3 โจทย์ท้าทายที่ดูเหมือนง่าย แต่ยกระดับทักษะการถ่ายภาพของคุณได้
คุณรู้สึกว่าตัวเองกำลังถ่ายภาพแบบเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือไม่ หรือคุณกำลังมองหาวิธีที่จะช่วยพัฒนาทักษะการถ่ายภาพพื้นฐานของตัวเองอยู่ มาดูสิ่งที่คุณสามารถทำได้ต่อไปนี้เพื่อเปลี่ยนนิสัยเก่าๆ ค้นพบมุมมองใหม่ๆ และยกระดับทักษะการถ่ายภาพของคุณไปพร้อมกัน (บรรณาธิการโดย studio9)
มุมต่ำของภาพนี้สร้างบรรยากาศที่ดูลึกลับ ผมถ่ายภาพนี้โดยไม่ใช้ช่องมองภาพหรือหน้าจอ Live View ซึ่งเป็นการฝึกทักษะการจินตนาการภาพของคุณ
การสร้างข้อจำกัดให้ตนเอง: วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีในการบังคับให้คุณต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์
กล้องในปัจจุบันนี้มีคุณสมบัติที่ช่วยอำนวยความสะดวกมากมาย ยิ่งกล้องมีความซับซ้อนมากเท่าใด ก็ยิ่งมีประโยชน์ต่อเรามากเท่านั้น และมักจะช่วยให้เราถ่ายภาพตามที่ต้องการได้รวดเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเสมอ
แต่ความสะดวกสบายเช่นนี้ก็มีข้อเสีย นั่นคือ บางครั้งเราปล่อยให้กล้องทำหน้าที่มากเกินไปจนดูเหมือนกับว่ากล้องเป็นช่างภาพ ไม่ใช่เรา และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมภาพที่เราถ่ายจึงดูเหมือนๆ กันไปหมด เพราะเราปล่อยให้คุณสมบัติและฟังก์ชั่นของกล้องเป็นตัวกำหนดจินตนาการของเรา
ความจริงก็คือ เราจะใช้จินตนาการของเราได้มากกว่าเมื่อต้องถ่ายภาพโดยมีข้อจำกัดเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย แนวคิดนี้อยู่เบื้องหลังโจทย์ท้าทายสามข้อ ซึ่งเราจะนำมาแบ่งปันในบทความนี้ โจทย์แต่ละข้อจะจำกัดการใช้คุณสมบัติที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพที่แตกต่างกัน และหากคุณสามารถรับมือกับโจทย์ข้อนั้นๆ ได้สำเร็จ คุณก็จะได้พัฒนาทักษะการถ่ายภาพอย่างน้อยหนึ่งอย่าง
พร้อมไหม มาเริ่มกันเลย!
โจทย์ข้อที่ 1: จำกัดทางยาวโฟกัสที่ใช้
นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด และจะช่วยให้คุณมีความเข้าใจในเรื่องระยะทางที่ดีขึ้น
หากคุณใช้เลนส์ซูมเป็นส่วนใหญ่ ให้งดใช้การซูม
ใช้เลนส์เหมือนว่าเลนส์นั้นเป็นเลนส์เดี่ยว ผมขอแนะนำให้คุณจำกัดทางยาวโฟกัสที่ใช้ให้เทียบเท่าฟูลเฟรมสามแบบเท่านั้น คือ 35 มม., 50 มม. และ 70 มม. ซึ่งเป็นทางยาวโฟกัสตามปกติของเลนส์มุมกว้าง เลนส์มาตรฐาน และเลนส์เทเลโฟโต้ระดับกลาง
หากคุณใช้กล้อง APS-C คุณจะได้มุมรับภาพที่ใกล้เคียงกันจากการถ่ายภาพที่ระยะประมาณ 22 มม., 31 มม. และ 44 มม. ตามลำดับ
ใช้เทปกาวแปะวงแหวนซูมไว้
การให้สัญญากับตัวเองว่าจะไม่ใช้การซูมอาจเพียงพอแล้ว แต่เพื่อเป็นการป้องกันให้ไม่ให้คุณล้มเลิกความตั้งใจ ให้เอาเทปกาวแปะวงแหวนซูมเอาไว้ด้วย หากคุณถ่ายภาพด้วยความมุ่งมั่นว่าจะไม่แกะเทปกาวออกตลอดทั้งวัน คุณอาจจะค้นพบสิ่งใหม่ๆ ก็เป็นได้
เลนส์ในภาพด้านบนถูกเทปกาวแปะไว้ที่ตำแหน่ง 50 มม. ควรใช้เทปกาวที่ทิ้งร่องรอยไว้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ผมแนะนำให้ใช้เทปกาว Permacel ซึ่งเป็นเทปกระดาษที่ติดทนได้ดีและทิ้งคราบไว้น้อยที่สุด จะใช้กระดาษกาวหรือเทปกระดาษสำหรับทำแผลก็ได้เช่นกัน
หากคุณใช้เลนส์เดี่ยวอยู่แล้ว ให้จำกัดการใช้อยู่แค่ที่ระยะเทเลโฟโต้หรือมุมกว้างอัลตร้าไวด์
ตามปกติ ทางยาวโฟกัสที่ใช้สำหรับการถ่ายภาพสตรีทคือ ช่วงทางยาวโฟกัส 35 มม., 50 มม. และ 70 มม. ดังที่กล่าวไปข้างต้น ช่างภาพบางคนอาจเลือกใช้ทางยาวโฟกัสที่ 24 มม. และ 100 มม. ได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี หากคุณกล้าพอที่จะลองถ่ายภาพแนวสตรีทโดยใช้เลนส์สำหรับถ่ายภาพระยะไกลหรือมุมกว้างมากกว่านั้น คุณอาจได้ภาพที่น่าสนใจมากๆ
คุณจำเป็นจะต้องใช้เลนส์เทเลโฟโต้หรือเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์เพื่อถ่ายภาพดังกล่าว ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการนำเลนส์ซูมเทเลโฟโต้ในชุดเลนส์ซูมคู่ออกมาใช้ในที่สุดหลังจากที่ถูกวางทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้งานเลย
คุณอาจรู้สึกว่าการถ่ายภาพโดยใช้เพียงแค่ระยะ 200 มม. หรือ 16 มม. ไม่น่าจะทำอะไรได้มาก แต่คุณจะได้ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์และคิดว่าจะจัดเฟรมภาพให้ออกมาดีได้อย่างไร!
คลิกที่นี่เพื่อดูเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพที่ควรลองใช้กับเลนส์ประเภทต่างๆ
โจทย์ข้อที่ 2: จัดองค์ประกอบภาพของคุณโดยไม่ใช้ช่องมองภาพ (หรือ Live View)
วิธีนี้จะช่วยให้คุณมีความเข้าใจเกี่ยวกับมุมถ่ายภาพและมุมรับภาพที่ดียิ่งขึ้น
คุณรู้จริงๆ หรือไม่ว่าเลนส์ที่คุณใช้สามารถถ่ายภาพฉากหนึ่งได้มากแค่ไหน
โดยปกติแล้ว เมื่อเราจัดองค์ประกอบภาพ เราจะใช้เพียงแค่ช่องมองภาพหรือหน้าจอ Live View เป็นตัวช่วยในการปรับเฟรมภาพ
แต่ถ้าหากคุณไม่ใช้ทั้งสองอย่าง คุณจะสามารถมองเห็นภาพที่เลนส์จะถ่ายได้หรือไม่
การจะทำได้เช่นนั้น คุณจำเป็นต้องเข้าใจดีว่ามุมรับภาพแบบหนึ่งสามารถถ่ายอะไรได้บ้าง และหากคุณมีความเข้าใจในเรื่องนี้ คุณจะสามารถจัดองค์ประกอบภาพอย่างคร่าวๆ ได้แม้จะมองฉากเพียงแว่บเดียว
และคุณจะได้ “เห็น” มุมที่ไม่เหมือนใครได้ง่ายขึ้นด้วย
ในบางครั้ง เราไม่ได้นึกถึงการถ่ายภาพจากมุมนั้นๆ เพียงเพราะไม่ใช่สิ่งที่เรามักจะเห็นเมื่อมองผ่านช่องมองภาพหรือหน้าจอ Live View เมื่อเราบังคับให้ตัวเองถ่ายภาพโดยไม่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ช่วย เราก็จะตระหนักถึงมุมมองที่แตกต่างออกไปได้มากขึ้น แม้คุณจะใช้กล้องที่มีหน้าจอ LCD แบบปรับหมุนได้ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน
“การจำกัดการใช้ช่องมองภาพ” จะช่วยกระตุ้นให้คุณมองหามุมมองใหม่ๆ อยู่เสมอ แทนที่จะลองผิดลองถูกอยู่กับหน้าจอเท่านั้น แน่นอนว่าวิธีนี้จะทำให้คุณมองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลต่อภาพที่คุณถ่าย
ใครๆ มักจะถ่ายภาพโตเกียวทาวเวอร์โดยมองขึ้นไปจากระดับสายตา แต่ในภาพนี้ ผมถ่ายภาพจากระดับพื้นดินแทน ถนนและอาคารอื่นๆ ก็อยู่ในภาพด้วย จึงเกิดเป็นองค์ประกอบภาพที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานเดิม
ผมถ่ายภาพนี้โดยการเหยียดแขนออกไปเหนือผิวน้ำในสระ แม้จะมองไม่เห็นช่องมองภาพ ก็ไม่เป็นปัญหา
เคล็ดลับ:
- ทางยาวโฟกัสยิ่งยาว ยิ่งถ่ายภาพได้ยากขึ้น
ให้เริ่มด้วยมุมกว้าง 35 มม. เทียบเท่าฟูลเฟรม
- คุณจะไม่สามารถลั่นชัตเตอร์ได้หากกล้องไม่โฟกัส
ให้ลองใช้:
i) วิธีการโฟกัสอัตโนมัติที่ตรวจจับและเลือกจุด/โซน AF อัตโนมัติเมื่อคุณกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง หรือ
ii) โหมดแมนนวลโฟกัส (MF)
โจทย์ข้อที่ 3: ถ่ายภาพโดยไม่ใช้การจำลองระดับแสง/ดูภาพ
ในยุคของกล้องที่ใช้ฟิล์ม เราไม่สามารถตรวจสอบภาพที่ถ่ายได้จนกว่าจะนำภาพไปล้างอัดแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทุ่มเทความพยายามในการอ่านแสงของภาพถ่ายทุกๆ ภาพ
แต่ด้วยความสะดวกสบายจากระบบดิจิตอลสมัยใหม่ เช่น การดูภาพได้ทันที และการจำลองระดับแสงใน Live View/EVF เราจึงไม่จำเป็นต้องคิดถึงเรื่องแสงมากเท่าใดนักก่อนจะลั่นชัตเตอร์ ที่จริงแล้ว เราหวังให้กล้องเป็นตัวช่วยหาระดับแสงที่เหมาะสมให้ด้วยซ้ำ
การจำกัดการใช้ฟังก์ชั่นเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณเข้าใจระดับแสงอย่างแท้จริง แต่ยังทำให้คุณได้เห็นได้ว่ากล้องดิจิตอลพัฒนาไปมากแค่ไหน!
ขั้นตอนที่ 1: ปิดการดูภาพ
คุณจะสามารถหาขั้นตอนนี้ได้ในเมนู SHOOT
เมื่อตั้งค่า “ดูภาพ - ปิด” แล้ว ภาพจะไม่แสดงขึ้นหลังจากถ่ายเสร็จในแต่ละช็อต เว้นแต่เมื่อกดปุ่มเล่น
ขั้นตอนที่ 2: ปิดใช้งานการจำลองระดับแสง
หา “การจำลองระดับแสง” จากเมนู SHOOT และเลือก “ปิดใช้งาน” การเปลี่ยนแปลงค่าการเปิดรับแสงใดๆ รวมทั้งการชดเชยแสงจะไม่แสดงในภาพตัวอย่างใน Live View และ EVF
หมายเหตุ: กล้อง DSLR รุ่นเก่าๆ บางรุ่นไม่มีคุณสมบัตินี้ ในกรณีนี้ คุณอาจต้องพึ่งขั้นตอนที่ 3 แทน
ขั้นตอนที่ 3: ปิดหน้าจอ LCD ด้วยกระดาษสีดำ
วิธีนี้เป็นวิธีที่สุดโต่ง แต่ก็อาจได้ผลดีที่สุด เพราะคุณจะไม่สามารถเห็นภาพตัวอย่างใน Live View หรือดูภาพได้เลย คุณอาจใช้เทป Permacel สีดำก็ได้ แต่ต้องระวังอย่าเผลอลอกแผ่นป้องกันหน้าจอออกมาด้วยเมื่อคุณดึงเทปกาวออก
หมายเหตุ: คุณจะยังคงต้องการมองเห็นการตั้งค่าการเปิดรับแสงอยู่ ซึ่งสามารถเห็นได้หากกล้องของคุณมี OVF หรือ EVF ส่วนกล้องระดับสูงๆ จะแสดงข้อมูลการถ่ายภาพพื้นฐานที่แผงจอ LCD ด้านบน
แต่หากไม่มี ให้ทำตามขั้นตอนที่ 1 และ 2 และใช้ระเบียบวินัยของคุณให้เต็มที่
เคล็ดลับ:
- คุณจะถ่ายภาพได้ง่ายกว่าเมื่อใช้โหมด M
การที่คุณไม่สามารถตรวจสอบภาพถ่ายได้ทันทีหมายความว่า คุณต้องพึ่งพาตัววัดแสงของกล้องเพื่อกำหนดระดับแสงที่เหมาะสม เมื่อถ่ายภาพตัวแบบบางประเภทด้วยโหมด Av คุณจะต้องคิดให้รอบคอบว่าจะใช้ค่าการชดเชยแสงเท่าใด นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการถ่ายภาพในโหมดการตั้งค่าระดับแสงด้วยตนเอง (โหมด M) จึงง่ายกว่า
- ในโหมด M ให้ใช้การวัดแสงแบบจุด
ผมขอแนะนำให้ใช้การวัดแสงแบบนี้มากกว่าการวัดแสงแบบประเมินทั้งภาพ ซึ่งเป็นค่าเริ่มต้น ในการวัดแสงแบบจุด จะวัดแสงในส่วนกึ่งกลางภาพเท่านั้น (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมในพื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #7: การวัดแสง)
จากนั้น ความสว่างในภาพของคุณจะไม่มากหรือน้อยเกินไป หากทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- หันกล้องไปยังตัวแบบที่มีความสว่างที่คุณต้องการ
- ปรับรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และความไวแสง ISO ให้สเกลแสดงระดับแสงใกล้เคียงกับ ±0
- จัดองค์ประกอบภาพใหม่หากจำเป็น (อย่าลืมกดปุ่มล็อค AE ก่อน)
- ลั่นชัตเตอร์
คุณอาจจะซื้อตัววัดปริมาณแสงแยกต่างหากไว้สำหรับอ่านค่าแสงเพื่อฝึกฝนทักษะก็ได้ แต่อาจเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาค่อนข้างแพง หากคุณเพียงแค่ต้องการวัดแสงตามธรรมชาติ มีแอพมากมายบนสมาร์ทโฟนที่จะเปลี่ยนโทรศัพท์ของคุณให้กลายเป็นตัววัดแสงได้
สรุป
การกำหนดข้อจำกัดทั้งสามอย่างในคราวเดียวในบทความนี้อาจดูมากเกินไปเล็กน้อย ดังนั้น คุณอาจลองกำหนดข้อจำกัดครั้งละหนึ่งข้อต่อเนื่องกันไป โดยเริ่มจากข้อแรก หากคุณต้องการความท้าทายมากขึ้น ก็สามารถลองพร้อมกันมากกว่าหนึ่งข้อได้
แน่นอนว่า ไม่มีความจำเป็นที่คุณจะต้องกำหนดข้อจำกัดดังกล่าวกับตัวเองอย่างต่อเนื่อง หัวใจสำคัญคือ ให้ลองทำดูเมื่อคุณมีเวลาว่างหรือไม่รีบร้อน ด้วยวิธีนี้ คุณจะค่อยๆ เรียนรู้และใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ เพราะฉะนั้น ลองทำดูในวันหยุดครั้งถัดไปเลยดีไหม
หากต้องการทราบวิธีอื่นๆ ที่จะช่วยพัฒนาทักษะการถ่ายภาพของคุณ โปรดดูที่:
ถ่ายภาพได้ดียิ่งขึ้นด้วย 3 เคล็ดลับง่ายๆ
5 วิธีฝึกทักษะถ่ายภาพสัตว์ป่า
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เว็บไซต์ด้านการถ่ายภาพของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นเมื่อปี 2011 ด้วยสโลแกนว่า "ให้การถ่ายภาพใกล้ตัวคุณยิ่งขึ้น" เว็บไซต์นี้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับทุกคนที่ชอบการถ่ายภาพ นอกจากเนื้อหาบนเว็บไซต์แล้ว studio9 ยังมีการจัดสัมมนาและเวิร์กช็อปอีกด้วย