เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (1): เส้นนำสายตา จังหวะที่ไม่คาดคิด และการตัดส่วนเกิน
ในเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพขั้นพื้นฐาน เช่น กฎสามส่วนและการจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง คุณได้เรียนรู้ถึงวิธีในการแบ่งเฟรมและการจัดวางตำแหน่งของตัวแบบ แต่เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพขั้นสูงจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากคุณต้องคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแบบกับองค์ประกอบอื่นๆ ในภาพ รวมถึงเอฟเฟ็กต์ภาพจากมุมมองของผู้ชม อย่างไรก็ตาม การฝึกฝนเทคนิคเหล่านี้จนชำนาญจะช่วยให้สามารถถ่ายทอดอารมณ์ผ่านภาพถ่ายได้ดียิ่งขึ้น
โดยเริ่มจากสามแนวคิด ดังนี้ เส้นนำสายตา จังหวะที่ไม่คาดคิด และการตัดส่วนเกิน (เรื่องโดย: Tatsuya Tanaka)
1. เส้นนำสายตา: เส้นต่างๆ สามารถดึงความสนใจของผู้ชมได้!
เส้นนำสายตาเป็นเทคนิคการใช้เส้นต่างๆ ที่อยู่ในเฟรมภาพในการดึงดูดสายตาของผู้ชมไปยังตัวแบบหลัก เส้นเหล่านี้มักอยู่ในรูปแบบขององค์ประกอบอย่างเช่น ถนน แม่น้ำ หรือทางรถไฟ ซึ่งอาจทอดยาวจากด้านหน้าไปยังด้านหลังภาพ จากด้านซ้ายไปยังด้านขวา หรือในรูปแบบอื่นๆ และเนื่องจากเส้นเหล่านี้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ผู้ชมจึงเข้าใจจุดมุ่งหมายของช่างภาพได้อย่างง่ายดาย
เส้นนำสายตาสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ในภาพได้ด้วยการดึงดูดสายตาของผู้ชม
และหากเส้นทอดยาวจากด้านหน้าไปยังด้านล่าง เส้นนำสายตาจะช่วยสร้างมิติความลึกในภาพได้อีกด้วย
การใช้ทางรถไฟเพื่อดึงความสนใจของคนดูไปที่อุโมงค์
ในทั้งสองภาพ ทางรถไฟดึงดูดสายตาของผู้ชมไปที่อุโมงค์ แต่ภาพแรกถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีกว่าอีกภาพ
ภาพเสียทำพลาดไปอย่างไร
อุโมงค์อยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าเล็กน้อยจากส่วนบนของภาพ แม้ว่าสายตาของผู้ชมจะมองตามเส้นที่เกิดจากทางรถไฟ แต่ก็ถูกดึงความสนใจไปที่องค์ประกอบจำนวนมากที่อยู่ด้านบนอุโมงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบไม้เปลี่ยนสีที่อยู่บนภูเขาเหนืออุโมงค์
ภาพที่ดีทำได้ดีตรงไหน
อุโมงค์อยู่ในตำแหน่งส่วนบน ทำให้ทางรถไฟดูยาวขึ้น กินพื้นที่ในภาพมากขึ้น และสร้างเส้นนำสายตาไปยังอุโมงค์ได้ดียิ่งขึ้น
ใช้ถนนในไร่ดึงความสนใจของผู้ชมไปที่บ้านหลังน้อย
ในภาพที่ดี ผมต้องการให้สายตาของผู้ชมจับจ้องไปที่บ้านหลังคามุงจากที่อยู่ัถัดไปจากทุ่งนาในด้านซ้ายของภาพ
ภาพเสียทำพลาดไปอย่างไร
ในภาพที่มีเครื่องหมาย “X” องค์ประกอบภาพถูกจัดวางไว้ข้างๆ กันและดึงความสนใจไปที่บ้านทั้งสองหลังเท่าๆ กัน แม้ว่าจะมองเห็นถนนด้านหน้า แต่ก็ดูกลมกลืนไปกับเส้นแนวนอนอื่นๆ ในภาพและไม่ชัดเจนพอที่จะสร้างเอ็ฟเฟ็กต์ได้มากนัก
ภาพที่ดีทำได้ดีตรงไหน
ถนนในไร่อยู่ในโฟร์กราวด์ของภาพและดึงความสนใจของผู้ชมไปโดยอัตโนมัติ เส้นนำสายตาจะนำสายตาของผู้ชมไปที่ถนน ผ่านทุ่งนาไปยังบ้านหลังคามุงจากที่อยู่ด้านซ้ายซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่ผมต้องการ
สิ่งที่ไม่คาดคิด: ค้นหามุมมองที่ต่างจากมุมมองปกติทั่วไป
หากรู้สึกว่าภาพถ่ายของคุณดูเหมือนๆ กันไปหมด นั่นอาจเป็นเพราะว่าคุณถ่ายภาพโดยใช้มุมเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก และผู้ชมก็จะเบื่อไปด้วย ในการแก้ไขปัญหานี้ คุณต้องมองตัวแบบในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม และการเปลี่ยนแปลงวิธีในการมองภาพผ่านเลนส์ก็อาจช่วยได้เช่นกัน
ทดลองทำสิ่งต่อไปนี้เพื่อให้ได้มุมมองที่แตกต่าง
- เปลี่ยนทางยาวโฟกัส เช่น หากต้องการถ่ายภาพมุมกว้าง ลองท้าทายตัวเองด้วยการถ่ายภาพระยะไกล หรือทำสลับกัน ซึ่งจะเป็นการบังคับให้คุณต้องเปลี่ยนการจัดองค์ประกอบภาพ
- ขยับกล้องให้สูงขึ้นหรือต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ขาตั้งกล้อง อย่ากลัวที่จะทดลองขยับกล้องให้สูงขึ้นหรือต่ำลงอย่างน้อย 10 ซม. เพื่อให้เห็นสิ่งต่างๆ ในมุมมองที่แปลกใหม่
- ลองเปลี่ยนมุมกล้อง เช่น แทนที่จะหันหน้าเข้าหาตัวแบบตรงๆ ลองดูว่าจะได้ภาพถ่ายที่ดีหรือไม่หากถ่ายภาพจากด้านข้าง เอียงกล้อง หรือลองถ่ายภาพจากมุมต่ำหรือมุมสูง หากมีหน้าจอ LCD แบบปรับหมุนได้ ก็ควรนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่! (คลิกที่นี่เพื่ออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งและมุม)
- ขยับเข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้น เพียงไม่กี่เซ็นติเมตรก็อาจเปลี่ยนพลังขององค์ประกอบภาพได้
มุมมองที่ต่างไปอาจถ่ายทอดอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น
ภาพที่คุณมักถ่าย
ภาพนี้เป็นการถ่ายระยะไกลโดยหันหน้าเข้าหากอริลล่าที่กำลังนั่งพักผ่อนอยู่ ให้บรรยากาศที่ผ่อนคลาย แม้ว่าภาพนี้จะสามารถเก็บบรรยากาศและสภาพแวดล้อมไว้ได้ แต่อย่าหยุดเพียงเท่านั้น
ภาพพอร์ตเทรตของนักปราชญ์
ภาพนี้แตกต่างจากภาพที่แล้วโดยสิ้นเชิงใช่ไหม ผมเพียงแค่เปลี่ยนตำแหน่งถ่ายภาพและทางยาวโฟกัสเท่านั้น จากนั้น ผมก็สังเกตเจ้ากอริลล่าและเก็บภาพจังหวะที่มันวางนิ้วที่ปาก ผลที่ได้คือ กอริลล่าดูเหมือนเป็นนักปราชญ์สูงอายุที่กำลังครุ่นคิด
ถ่ายทอดช่วงเวลาหวานซึ้ง
ในภาพนี้ ผมวางตำแหน่งลิงชิมแปนซีสองตัวไว้ทางซ้ายและทางขวาให้ดูเหมือนเป็นคู่รักกัน ในระหว่างที่จัดองค์ประกอบภาพ ผมพยายามจินตนาการว่าบุคคลที่สามจะรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นภาพนี้ หากคุณวางเฟรมภาพได้ดี ก็จะสามารถเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่ายได้
การตัดส่วนเกิน: ตัดองค์ประกอบที่ดึงความสนใจของผู้ชมออกไป เพื่อทำให้ตัวแบบดูโดดเด่นขึ้น
เมื่อไหร่ก็ตามที่ถ่ายภาพด้วยความรีบร้อน หรือไม่ทันได้เช็คองค์ประกอบภาพผ่านช่องมองภาพ บ่อยครั้งสิ่งที่ไม่ต้องการมักจะปรากฏอยู่ในภาพด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณขอบภาพ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อช่องมองภาพของกล้องมีมุมมองที่ครอบคลุมไม่ถึง 100%
เมื่อ “ตัด” องค์ประกอบส่วนเกิน คุณจะต้องจัดองค์ประกอบภาพใหม่ วิธีการง่ายๆ ก็คือใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้นซึ่งจะช่วยตัดองค์ประกอบเหล่านี้ออกไปและทำให้ภาพดูเรียบง่ายขึ้น (เรียนรู้วิธีการได้ที่ พัฒนาทักษะการถ่ายภาพท่องเที่ยวของคุณด้วย EOS M10 ตอนที่ 3: การใช้เลนส์ซูมเทเลโฟโต้)
"การตัดส่วนเกิน" ช่วยให้ตัวแบบดูโดดเด่นขึ้น
ภาพเสียมีองค์ประกอบอยู่เป็นจำนวนมาก เราจึงไม่แน่ใจว่าควรเล็งสายตาไปที่จุดใด การใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้นจะช่วยกำจัดองค์ประกอบที่ไม่ต้องการออกไปได้ ผลลัพธ์ก็คือ มีองค์ประกอบภาพที่เรียบง่ายขึ้น ซึ่งดึงดูดสายตาของเราไปยังต้นไม้ที่เป็นจุดสนใจหลักที่เราต้องการ
แสดงจุดมุ่งหมายในการถ่ายภาพอย่างชัดเจน
ในภาพเสียมีการจัดองค์ประกอบภาพแบบ “รักพี่เสียดายน้อง” เนื่องจากพยายามที่จะเก็บทุกอย่างที่มองเห็นจากจุดที่ถ่ายภาพ แต่การทำเช่นนั้นจะทำให้จุดมุ่งหมายของช่างภาพคลุมเครือไม่ชัดเจน ในทางกลับกัน ภาพที่ดีได้ตัดส่วนที่ระเกะระกะในฉากหลังออกไป แล้วทำให้ตัวแบบหลักกินพื้นที่ในเฟรมมากขึ้นเพื่อทำให้จุดมุ่งหมายในการถ่ายภาพชัดเจนมากขึ้น
ดูบทความต่อเนื่องเกี่ยวกับเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพได้ที่
2. “รูปแบบและจังหวะ” และ “เส้นโค้งรูปตัว S”
3. ดึงความสามารถสูงสุดของเลนส์มาใช้
4. การใช้งานเลนส์พิเศษ
หากต้องการกลับไปอ่านเทคนิคพื้นฐาน อ่านได้ที่
พื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพ: การจัดเฟรมภาพ ระดับแนวนอน และระดับแนวตั้ง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดเมื่อปี 1956 Tanaka เป็นหนึ่งในช่างภาพที่หาตัวจับยาก ซึ่งได้สร้างผลงานไว้หลากหลายแนวจากมุมมองที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง เขาถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ มากมายตั้งแต่สิ่งที่มองเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น แมลงและดอกไม้ ไปจนถึงภาพทิวทัศน์ ตึกสูง และดวงดาวบนท้องฟ้าเลยทีเดียว นอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว Tanaka ยังพัฒนาวิธีการของตัวเองในกระบวนการปรับแต่งภาพรวมทั้งการรีทัชและการพิมพ์ขึ้นมาอีกด้วย