คุณได้เริ่มต้นถ่ายภาพแล้วแต่ดูเหมือนจะไม่สามารถพัฒนาทักษะและฝีมือในการถ่ายภาพให้ออกมายอดเยี่ยมโดยไม่ต้องอาศัยพรสวรรค์ด้านการถ่ายภาพได้ แต่ก่อนที่คุณจะล้มเลิกความตั้งใจ ลองนำ 3 เคล็ดลับง่ายๆ ที่นำเสนอในบทความนี้ไปใช้ เรารับประกันว่าคุณจะไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับค่า f หรือความเร็วชัตเตอร์อีกต่อไป (บรรณาธิการโดย: studio9)
1. จัดทำคอลเลคชันภาพถ่ายที่คุณชื่นชอบ
ก่อนที่จะเริ่ม ให้ลองนึกและหาว่าจริงๆ แล้วอะไรบ้างที่ทำให้ภาพออกมา “ดูดี” เพราะหากคุณเริ่มต้นถ่ายภาพโดยขาดไอเดียที่ชัดเจนแล้ว คุณจะไม่มีเป้าหมายในการทำงาน
ขั้นตอนที่ 1: รวบรวมคอลเลคชันภาพถ่ายที่คุณชื่นชอบ
รวบรวมภาพถ่ายของช่างภาพที่คุณชื่นชอบ หรือแม้แต่ภาพถ่ายจากนิตยสารหรือเว็บไซต์ที่สะดุดตาคุณ ในตอนแรก ควรตั้งเป้าที่จะรวบรวมให้ได้อย่างน้อย 50 ภาพ
หมั่นอัพเดทคอลเลคชันนี้อยู่เสมอๆ ด้วยการนำภาพใหม่ที่คุณชื่นชอบเข้ามาใส่แทน 50 ภาพแรก เมื่อทำเช่นนี้ ภาพโปรด 50 ภาพของคุณจะสะท้อนความชอบของคุณมากขึ้น และแนวคิดก่อนหน้าที่ยังไม่ชัดเจนว่าภาพที่ “ดูดี” เป็นอย่างไรจะเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
ขั้นตอนที่ 2: รวบรวมภาพถ่ายของคุณเองให้ครบ 50 ภาพ
ให้คิดว่านี่คือการสร้างแฟ้มผลงานของคุณ
ในตอนนี้คุณจะมีภาพถ่ายอยู่สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือภาพที่สะท้อนว่าภาพในอุดมคติของคุณเป็นอย่างไร อีกกลุ่มหนึ่งคือภาพที่สะท้อนระดับทักษะการถ่ายภาพของคุณ คุณจะเห็นความแตกต่างระหว่างภาพสองกลุ่มนี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้คุณระบุได้ว่าต้องพัฒนาทักษะในด้านใดเพิ่ม
แทนที่ภาพใน “แฟ้มผลงาน” นี้ ด้วยภาพใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมอยู่เสมอ ในขณะที่ทักษะของคุณกำลังพัฒนา ภาพเหล่านี้จะมีความใกล้เคียงกับภาพโปรด 50 ภาพของคุณที่สะสมไว้ในขั้นตอนที่ 1 มากขึ้นเรื่อยๆ
2. มองตัวแบบและสิ่งที่อยู่รายล้อมตัวแบบให้เป็นองค์ประกอบเดียวกัน
เมื่อคุณเริ่มต้นถ่ายภาพครั้งแรก คุณอาจจะเพลิดเพลินไปกับการโฟกัสตัวแบบและมองข้ามสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมตัวแบบได้ง่าย แต่ทว่า ภาพถ่ายนั้นไม่ได้มีแต่ตัวแบบเพียงอย่างเดียว คุณจะต้องพิจารณาตัวแบบควบคู่ไปกับสิ่งที่รายล้อมตัวแบบด้วย
เมื่อคุณพบตัวแบบที่ต้องการแล้ว ลองใช้เวลาตรวจสอบบริเวณรอบๆ และตัดสินใจว่าควรถ่ายตัวแบบนั้นร่วมกับสิ่งใด หรือมีสิ่งใดที่คุณควรตัดออกจากในภาพบ้าง วิธีนี้จะช่วยให้องค์ประกอบส่วนต่างๆ ภายในภาพมีความกลมกลืนกันมากขึ้น
มีสถานการณ์การถ่ายภาพที่แตกต่างกันอยู่มากมาย แต่คุณสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการใช้องค์ประกอบภาพต่อไปนี้
i) ใช้กฎสามส่วนร่วมกับเส้นทแยงมุม
เมื่อคุณพบตัวแบบหลักที่ต้องการ (สิ่งที่คุณต้องการถ่ายมากที่สุด) แล้ว ลองจัดวางองค์ประกอบภาพให้เกิดเส้นในแนวทแยงมุมกับตัวแบบรอง (สิ่งที่คุณต้องการจะถ่ายร่วมด้วย) รูปแบบนี้คือการจัดองค์ประกอบภาพตามแนวเส้นทแยงมุม และคุณสามารถนำไปใช้ร่วมกับกฎสามส่วน
วาฬออร์กา (ตัวแบบหลัก) ถูกจัดวางในแนวทแยงมุมกับภาพเงาดำของพ่อแม่ลูก (ตัวแบบรอง)
เนื่องจากจานที่มุมซ้ายล่างนั้นมีลักษณะยาวและแคบ ผมจึงวางไว้ในแนวทแยงมุมเช่นเดียวกัน และพยายามที่จะจัดวางไว้ในแนวทแยงมุมกับถ้วยชา
ii) สร้างเส้นแนวทแยงมุมกับฉากที่อยู่รอบๆ
หากคุณมีเพียงตัวแบบเดียว คุณสามารถสร้างเส้นแนวทเแยงมุมกับฉากที่อยู่รอบๆ ได้
การวางส่วนของแนวเส้นที่เรียกว่า “จุดรวมสายตา” ไว้ที่จุดตัดของเส้นตารางในกฎสามส่วน จะทำให้ดูราวกับว่าฉากที่อยู่รอบๆ นั้นถูกดึงไปยังจุดดังกล่าว ลองถ่ายภาพในมุมกว้างให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ภาพออกมาสวยงาม
การใช้แสงเงาเพื่อสร้างแนวเส้นทแยงมุมนับว่าเป็นไอเดียที่ดีมากเช่นเดียวกัน!
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพได้ที่:
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (1): เส้นนำสายตา จังหวะที่ไม่คาดคิด และการตัดส่วนเกิน
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (2): “รูปแบบและจังหวะ” และ “เส้นโค้งรูปตัว S”
3. ขยับเข้าใกล้อีกนิด
เมื่อคุณเริ่มถ่ายภาพครั้งแรก บางครั้งคุณอาจไม่สามารถทำความเข้าใจเรื่องระยะห่างระหว่างกล้อง (ทางยาวโฟกัสของเลนส์) กับตัวแบบได้ หรือไม่แน่ใจว่าคุณควรอยู่ห่างออกไปเท่าใดขณะถ่ายภาพ
i) ขยับเข้าไปใกล้ๆ และถ่ายภาพขณะถอยห่างจากตัวแบบ
การที่คุณเพียงแค่ขยับเข้าใกล้ตัวแบบอีกนิดก็สามารถเปลี่ยนอารมณ์ของภาพได้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวแบบอยู่ห่างจากคุณเพียงไม่กี่เมตร เว้นแต่ว่าคุณจะถ่ายภาพตัวแบบที่อยู่ห่างจากคุณหลายร้อยเมตรจริงๆ
ลองดูภาพด้านล่าง ซึ่งถ่ายที่ระยะห่างต่างๆ กันจากโคนของต้นไม้ จะเห็นได้ว่าภาพที่ถ่ายจากระยะ 20 ซม. ดูแตกต่างจากภาพที่ระยะ 1 ม. เป็นอย่างมาก
ถ่ายที่ระยะห่าง 20 ซม.
ถ่ายที่ระยะห่าง 100 ซม.
อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่มักไม่เข้าใกล้มากขนาดนี้ และมักจะไม่ทำเลยหากไม่คุ้นกับการใช้วิธีนี้มาก่อน นี่เป็นสิ่งที่คุณต้องใช้ความพยายามในการลองทำดู
เคล็ดลับ: พยายามเข้าไปให้ใกล้จนตัวแบบออกไปอยู่นอกเฟรม จากนั้นจึงถ่ายภาพในขณะที่คุณกำลังถอยออกมา
ii) ยึดเลนส์ซูมไว้กับที่ด้วยเทปกาว
เลนส์ซูมเป็นเลนส์ที่ใช้งานสะดวก แต่หากช่างภาพใช้บ่อยเกินไป อาจทำให้ติดนิสัยใช้การซูมเพื่อถ่ายภาพโคลสอัพ แทนที่จะก้าวเข้าไปให้ใกล้ตัวแบบขึ้นอีกก้าวหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หากคุณใช้ระยะมุมกว้างของเลนส์ซูมและ “ขยาย” ขนาดของตัวแบบด้วยการขยับเข้าไปให้ใกล้ขึ้น มุมถ่ายภาพใหม่นี้จะทำให้ได้ภาพที่น่าประทับใจมากกว่าการที่คุณยืนอยู่กับที่แล้วซูมเข้าไป
วิธีการแก้นิสัยนี้ที่ผมมักจะแนะนำคือ ให้ฝึกถ่ายภาพโดยใช้เทปกาวยึดวงแหวนซูมไว้ จะเป็นการบังคับให้คุณใช้เลนส์ซูมเหมือนเลนส์เดี่ยว และทำให้คุณต้องเดินหน้าหรือถอยหลังเพื่อให้ได้เฟรมภาพที่ต้องการ (คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ 3 โจทย์ท้าทายที่ดูเหมือนง่าย แต่ยกระดับทักษะการถ่ายภาพของคุณได้)
เลนส์นี้ถูกยึดไว้ที่ตำแหน่ง 50 มม. ด้วยเทปกาวสีดำ เลือกใช้เทปกาวที่ทิ้งคราบไว้น้อยที่สุดเมื่อแกะออก เช่น กระดาษกาวหรือเทป Permacel
หากคุณใช้เลนส์คิท 18-55 มม. คุณอาจลองใช้ทางยาวโฟกัสในแบบเลนส์เดี่ยวซึ่งนิยมใช้กันอยู่สามแบบที่ 24 มม., 35 มม. และ 50 มม. ใครจะรู้ คุณอาจจะตกหลุมรักทางยาวโฟกัสแบบใดแบบหนึ่งแล้วซื้อเลนส์เดี่ยวมาใช้ในที่สุด!
สรุป
การจะพัฒนาทักษะในการถ่ายภาพของคุณให้ได้อีกระดับนั้นไม่ได้ใช้เพียงแค่การฝึกฝน แต่เป็นการฝึกฝนด้วยความตั้งใจอย่างหนัก เคล็ดลับสามข้อที่กล่าวไปเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น! เราหวังว่าคุณจะได้เห็นสิ่งต่างๆ จากมุมมองใหม่เมื่อได้นำเคล็ดลับเหล่านี้ไปลองใช้ หมั่นเรียนรู้ หาแรงบันดาลใจ และขอให้คุณมีความสุขกับการถ่ายภาพ!
เคล็บลับเหล่านี้ช่วยให้คุณถ่ายภาพที่ไม่คิดว่าจะถ่ายได้มาก่อนใช่หรือไม่ เราอยากรู้! เล่าให้เราฟังได้ที่ My Canon Story เรื่องราวของคุณอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้ด้วย!
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!