การจัดองค์ประกอบภาพที่ง่ายแต่ขาดไม่ได้ (ตอนที่ 2): การจัดองค์ประกอบแบบกึ่งกลางและตามเส้นแนวทแยงมุม
เมื่อเริ่มต้นถ่ายภาพครั้งแรก การฝึกฝนหลักพื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพคือเคล็ดลับในการพัฒนาฝีมือการถ่ายภาพของคุณ ต่อเนื่องจากการจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วนและการจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสี่ส่วนที่ผมได้อธิบายไปแล้วในตอนที่ 1 ตอนนี้เราจะมาลองฝึกฝนการจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลางและการจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุมกัน ซึ่งผมจะอธิบายพร้อมกับยกตัวอย่างภาพต่างๆ ประกอบ (เรื่องโดย studio9)
การจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง: ควรใช้อย่างระมัดระวังและพอเหมาะพอดี
ในบรรดาการจัดองค์ประกอบภาพ 4 แบบที่ผู้เริ่มหัดใช้งานกล้องควรริเริ่มศึกษา การจัดองค์ประกอบภาพแบบที่สามเป็นวิธีที่อาจทำให้ผู้เริ่มต้นถ่ายภาพรู้สึกท้อถอยได้ นั่นก็คือ การจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลางที่ (ไม่ค่อย) รู้จักกันดีนั่นเอง ตามที่ชื่อระบุไว้ ตัวแบบจะถูกจัดวางที่กึ่งกลางภาพในองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง
การจัดองค์ประกอบภาพชนิดนี้ง่ายมากก็จริง แต่การจะนำมาใช้เพื่อถ่ายภาพให้ออกมาสวยงามนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ภาพนกพิราบที่ผมใช้อธิบายการจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วนในตอนที่ 1 คือตัวอย่างที่แสดงถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลางกลายเป็นเรื่องยากคือ การขยับเส้นนำสายตาออกจากกึ่งกลางภาพ ดังนั้น เมื่อวางตัวแบบหลักไว้ที่กึ่งกลางภาพ ช่างภาพยังไม่แน่ใจว่าควรจะขยับเส้นนำสายตาไปไว้ที่ใดต่อไปเมื่อต้องถ่ายภาพ ภาพที่ออกมาจึงเหลือพื้นที่ว่างในบริเวณรอบๆ ที่ไม่ได้ใช้งานมากมาย
ดังนั้น หากต้องการใช้การจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง คุณจำเป็นต้องใช้วิธีการที่ง่าย เพื่อให้ไม่ให้เส้นนำสายตาของคุณขยับออกจากจุดกึ่งกลาง
เราลองมาดูตัวอย่างกัน
ในภาพนี้ ผมใช้วิธีจับภาพตัวแบบตรงกึ่งกลางเลย การทำเช่นนี้จะช่วยไม่ให้คุณสับสนว่าจะควรจะจับภาพตรงไหนดี
นอกจากนี้ การจับภาพด้วยวิธีนี้ยังช่วยรักษาความสมมาตรในแนวตั้งและแนวนอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญคือ คุณต้องให้ตัวแบบกินพื้นที่ของภาพทั้งหมด
เนื่องจากเรากำลังใช้การจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง ดังนั้นการวางตัวแบบหลักไว้ตรงกลางภาพจึงไม่ทำให้ภาพดูแปลกแต่อย่างใด
เรายังอาจใช้เอฟเฟ็กต์โบเก้ในลักษณะนี้เพื่อช่วยนำสายตาผู้ชมไปสู่กึ่งกลางภาพ อย่างไรก็ตาม ภาพนี้มีจุดกึ่งกลางคือดอกลิลลี่
แม้ว่าการใช้เอฟเฟ็กต์โบเก้ในโฟร์กราวด์รอบๆ ตัวแบบหลักถือเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยสร้างเส้นนำสายตาสู่กึ่งกลางภาพ แต่บางครั้งอาจมีข้อจำกัดคือ สามารถนำไปใช้ได้กับฉากบางฉากเท่านั้น
ภาพทั้งหมดที่ผมถ่ายนี้ผมใช้วิธีถ่ายภาพอย่างง่ายๆ ซึ่งแม้แต่ผู้เริ่มหัดถ่ายภาพยังสามารถใช้ประโยชน์จากการจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลางที่แสนยากนี้ได้
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าในการจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลางนั้น หากตัวแบบหลักของภาพไม่สร้างความน่าสนใจในระดับหนึ่งแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจไม่ได้ตามมาตรฐานไม่ว่าจะถ่ายภาพได้ดีเพียงใดก็ตาม
การจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุม: สื่อถึงการเคลื่อนไหว
พื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพแบบสุดท้ายที่ผมจะแนะนำในบทความนี้คือ การจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุม ขณะที่การจัดองค์ประกอบภาพทั้ง 3 แบบเหมาะสำหรับใช้กับตัวแบบที่วางในแนวตั้งหรือแนวนอน การจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุมเหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่วางตัวแบบในแนวเส้นทแยงมุม
การวางตัวแบบในแนวทแยงมุมจะช่วยทำให้ภาพดูมีมิติความลึก และยังสื่อถึงความเคลื่อนไหวได้ดีอีกด้วย เราลองมาใช้เทคนิคต่างๆ สำหรับการวางตัวแบบในแนวทแยงมุมกัน เริ่มจากการลองหาตัวแบบที่อยู่มุมใดมุมหนึ่ง จากนั้นเปลี่ยนมุมถ่ายภาพ หรือแม้แต่เอียงกล้อง
ในตัวอย่างนี้ ผมถ่ายภาพชะง่อนผาที่ยื่นออกมาสู่ทะเล โดยมีฉากหลังคือทะเลอันเงียบสงบ และฉากหน้าคือชะง่อนผาที่ยื่นโผล่ออกมาอย่างมีพลัง (ซึ่งผมเลือกวางไว้ที่ส่วนบนขวาของภาพ) ภาพนี้สื่อถึงความเคลื่อนไหว ขณะที่รูปลักษณ์ของชะง่อนผาให้ความรู้สึกถึงความหยาบและสมบุกสมบันเล็กน้อย
ต้นซากุระในภาพนี้อาจดูไม่มีสิ่งใดพิเศษนัก แต่การวางพื้นท้องฟ้าที่เป็นสีฟ้าใสไว้เหนือเส้นทแยงมุม ทอดยาวไปถึงส่วนบนซ้ายของภาพจะช่วยสร้างความรู้สึกว่าต้นซากุระกำลังแผ่ขยายยาวเหยียดขึ้นไปถึงท้องฟ้า
ในภาพนี้ ผมถ่ายภาพขวดที่เปล่งประกายบนเส้นทแยงมุมตัดกับพื้นหลังสีดำ คุณจะเห็นได้ว่าวิธีนี้จะช่วยให้ภาพมีมิติมากขึ้น
นอกจากนี้ ผมวางขวดโดยใช้กฎสี่ส่วน ซึ่งสื่อถึงความรู้สึกมั่นคงได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ผมวางบันไดหินไปตามแนวเพื่อนำสายตาผู้ชมไปสู่ศาลเจ้าที่มุมด้านซ้าย และยังสร้างภาพให้ดูมีมิติความลึกอีกด้วย
นอกจากนี้ ผมยังนำกฎสี่ส่วนมาใช้กับภาพนี้ โดยการวางศาลเจ้าไว้ตรงจุดตัดของเส้นตาราง
ด้วยวิธีนี้ จะทำให้สามารถนำการจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุมมาใช้เพื่อช่วยทำให้ตัวแบบที่วางไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งดูมีมิติและสื่อถึงความเคลื่อนไหว เพื่อให้ภาพออกมาสวยงามมากยิ่งขึ้น คุณสามารถใช้การจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุมร่วมกับกฎสามส่วนหรือกฎสี่ส่วนได้
สรุปหลักพื้นฐานในการจัดองค์ประกอบภาพ 4 แบบ
ในบทความนี้ ซึ่งรวมถึงบทความในตอนที่ 1 ผมได้อธิบายถึงหลักพื้นฐานในการจัดองค์ประกอบภาพ 4 แบบ
เรามาสรุปกันอีกครั้ง หลักพื้นฐานในการจัดองค์ประกอบภาพ 4 แบบมีดังนี้
・การจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วน
・การจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสี่ส่วน
・การจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง
・การจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุม
เมื่อคุณเริ่มต้นถ่ายภาพครั้งแรก ควรศึกษาเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบภาพต่างๆ ทั้งหมดตามลำดับที่ระบุไว้นี้ และเมื่อคุณเริ่มใช้งานจนคุ้นเคย คุณจะสามารถใช้การจัดองค์ประกอบภาพเพื่อช่วยในการถ่ายภาพได้อย่างเหมาะสมโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นการจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วน หรือตามเส้นแนวทแยงมุม
คุณอาจเกิดความสงสัยว่าภาพถ่ายที่ดีจำเป็นจะต้องใช้การจัดองค์ประกอบภาพประเภทต่างๆ ตามข้างต้น ซึ่งนั่นไม่จริงเลย ในท้ายที่สุด หากคุณรู้สึกดีกับภาพที่คุณมองเห็นผ่านช่องมองภาพหรือจอ LCD แล้วล่ะก็ นั่นก็อาจนับว่าเป็นการจัดองค์ประกอบภาพที่ถูกต้องได้
ลองนึกถึงพื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพที่ผมได้อธิบายในบทความนี้เพื่อเป็นแนวทางในการถ่ายภาพที่ทำให้คุณเกิดความคิดว่า "ภาพนี้ยอดเยี่ยมมาก" เพราะบางครั้งการได้ทดลองทำสิ่งที่แหวกจากกฎเกณฑ์แบบเดิมๆ ก็สร้างความน่าสนใจได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น คุณควรทำความคุ้นเคยกับพื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพข้างต้น ถ่ายภาพให้เยอะๆ และลองค้นหาสไตล์การถ่ายภาพของตัวเองดูก่อนนะครับ
studio9
เว็บไซต์ด้านการถ่ายภาพของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นเมื่อปี 2011 ด้วยสโลแกนว่า "ให้การถ่ายภาพใกล้ตัวคุณยิ่งขึ้น" เว็บไซต์นี้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับทุกคนที่ชอบการถ่ายภาพ นอกจากเนื้อหาบนเว็บไซต์แล้ว studio9 ยังมีการจัดสัมมนาและเวิร์กช็อปอีกด้วย