EOS M5 ซึ่งมาพร้อมกับคุณสมบัติต่างๆ ที่ทัดเทียมกับกล้อง EOS DSLR เป็นตัวช่วยที่ดีเมื่อใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์ ในบทความนี้เราจะมาดูวิธีใช้คุณสมบัติที่มีประโยชน์ เช่น ระดับอิเล็กทรอนิกส์ การแสดงตาราง และรูปแบบภาพ รวมถึงเทคนิคการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติให้ดูสวยสดงดงาม (เรื่องโดย Yoshiki Fujiwara)
EOS M5/ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 11 มม. (เทียบเท่า 18 มม.)/ Manual exposure (f/11, 1/4 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ผมตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องและใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำที่ 1/4 วินาที เพื่อถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของเกลียวคลื่น
ฉาก 1: ถ่ายภาพทะเลหมอกที่งดงามกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา
แสดงระดับอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อถ่ายภาพทะเลหมอกดังเช่นในภาพด้านล่าง หรือวางเส้นขอบฟ้าของแผ่นดินและทะเลในเฟรมภาพเพื่อถ่ายภาพ สิ่งสำคัญคือวิธีถ่ายทอดความงดงามตระการตา หากคุณถ่ายภาพเส้นขอบฟ้าของแผ่นดินและทะเลในแนวเอียง ความรู้สึกถึงความหนักแน่นจะหายไปและภาพจะดูไม่งดงามเท่าที่ควร เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ ให้แสดงและใช้ระดับอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้แน่ใจว่ากล้องอยู่ในระนาบเดียวกับเส้นขอบฟ้าขณะถ่ายภาพ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้คุณถ่ายทอดขอบฟ้าได้อย่างชัดเจน
เราสามารถแก้ไขขอบฟ้าหลังจากถ่ายภาพเสร็จแล้วได้ แต่อาจต้องใช้วิธีครอปบริเวณขอบภาพออกไป ซึ่งอาจทำลายภาพที่คุณบรรจงจัดองค์ประกอบไว้เป็นอย่างดี ดังนั้น ผมจึงแนะนำให้ตรวจสอบบริเวณเส้นขอบฟ้าให้ดีก่อนที่จะถ่ายภาพ หากแสดงระดับอิเล็กทรอนิกส์แล้วทำให้คุณมองเห็นตัวแบบได้ไม่ถนัดนัก คุณสามารถใช้ปุ่ม INFO เพื่อเปิดและปิดการแสดงระดับอิเล็กทรอนิกส์ได้
EOS M5/ EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 45 มม. (เทียบเท่า 72 มม.)/ Manual exposure (f/8, 1/100 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ผมคาดไว้ว่าวันที่ถ่ายภาพนั้นเป็นวันที่มีเมฆครึ้ม สองชั่วโมงหลังพระอาทิตย์ขึ้น ตีนเขาปกคลุมด้วยหมอกหนาและการปีนขึ้นเขาเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่เมื่อผมขึ้นไปถึงยอดเขา ภาพของทะเลหมอกที่กระจายตัวอยู่เบื้องหน้าเป็นไปตามที่ผมคาดการณ์ไว้
เคล็ดลับ: หากขอบฟ้าดูเอียงจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าภาพขาดการจัดองค์ประกอบที่ดีไป
EOS M5/ EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 45 มม. (เทียบเท่า 72 มม.)/ Manual exposure (f/8, 1/100 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ในตัวอย่างนี้ ผมไม่สามารถถ่ายภาพให้อยู่ในระนาบเดียวกับขอบฟ้าได้ เพราะเนินเขาจะค่อยๆ ลดระดับลงไปทางด้านขวาของภาพจนทำให้แนวสันเขาลวงตา ดังนั้น อย่าลืมแสดงระดับอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้สามารถกำหนดองค์ประกอบภาพที่เหมาะสมได้
ขั้นตอนการถ่ายภาพ
1. ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง
2. กดปุ่ม [INFO.] หนึ่งครั้ง
3. ระดับอิเล็กทรอนิกส์จะแสดงขึ้นบนหน้าจอ
4. หากกล้องเอียง แนวเส้นบนระดับอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นสีแดง ปรับแต่งกล้องจนกว่าเส้นสีแดงจะกลายเป็นสีเขียว
ฉาก 2: ถ่ายภาพน้ำตกให้มีความสมดุล
แสดงตาราง
กฎสามส่วนเป็นหนึ่งในเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับการถ่ายภาพที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด เมื่อเราพบฉากที่ยากจะกะเกณฑ์ด้วยตาเปล่า การใช้ฟังก์ชั่นการแสดงตารางในกล้อง EOS M5 ช่วยให้การจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วนเป็นเรื่องง่าย แม้ว่าภาพด้านล่างนี้คือฉากที่อาจทำให้คนสงสัยว่าควรวางพื้นดิน น้ำตก และเพดานถ้ำไว้ตรงจุดใดในเฟรมภาพ ผมใช้กฏสามส่วน และวางพื้นดินและองค์ประกอบส่วนที่เหลือโดยใช้อัตราส่วน 1:2 เพื่อให้ได้ภาพที่มีความสมดุล
นอกจากนี้ เส้นยังแบ่งเฟรมภาพออกเป็นสามส่วนทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งหากเรากำหนดตัวแบบหลัก เช่น บุคคล ไว้อย่างชัดเจนแล้ว การวางตัวแบบไว้บนจุดตัดของเส้นแนวตั้งและแนวนอนจะทำให้เราจัดวางองค์ประกอบภาพให้มีความสมดุลได้ง่าย
EOS M5/ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 11 มม. (เทียบเท่า 18 มม.)/ Manual exposure (f/8, 6 วินาที, EV±0)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
เมื่อเราถ่ายภาพโดยให้ขอบเขตที่แยกระหว่างพื้นดินและน้ำตกที่อยู่ในแนวเดียวกับเส้นล่างของตาราง นั่นก็คือการใช้การจัดองค์ประกอบภาพตามกฏสามส่วน ในภาพนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าน้ำตกคือตัวแบบหลัก ดังนั้น การสื่อถึงความมุ่งหมายของช่างภาพจึงเป็นเรื่องง่าย
เคล็ดลับ: หากใช้การจัดองค์ประกอบภาพแบบใช้คู่สีตรงข้ามจะเห็นไม่ชัดว่าตัวแบบหลักที่เป็นเป้าหมายคืออะไร
EOS M5/ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 11 มม. (เทียบเท่า 18 มม.)/ Manual exposure (f/8, 6 วินาที, EV±0)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
เพียงแค่แยกพื้นดินและองค์ประกอบภาพส่วนที่เหลือออกจากกันโดยใช้อัตราส่วน 1:1 จะเห็นไม่ชัดว่าตัวแบบหลักคือน้ำตก
ขั้นตอนการถ่ายภาพ
1. ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง
2. กด [MENU]
3. ในเมนู Shooting 1 เลือก “หน้าจอข้อมูลของการภ่าย” → “แสดงตาราง” → “3x3”
4. กดปุ่ม [INFO.] หนึ่งครั้งเพื่อแสดงตาราง
ฉาก 3: ถ่ายทอดรายละเอียดของผืนป่าให้มีสีสันสดใส
ใช้รูปแบบภาพ - ภาพวิว
หากคุณไม่สามารถสร้างสีสันของทิวทัศน์ในแบบที่คุณรู้สึกว่ามีความสมจริงตามต้องการ ให้ลองเปลี่ยนไปใช้การตั้งค่ารูปแบบภาพ รูปแบบภาพคือคุณสมบัติหนึ่งของ Canon ที่ช่วยกำหนดการถ่ายทอดสีสันของกล้องอย่างละเอียด สำหรับรูปแบบภาพแบบตั้งค่าล่วงหน้าแต่ละแบบนั้น กล้องจะกำหนดพารามิเตอร์ต่างๆ เช่น ความคมชัด ความเปรียบต่าง ความอิ่มตัวของสี และโทนสีให้อัตโนมัติ โดยตั้งค่าเริ่มต้นไว้ที่ "มาตรฐาน" อย่างไรก็ดี หากคุณต้องการถ่ายทอดความเขียวขจีของผืนป่าหรือสีฟ้าของท้องฟ้าให้ดูสดใส ควรใช้การตั้งค่ารูปแบบภาพ - ภาพวิว เพราะสีสันโดยรวมในภาพจะมีความอิ่มตัวและสมบูรณ์แบบมากขึ้น แม้แต่ในฉากที่ไม่ใช่ภาพทิวทัศน์ คุณยังสามารถลองใช้การตั้งค่านี้เมื่อคุณต้องการได้ภาพที่มีสีสันสวยสดใส
EOS M5/ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 11 มม. (เทียบเท่า 18 มม.)/ Manual exposure (f/8, 10 วินาที, EV±0)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
แม่น้ำที่ล้อมรอบด้วยผืนป่าเขียวขจี แม้ว่าฉากนี้จะดูสวยงาม แต่ค่อนข้างมืดเนื่องจากมีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น และเนื่องจากผมต้องการถ่ายภาพสายน้ำไหล ผมจึงใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 10 วินาที และตั้งรูปแบบภาพเป็น "ภาพวิว" เพื่อเพิ่มสีสัน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้รูปแบบภาพ โปรดอ่านบทความต่อไปนี้:
3 ขั้นตอนในการสร้างภาพถ่ายที่ปรับแต่งได้ตามใจคุณด้วยฟังก์ชั่นรูปแบบภาพ
เคล็ดลับ: สีสันจะดูสดใสน้อยลง หากคุณใช้รูปแบบภาพ - มาตรฐาน
EOS M5/ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 11 มม. (เทียบเท่า 18 มม.)/ Manual exposure (f/8, 10 วินาที, EV±0)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
เมื่อใช้รูปแบบภาพ - มาตรฐาน ฉากจะถูกถ่ายทอดอย่างเหมาะสมก็จริง แต่สีสันจะดูทึมๆ เล็กน้อย ทำให้ภาพดูธรรมดาและไม่มีชีวิตชีวา
ขั้นตอนการถ่ายภาพ
1. กดปุ่ม [Quick Set]
2. ในเมนูรูปแบบภาพ ให้เลือก "ภาพวิว"
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
แต่เดิม Fujiwara เคยเป็นนักสโนว์บอร์ดมืออาชีพ ต่อมาได้ผันตัวเข้าสู่อาชีพที่สองในฐานะช่างภาพหลังจากเลิกเล่นสโนว์บอร์ดเพราะอาการบาดเจ็บ เขามุ่งหาวิธีใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติเพื่อสร้างความรู้สึกโปร่งแสง และประสบการณ์ที่ได้รับจากการศึกษาด้วยตนเองทำให้ภาพถ่ายของเขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน “10 ภาพที่แชร์กันอย่างแพร่หลายของ Tokyo Camera Club”