คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์ #1: “ระยะโฟกัสใกล้สุด” หมายถึงอะไร มาหาคำตอบกันว่าแท้จริงแล้ว
บทความต่อเนื่องชุดนี้จะเป็นการตอบคำถามเกี่ยวกับเลนส์ที่คุณคิดว่ารู้คำตอบอยู่แล้ว แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในบทความนี้ เราจะมาดูคุณสมบัติเฉพาะของเลนส์ข้อหนึ่งที่คุณอาจต้องนำไปพิจารณาเมื่อจะซื้อหรือเลือกว่าจะใช้เลนส์รุ่นไหนดี นั่นก็คือ ระยะโฟกัสใกล้สุด หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระยะการถ่ายภาพต่ำสุด (เรื่องโดย: Shirou Hagihara, Digital Camera Magazine)
ระยะโฟกัสใกล้สุดไม่เหมือนกับระยะการทำงาน!
หลายคนเข้าใจว่าระยะโฟกัสใกล้สุดและระยะการทำงานของเลนส์คือสิ่งเดียวกัน ทั้งสองอย่างนั้นมีความเกี่ยวข้่องกัน แต่ไม่เหมือนกัน!
ระยะโฟกัสใกล้สุดของเลนส์ (ดูระยะ A ด้านล่าง) หมายถึง ระยะที่สั้นที่สุดระหว่างตัวแบบกับผิวของเซนเซอร์ภาพ (ระนาบโฟกัส) ที่ต้องเว้นไว้เพื่อให้เลนส์สามารถโฟกัสได้ ความยาวของเลนส์ไม่ส่งผลต่อระยะนี้และไม่เปลี่ยนแปลงแม้คุณจะทำการซูมเลนส์
ในทางกลับกัน ระยะการทำงาน (ดูระยะ B ด้านล่าง) หมายถึง ระยะห่างระหว่างขอบด้านหน้าของเลนส์กับตัวแบบ
เลนส์ที่มีระยะโฟกัสใกล้สุดที่สั้นมากจะช่วยให้คุณถ่ายภาพที่คมชัดและอยู่ในโฟกัสได้ด้วยระยะการทำงานที่สั้นกว่า
เคล็ดลับ: การถ่ายภาพในระยะใกล้เกินไปก็มีข้อเสีย
การที่คุณสามารถถ่ายภาพตัวแบบในระยะใกล้ได้อย่างอิสระนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเข้าใกล้เกินไป เลนส์ฮูดและเงาของเลนส์อาจจะติดเข้ามาในภาพด้วย ซึ่งคงไม่ดีแน่สำหรับบางฉาก! คุณควรเตรียมการป้องกันที่จำเป็นไว้ล่วงหน้า หากเลนส์ของคุณไม่มีไฟ Macro Lite ในตัว ลองพิจารณาดูว่าคุณอยากจะซื้อแฟลชที่ออกแบบมาสำหรับการถ่ายภาพมาโครหรือไม่
ข้อควรรู้: กล้องคอมแพคบางรุ่นอาจมีสเปค เช่น “มาโคร 1 ซม.” ซึ่งหมายถึงระยะการทำงานของเลนส์ ไม่ใช่ระยะโฟกัสใกล้สุด
A: ระยะโฟกัสใกล้สุด
B: ระยะการทำงาน
ระยะโฟกัสใกล้สุดวัดจากตรงไหน
กล้อง EOS ของ Canon จะมีสัญลักษณ์ระนาบโฟกัสบนตัวกล้อง เซนเซอร์ภาพจะอยู่ใต้เครื่องหมายนี้ และระยะโฟกัสใกล้สุดจะวัดจากเครื่องหมายนี้ไปจนถึงตัวแบบ หากเลนส์มีตัววัดระยะ ระยะใกล้สุดที่ระบุบนตัววัดจะเทียบเท่ากับระยะโฟกัสใกล้สุด
เมื่อใดที่ระยะโฟกัสใกล้สุดมีความสำคัญ
- เมื่อคุณถ่ายภาพมาโคร
สำหรับเลนส์มาโครหลายๆ รุ่น คุณมักจะต้องถ่ายภาพที่ระยะโฟกัสใกล้สุดเพื่อให้ได้กำลังขยายสูงสุด แต่คุณคงไม่อยากเข้าใกล้ตัวแบบมากจนเกินไปทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณถ่ายภาพสิ่งมีชีวิตที่ตื่นตกใจได้ง่าย เช่น แมลง
เคล็ดลับ: ใช้เลนส์มาโครเทเลโฟโต้ เช่น EF180mm f/3.5L Macro USM (C.F.D: 0.45 ม.) หรือเลนส์ EF100mm f/2.8L Macro IS USM (C.F.D: 0.3 ม.) เพื่อให้ได้กำลังขยายเท่าขนาดจริงแม้จะถ่ายจากระยะห่างพอสมควร
- เมื่อคุณพยายามสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้
การถ่ายภาพโดยที่กล้องอยู่ใกล้กับตัวแบบมากขึ้นทำให้ได้ระยะชัดที่ตื้นขึ้น ซึ่งช่วยให้เกิดเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่ชัดเจนขึ้นในแบ็คกราวด์
- เมื่อคุณถ่ายภาพในพื้นที่แคบ
หากระยะโฟกัสใกล้สุดมีความยาวมาก คุณจะต้องยืนห่างออกไปจากตัวแบบมากขึ้น และนี่ยังไม่รวมถึงการจัดเฟรมและองค์ประกอบภาพ จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมการใช้เลนส์ซูมเทเลโฟโต้ เช่น EF70-200mm f/4L IS II USM (C.F.D: 1.0 ม.) ในการถ่ายภาพใครสักคนที่นั่งอยู่โต๊ะฝั่งตรงข้ามในคาเฟ่เล็กๆ จึงเป็นเรื่องยาก
ระยะโฟกัสใกล้สุดของเลนส์ Canon ที่ใช้กันทั่วไป
RF24-105mm f/4L IS USM
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.45 ม.
RF35mm f/1.8 Macro IS STM
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.17 ม.
EF50mm f/1.8 STM
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.35 ม.
EF16-35mm f/4L IS USM
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.23 ม.
EF70-200mm f/4L IS II USM
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 1.0 ม.
EF100mm f/2.8L Macro IS USM
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.3 ม.
EF-S55-250mm f/4-5.6 IS STM
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.85 ม.
EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.25 ม.
EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.25 ม.
EF-M28mm f/3.5 Macro IS STM
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.093 ม.
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดในปี 1959 ที่เมืองยามานาชิ หลังจากจบการศึกษาจาก Nihon University, Hagihara มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นนิตยสารถ่ายภาพ Fukei Shashin ที่เขาทำงานเป็นบรรณาธิการและผู้ตีพิมพ์ ต่อมาเขาลาออกและผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ ปัจจุบัน Hagihara ทำงานอยู่ในวงการถ่ายภาพและเขียนผลงานที่เน้นการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ เขาเป็นสมาชิกของ Society of Scientific Photography (SSP)
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation