พื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพ: การจัดเฟรมภาพ ระดับแนวนอน และระดับแนวตั้ง
การจัดองค์ประกอบภาพเป็นพื้นฐานของการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพที่ดีจะทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างภาพที่ดูเหมือนถ่ายด้วยมือใหม่ กับภาพที่ดูมีทักษะมากกว่า ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้หลักการจัดองค์ประกอบภาพสองข้อ ได้แก่ การจัดเฟรมภาพ และการรักษาระดับแนวนอนและแนวตั้ง (เรื่องโดย: Tatsuya Tanaka)
องค์ประกอบภาพคืออะไร และส่งผลต่อภาพอย่างไร
องค์ประกอบภาพหมายถึงวิธีการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ภายในภาพ
ไม่มีการจัดองค์ประกอบภาพที่ “ถูก” หรือ “ผิด” อย่างไรก็ตาม วิธีการจัดองค์ประกอบภาพที่แตกต่างกันสามารถสร้างความประทับใจที่ต่างกันสำหรับผู้ชม หากภาพนั้นดู “ไม่ลงตัว” ปัญหาอาจเกิดมาจากการจัดองค์ประกอบภาพ ดังนั้น ก่อนถ่ายภาพ คุณควรคิดไว้ก่อนว่าอยากให้ภาพออกมาเป็นอย่างไร และเลือกจัดองค์ประกอบภาพตามนั้น
โดยทั่วไป มีปัจจัยสำคัญ 2 ข้อที่สามารถเปลี่ยนภาพรวมขององค์ประกอบภาพได้ คือ
1. พื้นที่ในเฟรมภาพที่ตัวแบบใช้ และ
2. ทิศทางที่ตัวแบบหันไป
ในบทความนี้ เราจะมาดูหลักการจัดองค์ประกอบภาพสองข้อใหญ่ๆ ซึ่งได้แก่ การจัดเฟรมภาพ และการจัดระดับแนวนอนและแนวตั้ง
การจัดเฟรมภาพ: ควรถ่ายฉากนั้นๆ มากน้อยแค่ไหนในภาพ
การตัดสินใจเลือกว่าจะถ่ายฉากมากน้อยแค่ไหนสามารถทำให้ภาพเปลี่ยนไปได้อย่างสิ้นเชิง นี่เป็นเรื่องของมุมรับภาพที่กล้องใช้ในการถ่ายภาพ ซึ่งหมายถึงทางยาวโฟกัสที่คุณใช้ มาดูภาพสามภาพด้านล่างเป็นตัวอย่างกัน
โคลสอัพ
ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ ซึ่งทำให้สิ่งของที่อยู่ไกลดูมีขนาดใหญ่กว่าที่ตาของมนุษย์มองเห็น ตัวโบสถ์ดึงดูดความสนใจของเรามากกว่าองค์ประกอบอื่นๆ ในเฟรม
ปกติ
ภาพด้านบนถ่ายด้วยเลนส์มาตรฐาน ซึ่งให้มุมรับภาพที่คล้ายกับสายตาของมนุษย์ ตัวโบสถ์ดูมีขนาดเล็กกว่า แต่ก็ยังสามารถดึงดูดความสนใจของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ในฉากหลังได้มากกว่ามาก
มุมกว้าง
ภาพนี้ถ่ายที่มุมกว้าง จึงสามารถดึงความสนใจไปยังทิวทัศน์ตระการตาได้มากกว่า และคุณแทบไม่สังเกตเห็นโบสถ์
วิธีปรับการจัดเฟรมภาพ
1. มองผ่านช่องมองภาพหรือหน้าจอ LCD ด้านหลังแล้วตัดสินใจว่าคุณต้องการให้อะไรเป็นตัวแบบหลัก
2. กำหนดว่าอยากถ่ายฉากมากน้อยแค่ไหน
3. หากคุณใช้เลนส์ซูม ให้ซูมเข้าหรือออกจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
หากคุณใช้เลนส์เดี่ยว ให้คุณ
i) เข้าไปให้ใกล้ขึ้นหรือถอยออกมาจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ หรือ
ii) เปลี่ยนไปใช้เลนส์เดี่ยวที่มีทางยาวโฟกัสแตกต่างกัน
เคล็ดลับ: ฝึกฝนโดยการเปลี่ยนวิธีที่คุณมองสิ่งต่างๆ รอบตัว
ฝึกการจัดเฟรมภาพแม้ในขณะที่ไม่ได้มีกล้องอยู่กับตัว สังเกตสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวคุณ และพยายามนึกภาพว่าสิ่งของเหล่านั้นจะเป็นอย่างไรเมื่อเข้ามาอยู่ในเฟรม สี่เหลี่ยมจัตุรัสเป็นรูปแบบที่ดี เนื่องจากทำให้คุณคำนึงความสมดุล พื้นที่ และการจัดวางได้มากขึ้น คุณสามารถสร้างอุปกรณ์ฝึกการจัดเฟรมของคุณเองได้ด้วย โดยตัดรูปสี่เหลี่ยมตรงกึ่งกลางแผ่นกระดาษ พกติดตัวไป และมองผ่านแผ่นกระดาษเพื่อให้เห็นภาพฉากได้ดีขึ้น
คลิกที่นี่เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับอัตราส่วนภาพต่างๆ กัน
อ่านเคล็ดลับและเทคนิคเกี่ยวกับวิธีทำให้ภาพถ่ายแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสของคุณดูน่าโพสต์ลงอินสตาแกรมได้ที่:
3 เทคนิคการออกแบบและจัดองค์ประกอบสำหรับการถ่ายภาพอาหาร
การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์อย่างง่าย: ดอกไม้และขนมหวาน
การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์อย่างง่าย: เครื่องประดับ
การถ่ายภาพอาหาร: 2 ไอเดียสำหรับการถ่ายภาพขนมเยลลี่
ระดับแนวตั้งและแนวนอน: หัวใจสำคัญของภาพถ่ายที่ดูมั่นคง
ภาพถ่ายที่ตรงและมั่นคงดูสบายตามากกว่าสำหรับผู้ชม ซึ่งหัวใจสำคัญก็คือการทำให้ภาพได้ระดับในแนวนอน (“ระดับแนวนอน”) และเส้นแนวตั้งตั้งฉากกับขอบฟ้าอย่างสมบูรณ์แบบ (“ระดับแนวตั้ง”)
ไม่ได้ระดับในแนวนอนและแนวตั้ง
ภาพนี้ดูไม่มั่นคงเพราะเอียงไปทางขวา
คุณจะเห็นได้ว่าเส้นแนวนอนที่เห็นได้ชัดที่สุด (สะพาน) ซึ่งเป็นสีแดงนั้นไม่ได้ระดับในแนวนอน ปัญหาเช่นนี้มักเกิดขึ้นเมื่อคุณถ่ายภาพโดยใช้มือถือกล้อง
ได้ระดับในแนวนอน
ภาพนี้ดูมั่นคงมากกว่า เส้นแนวนอนที่เห็นได้ชัดนั้นขนานไปกับขอบภาพด้านล่างที่เป็นเส้นตรง
การรักษาระดับในแนวนอนยังช่วยให้ภาพตั้งตรงด้วย อาคารสูงในภาพไม่เอียงอีกต่อไปแล้ว
จะรักษาระดับแนวนอนและแนวตั้งได้อย่างไร
การรักษาระดับในแนวนอนและแนวตั้งมีความสำคัญเป็นพิเศษในการถ่ายภาพทิวทัศน์และสถาปัตยกรรม เนื่องจากตัวแบบเหล่านี้มักมีเส้นแนวตั้งและแนวนอนที่เห็นได้ชัด หากมีการเอียงเพียงนิดเดียวก็จะเห็นได้ชัดเจนมาก ในการหลีกเลี่ยงปัญหานี้จึงต้อง:
- ตรวจสอบแน่ใจว่ากล้องตั้งตรงเมื่อถ่ายภาพ การแสดงเส้นตารางและระดับอิเล็กทรอนิกส์นั้นช่วยได้มาก!
หากคุณใช้เลนส์มุมกว้าง อาจเกิดการบิดเบี้ยวที่ขอบภาพหากกล้องไม่ได้ระดับ ใส่ใจกับกึ่งกลางภาพขณะที่คุณปรับตำแหน่งกล้อง และตรวจสอบให้แน่ใจว่าเส้นต่างๆ อยู่ในแนวตรงตลอดทั้งภาพ
เทคนิคสองข้อในการใช้ระดับแนวนอนและแนวตั้งอย่างมีประสิทธิภาพ
1. เลื่อนเส้นขอบฟ้าให้สูงขึ้น
ภาพก้อนเมฆเหนือท้องทะเลในฤดูร้อนนี้มีเส้นขอบฟ้าที่เห็นได้ชัดเจนมาก
เมื่อเราเลื่อนตำแหน่งของขอบฟ้าให้สูงขึ้น ส่วนล่างของภาพ (ทะเล) จะกินพื้นที่ใหญ่ขึ้นในภาพ ทำให้ภาพดูมั่นคงมากขึ้น
2. แม้แต่ฉากที่ไม่น่าเป็นไปได้ก็อาจจะมีเส้นแนวนอน คุณต้องลองมองหาดู!
สิ่งของบนชั้นจัดแสดงในร้านไวน์นี้มีความสูงและรูปร่างแตกต่างกันไป ในฉากแบบนี้ อาจไม่สามารถเห็นเส้นแนวนอนได้ชัดเจนนักเมื่อมองแวบแรก แต่เส้นนั้นมีอยู่
ในภาพนี้ เส้นแนวนอนเกิดจากกล่องที่อยู่ด้านหน้า การรักษาเส้นนี้ให้ตรงขณะจัดองค์ประกอบภาพจะช่วยรักษาระดับของภาพและทำให้ภาพดูมั่นคงขึ้น
เคล็ดลับ: ไม่เป็นไรหากคุณถ่ายภาพเอียง แต่ต้องใช้ให้เหมาะสม
แม้การรักษาระดับแนวตั้งหรือแนวนอนจะเป็นหลักสำคัญที่ควรปฏิบัติตามเป็นส่วนใหญ่ แต่คุณไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพที่ตรงสมบูรณ์แบบเสมอไป บางครั้งก็สามารถถ่ายภาพที่เอียงได้เพื่อความสร้างสรรค์ สำหรับภาพทิวทัศน์ธรรมชาติหรือฉากแบบโคลสอัพ การเอียงกล้องก็อาจทำให้ภาพดูมั่นคงมากกว่าด้วยซ้ำ จงทำในสิ่งที่คุณคิดว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับภาพของคุณ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1956 Tanaka เป็นหนึ่งในช่างภาพที่หาตัวจับยาก ซึ่งได้สร้างผลงานไว้หลากหลายแนวจากมุมมองที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง เขาถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ มากมายตั้งแต่สิ่งที่มองเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น แมลงและดอกไม้ ไปจนถึงภาพทิวทัศน์ ตึกสูง และดวงดาวบนท้องฟ้าเลยทีเดียว นอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว Tanaka ยังพัฒนาวิธีการของตัวเองในกระบวนการปรับแต่งภาพรวมทั้งการรีทัชและการพิมพ์ขึ้นมาอีกด้วย