เทคนิคการใช้เลนส์: เคล็ดลับ 4 ข้อในการฝึกฝนใช้งาน EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM
EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM ที่ครอบคลุมทางยาวโฟกัสมุมกว้างไปจนถึงเทเลโฟโต้ระยะกลางเป็นเลนส์ซูมมาตรฐานอเนกประสงค์ที่มีความสามารถในการถ่ายฉากหลากหลายแบบ ต่อไปนี้คือเทคนิคบางส่วนในการใช้ประโยชน์จากเลนส์คิทที่ได้รับความนิยมนี้ (เรื่องโดย: Kazuo Nakahara)
สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจคุณสมบัติเฉพาะของเลนส์ประเภทต่างๆ
คุณสามารถพูดได้ว่า EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM ซึ่งเป็นเลนส์คิทสำหรับ EOS 200D และ EOS 800D คือหนึ่งในเลนส์พื้นฐานที่มีความสามารถรอบด้านมากที่สุดของ Canon เนื่องจากครอบคลุมมุมรับภาพตั้งแต่มุมกว้างจนถึงเทเลโฟโต้ระยะกลาง เลนส์ซูมมาตรฐานนี้จึงสามารถรับมือกับฉากถ่ายภาพได้แทบทุกประเภท
ผู้ใช้จำนวนมากมักยืนในจุดเดิมขณะถ่ายภาพ และเพียงซูมเข้าหรือออกเพื่อปรับองค์ประกอบภาพเท่านั้น แต่เพื่อใช้ประโยชน์จากเลนส์นี้อย่างเต็มที่ คุณควรขยับตัวไปรอบๆ เพื่อถ่ายภาพ
การใช้ประโยชน์จากเลนส์นี้ควรเริ่มต้นตั้งแต่เรียนรู้คุณสมบัติของทางยาวโฟกัส มุมกว้าง มาตรฐาน และเทเลโฟโต้ระยะกลาง เพราะการทราบถึงคุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถปรับจุดถ่ายภาพได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น คุณจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันเมื่อขยับเข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้นพร้อมกับใช้ระยะมุมกว้าง หรือเมื่อถอยห่างจากตัวแบบขณะใช้ระยะสุดฝั่งเทเลโฟโต้ หรือกระทั่งสร้างแบ็คกราวด์เบลอด้วยการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมได้เช่นกัน
ประโยชน์อีกประการหนึ่งของเลนส์นี้คือมี ระยะโฟกัสใกล้สุดที่สั้น (หรือระยะการถ่ายภาพต่ำสุด) จึงสามารถจับโฟกัสแม้ตัวแบบจะอยู่ห่างจากด้านหน้าเลนส์เพียง 12 – 15 ซม. ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องการถ่ายภาพวัตถุขนาดเล็กในระยะใกล้
ประโยชน์อีกประการหนึ่งซึ่งเหมาะสำหรับการถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อยคือ กลไกระบบป้องกันภาพสั่นไหว 4 สต็อปในตัว ซึ่งในทางเทคนิคจะช่วยให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้ช้ากว่าที่ต้องใช้เพื่อป้องกันกล้องสั่นไหวแต่ไม่มีกลไกถึง 16 เท่า (สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดอ่าน คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์ #3: เราจะกำหนดสต็อปของระบบป้องกันภาพสั่นไหวได้อย่างไร)
เลนส์นี้มีความสามารถมากมาย และเมื่อคุณเรียนรู้ที่ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ตามต้องการแล้ว คุณยังอาจเกิดไอเดียดีๆ ที่จะนำอุปกรณ์มาใช้ถ่ายทอดอารมณ์ผ่านภาพถ่ายด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาดู 4 เคล็ดลับในการฝึกใช้งานเลนส์นี้กัน
1. การฝึกใช้มุมกว้าง
ใช้มุมมองเปอร์สเป็คทีฟให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
เพื่อรับประโยชน์จากความสามารถของช่วงมุมกว้างที่แท้จริง คุณจำเป็นต้องตัดแนวคิดเดิมๆ ที่ว่ามุมกว้างมีไว้ใช้กับการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่กว้างไกลเท่านั้น เพราะความสามารถในการถ่ายระยะชัดลึกที่กว้างเป็นเพียงคุณสมบัติหนึ่งเท่านั้น
ศักยภาพที่แท้จริงของทางยาวโฟกัสมุมกว้างจะอยู่ที่ความสามารถในการสร้างมุมมองเปอร์สเป็คทีฟเกินจริง ซึ่งจะทำให้เกิดแนวเส้นไปบรรจบกัน และดึงความสนใจของผู้ชมไปยังจุดใดจุดหนึ่ง และทำให้ภาพของคุณดูมีพลังมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยในการถ่ายภาพตัวแบบในระยะใกล้พร้อมกับเก็บแบ็คกราวด์ส่วนใหญ่ไว้ในเฟรมภาพ
ข้อควรระวัง: มีแนวโน้มที่มุมมองเปอร์สเป็คทีฟเกินจริงอาจไม่ทำงานอย่างที่คาดไว้เช่นกัน เนื่องจากองค์ประกอบที่อยู่ไกลจากกันอยู่แล้วอาจดูกระจัดกระจายและห่างกันมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวแบบด้วย
18 มม.
EOS 200D/ EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 18 มม. (เทียบเท่า 29 มม.) / Aperture-priority AE (f/5.6, 1/30 วินาที, EV-1.0) / ISO 6400/ WB: อัตโนมัติ
18 มม.
EOS 200D/ EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 18 มม. (เทียบเท่า 29 มม.)/ Aperture-priority AE (f/4.5, 1/1,600 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เคล็ดลับ: จัดองค์ประกอบภาพเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชมไปยังจุดรวมสายตา
ภาพ 2 ภาพด้านบนคือตัวอย่างคลาสสิกของการจัดองค์ประกอบภาพที่ใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเป็คทีฟเกินจริง เมื่อสำรวจรายละเอียดของภาพที่สอง เราจะเห็นว่าตัวแบบที่เป็นเป้าหมาย (รถยนต์สีเหลือง) ถ่ายจากมุมทแยง แนวถนนจึงไปบรรจบกันที่จุดรวมสายตาทางด้านซ้ายของภาพ (ตามเส้นสีแดงด้านล่าง) จุดรวมสายตาเช่นนี้จะดึงดูดความสนใจของผู้ชมและช่วยสร้างมิติความตื้นลึกในภาพถ่าย
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 2: เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง
2. การฝึกใช้มุมรับภาพมาตรฐาน
หากไม่ต้องการให้ภาพดูธรรมดาเกินไป ควรพยายามจัดองค์ประกอบภาพให้เหมาะสม
ช่วงทางยาวโฟกัสมาตรฐานในเลนส์ซูมให้มุมรับภาพใกล้เคียงกับสายตามนุษย์เป็นอย่างมาก ดังนั้น ภาพที่ถ่ายโดยใช้ทางยาวโฟกัสเหล่านี้จึงดูเป็นธรรมชาติและสมจริงสำหรับผู้ชม
ข้อควรระวัง: มุมรับภาพตามธรรมชาติอาจทำให้ภาพดูธรรมดาหากคุณถ่ายภาพอย่างไร้จุดหมาย จึงควรให้ความสนใจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตัวแบบหลักกับตัวแบบรองเป็นพิเศษ และพยายามจัดองค์ประกอบภาพและจังหวะเวลาในการลั่นชัตเตอร์อย่างเหมาะสม
35 มม.
EOS 200D/ EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 35 มม. (เทียบเท่า 56 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5, 1/1,000 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
33 มม.
EOS 200D/ EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 33 มม. (เทียบเท่า 53 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5, 1/160 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
33 มม.
EOS 200D/ EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 33 มม. (เทียบเท่า 53 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5, 1/80 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เคล็ดลับ: พยายามให้ภาพอยู่ในแนวตรงและได้ระดับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาพที่ถ่ายโดยใช้มุมรับภาพมาตรฐาน เพราะหากเส้นไม่อยู่ในแนวเดียวกันไม่ว่าจะเป็นในแนวตั้งหรือแนวนอนจะทำให้ภาพขาดความมั่นคง
อ่านไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีถ่ายภาพโดยใช้มุมรับภาพมาตรฐานได้ที่:
เทคนิคการถ่ายภาพด้วยเลนส์มาตรฐาน: การใช้มุมมองเพื่อดึงให้คนดูเข้าไปอยู่ในภาพ
3. การฝึกใช้เทเลโฟโต้ระยะกลาง
ถ่ายทอดรูปทรงได้อย่างสมจริง เหมาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการมุ่งความสนใจไปที่ตัวแบบเป้าหมาย
ช่วงเทเลโฟโต้ของ EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM สามารถถ่ายภาพที่มีระยะชัดลึกใกล้เคียงกับระยะชัดลึกของบุคคลที่ให้ความสนใจในวัตถุใดวัตถุหนึ่ง จึงสร้างภาพที่มีจุดโฟกัสกึ่งกลางที่เห็นได้ชัดในทันที ซึ่งแตกต่างจากระยะชัดลึกมุมกว้างที่คุณจะไม่สามารถรวมแบ็คกราวด์ส่วนใหญ่ไว้ในเฟรมภาพได้ แต่นั่นก็หมายความว่าแบ็คกราวด์จะแย่งความสนใจจากผู้ชมไปจากตัวแบบหลักน้อยลงด้วยเช่นกัน
ประโยชน์สำคัญอีกประการหนึ่งของมุมรับภาพนี้คือ มีแนวโน้มจะเกิดการบิดเบี้ยวของเปอร์สเป็คทีฟน้อยลง จึงสามารถถ่ายทอดรูปทรงของตัวแบบ เช่น หน้าและรูปร่างได้อย่างสมจริง ดังนั้น คุณควรจดจำหลักนี้ไว้ และถ่ายภาพโดยใช้ช่วงเทเลโฟโต้เมื่อคุณต้องการถ่ายภาพพอร์ตเทรต ภาพผลิตภัณฑ์ หรือฉากใดก็ตามที่ให้ความสำคัญกับการนำเสนอรูปร่างและโครงสร้างอย่างสมจริง
55 มม.
EOS 200D/ EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 55 มม. (เทียบเท่า 88 มม.)/ Aperture-priority AE (f/8, 1/30 วินาที, EV±0)/ ISO 6400/ WB: อัตโนมัติ
55 มม.
EOS 200D/ EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 55 มม. (เทียบเท่า 88 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/160 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เคล็ดลับ: หากคุณใช้ทางยาวโฟกัสมุมกว้างจะเห็นความบิดเบี้ยวชัดเจน
ภาพด้านล่างแสดงจานใบเดียวกับด้านบน แต่ถ่ายโดยใช้ระยะมุมกว้าง 18 มม. คุณจะเห็นเอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเป็คทีฟเกินจริงในส่วนของจานที่อยู่ใกล้คุณ ซึ่งดูมีขนาดใหญ่ขึ้นและจานดูเป็นรูปทรงรี เมื่อเปรียบเทียบกับภาพนี้ที่ถ่ายโดยใช้ระยะสุดฝั่งเทเลโฟโต้ 55 มม. ภาพที่ได้จะตรงตามวัตถุจริงมากกว่า
18 มม.
EOS 200D/ EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 18 มม. (เทียบเท่า 29 มม.)/ Aperture-priority AE (f/4, 1/250 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
4. การฝึกใช้โบเก้
การสร้างแบ็คกราวด์เบลอ (โบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์) ไม่ใช่เรื่องของการใช้ค่า f ที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ระยะโฟกัส ทางยาวโฟกัส และระยะห่างระหว่างตัวแบบกับแบ็คกราวด์ คุณสามารถอ่านเกี่ยวกับไดนามิกเพิ่มเติมได้ใน พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #3: การสร้างโบเก้ แต่สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำตรงนี้คือ เพียงคุณทำตามเงื่อนไข 3 ข้อต่อไปนี้ให้ครบ แม้แต่เลนส์คิทอย่างเช่น EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM ก็สามารถสร้างแบ็คกราวด์เบลอขนาดใหญ่ได้:
1. ทางยาวโฟกัสค่อนข้างยาว
2. ระยะโฟกัสสั้น และ
3. ระยะห่างระหว่างตัวแบบกับแบ็คกราวด์ค่อนข้างมาก
เราลองมาศึกษาวิธีสร้างโบเก้ขนาดใหญ่ที่ส่วนแบ็คกราวด์โดยใช้เลนส์นี้ทีละขั้นตอนกัน
ขั้นตอนที่ 1: สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณถ่ายภาพโดยใช้ระยะมุมกว้าง
ภาพด้านล่างนี้ถ่ายโดยใช้ระยะมุมกว้าง 18 มม. ผมเลือกใช้รูรับแสงกว้างสุด แต่เนื่องจากทางยาวโฟกัสที่สั้นและระยะโฟกัสที่ยาว แบ็คกราวด์เบลอจึงเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก
EOS 200D/ EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 18 มม. (เทียบเท่า 29 มม.)/ Aperture-priority AE (f/4, 1/50 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ขั้นตอนที่ 2: ซูมเข้าจนถึงระยะสุดฝั่งเทเลโฟโต้
สำหรับภาพด้านล่าง ผมยืนอยู่ที่ตำแหน่งถ่ายภาพจุดเดียวกับในขั้นตอนที่ 1 แต่ซูมภาพเข้าจนถึงระยะสุดฝั่งเทเลโฟโต้ที่ 55 มม. ตอนนี้ผมใช้ทางยาวโฟกัสยาวขึ้น แบ็คกราวด์เบลอจึงเห็นได้ชัดเจนขึ้นเล็กน้อย
EOS 200D/ EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 55 มม. (เทียบเท่า 88 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/80 วินาที, EV+0.3)/ ISO 125/ WB: อัตโนมัติ
ขั้นตอนที่ 3: ขยับเข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้น
ผมยังคงใช้ระยะสุดฝั่งเทเลโฟโต้ แต่ขยับเข้าใกล้ดอกไม้ที่ผมต้องการให้เป็นตัวแบบหลักมากขึ้น ผมจึงอยู่ห่างจากตัวแบบในระยะโฟกัสต่ำสุด จะเห็นว่าแบ็คกราวด์เบลอชัดเจนมากขึ้น นี่แสดงให้เห็นว่าระยะโฟกัสที่สั้นลงจะยิ่งทำให้แบ็คกราวด์อยู่นอกโฟกัสมากขึ้น
EOS 200D/ EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 55 มม. (เทียบเท่า 88 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/80 วินาที, EV+0.3)/ ISO 125/ WB: อัตโนมัติ
ขั้นตอนที่ 4: ยังคงใช้ระยะสุดฝั่งเทเลโฟโต้ แต่เปลี่ยนมุมถ่ายภาพเพื่อเน้นแบ็คกราวด์ที่อยู่ในระยะไกล
ผมยังรักษาทางยาวโฟกัสที่ระยะสุดฝั่งเทเลโฟโต้และระยะการถ่ายเช่นเดิม แต่เปลี่ยนมุมถ่ายภาพเพื่อให้แบ็คกราวด์อยู่ในระยะไกล ซึ่งทำให้แบ็คกราวด์อยู่นอกโฟกัสมากขึ้นจนเกิดโบเก้ที่นุ่มนวล
EOS 200D/ EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 55 มม. (เทียบเท่า 88 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/80 วินาที, EV+0.3)/ ISO 160/ WB: อัตโนมัติ
ข้อมูลจำเพาะ
ช่วงทางยาวโฟกัส (เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.): 29 – 88 มม.
โครงสร้างเลนส์: 12 ชิ้นเลนส์ใน 10 กลุ่ม
จำนวนม่านรูรับแสง: 7
ระยะโฟกัสใกล้ที่สุด: 0.25 ม.
กำลังขยายสูงสุด: 0.25 เท่า (ที่ 55 มม.)
ระบบป้องกันภาพสั่นไหว: 4 สต็อป
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: φ58 มม.
ขนาด: ประมาณ 66.5×61.8 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 215 กรัม
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย