การถ่ายภาพมาโคร: สร้างแบ็คกราวด์ไล่เฉดสีที่งดงามด้วยเลนส์ f/2.8
การใช้รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์มาโครจะช่วยให้สามารถบันทึกภาพโลกที่เราไม่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ในบทความนี้ ผมจะแนะนำเคล็ดลับการถ่ายภาพในการทำให้แบ็คกราวด์เบลอโดยมีการไล่เฉดสีที่งดงาม ซึ่งจะช่วยเน้นให้หยดน้ำฝนดูเด่นชัดขึ้น (เรื่องโดย Shirou Hagihara)
EOS 5D Mark III/ EF100mm f/2.8L Macro IS USM/ FL: 100 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/250 วินาที, EV+0.7)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ผมตั้งค่าการเปิดรับแสงไปทางด้านที่สว่างกว่าเล็กน้อยเพื่อให้แน่ใจว่าสีชมพูในแบ็คกราวด์จะไม่ดูทึมทึบจนเกินไป ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้ประกายสีดูโดดเด่นพร้อมกับถ่ายทอดความงดงามของฤดูร้อน
เลนส์มาโครและรูรับแสงที่กว้างสุดจะสามารถเก็บภาพโลกที่เราไม่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน
โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ในผลงาน จึงมักตั้งค่ารูรับแสงให้กว้างสุดแม้จะถ่ายภาพทิวทัศน์ก็ตาม เมื่อใช้เลนส์มาโคร ผมจะใช้รูรับแสงกว้างสุดแทบทุกครั้ง เพราะต้องการให้โฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์เบลอและมีเพียงการไล่เฉดสีเมื่อถ่ายภาพในระยะมาโคร
เอฟเฟ็กต์ลักษณะนี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การถ่ายภาพโลกที่เราไม่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันเช่นนี้ทำให้การใช้เลนส์มาโครควบคู่ไปกับรูรับแสงกว้างสุดเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก
วิธีการถ่ายภาพนี้:
สำหรับการถ่ายภาพด้านบน ผมไปที่แปลงดอกไม้ทันทีที่ฝนหยุด ผมเห็นหยดน้ำฝนหลายหยดบนใบไม้ที่เรียวเล็ก ในแบ็คกราวด์มีดอกกุหลาบพันปีสีชมพูสดใสกำลังเบ่งบานเต็มที่ ผมตัดสินใจใช้หยดน้ำฝนนี้เป็นตัวแบบหลักเพื่อถ่ายทอดโลกแห่งสีสันที่สามารถถ่ายทอดได้ด้วยเลนส์มาโครเท่านั้น
โดยให้แบ็คกราวด์มีแต่กุหลาบพันปี ผมตั้งค่ารูรับแสงกว้างสุดเพื่อให้ไม่สามารถมองเห็นรูปทรงและพื้นผิวของดอกไม้ได้อีกต่อไปและเห็นเพียงการไล่เฉดสี
หากผมใช้รูรับแสงที่แคบก็จะสามารถถ่ายทอดพื้นผิวของหยดน้ำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ผมตั้งใจสร้างเอฟเฟ็กต์การไล่เฉดสี ซึ่งรูรับแสงแคบจะทำให้ได้ผลตรงกันข้ามคือมีเส้นขอบระหว่างโทนสีที่แตกต่างกันชัดเจน
เคล็ดลับ: สีแบ็คกราวด์ที่ต่างกันจะสร้างเอฟเฟ็กต์ภาพต่างกัน
สำหรับการสื่ออารมณ์ในภาพถ่ายด้วยการไล่เฉดสี เอฟเฟ็กต์ที่เกิดจากสีที่เลือกจะส่งผลต่อผลงานอย่างมาก โทนเย็นและโทนอบอุ่นจะสร้างเอฟเฟ็กต์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ผมจึงขอแนะนำให้คุณเลือกสีแบ็คกราวด์ที่สามารถสะท้อนสิ่งที่คุณต้องการถ่ายทอดผ่านตัวแบบหลักได้อย่างแม่นยำ ลองมาดูกันว่าตัวแบบหลักเดียวกันจะเปลี่ยนแปลงไปตามสีแบ็คกราวด์อย่างไร
EOS 5D Mark III/ EF100mm f/2.8L Macro IS USM/ f/2.8/ 1/500 วินาที/ ISO 400
ในภาพนี้ ผมให้จุดเด่นของภาพอยู่ที่สีชมพูที่สะท้อนอยู่ในหยดน้ำ ซึ่งดูโดดเด่นเหนือสีเขียวที่อยู่ในทั่วทั้งภาพ เมื่อเปรียบเทียบกัน ภาพนี้จะดูไม่ค่อยมีสีสันสดใสเท่ากับภาพแรก
EOS 5D Mark III/ EF100mm f/2.8L Macro IS USM/ f/2.8/ 1/320 วินาที/ ISO 800
ภาพนี้ถูกแบ่งออกเป็นส่วนสีเขียวและส่วนสีชมพู สีชมพูจะดูโดดเด่นขึ้นเมื่อใช้สีเขียวเป็นแบ็คกราวด์
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดย ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดในปี 1959 ที่เมืองยามานาชิ หลังจากจบการศึกษาจาก Nihon University, Hagihara มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นนิตยสารถ่ายภาพ Fukei Shashin ที่เขาทำงานเป็นบรรณาธิการและผู้ตีพิมพ์ ต่อมาเขาลาออกและผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ ปัจจุบัน Hagihara ทำงานอยู่ในวงการถ่ายภาพและเขียนผลงานที่เน้นการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ เขาเป็นสมาชิกของ Society of Scientific Photography (SSP)
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation