[บทที่ 2] การปรับความเร็วชัตเตอร์เพื่อผลภาพที่มีพลังยิ่งขึ้น
ในตอนที่ 2 ของบทความชุดนี้ เราจะมาคุยกันถึงความเร็วชัตเตอร์ หลังจากการเรียนรู้วิธีใช้งานความเร็วชัตเตอร์ทั้งแบบเร็วและช้า คุณจะสามารถถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของตัวแบบได้อย่างมีอิสระยิ่งขึ้น และประสบการณ์การถ่ายภาพของคุณก็จะยิ่งสนุกขึ้นเช่นกัน (เรื่องโดย: Yutaka Tanekiyo)
หน้า: 1 2
การสร้างเส้นแสงของรถยนต์ที่วิ่งไปมาด้วยความเร็วชัตเตอร์ช้าๆ
ขณะที่คุณอาจไม่ได้สนใจเกี่ยวกับความเร็วชัตเตอร์มากนักเมื่อถ่ายภาพในสถานการณ์ปกติ แต่แท้จริงแล้ว การใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าหรือเร็วอาจช่วยสร้างเอฟเฟ็กต์ภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจราวกับว่าเวลาในขณะนั้นผ่านไปอย่างเชื่องช้ากว่าปกติ หรือสร้างภาพที่มีพลังที่ถ่ายทอดขณะการเคลื่อนไหวอันฉับพลันของตัวแบบ สำหรับการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ด้วยตัวเอง ให้หมุนวงแหวนเลือกโหมดให้ตรงกับ [TV] (โหมด Shutter-priority AE) และคุณสามารถปรับความเร็วชัตเตอร์โดยการหมุนวงแหวนควบคุมหลัก (ในกรณีของกล้อง EOS DSLR สำหรับกล้อง EOS M3 ให้ปรับโดยใช้วงแหวนรอบปุ่มชัตเตอร์) เราจะเริ่มด้วยการลองถ่ายเส้นแสงจากรถยนต์ด้วยการตั้งความเร็วชัตเตอร์นาน
1. เล็งกล้องไปที่รถยนต์ซึ่งกำลังวิ่งมาจากสะพานลอย
1/2 วินาที
เลือกช่วงเวลาที่การจราจรไม่ติดขัดแล้วเล็งกล้องของคุณจากสะพานลอย ในภาพนี้ ผมปิดการใช้งานแฟลช และถ่ายภาพด้วยการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์เป็น 1/2 วินาที แม้ว่าจะเห็นความเบลอของการเคลื่อนไหวจากรถที่วิ่งด้วยความเร็วสูงได้ แต่การตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ระดับนี้ยังไม่ช้าพอที่จะสร้างเส้นแสงจากรถที่วิ่งผ่านไปได้
2. ลดความเร็วชัตเตอร์ลงอีกแล้วจึงถ่ายภาพ
1 วินาที
ด้วยเวลา 1 วินาที จะมองไม่เห็นรูปร่างของรถที่กำลังวิ่ง แต่จะมองเห็นแนวเส้นแสงได้ชัดขึ้น อย่างไรก็ตาม เส้นแสงที่ได้จากการถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ระดับนี้จะสั้น ต่อไป เราจะลองถ่ายภาพด้วยความเร็ว 10 วินาที
3. เสร็จแล้ว! ได้เส้นแสงยาวสมใจ
10 วินาที
เมื่อตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์เป็น 10 วินาที เส้นแสงที่ออกมาเป็นอย่างที่ตั้งใจ ช่วยเพิ่มพลังการเคลื่อนไหวให้ภาพถ่าย
[เคล็ดลับ] ระวังกล้องสั่นเมื่อถ่ายภาพที่เปิดรับแสงเป็นเวลานาน!
- ใช้ขาตั้งกล้องทุกที่ที่ทำได้
- หากไม่สามารถใช้ขาตั้งกล้องได้ ให้มองหาสถานที่ที่วางกล้องได้อย่างมั่นคง
อาการกล้องสั่นไหวมักเกิดขึ้นเมื่อคุณถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ช้า ดังนั้น คุณจำเป็นต้องแน่ใจว่าได้ตั้งกล้องไว้ในตำแหน่งที่มั่นคงดีแล้ว หากใช้ขาตั้งกล้องได้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เอื้อให้ทำเช่นนั้น เพียงแค่วางกล้องให้มั่นคง เช่น วางบนราวกั้น
ภาพถ่ายจะออกมาเบลอเมื่อคุณถือกล้องถ่ายภาพในขณะที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้า
หยุดการเคลื่อนไหวของตัวแบบด้วยความเร็วชัตเตอร์สูง
เพื่อจะถ่ายภาพตัวแบบที่กำลังเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วโดยไม่ทำให้ภาพเบลอ คุณจำเป็นต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สอดคล้องกับความเร็วการวิ่งของรถ ภาพด้านล่างเป็นตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงๆ ที่คุณอาจใช้เป็นแบบอ้างอิงได้
1/250 วินาที
เรือสปีดโบ๊ตแล่นข้ามอ่าว
ภาพถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/250 วินาที ในภาพนี้ ผมหยุดการเคลื่อนไหวของเรือสปีดโบ๊ตอย่างจงใจ และแสดงถึงความเร็วที่เรือเคลื่อนที่ด้วยคลื่นยาวจากท้ายเรือ
1/500 วินาที
คลื่นสาดกระเซ็นกระทบหิน
หากคุณต้องการถ่ายภาพคลื่นที่สาดกระเซ็น ให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/500 วินาทีหรือเร็วกว่า การทำเช่นนี้ช่วยให้คุณถ่ายทอดรายละเอียดของคลื่นที่กระเซ็นได้
1/1600 วินาที
เครื่องบินก่อนลงจอด
เครื่องบินที่บินอยู่เหนือศีรษะ ด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/1600 วินาที คุณสามารถที่จะหยุดการเคลื่อนไหวของเครื่องบินได้อย่างราบคาบ
เกิดปี 1982 ในโอซาก้า หลังจากจบการศึกษาจากคณะวิเทศศึกษาที่ Kyoto Sangyo University ในสาขาวิชาภาษาเยอรมัน Tanekiyo ทำงานเป็นผู้ช่วยของ Toshinobu Takeuchi จากนั้นจึงผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation