ำลงจะส่งผลให้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถถ่ายภาพได้อย่างคมชัดโดยมีจุดรบกวนน้อยที่สุด หากคุณติดตั้งกล้องไว้บนขาตั้งกล้องแบบสามขาหรือขาตั้ง ภาพของคุณจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหากล้องสั่นแม้จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำก็ตาม
ใช้การเปิดรับแสงนานเพื่อถ่ายเส้นแสงให้เกิดเป็นเอฟเฟ็กต์ที่น่ามหัศจรรย์
การตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ให้มีความเร็วที่ต่ำมากๆ ประมาณหลายสิบวินาที เรียกว่า "การเปิดรับแสงเป็นเวลานาน" เมื่อเซนเซอร์เปิดรับแสงเป็นเวลานาน ขณะลั่นชัตเตอร์เราจะสามารถบันทึกภาพรถที่วิ่งผ่านไปเป็นเส้นแสง และเกิดเป็นเอฟเฟ็กต์ที่สวยสดงดงามได้ แต่ในการใช้การเปิดรับแสงนานนั้น สิ่งสำคัญคือต้องอย่าลืมตั้งกล้องไว้บนขาตั้งด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหากล้องสั่น
อ่านเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพเส้นแสงได้ที่:
[ตอนที่ 1] เทคนิคการใช้เส้นแสงมาตรฐาน
หรือดูบทความต่อไปนี้เพื่ออ่านไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #10: ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะกับการถ่ายภาพยามค่ำคืนที่สุดคือเท่าใด?
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/4L IS USM/ FL: 35 มม./ Aperture-priority AE (f/20, 30 วินาที)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
สถานที่: พิพิธภัณฑ์มิตซูบิชิ อิจิโงคัง (Mitsubishi Ichigokan Museum) เขตมารุโนะอุชิ กรุงโตเกียว
ใช้สมดุลแสงขาวเพื่อเปลี่ยนโทนสีของภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน
ความสมดุลของโทนสีมีผลต่ออารมณ์ภาพอย่างมาก สีสันที่อบอุ่นจะสื่อถึงความรู้สึกอันอบอุ่น ขณะที่โทนสีเย็นจะให้ความรู้สึกสงบเยือกเย็น แต่เดิมเราใช้ฟังก์ชันสมดุลแสงขาวในกล้องเพื่อแสดงสีสันของตัวแบบได้อย่างสมจริงโดยไม่คำนึงถึงแหล่งกำเนิดแสง อย่างไรก็ดี ฟังก์ชันนี้ยังใช้ถ่ายภาพให้มีโทนสีออกไปทางน้ำเงินได้อีกด้วยหากคุณตั้งอุณหภูมิสีให้มีค่าน้อยๆ (หลอดไฟทังสเตน ฯลฯ) หรือโทนสีแดงหากตั้งค่าสูงๆ (เมฆครึ้ม ในที่ร่ม ฯลฯ) การใช้การตั้งค่าสมดุลแสงขาวเพื่อเปลี่ยนโทนสีในภาพจึงสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ที่น่าสนใจได้ และยังเป็นเทคนิคที่สามารถใช้ได้กับฉากทุกประเภท ดังนั้น จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะการถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืนเท่านั้น
หากคุณยังเป็นมือใหม่ในการใช้สมดุลแสงขาว สามารถเรียนรู้พื้นฐานที่จำเป็นได้จาก
หลักพื้นฐานเกี่ยวกับสมดุลแสงขาวช่วยสร้างโทนสีได้ดังใจนึก
ผู้ใช้ที่มีประสบการณ์มากขึ้นอาจต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ วิธีการแสดงสีด้วยฟังก์ชั่นการแก้ไขสมดุลแสงขาว
การถ่ายภาพด้วยการตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็น "หลอดไฟทังสเตน"
EOS 6D/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Manual exposure (f/5.6, 3.2 วินาที)/ ISO 1600/ WB: หลอดไฟทังสเตน
สถานที่: ภายในโตเกียวมิดทาวน์ ย่านรปปงงิ กรุงโตเกียว
การถ่ายภาพด้วยการตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็น "เมฆครึ้ม"
EOS 6D/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Manual exposure (f/5.6, 3.2 วินาที)/ ISO 1600/ WB: เมฆครึ้ม
สถานที่: ภายในโตเกียวมิดทาวน์ ย่านรปปงงิ กรุงโตเกียว
วิธีตั้งค่าสมดุลแสงขาว
ปุ่ม "WB" → เลือกจากโหมดตั้งค่าล่วงหน้า เช่น "แสงแดด", "เมฆครึ้ม" และ "หลอดไฟทังสเตน" *แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรุ่นของกล้อง
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดย ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
บริษัท Etica จำกัด เปิดสอนการถ่ายภาพในนามของโรงเรียน “Tanoshii Camera School" ตลอดจนให้บริการตรวจแก้ไขสื่อสิ่งพิมพ์ และวางแผนสื่อและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกล้องและการถ่ายภาพ โดยเน้นหัวข้อด้านการดูแลเด็ก สัตว์ และอาหาร บริษัทยึดคติ “ภาพถ่ายทำให้ทุกๆ คนมีความสุข!” จึงมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดเสน่ห์ของกล้องถ่ายรูปและการถ่ายภาพออกไปในวงกว้าง
ในฐานะช่างภาพ Akaogi ทำงานให้กับนิตยสารต่างๆ เป็นหลัก และเขียนหนังสือแนะนำการถ่ายภาพและเคล็ดลับที่ใช้งานได้จริง นอกจากนี้ Akaogi ยังเป็นผู้ฝึกสอนในเวิร์กช็อปการถ่ายภาพอีกด้วย