[ตอนที่ 1] ฟังก์ชั่นของกล้องที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดองค์ประกอบภาพ
การจัดองค์ประกอบภาพและฟังก์ชั่นของกล้อง แม้อาจดูไม่เกี่ยวข้องกัน แต่แท้จริงแล้ว สองสิ่งนี้สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด หากเรานิยามการจัดองค์ประกอบภาพว่าเป็นวิธีการจัดวางโครงสร้างองค์ประกอบในภาพภาพหนึ่ง เช่นนั้นแล้วฟังก์ชั่นของกล้องก็เป็นเทคนิคเบื้องหลังที่ช่วยขับเน้นบรรยากาศหรือภาพที่ช่างภาพตั้งใจไว้ ในบทความนี้ จะมีคำแนะนำเบื้องต้นถึงคุณสมบัติที่พึงรู้บางประการ (เขียนโดย: Tatsuya Tanaka ภาพถ่ายประกอบโดย: Atsushi Matsubara)
หน้า: 1 2
รูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และปริมาณแสงมีผลต่อการจัดองค์ประกอบภาพ
ฟังก์ชั่นของกล้อง เช่น “รูรับแสง” และ “ความเร็วชัตเตอร์” มีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการจัดองค์ประกอบภาพ ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนค่ารูรับแสงไปเป็นอีกค่าหนึ่งจะเปลี่ยนระยะชัดของภาพ (พื้นที่ที่ปรากฏในระยะโฟกัส) และอารมณ์ภาพอาจเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับว่ากล้องจับโฟกัสที่บริเวณจุดเดียวหรือทั่วทั้งภาพ ขณะเดียวกัน ความเร็วชัตเตอร์มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการถ่ายทอดไดนามิกของตัวแบบที่เคลื่อนไหว องค์ประกอบภาพที่ออกมาจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าตัวแบบ “หยุดนิ่ง” หรือเป็นภาพเบลอ ในทำนองเดียวกัน การเปิดรับแสงก็มีผลต่อองค์ประกอบของภาพถ่าย อย่างในการปรับความสว่างและโทนสีให้เป็นไปตามอารมณ์ภาพที่ต้องการ ในส่วนถัดไป เราจะมาดูคุณสมบัติต่างๆ ของกล้องกัน
ภาพย้อนแสงของเครื่องบินทะเล เมื่อเลือกค่าการเปิดรับแสงให้สอดคล้องกับแสงที่ส่องมาจากด้านหลังตัวแบบแล้ว คุณจะได้บรรยากาศโลวคีย์โดยมีเครื่องบินทะเลเป็นตัวแบบในสไตล์ซิลูเอตต์ ในทางกลับกัน การปรับความสว่างตามตัวเครื่องบินจะสร้างลักษณะแบบไฮคีย์ หรืออาจสรุปอย่างนี้ว่า อารมณ์ภาพที่เกิดจากการจัดองค์ประกอบเหมือนกันจะเปลี่ยนไปได้ตามความสว่างที่คุณถ่ายทอดออกมา
ผลจาก “รูรับแสง” : ความตั้งใจที่สื่อผ่านถ่ายภาพเปลี่ยนไปตามพื้นที่ในระยะโฟกัส
ปรับการตั้งค่ารูรับแสง
ลองเปรียบเทียบภาพทางเดินสามภาพด้านล่างนี้ พื้นที่ในระยะโฟกัสเปลี่ยนไปอย่างมากเมื่อตั้งค่ารูรับแสงที่ค่าสูงสุด (f/2.8 ในกรณีนี้) หรือที่ f/5.6 หรือ f/11 บรรยากาศที่เกิดขึ้นในภาพที่ได้ก็เปลี่ยนไปด้วย ภาพถ่ายดอกไม้ด้านล่างเป็นอีกตัวอย่างของการจัดองค์ประกอบภาพที่ใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากค่ารูรับแสง ในภาพนี้ ผมสร้างแบ็คกราวด์เบลอในบริเวณกว้างเพื่อจะขับเน้นตัวแบบหลัก ซึ่งก็คือ ดอกไม้ ให้โดดเด่น ผมใช้หลักการจัดองค์ประกอบภาพแบบ “กฎสามส่วน” เพื่อเพิ่มความรู้สึกอันแน่วแน่และสร้างอารมณ์ภาพที่ชัดเจนขึ้น แต่เมื่อต้องแสดงความกว้างขวางของภาพถ่ายทิวทัศน์ ผมเพิ่มค่ารูรับแสงเพื่อให้ภาพทั้งภาพอยู่ในระยะโฟกัส
เพียงแค่ค่ารูรับแสงที่เปลี่ยนไป
f/2.8
f/5.6
f/11
ตัวอย่างนี้เปรียบเทียบให้เห็นถึงผลที่เกิดขึ้นเมื่อปรับเปลี่ยนค่ารูรับแสงบนกล้องขนาด APS-C เมื่อใช้ขนาด f/2.8 มีเพียงพื้นที่เล็กๆ จุดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในระยะโฟกัส ส่วนแบ็คกราวด์นั้นเบลอ เมื่อลดขนาดรูรับแสงเป็น f/5.6 และ f/11 พื้นที่โฟกัสขยายกว้างขึ้นจนแบ็คกราวด์อยู่ในระยะโฟกัส สร้างอารมณ์ภาพแบบคมชัดยิ่งขึ้น
แบ็คกราวด์เบลอในพื้นที่กว้างขับเน้นดอกไม้ให้โดดเด่น
ถ้าคุณต้องการสร้างภาพของดอกไม้ที่ส่งอารมณ์ภาพได้ดี ให้สร้างความแตกต่างระหว่างพื้นที่ที่เบลอและพื้นที่ที่คมชัด การทำเช่นนั้นช่วยสร้างบรรยากาศที่แตกต่างอย่างโดดเด่น
ถ่ายภาพทิวทัศน์ด้วยโฟกัสคมชัดทั่วทั้งภาพ
เมื่อค่ารูรับแสงเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างผลภาพแบบแพนโฟกัส บรรยากาศของภาพที่ได้จะมีความละเอียดคมชัดสูง เพราะภาพทั้งภาพอยู่ในระยะโฟกัส
ผลจาก “ปริมาณแสง”: การปรับความสว่างช่วยเปลี่ยนอารมณ์ภาพ
เปลี่ยนการตั้งค่าการเปิดรับแสง
ในลักษณะเดียวกันกับที่ปริมาณแสงมาตรฐานเปลี่ยนไปตามตัวแบบ ปริมาณแสงที่เหมาะสมก็แตกต่างกันไปตามการจัดองค์ประกอบภาพด้วย แม้จะสามารถถ่ายภาพบางภาพได้โดยใช้ค่าการเปิดรับแสงที่กล้องคำนวณให้โดยอัตโนมัติ แต่ในบางกรณีที่คุณต้องการถ่ายภาพให้มีแสงสว่างจ้าหรือมืดลงกว่าปกติอย่างจงใจ ในภาพถ่ายภูเขาด้านล่างนี้ ผมใช้การจัดองค์ประกอบภาพแนวทแยงและลดการเปิดรับแสงลงเพื่อสร้างบรรยากาศภาพที่สงบเยือกเย็น กับภาพถ่ายดอกกุหลาบด้านล่างสุด ผมเลือกค่าการเปิดรับแสงที่สูงขึ้นและการจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง การเพิ่มความสว่างทั่วทั้งภาพช่วยขับเน้นความรู้สึกที่สว่างคมชัดและความพริ้วไหวของดอกไม้ ดังที่เห็นในภาพ อารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมาจากตัวแบบและองค์ประกอบแวดล้อมเปลี่ยนเมื่อระดับความสว่างแตกต่างไป
เพียงแค่ความสว่างที่เปลี่ยนไป
±0EV: ค่าการเปิดรับแสงมาตรฐาน
+1EV: สว่างขึ้น
-1EV: มืดลง
ภาพไร่นาที่มีกระท่อมเก็บเครื่องมือการทำฟาร์ม ผมปรับปริมาณแสงในภาพนี้เพื่อการเปรียบเทียบ แม้ว่าในภาพภาพเดียวจะสามารถเลือกสีและโทนต่างๆ ได้ตามความพอใจของช่างภาพ แต่เราสามารถหาปริมาณแสงที่เหมาะกับตัวแบบเพื่อเป็นพื้นฐานในการพิจารณาไว้ได้ หากคุณตั้งค่าการเปิดรับแสงตามความมุ่งหมายในการถ่ายทอดภาพของคุณ สิ่งนี้จะมีอิทธิพลต่อองค์ประกอบภาพด้วย ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเลือกการจัดองค์ประกอบภาพให้สอดคล้องกับปริมาณแสงที่เปิดรับ
เลือกปริมาณแสงต่ำลงเพื่อแสดงความตระหง่านมั่นคงของภูเขา
แสงอาทิตย์ซึ่งตกกระทบบนพื้นผิวของภูเขาที่ทาบยาวไปจนถึงทะเลสาบก่อให้เกิดความเปรียบต่างที่เด่นชัด สำหรับภาพนี้ ผมปรับปริมาณแสงโดยยึดเอาส่วนลาดเอียงของภูเขาซึ่งเป็นตำแหน่งที่แสงตกกระทบเป็นหลักเพื่อทำให้พื้นที่ที่อยู่ในร่มมืดลง ผลก็คือ การจัดองค์ประกอบภาพนี้ช่วยขับเอาบรรยากาศที่สงบเยือกเย็นออกมาได้ ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ สัดส่วนระหว่างแสงและเงา และสัดส่วนของทะเลสาบซึ่งมีบทบาทที่สนับสนุน ในกรณีเช่นนี้ การเลือกองค์ประกอบภาพอาจเป็นภารกิจที่ค่อนข้างท้าทาย
เคล็ดลับ
ผลจากการชดเชยแสงอาจเปลี่ยนแปลงไปแม้ว่าคุณจะใช้โหมดการเปิดรับแสงอัตโนมัติอื่น เช่น ในโหมด Aperture-priority AE การเปิดรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ถูกปรับเปลี่ยนโดยที่ค่ารูรับแสงที่ตั้งไว้ล่วงหน้ายังคงเท่าเดิม ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจึงอยู่ที่ความสว่างเป็นหลัก แต่ในโหมด Shutter-priority AE มีการปรับค่ารูรับแสงขณะที่ความเร็วชัตเตอร์ที่ตั้งไว้ล่วงหน้ายังคงเท่าเดิม ทำให้พื้นที่ในระยะโฟกัสเปลี่ยนแปลงเป็นหลัก ไม่เพียงแค่ความสว่างเท่านั้น ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ โอกาสน้อยครั้งที่ตัวแบบจะเคลื่อนไหว ดังนั้น Aperture-priority AE จึงเป็นโหมดที่นิยมใช้
เลือกปริมาณแสงสูงขึ้นเพื่อขับเน้นความรู้สึกนุ่มนวล
เมื่อถ่ายภาพดอกกุหลาบนี้ทั้งในระยะใกล้และแบบแพนโฟกัส คุณก็สามารถขับเน้นความสมจริงของดอกไม้ได้พร้อมกับเพิ่มความนุ่นนวลของดอกไม้ลงไป เพื่อให้ได้ภาพเช่นนั้น คุณต้องดูที่สีของดอกไม้และการเกลี่ยแสงที่กลีบดอกไม้จากส่วนเงาไปยังไฮไลต์ เมื่อทำการชดเชยแสงและจัดองค์ประกอบภาพตามความมุ่งหมายในใจได้แล้ว คุณจะสามารถสร้างผลงานที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
Tatsuya Tanaka
Tatsuya Tanaka เกิดเมื่อปี 1956 Tanaka เป็นหนึ่งในช่างภาพที่หาตัวจับยาก ซึ่งได้สร้างผลงานไว้หลากหลายแนวจากมุมมองที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง เขาถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ มากมายตั้งแต่สิ่งที่มองเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น แมลงและดอกไม้ ไปจนถึงภาพทิวทัศน์ ตึกสูง และดวงดาวบนท้องฟ้าเลยทีเดียว นอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว Tanaka ยังพัฒนาวิธีการของตัวเองในกระบวนการปรับแต่งภาพทั้งการรีทัชและการพิมพ์ขึ้นมาอีกด้วย