พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #7: เลนส์ซูมมาตรฐานและเลนส์ซูมพิเศษ
เลนส์ซูมมาตรฐานและเลนส์ซูมพิเศษเป็นเลนส์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เริ่มต้นถ่ายภาพ เนื่องจากความอเนกประสงค์และช่วงโฟกัส เราจะมาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติพิเศษของเลนส์ทั้งสองชนิดนี้กัน (เรื่องโดย: Tomoko Suzuki)
คุณลักษณะพิเศษของเลนส์ซูมมาตรฐานและเลนส์ซูมพิเศษ
1. สามารถใช้ได้กับฉากหลากหลายแบบ เช่น การถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ พอร์ตเทรต และสตรีท
2. มักมีรูรับแสงกว้างสุดเล็กกว่า จึงให้ระยะชัดลึกที่กว้างขึ้น
3. เลนส์ซูมพิเศษเป็นเลนส์ซูมมาตรฐานที่มีช่วงทางยาวโฟกัสเทเลโฟโต้เพิ่มขึ้นจึงมักมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย
ก่อนหน้านี้ เราได้ทำความรู้จักกับเลนส์ซูมและทราบถึงข้อแตกต่างจากเลนส์เดี่ยวกันไปแล้ว ต่อไปนี้เราจะมาดูรายละเอียดของเลนส์ซูมสองประเภทที่ได้รับความนิยม ได้แก่ เลนส์ซูมมาตรฐานและเลนส์ซูมพิเศษกัน
ปกติแล้วชุดกล้องมิเรอร์เลสและ DSLR จะมีเลนส์ซูมมาตรฐาน เลนส์เหล่านี้ครอบคลุมช่วงทางยาวโฟกัส 50 มม. (เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.) ซึ่งให้ระยะชัดลึกเท่ากับสายตาของมนุษย์ จึงสามารถใช้งานได้สารพัดประโยชน์อย่างมาก ขณะที่เลนส์ซูมพิเศษมีความคล้ายคลึงกับเลนส์ซูมมาตรฐาน และมีช่วงทางยาวโฟกัสที่มีประสิทธิภาพเป็นพิเศษ ข้อดีที่สำคัญที่สุดของเลนส์ซูมพิเศษคือ เลนส์นี้เพียงเลนส์เดียวสามารถครอบคลุมช่วงทางยาวโฟกัสได้ตั้งแต่มุมกว้างไปจนถึงระยะเทเลโฟโต้
เลนส์ซูมทั้งสองประเภทนี้สามารถรับมือกับฉากหลากหลายรูปแบบได้อย่างดีเยี่ยม เนื่องจากคุณสามารถสลับใช้งานได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงทางยาวโฟกัสมุมกว้างไปจนถึงช่วงทางยาวโฟกัสเทเลโฟโต้ เลนส์ซูมมาตรฐานและเลนส์ซูมพิเศษจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับโอกาสในการถ่ายภาพแบบฉับพลันและคาดไม่ถึงด้วยเช่นกัน
เลนส์ซูมมาตรฐานและเลนส์ซูมพิเศษที่มีขนาดรูรับแสงค่อนข้างเล็ก (ค่า f สูงสุดมากขึ้น) จะมีระยะชัดลึก (พื้นที่ของภาพที่อยู่ในระยะโฟกัส) ที่กว้างขึ้น คุณจึงหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพที่อยู่นอกระยะโฟกัส (โดยไม่ได้ตั้งใจ) ได้ เลนส์ทั้งสองแบบนี้มีหลายรุ่นที่มีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบา ทำให้ง่ายต่อการพกพาไปในที่ต่างๆ เช่นกัน
ประเภทหลักๆ ของเลนส์ซูมมาตรฐาน
ฟูลเฟรม, รูรับแสงคงที่
EF24-70mm f/2.8L II USM
EF24-105mm f/4L IS II USM
ฟูลเฟรม, รูรับแสงแบบปรับได้
EF24-105mm f/3.5-5.6 IS STM
สำหรับ EF-S/EF-M
EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM
EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM
ประเภทหลักๆ ของเลนส์ซูมพิเศษ
กำลังขยายประมาณ 8 เท่า
EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM
EF-M18-150mm f/3.5-6.3 IS STM
กำลังขยายประมาณ 11 เท่า
EF28-300mm f/3.5-5.6L IS USM
EF-S18-200mm f/3.5-5.6 IS
เลนส์ซูมมาตรฐานของ Canon สามารถแบ่งออกได้เป็นสามประเภท ได้แก่
1. เลนส์ซูมที่มีรูรับแสงคงที่ จะมีรูรับแสงกว้างสุดเพียงหนึ่งค่าตลอดทั้งช่วงทางยาวโฟกัส รูรับแสงกว้างสุดนี้มักมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทำให้เลนส์เหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้สร้างเอฟเฟ็กต์นอกโฟกัส (โบเก้) อย่างไรก็ดี นั่นอาจทำให้เลนส์ที่มีรูรับแสงคงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและราคาแพงมากขึ้นด้วย
2. เลนส์ซูมที่มีรูรับแสงแบบปรับได้ มักมีราคาต่ำกว่าและน้ำหนักเบากว่าเลนส์ที่มีรูรับแสงคงที่ ส่วนรูรับแสงกว้างสุดของเลนส์จะแตกต่างกันตลอดทั้งช่วงความยาวโฟกัส
3. เลนส์ EF-S/EF-M ออกแบบมาเพื่อใช้กับกล้อง DSLR ที่มีเซนเซอร์ขนาด APS-C และกล้องมิเรอร์เลสซีรีย์ EOS M ตามลำดับ เลนส์บางรุ่นจะมีรูรับแสงคงที่ ขณะที่รุ่นอื่นๆ จะมีรูรับแสงแบบปรับได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเลนส์ทุกรุ่นมักมีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบากว่าเลนส์ที่ใช้กับกล้องฟูลเฟรม
