พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #2: ความเร็วชัตเตอร์
ในการถ่ายภาพ คุณจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเร็วชัตเตอร์และเอฟเฟ็กต์ที่จะเกิดขึ้นกับภาพถ่ายของคุณ แล้วคุณสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นหรือต่ำลงเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ชนิดใดได้บ้าง เราลองมาดูเอฟเฟ็กต์ที่เกิดจากการใช้ความเร็วชัตเตอร์ในระดับต่างๆ โดยอาศัยตัวอย่างดังต่อไปนี้กัน (เรื่องโดย: Tomoko Suzuki)
ความเร็วชัตเตอร์ช่วยให้คุณ "ควบคุม" การเคลื่อนไหวของตัวแบบในภาพถ่าย
สิ่งที่พึงจดจำ
- ความเร็วชัตเตอร์ที่เร็วขึ้นจะหยุดตัวแบบที่กำลังเคลื่อนไหว
- ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลงจะสร้างเอฟเฟ็กต์ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว
- คุณสามารถปรับปริมาณแสงโดยการเปิด/ปิดชัตเตอร์
ความเร็วชัตเตอร์ (หรือที่เรียกว่าเวลาการเปิดรับแสง) คือระยะเวลาที่ชัตเตอร์ของกล้องเปิดออกเพื่อรับแสงเข้ามายังเซนเซอร์ภาพในตัวกล้อง โดยความเร็วชัตเตอร์จะระบุเป็น 1 วินาที, 1/2 วินาที, 1/4 วินาที... 1/125 วินาที จนถึง 1/250 วินาที ฯลฯ
เมื่อความเร็วชัตเตอร์เพิ่มขึ้น ระยะเวลาการเปิดรับแสงจะลดลง และเมื่อความเร็วชัตเตอร์ลดลง ระยะเวลาการเปิดรับแสงจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อความเร็วชัตเตอร์ลดต่ำลง ปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องจะเพิ่มมากขึ้น
ความเร็วชัตเตอร์ไม่เพียงให้คุณสามารถปรับปริมาณแสงได้เท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงลักษณะการเคลื่อนไหวของตัวแบบที่ถ่ายอีกด้วย โดยเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้น คุณจะสามารถหยุดการเคลื่อนไหวของตัวแบบได้โดยสิ้นเชิง ในทางกลับกัน เมื่อคุณใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำลง คุณจะสามารถเบลอตัวแบบในทิศทางที่เคลื่อนไหว และถ่ายภาพการเคลื่อนไหวของตัวแบบ อาทิเช่น สายน้ำไหล ได้ หรืออีกนัยหนึ่ง ความเร็วชัตเตอร์ช่วยให้คุณสามารถควบคุมลักษณะการเคลื่อนไหวของตัวแบบที่สื่อออกมาในภาพได้
ใช้การตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์เพื่อเปลี่ยนแปลงลักษณะการเคลื่อนไหวของตัวแบบที่ถ่าย
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Shutter-priority AE (f/14, 1/10 วินาที, EV+1.3)/ ISO 100
1/10 วินาที
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Shutter-priority AE (f/8, 1/160 วินาที, EV+1.3)/ ISO 100
1/160 วินาที
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Shutter-priority AE (f/4, 1/2500 วินาที, EV+1.3)/ ISO 400
1/2500 วินาที
การปรับความเร็วชัตเตอร์ช่วยให้คุณสามารถควบคุมลักษณะการเคลื่อนไหวของตัวแบบที่ถ่ายได้ ไม่ว่าคุณจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของตัวแบบ หรือเลือกที่จะถ่ายภาพการเคลื่อนไหวของตัวแบบโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำลง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของตัวแบบด้วย
แนวคิดที่ 1: ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวและการสั่นของกล้อง
ภาพเบลอมีทั้งหมดสองประเภทด้วยกัน ได้แก่ "ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว" และ "การสั่นไหวของกล้อง" ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเมื่อการเคลื่อนไหวของตัวแบบเร็วกว่าความเร็วชัตเตอร์ และแบ็คกราวด์จะไม่เคลื่อนไหว ดังนั้น จะมีเฉพาะตัวแบบเท่านั้นที่เบลอ ส่วนการสั่นไหวของกล้องนั้นเกิดขึ้นจากมือที่ถือกล้องสั่นไหวขณะลั่นชัตเตอร์ ดังนั้น จึงทำให้ภาพทั้งภาพออกมาเบลอ ในทั้งสองกรณี การเพิ่มความเร็วชัตเตอร์จะช่วยป้องกันภาพเบลอได้
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/22, 1/2 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100
ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว: เฉพาะตัวแบบที่อยู่กึ่งกลางภาพเท่านั้นที่เบลอ
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Aperture AE (f/11, 1/6 วินาที, EV+1.0)/ ISO 100
การสั่นไหวของกล้อง: ภาพทั้งภาพออกมาเบลอ
แนวคิดที่ 2: ความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วชัตเตอร์และจำนวนสต็อป
ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเพิ่มความเร็วชัตเตอร์จาก 1/30 วินาทีเป็น 1/60 วินาที ระยะเวลาที่ชัตเตอร์เปิดออกจะลดลง และเราเรียกว่าเป็น "การทำให้ความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้น 1 สต็อป" ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราลดความเร็วชัตเตอร์จาก 1/60 วินาทีเป็น 1/30 วินาที เราจะเพิ่มระยะเวลาที่ชัตเตอร์เปิดออกเป็นสองเท่า และเป็นการ "ลดความเร็วชัตเตอร์ลง 1 สต็อป"
โดยทั่วไป เราสามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ของกล้อง DSLR ให้ต่างกันระยะละ 1/2 และ 1/3 สต็อป นอกเหนือจากปกติที่ 1 สต็อปได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อใช้ 1/2 สต็อป 1 สต็อปจะแบ่งออกเป็นสองระยะเป็นความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/30 วินาที, 1/45 วินาที และ 1/60 วินาที โดยระหว่างนั้นค่าความเร็วชัตเตอร์ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ เรายังสามารถปรับปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องได้อย่างละเอียดมากขึ้นโดยใช้ระยะต่างกันที่น้อยลงอย่างเช่นทีละครึ่งสต็อป (1/2 สต็อป) ได้
ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์: ช่วงความเร็วชัตเตอร์ในแต่ละกล้องแตกต่างกัน
กล้องแต่ละรุ่นจะมีการกำหนดค่าขีดความเร็วชัตเตอร์สูงสุดและต่ำสุดไว้ล่วงหน้า และคุณสามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ภายในช่วงที่กำหนดไว้ดังกล่าวได้อย่างอิสระ ซึ่งหากเป็นกล้องที่มีความเร็วชัตเตอร์สูงที่มีค่าความเร็วสูงสุดที่ 1/8000 วินาที ไม่เพียงคุณจะสามารถหยุดการเคลื่อนไหวของตัวแบบที่รวดเร็วในภาพถ่ายได้เท่านั้น แต่คุณยังสามารถเปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้น (กล่าวคือ ลดค่า f ลง) แม้แต่ฉากที่สว่างจ้าได้ ตลอดจนใช้ให้เป็นประโยชน์ในการถ่ายภาพที่มีวงกลมโบเก้ได้ นอกจากนี้ ในการเปิดรับแสงอัตโนมัติ กล้องรุ่นต่างๆ ยังมีค่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดที่ 30 วินาที ซึ่งหากคุณต้องการลดความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลงไปอีกสามารถใช้ฟังก์ชัน “BULB” ได้
สำหรับประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่คุณสามารถทำได้ด้วยความเร็วชัตเตอร์ระดับต่างๆ โปรดอ่านบทความดังต่อไปนี้
[บทที่ 2] การปรับความเร็วชัตเตอร์เพื่อผลภาพที่มีพลังยิ่งขึ้น
[บทที่ 4] ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเร็วชัตเตอร์
บทความทั้งสองนี้จะแสดงตัวอย่างเอฟเฟ็กต์แบบต่างๆ ที่เกิดจากการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นหรือต่ำลง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #10: ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะกับการถ่ายภาพยามค่ำคืนที่สุดคือเท่าใด?
เคล็ดลับเกี่ยวกับการถ่ายภาพเส้นแสงจากรถยนต์และทิวทัศน์เมืองยามค่ำคืน
[ตอนที่ 1] เทคนิคการใช้เส้นแสงมาตรฐาน
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเส้นแสงที่เกิดจากการถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นวิธีในการลดความเร็วชัตเตอร์เพื่อเพิ่มเวลาการเปิดรับแสง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #14: ฉันจะถ่ายภาพแบบแพนกล้องได้อย่างไร
ถ่ายภาพการเคลื่อนที่ของขบวนรถไฟที่กำลังวิ่งและตัวแบบอื่นๆ ที่กำลังแล่นด้วยความเร็วด้วยศิลปะการแพนกล้อง สำหรับคนที่ชอบความท้าทาย!
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดย ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังเรียนจบจากวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวโพลีเทคนิคแล้ว Suzuki ก็เข้าทำงานกับบริษัทโปรดักชั่นโฆษณาแห่งหนึ่ง เธอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับช่างภาพหลายคน รวมถึง Kirito Yanase และมีความเชี่ยวชาญการถ่ายภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอางอีกด้วย ตอนนี้เธอทำงานเป็นช่างภาพสตูดิโอให้กับบริษัทผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง