เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (2): “รูปแบบและจังหวะ” และ “เส้นโค้งรูปตัว S”
เรียนรู้วิธีทำให้ภาพถ่ายน่าดึงดูดและน่าสนใจยิ่งขึ้นโดยใช้เทคนิคต่างๆ ต่อไปนี้จากช่างภาพมืออาชีพ ในตอนที่ 2 ของบทความชุดนี้ เราจะมาทำความรู้จักแนวคิดเรื่อง “รูปแบบและจังหวะ” และ “เส้นโค้งรูปตัว S” (เรื่องโดย: Tatsuya Tanaka)
รูปแบบและจังหวะ: การใช้องค์ประกอบซ้ำๆ เพื่อสร้างภาพถ่ายที่สะดุดตา
จังหวะและรูปแบบอยู่รอบตัวคุณ
หากมองไปรอบๆ คุณจะพบรูปแบบในเส้น รูปทรง และแม้แต่สีสันมากมาย คุณสามารถมองเห็นรูปแบบในต้นไม้ที่ปลูกข้างถนนอย่างเป็นระเบียบ ในอิฐบนกำแพง หรือในกระเบื้องหินบนทางเดิน
ตัวอย่างรูปแบบ
เมื่อคุณเห็นรูปแบบดังกล่าว ให้ใส่ใจกับโครงสร้างและความกลมกลืน ว่ารูปแบบนั้นเกิดจากองค์ประกอบใดบ้าง และองค์ประกอบเหล่านั้นมารวมเข้ากันอย่างไร
วิธีนี้จะช่วยให้คุณสร้างภาพถ่ายที่น่าดึงดูดใจได้
จังหวะ: เปลี่ยนแปลงไปตามวิธีจัดเรียงองค์ประกอบที่ซ้ำกัน
ตราบใดที่มีองค์ประกอบซ้ำกันจะมีรูปแบบของจังหวะเกิดขึ้น ลองดูภาพดังต่อไปนี้
การวางแบบไม่มีแบบแผน
ภาพด้านบนเป็นภาพมัดฟางข้าวในนาที่จัดวางแบบไม่มีแบบแผน แม้ว่าจะจัดวางแบบไม่มีแบบแผน แต่ยังมีความสม่ำเสมอที่ทำให้เกิดจังหวะในภาพถ่าย
การวางแบบสม่ำเสมอ
ในภาพนี้ คุณจะเห็นมัดฟางข้าวชุดเดียวกันถูกจัดวางในรูปแบบที่เราสามารถคาดคะเนได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดจังหวะที่ต่างออกไป และภาพที่ได้ก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีใช้รูปแบบในบทความต่อไปนี้:
วิธีในการถ่ายภาพสำหรับอินสตาแกรมให้สวยยิ่งขึ้น
การถ่ายภาพแอบสแตร็ค: เปลี่ยนธรรมชาติให้เป็นพร็อบ
วิธีใช้เส้นสายหรือลวดลายให้เป็นประโยชน์ในการถ่ายภาพ
องค์ประกอบภาพแบบเส้นโค้งรูปตัว S: อีกวิธีหนึ่งที่จะเพิ่มมิติความลึกและมุมมองเปอร์สเป็คทีฟให้กับภาพถ่าย
เส้นโค้งในองค์ประกอบภาพแบบเส้นโค้งรูปตัว S เพิ่มความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวให้กับภาพนิ่ง ในบางกรณี เส้นโค้งอาจช่วยเพิ่มความลึกและเปอร์สเป็คทีฟให้กับภาพถ่ายอีกด้วย
วิธีสร้างองค์ประกอบภาพแบบเส้นโค้งรูปตัว S
มองหาองค์ประกอบที่คล้ายตัวอักษร “S” ซึ่งสามารถพบได้ในสายน้ำที่ลดเลี้ยว ถนนหนทางที่คดเคี้ยว หรือแม้แต่ในไม้เลื้อยที่ขึ้นอยู่ตามต้นไม้
1) เส้นโค้งรูปตัว S ช่วยเพิ่มความลึกให้กับภาพ
ในภาพที่มีเครื่องหมาย "X" เส้นโค้งดูนุ่มนวลเกินไป เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามดังเช่นภาพบนสุดนี้ ผมปรับตำแหน่งการถ่ายภาพและมุมกล้องเพื่อทำให้รูปทรง “S” ของเส้นทางเห็นชัดยิ่งขึ้น (ภาพที่ 3) และจะสังเกตเห็นว่าวิธีนี้ช่วยทำให้ภาพมีมิติความลึกมากขึ้นอีกด้วย
2) ตรวจสอบให้แน่ใจว่ารูปทรง “S” เห็นได้ชัดเจน
แม้ว่าภาพที่มีเครื่องหมาย “X” จะมีเส้นโค้งรูปตัว S แต่กลับเห็นรูปทรง “S” ได้ไม่ชัดเจนมากนัก สังเกตว่าสายน้ำแยกเป็นหลายทางในภาพกลาง จึงทำให้องค์ประกอบภาพดูยุ่งเหยิง ในภาพบนสุด ผมสามารถเก็บภาพเส้นโค้งรูปตัว S ได้อย่างชัดเจนโดยไม่มีสิ่งรบกวนความสนใจ องค์ประกอบภาพจึงดูเป็นระเบียบมากขึ้น
เคล็ดลับ: องค์ประกอบภาพที่มีถนนหรือแม่น้ำที่คดเคี้ยวไปมาเพียงอย่างเดียวอาจดูน่าเบื่อ แต่คุณจัดองค์ประกอบให้ดียิ่งขึ้นได้โดยเพิ่มสิ่งที่น่าสนใจ เช่น รถยนต์หรือต้นไม้
องค์ประกอบภาพแบบเส้นโค้งรูปตัว S ไม่เพียงเหมาะสำหรับภาพทิวทัศน์และภาพสตรีทเท่านั้น
แต่ยังทำให้การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ดูน่าสนใจด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นวัตถุชิ้นเล็กๆ จำนวนมาก เพียงจัดเรียงวัตถุเป็นรูปตัว S ดังตัวอย่างด้านล่าง
ในภาพแรก ผมจัดวางสิ่งของตามขนาด แต่องค์ประกอบภาพขาดโครงสร้างและดูรกรุงรัง การจัดเรียงใหม่เป็นรูปตัว S (ภาพที่สอง) ทำให้องค์ประกอบภาพดูเป็นระเบียบและมีจังหวะจะโคน
เคล็ดลับสุดท้าย: ใช้ร่วมกับเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอื่นเพื่อให้ภาพออกมาสวยงามยิ่งขึ้น
แม้ว่าองค์ประกอบภาพแบบเส้นโค้งรูปตัว S จะช่วยขับเน้นความลึกและมุมมองเปอร์สเป็คทีฟในภาพถ่าย แต่การใช้ร่วมกับการจัดองค์ประกอบภาพตามแนวเส้นทแยงมุมหรือแบบใช้คู่สีตรงข้ามจะช่วยให้ได้เอฟเฟ็กต์ที่ดียิ่งขึ้น
อ่านบทความตอนที่ 1 เพื่อเรียนรู้แนวคิดเกี่ยวกับเส้นนำสายตา จังหวะที่ไม่คาดคิด และการตัดส่วนเกิน
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดเมื่อปี 1956 Tanaka เป็นหนึ่งในช่างภาพที่หาตัวจับยาก ซึ่งได้สร้างผลงานไว้หลากหลายแนวจากมุมมองที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง เขาถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ มากมายตั้งแต่สิ่งที่มองเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น แมลงและดอกไม้ ไปจนถึงภาพทิวทัศน์ ตึกสูง และดวงดาวบนท้องฟ้าเลยทีเดียว นอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว Tanaka ยังพัฒนาวิธีการของตัวเองในกระบวนการปรับแต่งภาพรวมทั้งการรีทัชและการพิมพ์ขึ้นมาอีกด้วย