เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (4): การใช้เลนส์พิเศษ
นอกจากเลนส์มุมกว้าง เลนส์มาตรฐาน และเลนส์เทเลโฟโต้แล้ว ยังมีเลนส์พิเศษชนิดอื่น เช่น เลนส์มาโครและเลนส์ฟิชอายด้วย เลนส์เหล่านี้ให้มุมรับภาพที่ไม่เหมือนใคร จึงเปิดมุมมองใหม่ให้กับโลกรอบตัวคุณ มาดูกันว่าคุณจะสามารถใช้เลนส์เหล่านี้เพื่อเพิ่มเสน่ห์ให้กับการจัดองค์ประกอบภาพของคุณได้อย่างไร (เรื่องโดย: Tatsuya Tanaka)
เลนส์มาโคร
เลนส์มาโครเป็นเลนส์ชนิดพิเศษที่ช่วยให้คุณถ่ายภาพตัวแบบขนาดเล็กแบบโคลสอัพได้ เลนส์ประเภทนี้สามารถนำไปใช้ในการถ่ายภาพตัวแบบได้หลายชนิด เช่น แมลง พืช หรือแม้แต่อาหาร
“เลนส์มาโครที่แท้จริง” มีอัตราส่วนในการถ่ายภาพอย่างน้อย 1:1 (กำลังขยาย 1 เท่า) ซึ่งหมายความว่าที่ระยะโฟกัสใกล้สุด ภาพของตัวแบบที่ได้จะมีขนาดเท่าของจริง เลนส์มาโครจึงเหมาะสำหรับการถ่ายภาพตัวแบบให้เต็มเฟรมหรือดึงความสนใจไปที่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ
มุมรับภาพของเลนส์มาโครที่กำลังขยาย 1.0 เท่า
A: มุมรับภาพ
B: พื้นที่ที่ขยาย 1.0 เท่า
C: เลนส์
ที่กำลังขยาย 1 เท่า มุมรับภาพจะแคบลงมากจนเหมือนกับมุมรับภาพของเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์มาโครได้ที่: ค้นพบโลกใบใหม่ด้วยเลนส์มาโคร
ใช้เลนส์มาโครถ่ายภาพแมลงหรือดอกไม้อย่างใกล้ชิด
เลนส์มาโครช่วยให้คุณถ่ายภาพแมลงหรือดอกไม้ได้ในระยะที่ใกล้กว่าปกติ
เคล็ดลับ: สำหรับตัวแบบที่ตื่นกลัวได้ง่าย ให้ใช้เลนส์มาโครเทเลโฟโต้ 180 มม. คุณจะสามารถใช้กำลังขยาย 1.0 เท่าได้โดยไม่ต้องเข้าใกล้ตัวแบบมากเกินไป เมื่อเทียบกับเลนส์ที่สั้นกว่า
ผมถ่ายภาพผีเสื้อที่กำลังบินเข้าไปหาดอกไม้ด้วยเลนส์มาโครเทเลโฟโต้ 180 มม. และผมยังจัดองค์ประกอบภาพโดยใช้กฎสามส่วนด้วย
ใช้เลนส์มาโครเพื่อขยายรายละเอียดบนตัวแบบให้ใหญ่ขึ้น
คุณสามารถใช้เลนส์มาโครเพื่อถ่ายรายละเอียดที่ปกติแล้วเราอาจไม่สังเกตเห็น เช่น เส้นและเส้นใบที่อยู่บนใบไม้นี้
ภาพโคลสอัพบนเส้นใบของใบไม้ที่ร่วงนี้ถ่ายด้วยเลนส์มาโคร 100 มม. ผมจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยง
ข้อควรรู้ (1): การถ่ายภาพแบบมาโครมักเกิดปัญหากล้องสั่นไหวได้ง่าย
เมื่อถ่ายภาพในระยะใกล้ เลนส์ที่คุณใช้อาจทำให้เกิดเงาบนตัวแบบ จึงมีแสงไม่เพียงพอ เนื่องจากระยะชัดมักจะตื้นมากอยู่แล้ว การใช้รูรับแสงที่กว้างขึ้นจึงอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี คุณต้องเลือกระหว่างการทำให้ตัวแบบสว่างขึ้น หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำลง แต่การใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำลงนั้นเสี่ยงต่อปัญหากล้องสั่นไหว ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อใช้กำลังขยายที่สูงขึ้น หากเลนส์ของคุณมีระบบป้องกันภาพสั่นไหว (IS) ก็จะช่วยได้มาก หรือคุณอาจใช้ขาตั้งกล้องเพื่อให้มีความมั่นคงมากขึ้น
ดูเพิ่มเติมได้ที่: การถ่ายภาพมาโครในสภาพแสงน้อย: การป้องกันปัญหากล้องสั่นไหว
ข้อควรรู้ (2): วิธีการโฟกัสแบบแมนนวลที่มีประสิทธิภาพที่สุด
สำหรับการถ่ายภาพมาโคร โฟกัสแบบแมนนวลมักจะใช้งานได้ง่ายกว่าเนื่องจากระยะชัดที่แคบจะทำให้การโฟกัสอัตโนมัติเป็นเรื่องยาก ในการถ่ายภาพตามปกติ คุณอาจจัดองค์ประกอบภาพก่อน จากนั้นจึงหมุนวงแหวนโฟกัสเพื่อให้ภาพคมชัดขึ้น แต่หากเป็นการถ่ายภาพมาโคร การหมุนวงแหวนโฟกัสจะทำให้อัตราขยายภาพเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้องค์ประกอบภาพเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ต่อไปนี้คือวิธีที่ได้ผลดีกว่า:
1. หมุนวงแหวนโฟกัสจนกว่าคุณจะได้อัตราขยายภาพที่ต้องการ
2. ขยับกล้องไปด้านหน้าและหลังจนกว่าภาพจะคมชัด
เคล็ดลับ: คุณอาจจัดองค์ประกอบภาพได้ง่ายขึ้นหากกล้องของคุณมีตำแหน่ง/จุด AF เป็นจำนวนมาก
บทเรียนบางส่วนเกี่ยวกับการใช้เลนส์มาโคร:
ภาพมาโครชวนน้ำลายสอ: ศิลปะแห่งการถ่ายภาพอาหารแบบโคลสอัพ
การถ่ายภาพสะท้อนของดอกไม้บนหยดน้ำ
การถ่ายภาพดอกไม้: วิธีสร้างวงกลมโบเก้ที่สว่างจ้าให้สวยแจ่มด้วยเลนส์มาโคร
เลนส์ฟิชอาย
เลนส์ฟิชอาย คือ เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์แบบพิเศษที่ให้เอฟเฟ็กต์บิดเบี้ยวเป็นแนวโค้ง เกิดเป็นมุมมองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เลนส์ฟิชอายมีสองประเภทที่แตกต่างกันคือ แนวทแยงและทรงกลม
A: มุมรับภาพของเลนส์ฟิชอายแนวทแยง
B: มุมรับภาพของเลนส์ฟิชอายทรงกลม
C: เลนส์
เลนส์ฟิชอายทรงกลมให้มุมรับภาพ 180° ในแนวนอน, 180° ในแนวตั้งและ 180° ในแนวทแยง ทำให้ได้พื้นที่ครอบคลุมเป็นรูปคล้ายครึ่งโดม
เลนส์ฟิชอายแนวทแยง (หรือฟูลเฟรม) ให้มุมรับภาพ 180° ในแนวทแยง
เลนส์ฟิชอายอาจเป็นเลนส์เดี่ยวหรือเลนส์ซูมก็ได้ เลนส์ซูมฟิชอายนั้นสามารถให้ทั้งเอฟเฟ็กต์แบบทรงกลมและแนวทแยง โดยเอฟเฟ็กต์ที่ได้ขึ้นอยู่กับมุมรับภาพและขนาดของเซนเซอร์ภาพ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ฟิชอายได้ที่นี่:
เลนส์ฟิชอาย: สิ่งที่ผู้เริ่มต้นต้องรู้
เลนส์ฟิชอายทรงกลม: เอียงเลนส์ขึ้นเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์เหมือนอยู่ใน “หอดูดาว”
เลนส์ฟิชอายทรงกลมจะสร้างภาพขึ้นภายในวงภาพของเลนส์ ทำให้เกิดเป็นเอฟเฟ็กต์ “วิสัยทัศน์อุโมงค์” ดังแสดงด้านล่าง เมื่อคุณเอียงเลนส์ขึ้นด้านบน เลนส์จะทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์เหมือนตัวแบบปรากฏอยู่เหนือคุณด้านบน ราวกับว่าคุณกำลังอยู่ในหอดูดาว
การเอียงเลนส์ขึ้นด้านบนตรงๆ ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์ที่เหมือนกับกำลังมองจากหอดูดาว
เคล็ดลับ: สำหรับเลนส์ฟิชอายทั้งสองชนิด ความบิดเบี้ยวจะเพิ่มขึ้นเมื่อคุณเข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้น ผมถ่ายภาพนี้โดยเข้าไปใกล้ต้นไม้
ฟิชอายแบบแนวทแยง: จัดวางแนวให้ดี
เลนส์ฟิชอายแนวทแยงมีอีกชื่อหนึ่งว่า เลนส์ฟิชอายฟูลเฟรม เนื่องจากภาพจากเลนส์นี้จะครอบคลุมทั้งเฟรมภาพ เลนส์นี้อาจเป็นเลนส์ที่ให้มุมรับภาพขนาดใหญ่ที่สุดแล้วสำหรับภาพเช่นนี้
นอกจากการบิดเบี้ยวแล้ว ภาพที่ได้จากเลนส์ฟิชอายแนวทแยงจะเหมือนกับภาพธรรมดา สำหรับในบางฉาก ภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ฟิชอายแนวทแยงอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นภาพจากเลนส์ธรรมดาที่จัดวางแนวได้ไม่ดี ในภาพตัวอย่างด้านบน กล้องตั้งตรงในแนวนอน แต่การบิดเบี้ยวทำให้ดูเหมือนเป็นภาพที่เอียง ควรระมัดระวังเอฟเฟ็กต์เช่นนี้หากความมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญในภาพของคุณ
เคล็ดลับ: หากต้องการให้เส้นขอบฟ้าอยู่ในแนวตรง ให้วางขอบฟ้าเอาไว้ตรงกลางเฟรม เพราะนั่นคือจุดที่มองเห็นเอฟเฟ็กต์การบิดเบี้ยวได้น้อยที่สุด
ดูภาพตัวอย่างที่ถ่ายด้วยเลนส์ฟิชอายเพิ่มเติมได้ที่:
ถ่ายภาพใต้น้ำด้วย EF8-15mm f/4L Fisheye USM – ถ่ายภาพสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลให้สวยงามน่าทึ่ง
การถ่ายภาพภูมิทัศน์: ถ่ายภาพพายุ
การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: แสงด้านหน้าหรือแสงด้านหลัง
บทความอื่นๆ ในบทความต่อเนื่องชุดนี้:
1. เส้นนำสายตา จังหวะที่ไม่คาดคิด และการตัดส่วนเกิน
2. “รูปแบบและจังหวะ” และ “เส้นโค้งรูปตัว S”
3. ดึงความสามารถสูงสุดของเลนส์มาใช้
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดเมื่อปี 1956 Tanaka เป็นหนึ่งในช่างภาพที่หาตัวจับยาก ซึ่งได้สร้างผลงานไว้หลากหลายแนวจากมุมมองที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง เขาถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ มากมายตั้งแต่สิ่งที่มองเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น แมลงและดอกไม้ ไปจนถึงภาพทิวทัศน์ ตึกสูง และดวงดาวบนท้องฟ้าเลยทีเดียว นอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว Tanaka ยังพัฒนาวิธีการของตัวเองในกระบวนการปรับแต่งภาพรวมทั้งการรีทัชและการพิมพ์ขึ้นมาอีกด้วย