เทคนิคเกี่ยวกับการตั้งค่าตามขนาดรูรับแสง 2: สร้างโบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ให้กับภาพถ่ายครอบครัวที่แสนอบอุ่นและเป็นมิตร
หากต้องการถ่ายภาพครอบครัวที่ดูอบอุ่นละมุนละไม ให้ลองสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์! เพราะไม่เพียงแต่ช่วยดึงสายตาของผู้ชมไปยังสีหน้าของตัวแบบเท่านั้น แต่ยังทำให้ภาพมีบรรยากาศที่นุ่มนวลขึ้นด้วย อ่านต่อเพื่อดูว่าโบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ทำให้ภาพแตกต่างไปอย่างไร (เรื่องโดย: Teppei Kohno)
1. โบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ทำให้ภาพถ่ายครอบครัวเปลี่ยนไปอย่างไร
2. ภาพตัวอย่าง: f/3.5 (รูรับแสงกว้างสุด) กับ f/8
3. เคล็ดลับด้านอุปกรณ์: ยิ่งเลนส์ไวแสงสูง โบเก้ยิ่งเด่นชัด
4. คำแนะนำแบบทีละขั้นตอน: วิธีการตั้งค่ารูรับแสงกว้างสุด
ในภาพถ่ายครอบครัว สีหน้าควรเป็นจุดเด่นในภาพ ไม่ใช่แบ็คกราวด์!
หากถ่ายภาพโดยให้ทั้งแบ็คกราวด์และตัวคนอยู่ในโฟกัส สายตาของผู้ชมจะถูกดึงไปยังแบ็คกราวด์ และจะสนใจสีหน้าของตัวแบบที่เป็นมนุษย์น้อยลง
แต่ในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาพครอบครัวและเด็กๆ ใบหน้าจะมีบทบาทสำคัญมาก คุณจึงควรเก็บภาพสีหน้าให้ดีที่สุดและทำให้เป็นจุดรวมความสนใจของภาพ
สร้างโบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ เพื่อทำให้แบ็คกราวด์เบลอและรบกวนสายตาน้อยลง
เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโบเก้มาบ้างแล้วในบทความก่อนหน้า โบเก้มีประโยชน์มากในการทำให้แบ็คกราวด์เรียบง่ายขึ้นด้วยการเบลอรายละเอียด เพื่อให้เด่นชัดน้อยลง ในการถ่ายภาพพอร์ตเทรต เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เด่นชัดจะทำให้ภาพดูนุ่มนวลซึ่งทำให้สีหน้าของตัวแบบดูอ่อนโยนขึ้นและเป็นมิตรมากขึ้น
วิธีการมีดังนี้:
1. ใช้โหมด Aperture-priority AE
2. ใช้ค่า f ต่ำสุดที่เลนส์ของคุณมี
คลิกที่นี่เพื่อข้ามไปยังคำแนะนำแบบทีละขั้นตอน
ข้อควรรู้: ค่า f ต่ำสุดของเลนส์เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รูรับแสงกว้างสุด ยิ่งค่า f น้อย เอฟเฟ็กต์โบเก้ในแบ็คกราวด์จะยิ่งเด่นชัด
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูรับแสงได้ที่: [บทที่ 3] เรียนรู้เกี่ยวกับรูรับแสง
เคล็ดลับ: ให้คนในภาพพอร์ตเทรตยืนห่างจากกล้องเป็นระยะที่เท่ากัน
หากแต่ละคนอยู่ห่างจากกล้องไม่เท่ากัน บางคนจะอยู่ในโฟกัสในขณะที่คนอื่นๆ จะอยู่นอกโฟกัส ให้ทุกคนยืนอยู่ในแนวระนาบโฟกัสเดียวกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งนั่นหมายถึง ยืนห่างจากกล้องเป็นระยะที่เท่ากัน
ดูความแตกต่าง: รูรับแสงกว้างสุด กับ f/8
f/3.5
FL: 28 มม./ f/3.5/ 1/1000 วินาที/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายโดยใช้รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์คิท เอฟเฟ็กต์โบเก้ขนาดใหญ่ในแบ็คกราวด์ทำให้สีหน้าของเด็กเป็นจุดเด่นในภาพ และใบหน้าของเด็กยังดูมีความนุ่มนวลอีกด้วย
f/8
FL: 28 มม./ f/8/ 1/125 วินาที/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ในภาพนี้ มีสิ่งต่างๆ มากมายอยู่ในโฟกัส รวมทั้งรายละเอียดของสภาพแวดล้อมด้วย เนื่องจากมีสิ่งอื่นที่ดึงความสนใจไปจากสายตาของเรามากเกินไป เด็กในภาพจึงดูไม่โดดเด่นมากนัก และบนใบหน้าของเด็กยังมีรายละเอียดของเงามากกว่าด้วย ซึ่งทำให้บรรยากาศดูต่างออกไปเล็กน้อย
เคล็ดลับด้านอุปกรณ์: ใช้เลนส์ไวแสงสูงๆ เพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เด่นชัด
หากคุณใช้เลนส์คิท เป็นไปได้ว่าเลนส์นั้นคือเลนส์ซูมมาตรฐานที่มีรูรับแสงกว้างสุดที่ f/3.5 หรือ f/4 โดยประมาณ ซึ่งนับว่าดีพอสำหรับการถ่ายภาพครอบครัว แต่ถ้าหากต้องถ่ายภาพคนเพียงคนเดียวหรือสองสามคน คุณอาจอยากสร้างโบเก้ที่เด่นชัดขึ้นในส่วนแบ็คกราวด์
วิธีการที่คุณสามารถทำได้คือ ถ่ายภาพตัวแบบในระยะใกล้ขึ้นและเลือกแบ็คกราวด์ที่อยู่ไกลออกไปมากขึ้น แต่วิธีนี้อาจใช้ไม่ได้เสมอไปในสถานการณ์การถ่ายภาพ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณถ่ายภาพในระยะใกล้เกินไป ตัวแบบอาจรู้สึกอึดอัด และคุณอาจไม่สามารถจัดตัวแบบให้อยู่ในเฟรมได้ตามที่ต้องการ
เลนส์ไวแสงสูง (ซึ่งก็คือเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดที่กว้าง) จึงสามารถช่วยคุณได้ในสถานการณ์เช่นนี้
เลนส์รุ่นหนึ่งที่คุณควรลองใช้คือ EF50mm f/1.8 STM: ด้วยรูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.8 ที่มีความไวแสงสูงมาก เลนส์รุ่นนี้จึงสามารถถ่ายภาพด้วยระยะชัดที่ตื้นมากได้ ซึ่งทำให้ได้เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เด่นชัดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา และราคาย่อมเยาอีกด้วย หากคุณชื่นชอบการสร้างโบเก้และถ่ายภาพพอร์ตเทรตและภาพแนวสตรีทเป็นประจำ เลนส์รุ่นนี้จะเป็นอุปกรณ์เสริมที่ดีในชุดอุปกรณ์ของคุณ
EF50mm f/1.8 STM
f/1.8 ที่ 50 มม.
FL: 50 มม./ f/1.8/ 1/1250 วินาที/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายโดยใช้รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ EF50mm f/1.8 STM คุณจะเห็นเอฟเฟ็กต์โบเก้ได้ชัดเจนในแบ็คกราวด์
f/5.6 (รูรับแสงกว้างสุดที่ 50 มม. ของเลนส์คิท)
FL: 50 มม./ f/5.6/ 1/125 วินาที/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายด้วยรูรับแสงกว้างสุดที่สามารถถ่ายได้ที่ 50 มม. บนเลนส์คิท 18-55 มม. ของผม เนื่องจากโบเก้ในแบ็คกราวด์ไม่ชัดเจนนัก ใบหน้าของเด็กๆ จึงไม่สามารถดึงดูดความสนใจได้มากเท่าที่ควร
เคล็ดลับระดับมือโปร: ใช้การตรวจจับใบหน้าและ Eye Detection AF เพื่อช่วยให้คุณโฟกัสได้อย่างแม่นยำ
ระยะชัดตื้นของรูรับแสงที่กว้างมากเช่น f/1.8 อาจทำให้ยากต่อการจับโฟกัสทั้งใบหน้า ให้ใช้การตรวจจับใบหน้า (และ Eye Detection AF หากกล้องของคุณมีคุณสมบัตินี้) เพื่อช่วยให้คุณจับโฟกัสที่ใบหน้า/ดวงตาที่อยู่ใกล้คุณมากที่สุดได้ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จะเป็นการดีที่สุดหากคุณสามารถทำให้ทุกคนอยู่ในระนาบโฟกัสเดียวกัน
วิธีการตั้งค่ารูรับแสงกว้างสุด
*ภาพใช้สำหรับประกอบบทความเท่านั้น วงแหวนและปุ่มต่างๆ บนกล้องของคุณอาจดูแตกต่างไปจากนี้เล็กน้อย!
1. ตั้งกล้องไปที่โหมด [Av]
เปิดกล้องและปรับวงแหวนปรับโหมดไปที่โหมด [Av]
2. หมุนวงแหวนควบคุมหลัก
หมุนวงแหวนควบคุมหลักไปทางซ้ายเพื่อเปลี่ยนค่า f เป็นค่าต่ำสุด
3. ตรวจสอบว่าค่า f ได้เปลี่ยนเป็นค่าของรูรับแสงกว้างสุดแล้ว
หน้าจอ LCD ด้านหลังระหว่างถ่ายภาพผ่าน OVF ด้วยกล้อง DSLR
ขณะถ่ายภาพด้วย Live View/EVF
ค่า f ปัจจุบันจะปรากฏดังที่วงกลมไว้ ตรวจสอบว่าค่า f เปลี่ยนแปลงแล้วก่อนที่จะเริ่มถ่ายภาพ
---
ในการถ่ายภาพครอบครัวกลางแจ้งครั้งต่อไปของคุณ ให้ลองถ่ายภาพทั้งแบบมีและไม่มีโบเก้ในแบ็คกราวด์ แล้วดูว่าคุณเห็นความแตกต่างหรือไม่ ร่วมแบ่งปันภาพถ่ายของคุณกับเราได้ที่ My Canon Story
หากต้องการสนุกกับโบเก้ให้มากยิ่งขึ้น ลองอ่านบทความต่อไปนี้:
4 ขั้นตอนง่ายๆ ในการถ่ายภาพวงกลมโบเก้ที่เข้าใจยาก!
เทคนิคการใช้แฟลชติดกล้อง #6: วงกลมโบเก้ที่น่ามหัศจรรย์ในวันฝนตก
วิธีสร้างแบ็คกราวด์ภาพฟรุ้งฟริ้งด้วยวงกลมโบเก้สำหรับภาพถ่ายของตกแต่งชิ้นเล็กน่ารัก
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่โตเกียวในปี 1976 เขาจบการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Meiji Gakuin และฝึกถ่ายภาพกับช่างภาพ Masato Terauchi เขามีส่วนร่วมในการถ่ายภาพให้นิตยสาร PHaT PHOTO ฉบับแรก และผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระหลังจากนั้นในปี 2003 Kohno ถ่ายภาพโฆษณาทุกประเภท นอกจากนั้นเขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเขียนมากมายในนิตยสารเกี่ยวกับกล้องและนิตยสารอื่นๆ ด้วย