เลนส์ซูมพิเศษ สามารถแบ่งประเภทได้ตามระดับกำลังในการซูม ปัจจุบันมีสองประเภทด้วยกัน ได้แก่ ซูม 8 เท่า และซูม 11 เท่า เลนส์ซูม 8 เท่า จะมีช่วงเทเลโฟโต้เกิน 200 มม. (เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.) หากช่วงเทเลโฟโต้นี้เกิน 300 มม. จะถือว่าเป็นเลนส์ซูม 11 เท่า หากคุณต้องการจับภาพตัวแบบที่อยู่ห่างออกไปมากๆ บางทีคุณควรเลือกใช้ซูม 11 เท่า
ภาพตัวอย่างของช่วงทางยาวโฟกัส
โดยปกติ เลนส์ซูมมาตรฐานจะมีทางยาวโฟกัสระยะกลางประมาณ 50 มม. (เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.) และครอบคลุมระยะที่มีช่วงมุมกว้างและช่วงเทเลโฟโต้ที่ประมาณ 70 มม. ถึง 100 มม. ส่วนเลนส์ซูมพิเศษจะครอบคลุมช่วงที่กว้างขึ้น ตั้งแต่มุมกว้างไปจนถึงระยะมากถึง 300 มม.
ลองใช้งานเลนส์ซูมมาตรฐาน/ซูมพิเศษของคุณ
2 เทคนิคเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์นอกโฟกัสที่สวยงามยิ่งขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบกับเลนส์เดี่ยว เลนส์ซูมมาตรฐานและเลนส์ซูมพิเศษมีแนวโน้มที่จะมีรูรับแสงกว้างสุดเล็กกว่า หากต้องการเอฟเฟ็กต์นอกโฟกัสที่ชัดเจนมากกว่าค่า f ต่ำสุดที่ระบุไว้ที่เลนส์ ให้ลองใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือทั้งสองวิธีดังต่อไปนี้: 1. เข้าใกล้ตัวแบบในระยะการถ่ายภาพต่ำสุด (ระยะโฟกัสใกล้ที่สุด) ของเลนส์ 2. เลือกแบ็คกราวด์ที่อยู่ห่างจากตัวแบบ
1. เข้าใกล้ตัวแบบ
EOS 6D/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/125 วินาที, EV-2)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
2. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าแบ็คกราวด์อยู่ในระยะไกล
EOS 6D/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/50 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
เลนส์ซูมมาตรฐานและเลนส์ซูมพิเศษมีประสิทธิภาพสูง…
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/800 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: Manual
…เมื่อคุณต้องการเดินทางแบบเบาๆ!
เลนส์ซูมมาตรฐานตัวเดียวครอบคลุมทั้งทางยาวโฟกัสมุมกว้างและเทเลโฟโต้ เหมาะเจาะสมบูรณ์แบบสำหรับการเดินทางแบบเบาๆ ในภาพนี้ ผมถ่ายภาพที่ระยะเทเลโฟโต้ (105 มม.) พร้อมกับจัดเฟรมภาพทิวทัศน์ที่สวยงามไว้ในองค์ประกอบภาพที่เรียบง่าย
EOS 80D/ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM/ FL: 78 มม. (เทียบเท่า 125 มม.)/ Aperture-priority AE (f/8, 1/125 วินาที, EV-0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
…เมื่อคุณต้องการถ่ายภาพสแนปช็อตง่ายๆ
เลนส์ซูมพิเศษครอบคลุมช่วงทางยาวโฟกัสที่หลากหลายมาก จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพสตรีท เพราะคุณสามารถจับภาพตัวแบบทุกประเภทได้สบายๆ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์ ความสามารถในการเปลี่ยนมุมรับภาพได้อย่างรวดเร็วจากมุมกว้างเป็นเทเลโฟโต้ (หรือในทางกลับกัน) ช่วยให้คุณไม่พลาดโอกาสถ่ายภาพในเสี้ยววินาทีสำคัญที่ผ่านเข้ามาอย่างรวดเร็ว
สับสนเกี่ยวกับเลนส์ประเภทต่างๆ หรือไม่ อ่านบทความเหล่านี้เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณลักษณะพิเศษของเลนส์แต่ละประเภท!
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ 1: เลนส์ซูม
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #2: เลนส์เดี่ยว
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #3: การสร้างโบเก้
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #4: โฟกัสชัดลึก
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #5: เปอร์สเป็คทีฟ
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #6: เลนส์มุมกว้าง
อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างเลนส์ซูมเทเลโฟโต้ f/2.8 และ f/4
อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างเลนส์เทเลโฟโต้ 200 มม. และ 300 มม.
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังเรียนจบจากวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวโพลีเทคนิคแล้ว Suzuki ก็เข้าทำงานกับบริษัทโปรดักชั่นโฆษณาแห่งหนึ่ง เธอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับช่างภาพหลายคน รวมถึง Kirito Yanase และมีความเชี่ยวชาญการถ่ายภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอางอีกด้วย ตอนนี้เธอทำงานเป็นช่างภาพสตูดิโอให้กับบริษัทผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง